ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ถึงแม้จะมีข้อกังขาจากสังคมต่อความรู้ความสามารถแต่ในที่สุดคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ก็มีมติแต่งตั้งแกนนำคนเสื้อแดงขึ้นดำรงตำแหน่งข้าราชการเมือง กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนโดยไม่สนข้อครหา การได้ยกฐานะจากไพร่สู่อำมาตย์ ถือเป็นรางวัลตอบแทนจาก “นายใหญ่” ที่ยังคิดกลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้งโดยใช้คนเสื้อแดงเป็นปราการและฐานมวลชนสำคัญ
การพยายามสร้างฐานอำนาจอันแข็งแกร่งเพื่อรอวันกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำให้เรื่องการแต่งตั้งแกนนำคนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อทักษิณ เป็นข้าราชการการเมืองอยู่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะคนเสื้อแดงยังคงถือเป็นฐานมวลชนที่สำคัญในทางการเมืองของทักษิณและเพื่อไทย
วันนี้ การต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มักอ้างว่าเพื่อประชาธิปไตย สุดท้ายก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ต่างตอบแทนก็มาถึง การรอคอยรางวัลหลังศึกเลือกตั้งผ่านไปกระทั่งทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โคลนนิ่งทักษิณ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผลสำเร็จ เป็นเสมือนต่างฝ่ายต่างสมหวัง
การตอบแทนด้วยรางวัลอย่างงามให้แก่แกนนำคนเสื้อแดง ยังเป็นการซื้อใจพวกเขาให้มีความจงรักภักดีและพร้อมที่จะสู้เพื่อทักษิณอีกครั้งเมื่อเวลานั้นมาถึง นั่นคือ การต่อสู้เพื่อให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมายิ่งใหญ่ในฐานะผู้นำประเทศ ดังที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์เผยแพร่ผ่านเวปไซต์หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม 2554 ที่ว่า “เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ แม้ว่าผมจะไม่พยายามกลับเมืองไทยเพื่อดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่ถ้าเป็นความปรารถนาของประชาชนชาวไทยแล้ว อาจจำเป็นต้องทำ เพราะผมเป็นหนี้บุญคุณประชาชนจำนวนมาก ประชาชนเหล่านั้นไม่เคยลืมผม ทั้งยังลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อผม ดังนั้นผมจึงเป็นหนี้บุญคุณประชาชนเหล่านั้น”
ในบทสัมภาษณ์เดียวกันนั้น อดีตนายกรัฐมนตรี ยังทำนายอนาคตของบรรดาผู้นำกองทัพและนักการเมืองในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะต้องถูกกระบวนการยุติธรรมเล่นงานจากกรณีใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนตนจนมีผู้เสียชีวิตหลายราย
นั่นหมายความว่า การล้างแค้น แทนคุณ เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นอีกหลายระลอก สวนทางกลับสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยป่าวประกาศ มุ่งแก้ไข ไม่แก้แค้น ชัดเจน การล้างบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย การสลับสับเปลี่ยนตำแหน่ง ปูนบำเหน็จให้แก่กลุ่มข้าราชการและกลุ่มบุคคลที่เคยคอยช่วยเหลือ เกื้อหนุน การอุ้มชูพรรคพวกขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้เกือบทุกกระทรวงทบวงกรม เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็ว และเป้าหมายที่ถูกหมายหัว อยู่ในบัญชีดำ จะปรับตัวเปลี่ยนสีเปลี่ยนข้างกันทันการณ์หรือไม่
ความจริงแล้ว เรื่องนี้มองว่าเป็นเรื่องปกติในยามผลัดแผ่นดิน ก็ใช่ เนื่องจากการบริหารงานต้องการทีมที่เข้าขากันได้ดี แต่หากมองลึกลงไปถึงรอยแค้นของ “นายใหญ่” ที่ต้องระเห็จเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศจนบัดนี้ ย่อมคาดหมายได้ว่าการล้างแค้นคราวนี้ย่อมไม่ธรรมดาแน่นอน
ย้อนกลับมาตรวจสอบรายชื่อแกนนำคนเสื้อแดงที่ได้รับรับรางวัลตอบแทนด้วยการยกฐานะจากไพร่สู่อำมาตย์ ที่คณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ได้มีมติแต่งตั้ง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 และ 30 สิงหาคม 2554 จะเห็นว่าต่างได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า (อ่านรายละเอียด มติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ในข่าวประกอบ) ที่โดดเด่น อาทิเช่น
พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.พัลลภ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญวิธีการรบใต้ดินและช่วยเหลือพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลังในเกมใต้ดินระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตดีเจเครือข่ายคนเสื้อแดง พิธีกรรายการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอ็มทีวี 5 และเอเชียอัพเดท มีบทบาทร่วมการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงทั้งช่วงปี 2552-2553 โดยเฉพาะการดำเนินรายการบนเวทีการชุมนุม รวมถึงมีบทบาทในการร่วมยุทธการดาวกระจายของกลุ่มเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายน 2553
นายวีระ ชูสถาน ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นแกนนำคนเสื้อแดง และ นปช. มีบทบาทร่วมการชุมนุมทางการเมืองทั้งปี 2552-2553 และเป็นหัวหน้าดาวกระจายจุดย่อยในปี 2553
นางไพจิตร อักษรณรงค์ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่มักจะขึ้นแสดงดนตรีบนเวทีปราศรัยของกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งที่สะพานผ่านฟ้าฯ และแยกราชประสงค์ ในช่วงปี 2552 - 2553 การร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ถูกออกหมายจับตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่หลบหนีไปได้ กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการเมืองในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
นายธนกฤต ชะเอมน้อย (วันชนะ เกิดดี) ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นแกนนำคนเสื้อแดงที่มีบทบาทในการชุมนุมอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะงานด้านบันเทิงบนเวทีเพราะนักร้องลูกทุ่ง จนถูกออกหมายจับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหลบหนีระหว่างที่มีการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ กระทั่งปรากฏชื่อได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการประจำสำนักเลขาฯ นายกรัฐมนตรี
นายรังสี เสรีชัยมุ่ง(รังสี เสรีชัย) ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อีกหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวทางการเมืองบนเวทีปราศรัยทั้งการดำเนินรายการและแสดงดนตรีขับกล่อมมวลชนเสื้อแดง ทั้งยังเป็นกรรมการ นปช. ในคณะกรรมการชุดนางธิดา เขาถูกหมายจับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกันกับแกนนำเสื้อแดงคนอื่นๆ หลังสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์
พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นแกนนำ นปช.จังหวัดชุมพร ผู้ดำเนินการออกบัตรสมาชิกของกลุ่ม นปช. เคยตั้งเวทีปราศรัยและยืนยันที่จะติดตั้งจานดาวเทียมดีทีวี ประจำทุกอำเภอในชุมพร พ.ต.ต.เสงี่ยมยังเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กรณีการบุกอาคารรัฐสภา และเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในการชุมนุม พ.ศ. 2553 อีกด้วย ซึ่งหลบหนีคดีเช่นกัน
นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แกนนำ นปช. ร่วมงานเคลื่อนไหวทางการเมืองปี 2553 จนได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 27 บางรัก แต่ก็พ่ายแพ้
นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษก นปช. มีบทบาทประสาน สื่อสาร และแถลงข่าวความเคลื่อน ไหวของกลุ่ม นปช.มาโดยตลอดการชุมนุม จนปัจจุบัน
นายอรรถชัย อนันตเมฆ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แกนนำ นปช. อดีตดารานักแสดงชื่อดัง มีผลงานการแสดงทั้งภาพยนตร์และละครทางจอแก้วนับไม่ถ้วน ร่วมการชุมนุมอย่างเหนียวแน่นกับกลุ่ม นปช.ที่ราชประสงค์ และเงียบหายไปหลังมีการสลายการชุมนุม
