xs
xsm
sm
md
lg

“ภูมิใจห้อย”ฝันค้างเอทีเอ็มกลางไร่นา แฉกลุ่มอิทธิพล-จนท.รัฐรุกป่าปลูกยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนวิน ชิดชอบ ผู้มีบทบาทสำคัญในนโยบาย “กรีดปุ๊บ เงินไหลปั๊บ สร้างตู้เอทีเอ็มในไร่นา” ที่พรรคภูมิใจไทยใช้หาเสียงในเวลานี้
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ผลงานโบว์แดงโครงการส่งเสริมปลูกยาง 8 แสนไร่ของพรรค “ภูมิใจห้อย” ยังไปไม่ถึงฝั่ง เหตุกล้ายางแพงเกินจริงซ้ำยังขาดคุณภาพ สกย.ดัดหลังนักปั่นราคาคาดถ่วงเวลาไปจนหมดฤดูกาลเพาะปลูก นักวิชาการเปิดงานวิจัยชี้กระแส “ตื่นยาง” ส่งผลบุกรุกป่ามโหฬารทั้งฝีมือกลุ่มอิทธิพล-เจ้าหน้าที่รัฐ-เกษตรกร เตือนสุ่มเสี่ยงผลผลิตอาจล้นเกินหากความต้องการของจีนลดลงในอีกสิบปีข้างหน้า

“กรีดปุ๊บ เงินไหลปั๊บ สร้างตู้เอทีเอ็มในไร่นา” หนึ่งในนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่ขายฝันโครงการส่งเสริมปลูกยางพารา 8 แสนไร่ ให้แก่พี่น้องเกษตรกรในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ยังไปไม่ถึงฝั่ง แม้ว่า นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรมช.กระทรวงเกษตรฯ จะออกแรงเต็มที่จนคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการให้ดำเนินการได้ในโค้งสุดท้ายก่อนยุบสภาแล้วก็ตาม

ล่าสุด คณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้าร่วมงานสัมมนานำเสนองานวิจัย “การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพารา : ประเด็นห่วงใยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” โดย รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ที่ เคยู โฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ให้ข้อมูลว่า โครงการส่งเสริมปลูกยาง 8 แสนไร่ แม้คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติแล้ว แต่การดำเนินการขณะนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะกล้ายางที่จะเปิดประมูลเพื่อส่งมอบให้แก่เกษตรกรนั้น มีราคาแพงเกินจริงและขาดคุณภาพ คาดว่าปีนี้ซึ่งมีเวลาเหลืออีกแค่ 2 เดือนก็จะหมดฤดูกาลเพาะปลูกยางคงดำเนินการไม่ทัน ในช่วงนี้รัฐบาลรักษาการไม่มีใครกล้าเซ็นอนุมัติให้ซื้อกล้ายางราคาแพงกว่าที่ได้ตั้งไว้แต่แรก

“ต้นทุนกล้ายางชำถุงที่ตรวจสอบแล้วล่าสุดอยู่ที่ 16 บาทต่อต้นเท่านั้น ดังนั้นถ้าราคาเกิน 30 บาท ไม่ควรซื้อ” เจ้าหน้าที่ สกย. ให้ข้อมูลในวงสัมมนา

ก่อนนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ท้วงติงว่า การที่กระทรวงเกษตรฯ จะขอปรับราคาประมูลกล้ายางในโครงการส่งเสริมปลูกยาง 8 แสนไร่ จากราคา 17 บาท/ต้น เป็น 35 บาท/ต้น โดยอ้างต้นทุนการผลิตกล้ายางที่เพิ่มขึ้นไม่น่าจะสมเหตุสมผลและอาจเป็นช่องทางทุจริตได้ (อ่านรายละเอียดในข่าวประกอบ)
สภาพสวนยางพาราโดยทั่วไปที่โล่งเตียน
จากการติดตามข้อมูลของ “ASTVผู้จัดการ” พบว่ากล้ายางชำถุงพันธุ์ RRIM 600 และ พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 ที่ซื้อขายกันในตลาดถูกปั่นราคาด้วยเหตุผลที่ว่าจะมีโครงการส่งเสริมของรัฐ และอ้างว่าประสบปัญหาน้ำท่วมภาคใต้กระทบต่อแปลงเพาะกล้ายาง ทำให้ราคากล้ายางพุ่งสูงโดยไล่ราคาจากประมาณ 30 บาท/ต้นในช่วงเปิดจองเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา ขึ้นมาเป็น 60 - 65 บาท ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกนับแต่เดือนพฤษภาคม 2554 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ ขณะที่กล้ายางพันธุ์ของเอกชน เช่น JV 80 ของกลุ่มซีพี ดันราคาขึ้นไปถึง 80 - 100 บาท

