xs
xsm
sm
md
lg

ขุมทรัพย์กลุ่มทุนถ่านหิน ปมมรณะสั่งฆ่าแกนนำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่แสดงที่ตั้งท่าเรือและคลังสินค้าที่ใช้ในการประกอบการนำเข้าถ่านหิน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร (P คือท่าเรือ W คือคลังสินค้า)
การรวมตัวกันของประชาชนหลายสาขาอาชีพจากทั้ง 3 อำเภอ เพื่อต่อต้านธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายถ่านหินบิทูมินัส ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ตอกย้ำความล้มเหลวของอำนาจรัฐในจังหวัด ที่ไม่สามารถหยุดยั้งการกระทำผิดกฏหมายของบรรดานายทุนผู้ประกอบการได้

เพราะในช่วงที่ผ่านมา ถ่านหินดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาในจังหวัดที่ถูกซุกไว้แบบขยะใต้พรม บรรดาผู้ประกอบการเลือกที่จะแก้ปัญหาตามที่ถูกร้องเรียนแบบขอไปที หรือในระยะหลังๆ ก็เลือกที่จะใช้วิธียอมเสียค่าปรับ หรือเจรจากับผู้นำท้องถิ่น เพื่อแลกกับการดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง แทนการดำเนินการให้ถูกวิธีหรือกฎกติกา ซึ่งเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ

ขณะเดียวกัน ปัญหาความเดือดร้อน ทั้งในระหว่างการขนถ่ายถ่านหินขึ้นจากท่าเรือ การใช้รถบรรทุกขนส่งถ่านหิน และการนำถ่านหินเก็บเข้าไปในคลังสินค้า ยังสร้างมลภาวะทั้งทางอากาศ จากฝุ่นผงถ่านหินที่ปลิวกระจาย รวมไปถึงมลภาวะทางน้ำจากถ่านหินที่ตกลงไประหว่างขนถ่าย ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก็ดูเหมือนว่าชะตาชีวิตของตัวเองกำลังจะตายแบบผ่อนส่งด้วยเช่นกัน

ถ่านหินบิทูมินัส เป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูก เมื่อเทียบกับน้ำมันที่ราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น บรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเลือกที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตาเพื่อลดต้นทุนการผลิต ในจังหวัดสมุทรสาครเริ่มมีการนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนิเซียเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2551 โดยมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือและคลังสินค้าแห่งแรกในพื้นที่ ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว ในปี 2549

ปัจจุบันมีท่าเรือขนถ่ายถ่านหินริมแม่น้ำท่าจีนทั้งหมด 5 ท่า คือ ท่าเทียบเรือของ บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) หมู่ 5 ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว, ท่าเทียบเรือของบริษัท เทคนิทีม (ไทยแลนด์) จำกัด หมู่ 4 ต.ท่าทราย, ท่าเทียบเรือเซ็นจูรี่ หมู่ 1 ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ, ท่าเทียบเรือ บริษัท เสริมสินผลิตภัณฑ์ปลา จำกัด และท่าเทียบเรือ บริษัท รุ่งเจริญผล จำกัด ถนนวิเชียรโชฎก ที่รับจ้างขนถ่าย

ไม่นับรวมคลังสินค้าของแต่ละบริษัทที่กระจัดกระจายในพื้นที่ เช่น คลังสินค้าแห่งที่สอง ของบริษัท ยูนิค ไมนิ่งฯ ริมถนนเลียบคลองชลประทาน ดี 7 หมู่ 2 ต.ชัยมงคล หรือคลังสินค้าของบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด มีคลังสินค้าเนื้อที่ราว35 ไร่ อยู่บริเวณถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ ต.นาดี อ.เมืองฯ ทั้งนี้ ในแต่ละบริษัทมีการนำเข้ารวมกันมากกว่า 650,000 ตันต่อปี