นายชินวัฒน์ หาบุญพาด ที่ปรึกษา รมช.คมนาคม เป็นแกนนำ นปช.คนสำคัญ เดิมเป็นดีเจรายการวิทยุเครือข่ายแท็กซี่ เป็นนายกสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับรถแท็กซี่ จึงสามารถระดมชาวแท็กซี่เข้าร่วมชุมนุมได้ภายใน 24 ชั่วโมง มีบทบาทในการก่อตั้งและผู้จัดรายการของสถานีวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ เอฟเอ็ม 92.75 เมกะเฮิร์ตซ์ และเอฟเอ็ม 107.5 เมกะเฮิร์ตซ์
เป็นแกนนำ นปช.รุ่นที่ 2 เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเข้ามาสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ก่อนรัฐประหาร รวมทั้งร่วมกับกลุ่มคาราวานคนจนที่สวนจตุจักร ร่วมเข้าปิดล้อมอาคารเนชั่นทาวเวอร์ ถูกออกหมายจับคดีก่อการร้ายและตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่สำคัญคือเป็นหนึ่งใน 19 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันที่ดีเอสไอออกหมายจับ เขาลงสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 72 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
นายวิเชียรชนินทร์ สินธุไพร ที่ปรึกษารมว.กระทรวงคมนาคม น้องชายนายนิสิต สินธุไพร เป็นผู้ช่วยส.ส. และแกนนำคนเสื้อแดงจ.ร้อยเอ็ด
นายชาญยุทธ เฮงตระกูล เลขานุการรมว.กระทรวงคมนาคม แกนนำคนเสื้อแดงพัฒนา เครือข่ายเสื้อแดงสำคัญที่มีบทบาทการชุมนุมที่พัทยาในปี 2552 ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ สายของ ศักดา นพสิทธิ์ แกนนำเสื้อแดงชลบุรีผู้ใกล้ชิด นายยงยุทธ ติยะไพรัช แกนนำพรรคไทยรักไทย เป็นแกนนำเคลื่อนไหวล้มการประชุมอาเซียนซัมมิทที่โรงแรม รอยัล คลิฟบีช จนเป็นที่อับอายไปทั่วโลก
นายอารี ไกรนรา เลขานุการ รมว.มหาดไทย แกนนำ นปช.หัวหน้าทีมการ์ดคนเสื้อแดง ดูแลจัดการการชุมนุมทุกครั้ง โดยทำงานใกล้ชิดกับพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง มีบทบาทกำเนิดเครือข่าย นปช. นครศรีธรรมราชและวิทยุชุมนุมเสื้อแดงในนครศรี ธรรมราช ก่อนหน้านี้เคยมีบทบาททางการเมืองโดยร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย ยุคก่อตั้ง และเคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีและเคยสมัครส.ส. 4 สมัย ได้รับเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย. แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ การเข้ามาทำงานครั้งนี้เพราะสนิทสนมกับนายสมพล วิชัยดิษฐ์ น้องชายนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ นายอารี ถูกออกหมายจับหลายคดี เคยมีข่าวคราวเมื่อถูกแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เมื่อครั้งเป็นรองประธานสภา แต่ต้องลาออกเพราะถูกสังคมต้องข้อกังขา
นายยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) ผู้ช่วยเลขานุการรมว.มหาดไทย แกนนำเสื้อแดงที่พลิกบทบาทจากดาราตลกบนเวทีการแสดง กลับกลายเข้ามาเป็นหนึ่งในแกนนำ นปช. บนเวทีการชุมนุม เขาเคยเป็นบุคคลที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาแฉว่า เป็นบุคคลที่จ้างผู้สมัครพรรคเล็ก 3 คน คนละ 3 หมื่นบาท ให้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ทั้งที่รู้ว่าคุณสมบัติไม่ครบก่อนจะกลายเป็นหลักฐานหนึ่งที่นำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย
ในการชุมนุม นปช.ที่ผ่านมา เป็นบุคคลหนึ่งที่เกือบถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวได้สำเร็จ ในคราวที่ไปปิดล้อมโรงแรมเอส ซี ปาร์ค แต่ก็สามารถหนีออกมาได้ แต่สุดท้าย เจ๋ง ดอกจิก เข้ามอบตัวพร้อมกับแกนนำเสื้อแดงคนอื่นและถูกควบคุมตัว เพิ่งได้รับประกันตัวในยุครัฐบาลเพื่อไทย
นายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ที่ปรึกษารมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นแกนนำเสื้อแดง จ.เชียงใหม่ สังกัด "กลุ่มรักเชียงใหม่ 51" เป็นกลุ่มเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์ เป็นแกนนำจัดตั้งทั้งมวลชนพื้นที่เชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือ จัดตั้งและดำเนินรายการวิทยุชุมชน และนำมวลชนเคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงในพื้นที่ภาคเหนือในยุค คมช.