เจ้าหน้าที่ สกย. ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากราคาแพงเกินจริงแล้วคุณภาพของกล้ายางยังด้อยลงอย่างมาก ช่วงที่ส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ มีปัญหา “ยางตาสอย” คือสอยเอาตายางจากต้นยางที่โตเปิดกรีดทั่วไปมาติดตาไม่ได้เอาตายางมาจากต้นพันธุ์ยาง แต่มาถึงช่วงนี้ ต้องเรียกว่า “ยางตายอด” คือ เอาตายางจากยอดยางของต้นตอยางต้นเดียวกันนั้นมาติดตา การนำเอาตายางพันธุ์เดียวกันกับต้นตอยางมาติดตานั้นเป็นรูปแบบการผลิตกล้ายางชำถุงที่ผลิตกันในปัจจุบันมากที่สุดโดยมีสัดส่วนถึง 80 - 85% ซึ่งมีระดับความแข็งแรงน้อยที่สุด

ในการนำเสนองานวิจัย “การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพารา : ประเด็นห่วงใยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” ซึ่ง รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล ได้ใช้เวลารวบรวมข้อมูลเชิงเอกสารและการลงสำรวจพื้นที่จริง สะท้อนข้อห่วงใยในการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราอย่างกว้างขวางทั่วทุกภูมิภาคของไทยในเวลานี้ว่า มีปัจจจัยเสี่ยงและผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจในอนาคต ที่สำคัญกระแส “ตื่นยาง” ยังส่งผลกระทบต่อการบุกรุกป่าเพื่อปลูกยางทั้งการบุกรุกโดยเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพลร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ อีกทั้งกล้ายางที่เกษตรกรนำไปปลูกยังขาดคุณภาพ รวมถึงการปลูกยางในพื้นที่นาข้าวซึ่งให้ผลผลิตต่ำ กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต
การบุกรุกถางป่าสงวนเพื่อปลูกยางในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์
รศ.ดร. สมบูรณ์ กล่าวว่า ราคายางที่พุ่งสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจดังกรณีที่เคยขึ้นคราววิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2541 - 2542 ราคายางลดลงเหลือไม่ถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม และวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 ราคายางลดลงจาก 100 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนกรกฎาคม 2551 เหลือ 36 บาทในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน

สำหรับราคายางที่เพิ่มขึ้นในเวลานี้เป็นผลมาจากความต้องการยางธรรมชาติของจีนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2543 - 2553 ที่อยู่ในระดับร้อยละ 12.9 ต่อปี โดยจีนจะมีความต้องการยางธรรมชาติสูงถึง 13,182 พันตัน ในปี 2563 แต่คำถามคือ อัตราการเติบโตการใช้ยางธรรมชาติของจีนจะยังทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงปี 2543 - 2553 อย่างเนื่องในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าหรือไม่

นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาอันเกิดจากนักเก็งกำไรในตลาดซื้อขายเกษตรล่วงหน้า ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ราคายางแผ่นดิบ ลดลงจาก 180 กว่าบาท มาอยู่ที่ 95 บาท ในช่วงเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มผู้ลงทุนรายย่อยที่รับซื้อน้ำยางมาทำยางแผ่นขายขาดทุนย่อยยับ

ส่วนปัญหาผลผลิตล้นตลาดอาจเกิดขึ้นได้จากพื้นที่เพาะปลูกยางของไทยเพิ่มขึ้นสูงอยู่ที่ระดับ 17.96 ล้านไร่ ในปี 2553 ซึ่งตัวเลขจริงอาจจะถึง 20 ล้านไร่ เมื่อบวกกับจีนและเวียดนามที่เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงระหว่างปี 2547 - 2551/2552/2553 มีอัตราการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกร้อยละ 12.56 และ 9.16 ต่อปีตามลำดับ

รศ.ดร.สมบูรณ์ ยังสะท้อนว่า ผลกระทบที่สำคัญต่อการขยายพื้นที่ปลูกยางเนื่องจากราคายางที่สูงขึ้นที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชี้ว่า ในเขตพื้นที่ภาคใต้หากสังเกตด้วยสาตาจะพบการปลูกยางในเขตป่าหรือภูเขาสูง จนน่าสงสัยว่ามีการอนุญาตให้ปลูกยางกันบนภูเขาด้วยหรือ ในหลายพื้นที่ในเขตป่าเขาหรือป่าต้นน้ำยังพบยางพารารุกขึ้นไปสูงจนถึงระดับที่มีความสูงชันมากจนไม่สามารถปลูกขึ้นไปได้อีก

กรณีพื้นที่ตัวอย่างที่มีบุกรุกป่าเพื่อปลูกยาง คือ พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ซึ่งเป็นรอยต่อจังหวัดพัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประมาณ 433,750 ไร่ แต่ชาวบ้านเข้าไปปลูกยางแล้วถึง 122,587 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของพื้นที่อุทยานฯทั้งหมด ส่วนเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าเขาเหลง อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ก็เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสวนยางพาราของชาวบ้าน

สำหรับการปลูกยางในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ ชั้น 2 ของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาพบว่าลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งมีพื้นที่ 123,399 ไร่ ถูกบุกรุกปลูกยางพาราแล้ว 37,389 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ทั้งหมด ส่วนลุ่มน้ำชั้น 2 ซึ่งมีพื้นที่ 127,206 ไร่ ถูกบุกรุกปลูกยางพาราแล้ว 74,269 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 58 ส่วนพื้นที่ป่าในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่มีพื้นที่ป่าปกคลุมอยู่ประมาณ 22% เมื่อปี 2528 ลดลงเหลือเพียง 12% ในปี 2545 โดยส่วนใหญ่ถูกทดแทนด้วยพื้นที่ปลูกยางพารา ผลกระทบจากนิเวศป่าต้นน้ำเป็นนิเวศยางพารา ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงจากระดับสูงโดยมีค่าคะแนนจาก 49 เหลือเพียง 19 เท่านั้น

