xs
xsm
sm
md
lg

กัมพูชาเดินหน้าแผนบริหารจัดการพระวิหาร ท้าทายไทยร้องยูเนสโกระงับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนบริหารจัดการมรดกโลกพระวิหารที่กัมพูชาเสนอต่อยูเนสโกฉบับคัดย่อ จำนวน 131 หน้า
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เปิดแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารรัฐบาลฮุนเซนเดินหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดสร้างถนน ซ่อมแซมสถาปัตยกรรม หลังได้รับประกาศเป็นมรดกโลก ไม่สนรัฐบาลไทยร้องยูเนสโกให้ระงับ เหลี่ยมจัดโชว์กันพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ออกจากแผนแล้ว แต่ไม่ระบุตัดถนนผ่านเชื่อมเส้นทางขึ้นปราสาทพระวิหาร

คณะผู้แทนพิเศษขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนาธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กำลังเดินทางมายังไทยและกัมพูชาเพื่อรับทราบข้อมูลกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม นี้ โดยฝ่ายไทยมีท่าทีและจุดยืนชัดเจนว่าจะขอให้ยูเนสโกระงับการพิจารณาแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารในการประชุมประจำปีนี้ที่บาเรนห์ในเดือนมิถุนายน 2554

ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา ต้องการร้องต่อยูเนสโกว่าการปะทะกันด้วยปืนใหญ่เมื่อวันที่ 3 - 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปราสาทพระวิหารได้รับความเสียหายบางส่วนจากการยิงของฝ่ายไทย โดยหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงว่าฝ่ายตนเองได้ใช้ปราสาทพระวิหารปฏิบัติการทางทหาร

แต่ไม่ว่าคณะผู้แทนของยูเนสโกจะมีความเห็นต่อกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นอย่างใด และรัฐบาลไทยจะเดินหน้าคัดค้านแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารต่อยูเนสโกในปีนี้อีกครั้ง ทางฝ่ายรัฐบาลฮุนเซนดูเหมือนจะไม่ได้ใส่ใจ เพราะนับจากยูเนสโกมีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไปเมื่อปี 2551 กัมพูชาโดยการสนับสนุนของยูเนสโกก็ได้เดินหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์ ปรับปรุงสถาปัตยกรรม ฯลฯ เสร็จสมบูรณ์ไปแล้วหลายรายการ
ช่องบันใดหักที่ได้รับการปรับปรุงบูรณะทางขึ้นใหม่
จากรายงานแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ซึ่งทางการกัมพูชาได้จัดทำตามมติของคณะกรรมการมรดกโลก และส่งให้กับคณะกรรมการ ตอนเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2553 นั้น ระบุว่า ทางการกัมพูชาได้ดำเนินการปรับปรุงปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบตามแนวเขตกันชนนับแต่ปราสาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก โดยงานส่วนใหญ่มุ่งไปที่การปกป้องคุ้มครอง ตัวสถาปัตยกรรม โบราณสถาน ภูมิทัศน์ ทรัพย์สินอันเป็นธรรมชาติและที่ศักดิ์สิทธิ์

คณะผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก ได้เดินทางเข้าไปสำรวจปราสาทพระวิหาร นับแต่ได้ขึ้นทะเบียนและได้มีการประชุมเพื่อเสนอความเห็นประกอบแนวทางในการบริหารจัดการปราสาทตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 และในระหว่างวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2552 ได้มีคณะผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจพระวิหารอีกเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงาน

ในระหว่างนั้น ทางการกัมพูชาได้ปรับปรุง ซ่อมแซม หัวนาค ที่โคปุระ 5, 4, 3 ทำการปรับปรุงช่องทางบันใดหักทางทิศตะวันออก โดยสร้างเป็นบันใดไม้ขึ้นมา พร้อมทั้งปรับปรุงถนนเข้ามาทางด้านล่าง (เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับถนนที่ขึ้นมายังหน้าปราสาทด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)
 
