xs
xsm
sm
md
lg

จับตาทุจริตกล้ายางยุคมาร์ค ป.ป.ช.ท้วงให้ชะลอ ภูมิใจห้อยดันเดินหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.กระทรวงเกษตรฯ กำลังโชว์ลีลาการกรีดยาง (ภาพจากเว็ปไซต์)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - จับตาโครงการส่งเสริมปลูกยาง 8 แสนไร่ ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ป.ป.ช.ชี้อาจเกิดทุจริตจัดซื้อจัดจ้างกล้ายาง “ภูมิใจห้อย” หมกเม็ดอ้างต้นทุนเพิ่ม-กล้ายางขาดขอปรับราคาประมูลเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทั้งที่กรมวิชาการเกษตรสำรวจกล้ายางมีมากพอปลูกถึง 2 - 3 ล้านไร่ ตะลึงต้นยางช่วงเร่งปลูกยุคทักษิณยืนต้นตายแสนไร่ เสียหายนับพันล้านบาท

โครงการส่งเสริมปลูกยาง 1 ล้านไร่ในยุคทักษิณ ที่มีเนวิน ชิดชอบ รมช.กระทรวงเกษตรฯ ขณะนั้นเป็นผู้ผลักดันสำคัญ ได้สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เช่นกรณีต้นยางโตไม่ได้ขนาดมาตรฐานเพราะกล้ายางขาดคุณภาพ การบริหารจัดการสวนไม่ดี แต่เกษตรกรซึ่งรอเวลามาร่วม 7 ปี ไม่ทนรอต่อและเปิดกรีดก่อนทำให้ได้ผลผลิตต่ำ กระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง และคุณภาพเนื้อไม้เมื่อถึงเวลาตัดโค่นต้นยาง ซึ่งคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท

ไม่เพียงแค่นั้น จากข้อมูลที่คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 ยังสรุปว่า จากการเร่งรัดปลูกยางพาราตามโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราระยะที่ 2 (2547-2549) และที่เกษตรกรลงทุนปลูกเอง พบว่าในปี 2553 ปีเดียวมียางยืนต้นตายเนื่องมาจากการบริหารจัดการไม่ดี เกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องยาง สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม ภาวะฝนทิ้งช่วง ประมาณ 106,288 ไร่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ส่งมาให้ป.ป.ช.
 
โดยยางที่ตายมีอายุตั้งแต่ 1 ปี - 7 ปี หากประเมินความเสียหายจากการตายของต้นยาง และผลตอบแทนที่เกษตรกรควรจะได้รับประมาณปีละ 10,000 บาท/ไร่ เท่ากับรัฐและเกษตรกรจะเสียหายรวมปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท
ภาพยางยืนต้นตาย ต.ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ภาพจาก  http://mrnainoy-myblog.blogspot.com/2010/05/2.html
สภาพการยืนต้นตายมหาศาลขนาดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถึงปัจจุบันนี้รัฐยังมิได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายแก่เกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายแต่อย่างใด

ผลจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เสนอนายกรัฐมนตรี เห็นควรชะลอโครงการปลูกยางพาราแห่งใหม่ ระยะที่ 3 ไว้ก่อน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาทบทวนกระบวนการส่งเสริมปลูกยางแห่งใหม่ และผลจากการส่งเสริมจากการปลูกยางพาราระยะที่ 2 ที่ผ่านมาว่ามีปัญหาใดบ้าง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดปัญหายางตาย และด้านการเจริญเติบโตของยางที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และแนวทางหารือกระบวนการในการช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับปรุงสวนยางให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งข้อกำหนดในการบริหารความเสี่ยงในการทุจริตในการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการ

เหตุผลที่ ป.ป.ช. เห็นควรให้ชะลอโครงการปลูกยางระยะที่ 3 ที่ ป.ป.ช.เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และมอบหมายให้ผู้แทนไปรอชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 แต่คณะรัฐมนตรีไม่ได้เรียกเข้าไปชี้แจง แถมนายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.กระทรวงเกษตรฯ ยังออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า ป.ป.ช.ไม่ได้มีท่าทีต่อมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการปลูกยางแห่งใหม่ระยะที่ 3 และไม่ได้มีเจ้าหน้าที่จากป.ป.ช.มาชี้แจงแต่อย่างใด
ราคากล้ายางพุ่งพรวดจาก 10 กว่าบาทเมื่อไม่กี่ปีขึ้นไปถึง 50-60 บาท/ต้นหลังรัฐบาลมีโครงการส่งเสริมปลูกยาง ทำให้เกษตรกรนอกโครงการเดือดร้อนจากราคากล้ายางแพง ขณะที่เกษตรกรในโครงการก็ได้กล้ายางไม่ได้มาตรฐาน
เมื่อคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องการฟังคำชี้แจงจาก ป.ป.ช. ว่าเหตุใดควรต้องชะลอโครงการไว้ก่อน และรมช. กระทรวงเกษตรฯ ยังมากล่าวความเท็จต่อสาธารณชน “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ขอนำเหตุผลที่ ป.ป.ช.เห็นควรให้ชะลอโครงการฯ รายงานต่อประชาชน ดังนี้

