xs
xsm
sm
md
lg

หลุมหลบภัยชายแดน อย่าละเลงงบสร้างอย่างมักง่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพบังเกอร์ที่บ้านโนนเจริญ ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ที่หน้าบ้าน ลุงยีน ดูสภาพแล้วไม่ต่างไปจากบังเกอร์ที่บ้านโดนเอาว์เท่าใดนัก (ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 54 ที่ผ่านมา)
“สภาพหลุมหลบภัยแบบนี้ถ้าลูกปืนใหญ่ตกลงมาก็พอดีฝังเลย” “ลุงโน” กระเซ้าเย้าแหย่ “ลุงยีน” แห่งบ้านโนนเจริญ อ.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ที่เอาเสื่อ เอาหมอน เตรียมพร้อมไว้ในหลุมหลบภัยทุกเมื่อหลังจาก “ลุงยีน” เอาชีวิตรอดผ่านเหตุการณ์ระทึกชนิดหายใจไม่ทั่วท้องคราวไทย-กัมพูชา ระดมยิงปืนใหญ่ใส่กันโดยไม่สนใจความรู้สึกของชาวบ้านว่าจะตกอยู่ในสภาพอกสั่นขวัญแขวนอย่างไร

ความประหวั่นพรั่นพรึงจากพญามัจจุราชที่มาพร้อมกับกระสุนปืนใหญ่ที่ระดมยิงจากฝั่งกัมพูชาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ชีวิตคนชายแดนแขวนความหวังอยู่รอดปลอดภัยเอาไว้กับ “หลุมหลบภัย” เพราะช่วงนาทีที่ความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อมหากลงหลุมหลบภัยไม่ทันก็อาจต้องด่วนจากไปเหมือนดังเช่น “ลุงเจริญ ผาหอม” ชาวภูมิซรอล ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนใหญ่ขณะวิ่งหาที่หลบภัย

หลุมหลบภัย จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในสภาวะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาเลวร้ายลงในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงบัดนี้ชาวบ้านก็ยังไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างคนสองชาติจะมีแนวโน้มดีขึ้นได้อย่างใด ถึงแม้การเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา ที่มีอาเซียนเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะเห็นพ้องให้มีการส่งคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียที่มาในนามประธานอาเซียน เข้ามายังพื้นที่โดยรอบพระวิหารที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบก็ตาม
ที่หลบภัยของชุดคุ้มครองหมู่บ้านที่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ในช่วงต้นเดือนก.พ.54 ที่ฝ่ายกัมพูชายิงปืนใหญ่ถล่มหมู่บ้านชายแดนไทยตั้งแต่อ.น้ำขุ่น จ.อุบลฯ ถึงอ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
ความทุกข์ร้อนจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ชาวบ้านตามแนวชายแดนจึงร้องขอให้ทางการช่วยสร้างหลุมหลบภัยที่ดีได้มาตรฐานเพียงพอที่จะช่วยคุ้มกันชีวิตในยามคับขัน และความต้องการนี้ก็ได้รับการตอบสนองจากทางราชการทันที เพราะคล้อยหลังจากนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับบัญชาจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงไปตรวจสภาพพื้นที่หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากเหตุปะทะ นายองอาจ ได้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขออนุมัติงบประมาณ 66 ล้านบาทเพื่อซ่อมแซมและสร้างหลุมหลบภัยเพิ่มเติม โดยให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วและเหมาะสม

ความคืบหน้าในการสร้างหลุมหลบภัยนั้น นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ บอกว่า ขณะนี้ได้รับอุดหนุนเงินงบประมาณที่จะสร้างหลุมหลบภัยตลอดแนวชายแดนด้าน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ แล้วโดยจะก่อสร้างใหม่จำนวน 451 จุด และซ่อมแซมหลุมหลบภัยเดิมอีกจำนวน 297 จุด มีกำหนดเริ่มสร้างพร้อมกันทั้งหมดในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จนกว่าจะแล้วเสร็จ