เจ้าหน้าที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในเขตพื้นที่ภาคใต้ที่เข้าร่วมสัมมนา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การบุกรุกป่าเพื่อปลูกยางพารา จะมีกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ซึ่งผูกโยงกับผู้มีอิทธิพลระดับชาติเข้าไปจ้างชาวบ้านแผ้วทางป่าเพื่อขายให้กับผู้สนใจปลูกยางในราคาถูก โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นรู้เห็นเป็นใจ จากนั้นเมื่อต้นยางโตถึงขั้นเปิดกรีดก็จะบังคับซื้อคืนในราคาต่ำหากไม่ขายก็จะถูกฆ่าทิ้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงแต่คนทำงานในพื้นที่มีความเสี่ยงในการเปิดโปงข้อมูลขบวนการรุกป่า
สวนยางพาราของ ลุงวิฑูร หนูเสน เกษตรกรในอ.ตะโหมด  จ.พัทลุง ที่ปลูกสร้างสวนยางตามแนวทางวิถีพุทธที่เน้นการอยู่ร่วมกันได้ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ
งานวิจัยของ รศ.ดร.สมบูรณ์ ยังระบุด้วยว่า การปลูกยางพาราเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยเพราะยางพาราไม่มีรากแก้ว การดูดซับน้ำและยึดดินทำได้น้อย น้ำมาเร็วไปเร็ว ความเสี่ยงด้านอุทกภัยจึงมีมากขึ้นเช่นกรณีที่เพิ่งเกิดเหตุน้ำท่วมที่ภาคใต้เมื่อไม่นานมานี้

ส่วนผลกระทบจากกล้ายางขาดคุณภาพนั้นเป็นปัญหามากในปัจจุบันเพราะมีการนำตายางพันธุ์เดียวกันกับต้นตอยางมาติดตา ซึ่งทำให้คุณภาพกล้ายางมีความแข็งแรงน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับกล้ายางที่ได้มาจากต้นตอยางพันธุ์พื้นเมืองติดตาด้วยตายางพันธุ์ลูกผสมต่างๆ ที่มีความแข็งแรงมากที่สุด หรือต้นตอตายางพันธุ์ลูกผสมที่แตกต่างกับตายางพันธุ์ลูกผสมต่างสายพันธุ์ที่นำมาติดตา เมื่อกล้ายางขาดคุณภาพ มีความแข็งแรงน้อย จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคยางชนิดต่างๆ ได้ง่าย และมีโอกาสโค่นล้มได้ง่ายเมื่อเกิดวาตภัยเพราะกล้ายางชำถุงจะไม่มีรากแก้วหรือรากแก้วสั้น

ในงานวิจัยเชิงสำรวจปัญหาเพาะปลูกยางในนาข้าว จำนวน 46 ราย ในอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ปี 2554 ของ รศ.ดร.สมบูรณ์ ยังพบว่า 97% ผลผลิตไม่ได้เป็นที่คาดหวัง 91% ต้นยางเติบโตช้าและไม่ต้านทานโรค 89% เปิดกรีดได้ช้า กรณีของนางผ่องศรี สุขรุ่ง ชาวบ้านตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง หนึ่งในผู้ปลูกยางในนาข้าว ให้ข้อมูลว่า ในปีแรกเปิดกรีดได้ผลิต 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน ปีที่สองลดลงเหลือเพียง 1 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน และในปีที่สามกลับไม่ให้ผลผลิตเลย และอยากฝากถึงชาวนาที่ยกร่องปลูกยางพาราให้คิดให้ถี่ถ้วนก่อน

รศ.ดร.สมบูรณ์ มีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายว่า ยุทธศาสตร์การเพาะปลูกพืชของประเทศควรเน้นที่ความหลากหลายของชนิดพืชที่ปลูก และความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรและประชาชนไทยเป็นหลักโดยเฉพาะในภาวะที่โลกกำลังเผชิญปัญหาโลกร้อน ส่วนพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพาราไปแล้ว รวมทั้งพื้นที่เพาะปลูกยางโดยทั่วไปควรมีการออกแบบและสร้างกลไกการขับเคลื่อนระบบการเพาะปลูกยางเสียใหม่ด้วยการเติมพื้นที่สีเขียวให้กับสวนยาง เช่น การปลูกพืชร่วมยางให้มากขึ้น หรือการทำสวนยางตามแบบวิถีพุทธ ส่วนการผลิตยางชำถุง ต้องมีการควบคุมการผลิตกล้ายางที่มีคุณภาพ เน้นความหลากหลายของสายพันธุ์ ผลักดันให้กลับไปใช้ต้นตอยางพื้นเมืองและตายางลูกผสม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น