นายนาวิน บุญเสรฐ เลขานุการรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ถือเป็นแกนนำนปช.ภาคเหนือที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญคนหนึ่ง
นายประแสง มงคลศิริ ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ แกนนำ นปช. ชาวอุทัยธานี อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย เป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย มีบทบาทงานการศึกษามาก่อน และในอดีตเคยขุดคุ้ยคดีปลอมแปลงวุฒิการศึกษาของ "บรรหาร ศิลปอาชา" หัวหน้าพรรคชาติไทยในเวลานั้น ขณะที่ กกต.ตั้งกรรมการสอบเรื่องผลิตและเผยแพร่วีซีดีภาพเสียง พ.ต.ท.ทักษิณ หมิ่นเหม่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง เขากลับนำวีซีดีพร้อมรูป พ.ต.ท.ทักษิณขนาดใหญ่ติดขบวนรถหาเสียง ไปเย้ยที่หน้าสำนักงาน กกต.อุทัยธานี เปิดปราศรัยโจมตีท้าทาย 5 เสือ กกต.ว่า จบนิติศาสตร์จะกล้าแจกใบแดงเอาผิดเขาได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะเผาปริญญาวิศวะของตัวเอง
นายสมหวัง อัศราษี ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เป็นนักธุรกิจเสื้อแดง มีบทบาทสนับสนุนการชุมนุมของ นปช.หลายครั้งในด้านต่างๆ เป็นประธานบริษัท สแกนเนอร์ อิเลคทริก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแบรนด์มิซูชิต้า บริษัท กรุงสยามเครื่องดื่ม จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง "หมี คอมมานโด" และชาเขียว "วายเจ" และดำรงตำแหน่งรักษาการรองประธาน นปช. ถือเป็นนักธุรกิจที่มีตำแหน่งในองค์กรแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเป็นคนแรก
นายวิสา คัญทัพ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี แกนนำ นปช. ยุคนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ และเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารธงแดง สื่อเพื่อคนเสื้อแดง ที่ปิดตัวเองลงหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553
สำหรับตอบแทนที่ข้าราชการการเมืองจะได้รับตาม"บัญชีอัตราตำแหน่งและเงินเดือนข้าราชการการเมือง ฉบับล่าสุด ของกระทรวงการคลัง” จะพบตัวเลข ดังนี้ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่ปรึกษารัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 45,000 บาท โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 45,000 บาท รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 42,200 บาท ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 24,200 บาท เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ 42,200 บาท ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ 37,810 บาท
นอกจากนั้น ยังมีเงินประจำตำแหน่งให้ด้วย ดังนี้ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 15,000 บาท ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 10,000 บาท โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 10,000 บาท รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 4,900 บาท ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 2,850 บาท เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขานะการรัฐมนตรีว่าการ 4,900 บาท ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ 4,400 บาท ยังไม่รวมบางตำแหน่งที่มีรถประจำตำแหน่ง งบค่าอาหาร และค่าน้ำมัน เป็นต้น