xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจสูญแสนล้าน เร่งกรีดยางล้านไร่ตกสเปก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนวิน ชิดชอบ ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการยางล้านไร่ ในยุคทักษิณ และโครงการยาง 8 แสนไร่ ในเวลานี้
ผู้จัดการออนไลน์ - โครงการหาเสียงปลูกยางล้านไร่สมัยทักษิณ-เนวิน เกษตรกรลงทุนเฝ้ารอความหวัง 7 ปีเปิดกรีดโตไม่ได้ขนาดตามคาด ผลพวงจากปัญหากล้ายางขาดมาตรฐาน การบริหารจัดการสวนยางไม่ถูกหลักวิชาการ หน่วยงานรัฐไม่สามารถดูแลช่วยเหลือได้เต็มที่ ประเมินผลเสียหายทางเศรษฐกิจนับแสนล้าน

โครงการหาเสียงของนักการเมืองเพื่อช่วงชิงคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง หนึ่งในนั้นคือ โครงการปลูกยางล้านไร่ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ระหว่างปี 2547 - 2549 ในยุครัฐบาลทักษิณ โดยมี นายเนวิน ชิดชอบ รมช.กระทรวงเกษตรฯ ขณะนั้น เป็นผู้ผลักดันที่สำคัญ

การดำเนินโครงการอย่างเร่งรีบเพื่อให้ทันกับการหาเสียง ทำให้การเตรียมการจัดหากล้ายางสำหรับโครงการ จำนวน 90 ล้านต้น เป็นไปอย่างฉุกละหุก การเปิดประมูลจัดซื้อจัดหากล้ายาง มูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด เป็นผู้ชนะประมูล ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการบางส่วนได้รับกล้ายางที่ไม่ได้มาตรฐานทั้งเรื่องขนาดและกล้ายางพันธุ์ดี เนื่องจากบริษัทต้องจัดหากล้ายางในปริมาณที่มากภายในเวลาที่จำกัด บวกกับความไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ของเครือซีพีในช่วงนั้น รวมถึงการขยายพื้นที่และเพิ่มจำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการของบรรดาส.ส.ที่ต้องการเอาใจหัวคะแนน เนื่องจากโครงการดังกล่าวรัฐบาลแจกกล้ายางให้ฟรี

โครงการดังกล่าวถูกตรวจสอบจากหลายภาคส่วน สุดท้ายถึงแม้คดีกล้ายางซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง จะถูกศาลตัดสินยกฟ้อง แต่ผลพวงจากการดำเนินโครงการที่ไม่มีความพร้อมได้ส่งผลเสียหายต่อเกษตรกร ดังรายงานการประเมินผลโครงการฯ โดยศูนย์ประเมินผลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อ่านรายละเอียดในข่าวประกอบ)
(แฟ้มภาพ) นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ซ้าย) ชมยางพันธุ์ใหม่ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด โดยมีนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ร่วมเยี่ยมชมด้วย ในบูธนิทรรศการงานสัมมนาประชาศึกษาเรื่อง สวนยาง สร้างชุมชนภาคอีสานให้เข้มแข็งได้จริงหรือ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น อ.เมือง จ. ขอนแก่น
ล่าสุดผลศึกษาของคณะเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายอุทัย สอนหลักทรพัย์ เป็นประธาน ได้เสนอผลการศึกษาการสูญค่าทางเศรษฐกิจของผลผลผลิตการเกษตร : กรณีกรีดยางไม่ได้ขนาด ซึ่งประเมินว่า ก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท

คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคฯ ได้ศึกษาปัญหาโดยมุ่งเน้นไปที่เกษตรกรชาวสวนยางในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยลงพื้นที่จังหวัดหนองคายและอุดรธานี เพื่อประเมินผลโครงการปลูกยางล้านไร่ ปี 2547 - 2549 พร้อมกับจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากคณะทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อสรุปปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ไข

ผลศึกษาจากการลงพื้นที่และรับฟังความเห็นในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า ต้นยางที่ปลูกในโครงการยางล้านไร่ เจริญเติบโตช้า ไม่ได้ขนาด เนื่องจากมีปัญหาพันธุ์ยาง การดูแลรักษาและการบริหารจัดการสวนยางไม่ถูกหลักวิชาการเนื่องจากเกษตรกรขาดเงินทุน หน่วยงานของรัฐไม่สามารถดูแลช่วยเหลือได้เต็มที่ขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกยางตามโครงการนี้เป็นพื้นที่ปลูกยางใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตความชื้นต่ำหรือที่ราบสูง

