เสียงไชโยโห่ร้องของผู้ชุมนุมกลุ่มต่อต้านถ่านหินอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตสมุทรสาคร นำโดย “กำจร มงคลตรีลักษณ์” นายกสมาคมประมงสมุทรสาคร ที่รวมตัวกันปิดถนนพระราม 2 เมื่อบ่ายวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมาดังขึ้นบนท้องถนนทันที ภายหลังผู้ว่าฯ สมุทรสาคร “จุลภัทร แสงจันทร์” ยอมทำตามข้อเรียกร้องเบื้องต้น คือสั่งให้ผู้ประกอบการนำเข้าและจำหน่ายถ่านหินทุกรายในจังหวัดหยุดดำเนินการทันที
ลำดับต่อมาคือ สั่งการให้กรมเจ้าท่าจัดส่งเรือ พร้อมเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าเฝ้าระวังไม่ให้มีการแอบลักลอบขนถ่ายถ่านหิน และสั่งการให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขันผู้ประกอบการถ่านหินทุกรายให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วนการขนถ่ายถ่านหินที่เหลือ ให้จังหวัดแจ้งกำชับส่วนราชการ หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดกวดขันและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ สมุทรสาครยังให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม (เบญจภาคี) ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ผู้แทนผู้ชุมนุม และผู้แทนสื่อมวลชน เพื่อร่วมสำรวจและตรวจสอบสถานประกอบการที่ยังมีถ่านหินเก็บกองอยู่ และยังมิได้ขนย้ายหรือจำหน่าย เพื่อกำหนดขั้นตอน วิธีการ และระยะเวลาในการขนถ่ายหรือย้าย หรือจำหน่ายให้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนดร่วมกัน หลังก่อนหน้านี้ยื่นข้อเสนอการทำประชาพิจารณ์ แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมเกรงว่านายทุนจะเข้าแทรกแซง โดยเฉพาะทำประชาพิจารณ์ปลอมในช่วงที่ผ่านมา
ความสำเร็จของการเคลื่อนไหวปิดถนนโดยกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านถ่านหินในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะสภาพปัญหาที่ชาวบ้านหลายพื้นที่ ต่างทนทุกข์ทรมานกับฝุ่นผงถ่านหินที่ฟุ้งกระจาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตที่ต้องผจญกับฝุ่นผงถ่านหินปลิวเข้าไปในบ้าน เมื่อสัมผัสจะเกิดอาการคัน หรือหนักหนาสาหัสที่สุดคือโรคระบบทางเดินหายใจ และผลผลิตทางการเกษตรด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะมะม่วงและฝรั่งที่มีผงถ่านหินติดอยู่ ไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้
นอกจากนี้ ฝ่ายที่ประกอบการประมงยังตั้งข้อสังเกตว่า เรือบรรทุกถ่านหินที่ขนถ่ายจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี แล่นเข้ามายังแม่น้ำท่าจีน หลังขนถ่ายถ่านหินที่ท่าเรือต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ลำเรือจะลอยสูงขึ้น ต้องสูบน้ำในแม่น้ำเข้าไปในตัวเรือเพื่อถ่วงให้เรือลอดใต้สะพานท่าจีน 2 (กระทุ่มแบน), สะพานพุทธมณฑลสาคร (วัดพันธุวงษ์), สะพานท่าจีน 3 (วัดบางปลา) และสะพานท่าจีน ถ.พระราม 2 ก่อนที่จะสูบน้ำออกจากตัวเรือลงสู่ปากอ่าวมหาชัย ทำให้มีน้ำโสโครกปะปน ทั้งฝุ่นและคราบถ่านหิน ไหลวนเวียนตกลงค้างอยู่ในทะเล ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำอย่างหนัก
ก่อนหน้านี้การรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านที่ต่อต้านผู้ประกอบการถ่านหิน เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เช่น ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว ซึ่งมีท่าเทียบเรือและคลังสินค้าของ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส ซึ่งตั้งโรงงานในพื้นที่สีเขียวอย่างน่าแปลกประหลาดมานานกว่า 6 ปีแล้ว หรือที่ ต.นาดี อ.เมืองฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งคลังสินค้าของ บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี และล่าสุดกับพื้นที่ ต.ท่าทราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บ.เทคนิทีม ไทยแลนด์ และบมจ.เอเชีย กรีนฯ เตรียมที่จะก่อสร้างท่าเทียบเรือและคลังสินค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ก็มีกลุ่มชาวบ้านออกมาต่อต้านเช่นเดียวกัน
