xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลยิ่งลักษณ์-เสื้อแดงเร่งเกม “ขออภัยโทษ” ทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ตอกย้ำสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ร.ต.อ.ดร.เฉลิม - กลุ่มคนเสื้อแดงเดินหน้าเร่งเกมขอพระราชทานอภัยโทษอดีตนายกฯ ทักษิณ เต็มสูบ อ้างไม่มีกฎหมายใดห้ามนักโทษหนีคดีขออภัยโทษ ทั้งที่ขัดจารีตประเพณีปฏิบัติ และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่กำหนดผู้จะได้รับพระราชทานอภัยโทษต้องถูกควบคุมกักขัง

ขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังตั้งตัวไม่ติดจากกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทุกสารทิศ ทั้งคำปรามาส “ดีแต่โม้” ที่ไม่สามารถเดินหน้านโยบายหาเสียงสำคัญโดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เว้นภาษีบ้าน ลดภาษีซื้อรถยนต์คันแรก และถึงแม้จะงดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันทำให้น้ำมันลดราคาแต่กลับกดราคาสินค้า ค่าครองชีพ ลงไม่ได้ มิหนำซ้ำยังถูกกล่าวหาว่าราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงเป็นการช่วยคนรวยอีกต่างหาก ไม่นับการแต่งตั้งพรรคพวกคนเสื้อแดงที่เผาเมืองเข้ารับตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ลุแก่อำนาจโยกย้ายไม่เป็นธรรม ฯลฯ

ขุนพลสำคัญอย่าง ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้มีบทบาทเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง กับฝ่ายกลุ่มคนเสื้อแดง กลับออกมาสุมไฟ เปิดเกมทวงฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยไม่หวั่นเกรงว่าจะเป็นการเร่งให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พังเร็วขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้ สื่อเครือข่ายคนเสื้อแดง หนังสือพิมพ์มหาประชาชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 2 ฉบับ 53 ฉบับล่าสุดระหว่างวันที่ 2-8 ก.ย. ลงข่าวพาดหัว “ทวงราชทัณฑ์ 3 ล้าน ฎีกาแดง” ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดง นำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำนปช. (ขณะนั้น) นำมวลชนยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษต่อสำนักราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552

และในเย็นวันเดียวกัน สำนักราชเลขาธิการ ออกแถลงการณ์ว่า “… สำนักราชเลขาธิการ ต้องส่งทุกเรื่องไปให้รัฐบาลพิจารณาถวายความเห็นประกอบพระราชดำริต่อไป” แล้วเรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไปในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยกลุ่มคนเสื้อแดงมองว่า รัฐบาลดองเรื่องไว้

กระทั่งถึงวันนี้ เมื่ออำนาจรัฐกลับมาอยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย กลุ่มเสื้อแดงได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อีกครั้ง โดยมีการรับลูกจาก ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาอธิบายอวดภูมิรู้ด้านกฎหมาย แจกจ่ายเอกสารชี้แจงการขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนี้

“1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 191 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ”

“2.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-261

“สำหรับผู้ที่ทูลเกล้าฯ และถวายเรื่องราวหรือผู้ถวายฎีกา 1.ผู้ต้องโทษคำพิพากษา (ม.259) 2.ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องฯ (259) 3. คณะรัฐมนตรี (ม.261 ทวิ)

“สำหรับผู้ที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา และศาลได้อ่านคำพิพากษาลับหลังให้ลงโทษจำคุก มีสิทธิ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

"1.ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใด ตัดสิทธิห้ามผู้หลบหนีตามคำพิพากษาศาลจะยื่นถวายฎีกา 2.ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องถูกจำคุกจริงๆ นานเท่าใดจึงจะถวายฎีกาได้ 3.การพระราชทานอภัยโทษเป็นพะราชอำนาจเฉพาะพระองค์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติกรอบอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะอภัยโทษในกรณีใดบ้าง คดีประเภทใดอภัยโทษได้ คดีประเภทใดอภัยโทษไม่ได้ หรือการอภัยโทษจะต้องมีเงื่อนไขใดบ้าง ต้องจำคุกมาแล้วนานเท่าใด

“ และ 4.เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอภัยโทษมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การแปลความหมายว่า “ผู้หลบหนีจะต้องมามอบตัว และรับโทษจำคุกเสียก่อนจึงขออภัยโทษได้” นั้น เป็นการแปลกฎหมายตามความคิดเห็นส่วนตัว หรือเป็นการเข้าใจเอาเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้”

การตีความกฎหมายของ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ มีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ หนึ่ง จารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นเช่นใด

ประเด็นนี้ โฆษกศาลยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ตอบชัดว่า ไม่เคยมีการขอและอภัยโทษให้กับผู้ต้องโทษที่หลบหนีหรือไม่เคยรับโทษจำคุกตามคำพิพากษามาก่อน

สอง ตามมาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมี หน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่
ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อ พระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้

เมื่อกฎหมายเปิดช่องให้อำนาจไว้ ต้องติดตามว่า พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.กระทรวงยุติธรรม จะถวายความเห็นและคำแนะนำที่เป็นการฝืนต่อจารีตประเพณีปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งแกนนำ นปช. คาดหมายว่า ภายใน 2 - 3 สัปดาห์นี้ พล.ต.อ.ประชา จะจัดทำหนังสือถวายความคิดเห็นและคำแนะนำเรื่องการอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

สาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 7 มาตรา 261 ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมาหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้
การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

เมื่อตามไปดูการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ที่ออกมาเป็นคราวๆ ไปตามแต่กรณี เช่น พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2550 หรือ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554 ใน มาตรา 4 กำหนดว่า “ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษหรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ”

นั่นหมายความว่า ผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องถูกควบคุมหรือกักขัง ไม่มีกรณีนักโทษหนีคดีแล้วจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษแต่อย่างใด

ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้เขียนบทความเรื่อง “พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” เอาไว้ว่า การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ มาถึงสำนักราชเลขาธิการ แล้ว กองนิติการ จะเป็นผู้ประมวลเรื่องราวทั้งหมดและเสนอให้ที่ประชุมคณะองคมนตรีประชุมปรึกษา

หลังจากนั้น คณะองคมนตรีจะพิจารณาทูลเกล้าถวายความเห็นประกอบพระบรมราชวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง เมื่อนำความเห็นทุกฝ่ายที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพิจารณาฎีกานั้นประกอบข้อพิจารณาทั้งหมด ซึ่งมิใช่จะทรงมีพระบรมราชวิตามความเห็นที่เสนอมาเสมอไป แต่เป็นดุลยพินิจของพระองค์เองโดยเด็ดขาดในการที่จะพระราชทานอภัยโทษ

ศ.บวรศักดิ์ กล่าวโดยสรุปว่า “แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์นี้ ก็ยังคงเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ทั้งตามโบราณราชนิติประเพณี และตามรัฐธรรมนูญ” (อ่านรายละเอียดในข่าวประกอบ)

/////////////////////

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ภาค 7 อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ

มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้
หมายเหตุ มาตรา 259 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปวิอ. (ฉบับที่ 23) พ.ศ.2548

มาตรา 260 ผู้มีเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมี หน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่
ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อ พระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้
หมายเหตุมาตรา 261 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปวิอ. (ฉบับที่ 23) พ.ศ.2548
มาตรา 261ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็น การสมควรจะถวาย คำแนะนำต่อพระมาหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้อง โทษก็ได้
การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
กำลังโหลดความคิดเห็น