1.โครงการส่งเสริมการเกษตร หรือกิจกรรมต่างๆ จะต้องเป็นกิจกรรมที่เกษตรกรไม่เห็นด้วย หรือไม่นิยม แต่โครงการปลูกยางนี้เกษตรกรปลูกเองมากกว่ารัฐส่งเสริม คือ ในปี พ.ศ. 2546 มีพื้นที่ปลูกยาง 13.3 ล้านไร่ ในปี 2552 พื้นที่ปลูกยางเพิ่มเป็น 17.3 ล้านไร่ ใน 6 ปี มีการปลูกยางเพิ่ม 4 ล้านไร่ เป็นโครงการของรัฐเพียง 800,000 ไร่ (โครงการส่งเสริมปลูกยางระยะที่ 2 ยุคทักษิณ ที่ตั้งเป้าล้านไร่แต่ทำได้จริง 8 แสนไร่) เกษตรกรปลูกเอง 3.2 ล้านไร่ หรือปีหนึ่ง 500,000 ไร่ มากกว่าที่รัฐจะส่งเสริม (200,000 - 300,000 ไร่/ปี)

โดยหลักการแล้ว ถ้าจะส่งเสริมจริงๆ เพื่อให้เกษตรกรโดยรวมได้รับประโยชน์ จะต้องควบคุมราคาพันธุ์ยางไม่ให้สูงเกินจริงจะเกิดประโยชน์มากกว่า

2.จากปัญหาโครงการที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2553 ยางอายุ 4 ปี ถึง 8 ปี ตายกว่า 100,000 ไร่ โดย 19 จังหวัดในภาคอีสาน มีเพียงจังหวัดหนองคายและสกลนคร ที่ไม่มีรายงานสวนยางตาย ดังนั้นนอกจากปัญหาแล้งแล้ว น่าจะมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้ยางยืนต้นยาย

ความเสียหายจากยางตาย 100,000 ไร่ หากประเมินการลงทุนไร่ละ 10,000 บาท ประเทศจะเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าเสียโอกาส และผลตอบแทนที่ควรจะได้

ประกอบกับเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 นักวิชาการของสถาบันวิจัยยางได้รายงานในไทยรัฐว่า ยางอายุ 7-8 ปี (หลังกรีด) จะให้น้ำยางน้อย 100 ลิตรต่อตันต่อวัน ป.ป.ช.จึงเห็นควรให้หาสาเหตุให้ชัดเจนก่อน

3.โครงการนี้อาจก่อให้เกิดการทุจริตได้ ประกอบด้วย

3.1ทุจริตจากการจัดซื้อกล้ายางที่ตั้งราคาไว้ 17-18 บาท กำลังขอเพิ่มเป็น 35 บาท โดยอ้างราคาต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 17-18 บาท ดูจะไม่มีเหตุผลเพราะราคาประมูล ปี 2546 ประมาณ 14 บาท ราคาต้นทุนประมาณ 10 บาท

ปัจจุบัน เมล็ดยาง กิ่งตายาง เป็นปัจจุยที่เกษตรกรจัดหาได้เอง วัสดุปลูกๆ ก็ควรเพิ่มเกิน 20% ถ้าให้เพิ่ม 30% คือ 3 บาท ต้นทุนควรอยู่ที่ 13 บาท การจัดหาไม่ควรเกิน 20 บาท แต่ขณะนี้กำลังจะขอประมูลในราคาต้นละ 35 บาท โดยอ้างถึงจำนวนกิ่งพันธุ์น้อย แต่จากรายงานการสำรวจของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงวันที่ 17 มกราคม 2554 - 17 กุมภาพันธ์ 2554 ขณะนั้นมีกิ่งตา ต้นยาง และยางชำถุง ประมาณ 300 ล้านต้น มากพอสำหรับพื้นที่ 2-3 ล้านไร่