แต่การต่อต้านถ่านหินของกลุ่มชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวกันเฉพาะพื้นที่ต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งฝ่ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มองว่าเป็นเพียงการเรียกร้องความเดือดร้อนเฉพาะจุด นานวันเข้ากลุ่มผู้ประกอบการประมง นำโดยสมาคมประมงสมุทรสาครเริ่มออกมาเคลื่อนไหว โดยใช้วิธีแสวงหาแนวร่วมจากชาวบ้านกลุ่มต่างๆ กระทั่งเกิดเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวใหญ่มาแล้วรอบหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา
นอกจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงเดินทางมายังตัวเมืองสมุทรสาครแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากพลังเงียบที่เมื่อเห็นภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว ก็เกิดความต้องการมีส่วนร่วมเพราะเห็นด้วยกับสิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำเสนอ โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของถ่านหิน ไม่นับทัศนคติต่อข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัด กลับมีความรู้สึกว่ามีภาพของการเข้าข้างนายทุนพร้อมกับกระแสข่าวที่ว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ จนเกิดความไม่พอใจในกลุ่มชาวบ้าน และไม่เชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ไขปัญหาต่อไป
หากจะให้วิเคราะห์ถึงการเคลื่อนไหวในวันข้างหน้า การแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมในรูปแบบเบญจภาคี โดยผู้แทนภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ผู้แทนผู้ชุมนุม และผู้แทนสื่อมวลชน ที่จะร่วมกันกำหนดกติกา อาจจะไม่ใช่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างแท้จริงนัก เนื่องจากที่ผ่านมาอย่างน้อยเจ้าหน้าที่รัฐและ อปท.ถูกมองว่าเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ รวมทั้งสื่อมวลชนที่ฝ่ายผู้ชุมนุมโจมตีว่าถูกนายทุนถ่านหินซื้อเพราะไม่นำเสนอข่าว ต้องดูกันว่าหน้าตาของคณะกรรมการร่วมจะเป็นอย่างไร จะได้บุคคลที่เหมาะสมและเข้าใจปัญหาเข้ามาหรือไม่
ขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้ประกอบการนำเข้าและจำหน่ายถ่านหิน ซึ่งทั้งหมดยินยอมทำตามคำสั่งผู้ว่าฯ สมุทรสาครแต่โดยดี สองบริษัทใหญ่อย่าง ยูนิคไมนิ่งฯ และเอเชีย กรีนฯ มีการรับมือโดยหันมาใช้ท่าเทียบเรือที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นจุดขนถ่ายแทน
แต่สำหรับบางบริษัทอย่างเทคนิทีม ไทยแลนด์ ได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะผลจากคำสั่งผู้ว่าฯ ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาลงโทษทั้งโทษปรับและโทษจำคุกให้รออาญาไว้ก่อนมาแล้ว รวมทั้งเคยมีมติให้ทั้งโรงงานและท่าเรือหยุดดำเนินการขนถ่ายถ่านหินเป็นการชั่วคราว แต่กลับยอมฝ่าฝืน แอบลักลอบขนถ่ายถ่านหินทางเรือ กลายเป็นชนวนที่ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจอย่างมาก
ว่ากันว่า หลังจากสัปดาห์นี้เป็นต้นไปอาจมีรายการ “เอาคืน” จากผู้ประกอบการถ่านหิน ซึ่งเสียผลประโยชน์จากการปิดท่าเรือและคลังสินค้า เริ่มจากฝ่ายของ ยูนิคไมนิ่งฯ รองกรรมการผู้จัดการ “พงษ์ระพี เครือชะเอม” ออกมาเปิดเผยว่าจะยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะมีความมมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งของทางภาครัฐในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและป้องกันการฟุ้งกระจายของถ่านหินในการขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ อย่างเคร่งครัดเสมอมา
นอกจากนี้ฝ่ายผู้ประกอบการที่ต่อสู้กับกลุ่มชาวบ้านโดยตลอดคือ “วีระวัฒน์ เขตพารา” ผู้จัดการบริษัทเทคนิทีม ที่มักจะถ่อมตัวเองว่าเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก อาจจะเคลื่อนไหวด้วยการท้าพิสูจน์ตั้งแต่พาไปดูบ่อสาธิตในบริษัทฯ ว่าสัตว์น้ำที่อยู่ในบ่อน้ำที่ผสมถ่านหินยังมีชีวิตอยู่ หรือแม้กระทั่งเปิบพิสดารด้วยการรับประทานเม็ดถ่านหินเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมทั้งการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า CSR เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าให้ความสำคัญต่อชุมชน