ความกระตือรือร้นเยียวยาเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนเป็นสิ่งควรค่าแก่การสรรเสริญ หากสิ่งที่ทางราชการช่วยเหลือซึ่งในทีนี้หมายถึงการสร้างหลุมหลบภัยนั้น สามารถคุ้มกันภัยให้ประชาชนได้จริงๆ แต่สิ่งที่ชาวบ้านตั้งคำถามหรือเอามาเป็นเรื่องล้อเล่นกับความตายดังที่ “ลุงโน” กระเซ้าเย้าแหย่ “ลุงยีน” ที่ว่าเป็นหลุมหลบภัยพร้อมฝังนั้น เป็นเรื่องที่ชาวบ้านยังคาใจหรือไม่มั่นใจในสิ่งที่ทางการหยิบยื่นให้
สภาพบังเกอร์ที่บ้านโดนเอาว์ ต.รุง อ.กันทรลักษ์ สร้างเมื่อเดือนต.ค.ปี 2552 อยู่ในสภาพที่พังทลายใช้การไม่ได้ (ภาพนี้ถ่ายเมื่อประมาณปลายเดือนพ.ย. 52 และปัจจุบันสภาพก็ยังเป็นเช่นนี้อยู่)
การสร้างหลุมหลบภัยคราวนี้เป็นทั้งการสร้างใหม่และซ่อมแซมของเก่าที่มีอยู่เดิมซึ่งหมดสภาพไปแล้ว สำหรับหลุมหลบภัยที่จะสร้างใหม่นั้น ถามไถ่ชาวบ้านตามชายแดนไม่มีใครรู้ว่าหน้าตาจะออกมาอย่างไร แต่หลุมหลบภัยหรือจะเรียกให้ถูกต้องตามสภาพที่เห็นคือที่กำบัง หรือ บังเกอร์ ในภาษาอังกฤษ ของเก่าที่ทางการเคยจ้างผู้รับเหมาสร้างเอาไว้ให้เมื่อปี 2552 นั้น ชาวบ้านเขาวิพากวิจารณ์กันให้แซ่ดว่า แพงเกินจริงและใช้ไม่ได้เพราะมันหมดสภาพละลายไปกับสายฝนตั้งแต่ 2 เดือนแรกหลังสร้างเสร็จแล้ว

เหตุการณ์ตึงเครียดตามแนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชาด้านปราสาทพระวิหาร ในช่วงปี 2551 - 2552 ที่เกิดการปะทะทางทหาร เมื่อเดือนตุลาคม 2551 และช่วงเดือนเมษายน 2552 ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตไป 7 คน ประชาชนตามแนวชายแดนหวาดวิตกต่อภัยอันตรายจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้ทางจังหวัดศรีสะเกษจัดสรรงบประมาณ 8 ล้านบาท เพื่อสร้างหลุมหลบภัยและบังเกอร์ตั้งแต่อำเภอกันทรลักษ์ จนถึงอำเภอภูสิงห์ เพื่อให้ประชาชนหลบภัยจากลูกปืนใหญ่

บังเกอร์และหลุมหลบภัยที่จัดสร้างโดยผู้รับเหมาซึ่งทางการจัดหามาคราวนั้น ชาวบ้านเล่ากันว่า ผู้รับเหมาตีราคาบังเกอร์ชุดละ 80,000 บาท แต่เท่าที่ดูวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าท่อซีเมนต์ที่ใช้ระบายน้ำ จำนวน 4 ท่อ ราคาท่อซีเมนตร์ที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ตรวจสอบได้ในท้องถิ่นประมาณ 1,300 - 1,500 บาทต่อท่อ และกระสอบทรายอีกประมาณ 300 ถุง ซึ่งกระสอบทรายนั้นทางผู้รับเหมาได้จ้างประชาชนในท้องถิ่นบรรจุทรายหรือดินในถุงพลาสติกแบบเดียวกับที่ใช้บรรจุปุ๋ยในราคาเหมา 2,000 บาท ส่วนดินที่ใช้ถมท่อซีเมนต์ก็ขุดเอาจากบริเวณนั้นขึ้นมาถมไม่ได้มีค่าใช้จ่าย รวมๆ แล้วต้นทุนที่ใช้ในการก่อสร้างบังเกอร์ดังกล่าวไม่ควรเกิน 10,000 บาทเท่านั้น เงินส่วนต่างที่เหลือกับผลงานที่ได้มาชาวบ้านเขาว่าเสียดายเงินหลวง