เป็นที่ทราบกันดีว่าผลกระทบที่ตามมาเกิดขึ้นกันอย่างยาวนาน และมีชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ แห่แหนกันประท้วงเรื่องนี้ แต่ก็เป็นไปในลักษณะปฏิบัติกันเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น การประท้วงของชาวบ้าน ต.สวนส้มและ ต.อำแพง หรือการที่ชาวบ้านในพื้นที่วัดศรีเมือง หมู่ 3 ต.ท่าทราย ประท้วงการเข้ามาก่อสร้างท่าเรือและคลังสินค้าบนพื้นที่ 107 ไร่ของบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอร์จี จำกัด

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของชาวบ้านเข้มข้นขึ้นในปีนี้ เริ่มจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมประมงสมุทรสาคร เกษตรกร และชาวบ้านในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก ต.โกรกกราก ต.ท่าฉลอม ต.ท่าจีน ต.ท่าทราย ต.บ้านบ่อ อ.เมืองฯ, ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว, ต.ท่าเสา และ ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร รวมตัวออกประท้วงที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร

แม้การชุมนุมในคราวนั้น ผู้ว่าฯ จุลภัทรลงมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยตัวเอง ก็ทำให้ประชาชนสลายตัวไปได้ในวันหนึ่ง แต่เมื่อสมาคมการประมงสมุทรสาคร ออกมาสำรวจทางน้ำ และพบว่ามีเรือบรรทุกถ่านหิน 5-6 ลำลักลอบขนถ่านหินขึ้นฝั่งกันอยู่ แม้ก่อนหน้านี้เคยรับปากและสัญญาว่าได้สั่งให้หยุดไปแล้ว จึงได้เข้าไปกดดันเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหนัก

เป็นผลให้นายจุลภัทรสั่งการให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดดำเนินการเอาผิด โดยเริ่มจากบริษัท เทคนิทีม (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ถูกทางการให้หยุดใช้ท่าเรือไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ท่าเรืออีก 4 แห่ง กลับยังดำเนินการใช้ท่าเรือขนถ่ายขายถ่านหินกันอยู่ โดยไม่สนใจถึงคำสั่งของผู้ว่าฯ สมุทรสาคร

ท่าเรือบางแห่งได้ยื่นขอใช้กับทางการเพื่อทำการขนถ่ายปลา แต่เอาเข้าจริงกลับให้เช่าเพื่อใช้ขนถ่ายถ่านหินไปยังคลังสินค้า นอกจากนี้ นายทุนผู้ประกอบการนำเข้าถ่านหินยังมีพฤติกรรมท้าทายกฎหมาย ด้วยการหยุดใช้เรือเหล็กที่เป็นกระบะขนถ่ายขายถ่านหิน แต่หันมาเปลี่ยนเป็นใช้เรือคล้ายเรือประมงมาขนถ่ายถ่านหินแทน

ที่ชาวบ้านต่างไม่น่าพอใจกันมากที่สุดก็คือ ในกรณีดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตามคำสั่งของผู้ว่าฯ สมุทรสาครที่ออกมาดังกล่าวระบุเพียงโทษปรับ 3 พัน ถึง 3 หมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละ 1 พันบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องซึ่งถ้ากฎหมายรัฐดำเนินการเอาผิดกับบริษัทที่กระทำผิดได้เพียงแค่นี้ ก็คงจะทำให้บริษัทเอกชนไม่เข็ดหลาบ และทำผิดซ้ำซากอย่างนี้ขึ้นอีก

จากเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น สร้างความไม่พอใจให้กับสมาคมประมงและชาวบ้านอย่างมาก และเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ให้ความเห็นชอบสนับสนุน เสมือนรู้เห็นเป็นใจเพื่อแลกกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนมหาศาลอีกด้วย
ป้ายรณรงค์ไม่เอาถ่านหินของกลุ่มชาวบ้าน
การรวมตัวของชาวบ้านเริ่มเข้มข้นขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยบรรดาแกนนำ 8 กลุ่ม 3 อำเภอ ซึ่งยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนผลไม้ บ่อเลี้ยงปลา ชาวประมงชายฝั่งที่เคยหากุ้งทำกะปิ กลุ่มผู้งมหอย รวมถึงประชาชนทั่วไป ครูพระสงฆ์และหลากหลายอาชีพ ที่สมาคมประมงจังหวัดสมุทรสาคร