อีกประการหนึ่ง ฝ่ายผู้ประกอบการอาจใช้ช่องทางศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว โดยอ้างว่าคำสั่งของผู้ว่าฯ สมุทรสาครออกมาโดยมิชอบ เป็นการทำหนังสือตามแรงกดดันของผู้ชุมนุมที่ปิดถนนพระราม 2 โดยเอาผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นตัวประกัน ขณะเดียวกันฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตา ก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการอ้างถึงความจำเป็น กดดันให้ทางจังหวัดฯ ผ่อนผันให้ผู้ประกอบการถ่านหินสามารถดำเนินการต่อไปได้
เป็นที่น่าสังเกตถึงรองผู้ว่าฯ สมุทรสาคร “สุริยะ ประสาทบัณฑิตย์” ซึ่งที่ผ่านมาทำหน้าที่เป็นพ่อบ้านรับหน้าเสื่อเจรจาหย่าศึกระหว่างชาวบ้านและผู้ประกอบการแทนตลอด แต่เมื่อมีอยู่คราวหนึ่งที่กลับวางตัวไม่เป็นกลางเสียเอง ด้วยการบิดเบือนความจริงว่า ถ่านหินก็เหมือนฝุ่นแป้ง นำมาสู่การขับไล่ของผู้ชุมนุมควบคู่ไปกับข้อเรียกร้องด้วย แม้ผู้ว่าฯ จะรับปากว่าจะไม่ให้ลงนามเอกสาร แต่ต้องจับตาท่าทีที่ถูกผลักให้เป็นศัตรูว่า จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการถ่านหินมากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะการออกความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนในจังหวัด
อีกด้านหนึ่ง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร “อภิชิต ประสพรัตน์” สวมบทบาทเป็นโซ่ข้อกลาง เสนอหน้าขอเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุมโดยอ้างว่าจะเกิดเหตุบานปลาย เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าฝ่ายนายทุนจะขนคนงานออกมาชุมนุมแบบม็อบชนม็อบ ภายหลังการชุมนุมผ่านพ้นไปกลับออกมาโอดครวญว่าหากมีการปิดกั้นไม่ให้ภาคอุตสาหกรรม ใช้พลังงานถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่ถูกกว่าน้ำมันเตา จะทำให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต่างๆ ทั้งด้านอุปโภคบริโภคต้องเพิ่มภาระต้นทุนมากขึ้น
ขณะที่ผู้ไม่ประสงค์จะออกนามแต่คาดว่า เป็นฝ่ายนายทุนผู้ประกอบการนำเข้าถ่านหิน ก็มีการใช้วิชามารโจมตีแกนนำที่เคลื่อนไหว ในวันชุมนุมที่ผ่านมา “สาครออนไลน์” พบใบปลิวโจมตีแกนนำคนสำคัญ อาทิ นายนิกร แซ่เอี๊ยบ ส.อบต.บางกระเจ้า ฐานะแกนนำประมงชายฝั่งสมุทรสาคร, นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ และนายชูชัย สุดดี สมาชิกชมรมเรืออวนดำสมุทรสาคร กล่าวหาว่ามีนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหาอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งเรื่องส่วนตัว แต่นับว่าโชคดีที่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้ยึดหลักแกนนำเป็นศูนย์กลาง ทำให้การโจมตีดังกล่าวไม่เป็นผล แต่ข่าวลือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นชนักติดหลังแกนนำหากไม่มีการชี้แจง
ใบปลิวดังกล่าวนอกจากจะโจมตีแกนนำผู้ชุมนุมแล้ว ยังมีข้ออ้างที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่ชัด อาทิ ท้าให้หยิบถ่านหินคนละกิโลกรัมมาใส่ตู้ปลา อ้างว่าแม้น้ำจะเสียแต่ปลาไม่ตาย เมื่อเทียบกับน้ำจากโรงกุ้งหรือโรงปลา หรือการอ้างว่าถ่านหินบิทูมินัสที่นำเข้า คือถ่านดำที่ผู้สูงอายุเอามาฝนให้เด็กกินเป็นยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และพยายามเปรียบเทียบฝุ่นจากถ่านหิน กับฝุ่นจากถนนลูกรัง อ้างว่าเศษหินจากถนนลูกรังร้ายแรงกว่าฝุ่นละอองถ่านหินอีกด้วย
การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มผู้ประกอบการถ่านหินเปรียบเสมือนภาพจำลองของการเมืองไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐ เอกชน และประชาชน หากการต่อสู้ยังมีสารพัดวิชา ทั้งระดับเทพและวิชามารออกมาเช่นนี้ น่าเป็นห่วงว่าความขัดแย้งในครั้งนี้อาจไม่มีทางจบลงในเร็ววัน และที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือ อาจจะเกิดสงครามและความรุนแรงขึ้นทั้ง “ชาวบ้านรบกับนายทุน” และ “ชาวบ้านรบกับชาวบ้าน” ด้วยกันเอง คล้ายกรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด ที่ทำให้เกิดความแตกแยกและความสูญเสีย
ถึงตอนนั้น เราอาจจะไม่ได้อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ในแผ่นดินที่คุ้นเคยอีกต่อไป
///////////////////////
ที่มา : http : //www.sakhononline.com/weekly/?p=130 เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554