บังเกอร์ที่สร้างนั้นถามว่ามีคุณสมบัติป้องกันภัยมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกปืนใหญ่ที่มีอานุภาพร้ายแรงมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเช่นคราวนี้ลูกปืนใหญ่ที่ฝ่ายกัมพูชายิงมาตกยังฝั่งไทยนั้นพื้นดินเป็นหลุมทั้งกว้างและลึกลงไปเป็นเมตร คำถามนี้ชาวบ้านเขามีคำตอบแล้วว่า ท่อซีเมนต์ที่ใช้สำหรับระบายน้ำไม่มีคุณสมบัติต้านทานลูกปืนใหญ่ได้ เพราะสภาพความหนาของท่อที่ไม่เกิน 2 นิ้ว ไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับแรงระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ได้
สภาพคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านภูมิซรอลต่างประคองสังขารวิ่งเข้าหลุมหลบภัยจากเหตุไทย-กัมพูชาปะทะกันด้วยปืนใหญ่ครั้งล่าสุด (แฟ้มภาพจากไทยรัฐออนไลน์)
หากไม่นับเหตุการณ์ปะทะด้วยปืนใหญ่อย่างรุนแรงในช่วงวันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น บังเกอร์หรือหลุมหลบภัยที่ทางการสร้างเอาไว้ให้เมื่อปี 2552 ไม่มีการใช้งานเพราะหลังจากสร้างบังเกอร์เสร็จก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุปะทะตามแนวชายแดน บังเกอร์หรือหลุมหลบภัยจึงมีสภาพเหมือนถูกทิ้งร้างไม่มีการบำรุงรักษาและถูกฝนชะล้างเอาดินที่ถมท่อซีเมนต์ออกไปจนเกือบไม่เหลือขณะที่ถุงทรายผุพังไปตามกาลเวลา เหลือเพียงท่อซีเมนต์ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้

หลุมหลบภัยที่ถูกทิ้งร้างได้ถูกใช้งานตามสภาพแบบที่ว่าดีกว่าไม่มีอะไรบังเอาเสียเลยเมื่อฝ่ายกัมพูชาระดมยิงปืนใหญ่เข้ามาโดยที่ฝ่ายไทยไม่ทันตั้งตัวเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้นบางหมู่บ้านก็เริ่มจัดแบ่งกำลังซ่อมแซมหลุมหลบภัยที่มีอยู่แต่เดิมเพื่อให้พอใช้งานได้ในยามฉุกเฉิน แม้จะรู้ว่าโดยสภาพหลุมหลบที่ไม่มีความแข็งแกร่งทนทานต่อแรงระเบิดของลูกปืนใหญ่คงจะไม่ได้ช่วยรักษาชีวิตให้รอดปลอดภัยได้อย่างที่มันควรจะเป็น

การสร้างหลุมหลบภัยเพื่อใช้สำหรับป้องกันภัยให้มีความแข็งแรงได้มาตรฐาน รักษาชีวิตให้รอดปลอดภัยได้จริงๆ แบบหลุมหลบภัยของทหารนั้นเป็นแบบอย่างที่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งกำลังจัดสรรงบประมาณลงไปจัดสร้างหลุมหลบภัยให้ชาวบ้านควรต้องศึกษา ออกแบบ จัดสร้าง โดยให้ชาวบ้านตามแนวชายแดนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างและดูแลบำรุงรักษา เพราะหากยังขืนทำแบบง่ายๆ ใช้งานไม่ได้จริง แต่แพงโคตรๆ แบบเดิมนั้น นอกจากชาวบ้านเขาจะต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงแล้วยังเสียดายเงินหลวง!
กำลังโหลดความคิดเห็น