3.2การดำเนินการของรัฐตามโครงการนี้สร้างความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเกษตรกรนอกโครงการที่ต้องซื้อกิ่งพันธุ์แพงขึ้น ซึ่งนโยบายรัฐที่ดีต้องไม่ทำร้ายเกษตรกรโดยรวม เพราะเมื่อใดที่รัฐกำหนดให้มีโครงการส่งเสริมปลูกยาง ในช่วงเวลาส่งเสริมนั้นกล้ายางจะมีราคาสูงขึ้นมากกว่าราคาในช่วงเวลาที่ไม่มีการส่งเสริมปลูกยาง ทำให้มีผลกระทบต่อเกษตรกรที่ต้องการปลูกยางนอกโครงการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อกล้ายางแพงกว่าปกติ นอกจากนั้นอาจเป็นช่องทางก่อให้เกิดการทุจริตและสร้างความเสียหายต่อรัฐในการเสนอราคาในการประกวดราคาซื้อกล้ายางด้วย

(จากการสอบถามราคากล้ายางของ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” พบว่า ยางชำถุงที่วางขาย ณ แปลงพันธุ์ยางที่ร้านข้าวแกงปักษ์ใต้ช่วงสงกรานต์ปี 2554 ที่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พันธุ์ RRIM 600 ขนาดฉัตรเดียว-สองฉัตร ราคา 60 บาท/ต้น )
สวนยางพาราบนภูเขาเสียหายจากดินบนภูเขาถล่ม ในภาพพื้นที่สวนยางที่อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช (ภาพจากเว็ปไซต์ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ)
3.3ในการควบคุมคุณภาพกล้ายาง และวัสดุปลูกจะเป็นไปได้ยาก เพราะจะส่งมอบพร้อมๆ กันในหลายพื้นที่ เหมือนโครงการระยะ 2 ที่มีกิ่งพันธุ์ตาสอยจำนวนมาก

3.4โครงการระยะที่ 2 เมื่อปิดโครงการมียางตายหลังปลูกประมาณ 15% ซึ่งทางวิชาการยอมรับได้ แต่ข้อเท็จจริงถ้าเกษตรกรซื้อยางปลูกเอง ยางจะตายน้อยกว่า 10% เพราะเกษตรกรจะระวังและดูแลดี

4.ก่อนส่งเสริมรัฐควรมีการกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่าประเทศไทยจะมีสวนยางกี่ไร่ มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาด้านอาหารและพลังงาน การทำลายป่า เวลานี้ทั้ง 3 ภาคมีพื้นที่ปลูกยางเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านกว่าไร่ และพื้นที่ปลูกข้าวหายไป 1 ล้านกว่าไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานมีการปลูกยางในพื้นที่นาจำนวนมาก อีกส่วนมีการบุกรุกทำลายป่า ซึ่งขณะนี้มีสวนยางในพื้นที่ป่าที่ราชการยังไม่เพิกถอนกว่า 2 ล้านไร่ เมื่อปี 2553 เกษตรกรชาวสวนยางพัทลุง ตัดสวนยางในป่าถูกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จับฟ้องศาล ศาลสั่งปรับไร่ละกว่า 1 แสนบาท

นอกจากนั้น เมื่อเกิดปัญหาอุทกภัยจะเห็นสวนยางบนที่สูงทลายลงมามาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิต ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่คณะรัฐมนตรี ควรมีมติชะลอและใช้เงินนี้มาแก้ปัญหาและรักษาของเดิมให้มีประสิทธิภาพจะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว คณะรัฐมนตรี ไม่ได้รับฟังข้อเสนอจาก ป.ป.ช. โดยมีมติให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการต่อไป

/////////////////////////////////

มติครม.เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554

8.เรื่อง โครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2553 - 2555 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มาตรา 21 ทวิ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2553 - 2555 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มาตรา 21 ทวิ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่ ป.ป.ช. เสนอ และเห็นชอบให้ดำเนินโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2553 - 2555 ในส่วนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไปแล้ว จำนวนเนื้อที่ 800,000 ไร่ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการต่อไปได้

ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินโครงการในปี 2555 และปี 2556 ก่อนดำเนินโครงการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ เพื่อศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลการดำเนินโครงการโดยให้เน้นในเรื่องของพื้นที่การปลูกยางพาราที่เหมาะสมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น