ปชป.ถล่มมาตรการบ้านหลังแรกแหกตา ชี้ลดภาษีได้จริงๆ 1.5-3.5 หมื่นบาทเท่านั้น แถมคนจนได้ประโยชน์น้อย ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รับเละ โยงเอสซี แอสเสทของตระกูลชินวัตร รับอื้อกว่าพันล้าน บอกขอดูยอดจองก่อนเล่นงานเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และ นายสรรเสริญ สมะลาภา ให้สัมภาษณ์
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมาตรการบ้านหลังแรกของรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ว่า ในหลักเกณฑ์การเพิ่มวงเงินมูลค่าที่อยู่อาศัยจาก 3 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาทนั้น เชื่อได้ว่ามีการนำภาษีจากคนชั้นกลางไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยผลจากการขยายวงเงินนั้นได้ทำให้อสังหาริมทรัพย์ในเครือของบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของคนในตระกูลชินวัตรได้รับประโยชน์กว่า 1,000 ยูนิต ดังนั้นจึงต้องทวงถามว่านโยบายนี้มีการนำภาษีไปเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือไม่ ส่วนในเรื่องของหลักการนั้นมีความใกล้เคียงกับโครงการของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอรรถวิชญ์ยังได้นำสำเนาเอกสารรายงานประจำปี 53 ของบริษัท เอสซีฯ มาแสดงให้เห็นถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบริษัทซึ่งมีราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์จากการขยายวงเงินตามมติ ครม.ด้วย อาทิ โครงการวิสต้า วันเอทโอ รัชวิภา ถนนพิบูลสงคราม ที่ราคาขายอยู่ที่ยูนิตละ 3.5 - 4.0 ล้านบาท, โครงการเซ็นทริค ซีน รัชวิภา ถนนรัชดาภิเษก ราคาขาย 1.69-5.6 ล้านบาท, โครงการเซ็นทริค รัชดา-สุทธิสาร ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ราคาขาย 2.7-5.5 ล้านบาท, โครงการเดอะ เครสท์ พหลโยธิน 11 ถนนพหลโยธิน ราคาขาย 3.5-10 ล้านบาท, โครงการเดอะเครสท์ ร่วมฤดี ถนนเพลินจิต ราคาขาย 4.5-10 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่มีการเปรียบเทียบราคากับบริษัทอื่น แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าบริษัทเอสซีฯ มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงมาก และได้รับผลประโยชน์จากการขยายวงเงินจากมาตรการบ้านหลังแรกของรัฐบาล
ด้าน นายสรรเสริญ สมะลาภา รมช.คลังเงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ครม.เงารู้สึกผิดหวังนโยบายบ้านหลังแรกอย่างมาก เพราะช่วยคนยากจนจริงๆ ได้น้อย และช่วยเป็นวงเงินที่น้อย เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ 10 เปอร์เซ็นต์ที่นำมาลด แท้จริงเป็นการลดรายได้พึงประเมิน ดังนั้นการแจ้งรายได้พึงประเมินที่ลดลงไป เมื่อทอนเป็นภาษี เม็ดเงินที่ตกถึงประชาชนจริงๆ จะน้อยมาก เช่น บ้านราคา 1 ล้านบาท ลดรายได้พึงประเมินได้ 1 แสนบาท แต่เมื่อทอนเป็นภาษีจริงๆ ที่ประชาชนได้รับแค่ 1.5-3.5 หมื่นบาทเท่านั้น ตามการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำถามตามมาคือการลดภาษีที่น้อยและช่วยคนจนได้น้อย แต่รัฐบาลยืนยันทำได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ประชาชนหรือแก่บริษัทกลุ่มไหน เพราะคำถามคือ วงเงินเพิ่มจาก 3 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท ไปตกกับบริษัทใด
นายสรรเสริญกล่าวว่า โครงการส่วนใหญ่จำนวนมากอยู่ในบริษัท เอสซีฯ โดยตรง ที่มีราคาในระดับนั้น ทั้งนี้เมื่อประเมินเงินรายได้จากประชาชนที่จะมาสร้างรายได้ให้บริษัทเอสซีฯ คร่าวๆ 1 พันยูนิต อย่างต่ำ 1 ยูนิตละ 3 ล้านบาท ก็ 3 พันล้านบาท โครงการนี้เมื่อเทียบการช่วยเหลือประชาชนที่มีฐานะยากจนที่อยากมีบ้าน เทียบกับโครงการรัฐบาลประชาธิปัตย์ เราช่วยได้มากกว่า ด้วยการจัดทำเรื่องกู้ดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ ใน 2 ปีแรก และการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน ทำให้ขณะนี้ยอดจองอนุมัติไปแล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท หากเทียบกับโครงการบ้านหลังแรกจะช่วยเหลือประชาชนได้อีกถึง 10 เท่าตัว เมื่อคิดทั้งเงินและจำนวนราย
ส่วนจะเล่นงานทางกฎหมายกรณีเข้าข่ายประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่นั้น นายสรรเสริญกล่าวว่า ต้องรอดูยอดจองหลังจากนี้ว่าดีขึ้นอย่างไรบ้าง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่ายอดจองมาจากนโยบายรัฐบาลหรือไม่เมื่อเทียบกับยอดจองบ้านราคา 1-3 ล้านบาทซึ่งเป็นจุดหมายมุ่งช่วยคนจนโดยเฉพาะว่าอันไหนขึ้นมากกว่ากัน และสมาคมอสังหาริมทรัพย์เองยังออกมาบอกแล้วว่าผู้มีรายได้น้อยต้องการบ้านราคา 1-3 ล้านบาทเท่านั้น และเรื่องการเอาผิดต้องปรึกษาทีมกฎหมาย บอกก่อนจะเหมือนการบอกการบ้าน
ทั้งนี้ เรื่องประโยชน์ทับซ้อนทางนโยบาย เป็นเรื่องปกติของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในอดีตอยู่แล้ว ส่วนจะไปกระทบเสรีการแข่งขันของภาคเอกชนหรือไม่ ต้องรอดูว่าบริษัทต่างชาติจะร้องอย่างไร เพราะมีบริษัทต่างชาติที่พร้อมขายคอนโดฯ ระดับราคาที่แพงกว่าเล็กน้อยที่อาจเสียโอกาส ซึ่งต่างจากกรณีรถคันแรกชัดเจน เพราะนโยบายแบ่งแยกว่าต้องผลิตในประเทศ