ขณะเดียวกัน ก็มีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ และ หมู่บ้านสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในพื้นที่ใกล้เคียงเขาพระวิหารอีกด้วย ทั้งหมดปรากฏอยู่ในรายงานที่ได้ส่งมอบให้คณะกรรมการไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 แผนการนี้ถูกทางการไทยขอให้ระงับการพิจารณาเอาไว้ก่อน คาดว่าจะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมประจำปีนี้ที่บาเรนห์ในเดือนมิถุนายน 2554
แผนผังเขตบริหารจัดการที่ฝ่ายกัมพูชายืนยันต่อยูเนสโกในแผนบริหารจัดการแบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนที่ 1 ตัวปราสาทพระวิหาร และโซนที่ 2 (สีเขียว) พื้นที่รอบปราสาท ส่วนบริเวณพื้นที่สีเหลืองเป็นพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.ที่ยังมีปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา ฝ่ายกัมพูชายังไม่ได้ยืนยันการเข้าบริหารจัดการในพื้นที่ดังกล่าวต่อยูเนสโก แต่อย่างไรก็ตาม กัมพูชาได้สร้างถนนจากบ้านโกมุยขึ้นมายังตัวปราสาทพระวิหารโดยผ่านพื้นที่พิพาททำให้เกิดปัญหาอยู่ในขณะนี้
แม้กระนั้นก็ตาม ในเอกสารซึ่งการกัมพูชาเผยแพร่นั้นแสดงให้เห็นว่า การดำเนินการตามแผนไม่ได้สะดุดหยุดลง มีภาพถ่ายซึ่งได้ถ่ายเมื่อกลางปี 2553 (หลังจากส่งแผนไปแล้ว 5 เดือนซึ่งบ่งชี้ว่าการดำเนินงานหลายอย่างเสร็จสิ้นลงแล้วด้วยซ้ำไป แต่อาจจะมีแผนงานอีกหลายรายการที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับเต็มที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งทางกัมพูชาไม่ได้แสดงเอาไว้ว่าได้มีการดำเนินการหรือไม่อย่างไร)

จากรายงานแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร ยังระบุว่า กัมพูชา ได้กันพื้นที่ของส่วนทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียน (zone 1) เป็นพื้นที่ 11 เฮกตาร์ (68.75 ไร่) และส่วนพื้นที่กันชนตามหมายเลข 2 จำนวน 644.113 เฮกตาร์ (3,819.45 ไร่) ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการมรดกโลกที่ COM 32 8B.102 สำหรับพื้นที่สีเหลือง (เขตอ้างสิทธิทับซ้อน) ถูกกันออกไป

มติคณะกรรมการมรดกโลกที่ WHC-09/33.COM/7B.Add, p.90 ยืนยันว่าพื้นที่บริหารจัดการนั้นจะหมายรวมเฉพาะตัวทรัพย์สินที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเท่านั้นและพื้นที่กันชนมีเท่าที่ระบุไว้ในแผนผังที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว (รายงานของรัฐภาคีได้ยืนยันว่า แผนบริหารจัดการสำหรับทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนและพื้นที่กันชนตามที่ได้ระบุเอาไว้ในแผนผังที่ได้รับการปรุงแล้วตามที่ปรากฏในรายงานเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 ปรากฏตามภาพ)

ตามที่ปรากฏในแผนที่ ตัวทรัพย์สินคือ หมายเลข 1 ส่วนพื้นที่กันชนคือ หมายเลข 2 ส่วนพื้นที่สีเหลืองคือ พื้นทีซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนจะไม่รวมอยู่ในแผนบริหารจัดการ
ถนนจากบ้านโกมุยที่ก่อสร้างขึ้นมาจากด้านล่างเชื่อมเส้นทางบนเขาพระวิหารเสร็จเรียบร้อยแล้วในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนจากข้อมูลที่ปรากฏในแผนบริหารจัดการนั้น จะพบว่า ขณะที่กัมพูชา อ้างว่าได้กันพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ออกจากแผนบริหารจัดการ ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ทับซ้อนแห่งนี้ แต่กลับปรากฏว่า มีการสร้างและปรับปรุงถนนเข้ามาทางด้านล่าง เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับถนนที่ขึ้นมายังหน้าปราสาทด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวสร้างเสร็จแล้วและเป็นหลักฐานชัดเจนว่า ฝ่ายกัมพูชาละเมิดเอ็มโอยู 43 ที่ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในพื้นที่พิพาท

ที่สำคัญ แผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารนี้ เป็นแผนที่จัดทำขึ้นโดยอิงแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ที่ฝ่ายไทยไม่ยอมรับ แต่ยูเนสโกและฝ่ายกัมพูชา กลับมุ่งเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังคำทักท้วง
แผนที่ถนนจากบ้านโกมุยขึ้นมายังปราสาทพระวิหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น