ในที่สุดฉันทามติได้ข้อสรุปร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่าจะไม่พึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่เอาถ่านหินในจังหวัดสมุทรสาคร โดยจะเดินหน้ารณรงค์ต่อสู้กับธุรกิจถ่านหินอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการเคลื่อนไหวมวลชน การใช้มาตรการทางกฎหมาย และการใช้ช่องทางผ่านเวทีรัฐสภาอีกทางหนึ่ง โดยยื่นข้อเรียกร้องต่อ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านสิ่งแวดล้อม

ข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ได้แก่ ให้ระงับโรงงานถ่านหินและท่าเรือถ่านหินโดยทันที จนกว่าจะได้ข้อยุติปัญหา, กำหนดเรื่องการพึ่งพาหรือตรวจสอบตัวเลขและการนำเข้าถ่านหินอย่างแท้จริงในการใช้พลังงานใน จ.สมุทรสาครอย่างแท้จริง โดยมีผลไม่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นข้อยืนยัน

กำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้มีการนำเข้า ขนส่งขนถ่ายหรือเก็บกรองของถ่านหินโดยให้เป็นแบบปิดทุกขั้นตอน ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและก่อมลพิษ, ต้องมีมาตรการดูแลและบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินธุรกิจถ่านหินให้เป็นไป ตามเงื่อนไขและข้อกำหนด และการประชุมต่างๆ ต้องมีคณะกรรมการภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง

นอกจากนี้ในการต่อสู้ธุรกิจถ่านหินของคนสมุทรสาคร ยังมีแนวร่วมที่เคลื่อนไหวร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ร่วมกับชาวบ้านท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ยื่นหนังสือถึงสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า เพื่อขอให้ตรวจสอบและเพิกถอนใบอนุญาตท่าเรือขนถ่ายถ่านหินในพื้นที่แม่น้ำท่าจีนทั้งหมด

เนื่องจากที่ผ่านมาท่าเทียบเรือที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า เพื่อขนถ่ายถ่านหินในจังหวัดสมุทรสาคร จากการตรวจสอบใบอนุญาตของบริษัทต่างๆ พบว่า การดำเนินการอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากทุกท่าเทียบเรือรับเทียบเรือเพื่อขนถ่ายถ่านหินขนาดมากกว่า 500 ตันกรอสขึ้นไป ไม่ได้ผ่านการจัดทำรายงาน EIA จึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย

บทเรียนที่เกิดขึ้นในพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง หรือในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ยังเป็นฝันร้ายเช่นทุกวันนี้ ทำให้ชาวสมุทรสาคร เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก ต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่นายทุน และขับไล่การขนถ่านหินออกนอกพื้นที่ เพื่อมุ่งหวังให้สิ่งแวดล้อมในจังหวัดดีขึ้น และถือโอกาสขับไล่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในจังหวัดอีกด้วย

ต้องดูกันต่อไปว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนคนสมุทรสาครจะไปได้นานสักเพียงใด แม้ความตั้งใจของพวกเขาจะไม่พึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถือเป็นการสั่งสอนให้ผู้มีอำนาจอยู่กันอย่างไม่สงบสุข สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนกับภาครัฐ อันเกิดจากการที่ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์กับนายทุนผู้ประกอบการถ่านหินนั่นเอง

ที่มา : http://www.sakhononline.com/weekly/?p=113 "รุกฆาตไม่เอา ‘ถ่านหิน’ บีบนายทุนพ้นสมุทรสาคร" เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น