ขณะที่การเจริญเติบโตของต้นยางไม่ได้ขนาดตามมาตรฐาน แต่เมื่อราคายางพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ทำให้เกษตรกรกรีดยางทั้งที่ไม่ได้ขนาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าจะส่งผลเสียหายตามมา

การเปิดกรีดยางขณะที่ต้นยางโตไม่ได้ขนาดเปิดกรีด จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียในภาพรวม คือ ผลผลิตยางที่ได้ต่ำกว่าปกติ ประมาณร้อยละ 25.60 การกรีดยางต้นขนาดเล็กเป็นผลให้ต้นยางเจริญเติบโตช้ากระทบต่อการให้ผลผลิตต่ำต่อเนื่อง ต้นยางเกิดความเสียหายมาก มีอายุการกรีดน้อยกว่าปกติไม่คุ้มกับการลงทุน และการกรีดยางต้นยางขนาดเล็กอายุน้อย จะให้ผลผลิตน้ำยางที่มีเนื้อยางแห้งเปอร์เซ็นต์ต่ำ เมื่อเกษตรกรนำน้ำยางมาทำยางแผ่นจะทำให้คุณภาพยางแผ่นเสียไป มีผลกับอุตสาหกรรมยางและตลาดยาง

นายอุทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค ได้วิเคราะห์ข้อมูลแล้วพบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ บางส่วนรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเห็นแก่ระดับราคาที่จูงใจให้เร่งกรีดยางในขณะที่ต้นยางยังไม่ได้ขนาดการกรีด ย่อมส่งผลความสูญเสียแก่เศรษฐกิจมหภาคการเกษตรโดยรวมของประเทศในอนาคต ก่อให้เกิดความเสียหายมีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อหยุดยั้งการกระทำดังกล่าวโดยเร่งด่วน
ขนาดยางที่เปิดกรีดต้องมีเส้นรอบวง 50 ซม.ขึ้นไป
ประธานคณะเศรษฐกิจมหภาคฯ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อเกษตรกรชาวสวนยางในโครงการฯ และเกษตรกรมือใหม่ว่า รัฐบาลควรดำเนินการขึ้นทะเบียนและสำรวจสวนยางในโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ และสวนยางที่อยู่นอกโครงการ แยกเป็น1. สวนยางที่ยังไม่เปิดกรีด (สวนยางที่ได้ขนาด และสวนยางที่ไม่ได้ขนาด) และ 2. สวนยางที่เปิดกรีดแล้ว (สวนยางที่ได้ขนาดและสวนยางที่ไม่ได้ขนาด) และเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แบ่งเป็น

1.มาตรการด้านการผลิต รณรงค์ให้ความรู้เกษตรกรถึงการสูญค่าทางเศรษฐกิจหากกรีดยางไม่ได้ขนาด จัดหาวัสดุการเกษตรราคาถูกและมีคุณภาพให้เกษตรกรใช้ แนะนำการปลูกยางโดยใช้เมล็ดยางและการติดตาเพื่อต้องการรากแก้วยึดต้นยางในดิน และส่งเสริมการปลูกพืชร่วมยาง เพื่อเป็นการสร้างป่าเศรษฐกิจ ป้องกันการทลายของดิน และเสริมรายได้ให้เกษตรกร

2. มาตรการทางด้านการค้า (เพื่อป้องกันไม่ให้ราคายางตกต่ำ) รัฐบาลควรส่งเสริมการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ลงทุนแปรรูปยางพาราโดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิจารณากำหนดระบบการค้าระหว่างประเทศที่สามารถช่วยรักษาเสถียรภาพของราคายางและคุ้มกับราคาต้นทุน รวมทั้งผลักดันให้บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (International Rubber Consortium Limited) เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีที่ราคายางตกต่ำ

3. มาตรการทางด้านการเงิน รัฐบาลควรจัดงบอุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรระหว่างรอเปิดกรีดยางที่ได้ขนาดโดยผ่านสถาบันเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคล โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ปล่อยสินเชื่ออัตราร้อยละ 1 ต่อปี เป็นต้น

สำหรับการดำเนินการควรมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กรมวิชาการเกษตร และควรเสนอให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) จัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการลดการสูญค่าทางเศรษฐกิจกรณีกรีดยางไม่ได้ขนาด และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งปัญหาและข้อเสนอแนะจะนำเสนอต่อครม.ในเร็วๆ นี้

ผลลัพธ์จากโครงการยางล้านไร่ข้างต้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่า โครงการหาเสียง (อีกครั้ง) ของ เนวิน ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย คือ โครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2554 - 2556 จำนวน 8 แสนไร่ ที่กำลังเริ่มดำเนินการในขณะนี้จะมีบทสรุปเช่นใด
กำลังโหลดความคิดเห็น