“เสียงลูกปืนใหญ่ข้ามหัวไปมาเหมือนห่าฝน” สาคร ทวี อบต.เสาธงชัย เล่าเหตุการณ์เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการณ์ปะทะและยิงปืนใหญ่ตอบโต้กันระหว่างฝ่ายไทยและเขมร ซึ่งตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบเคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้ในชีวิต
คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-เขมร ซึ่งคบค้าทำมาหากินด้วยกันกับเพื่อนบ้านมานมนานมักเล่าสู่ลูกหลานฟังว่า ไม่เคยไว้วางใจเขมร เพราะคนเขมรเอาแน่ไม่ได้ “ตอนเช้าเป็นมิตร ตอนแลง(เย็น)เป็นศัตรู” บ้างก็ว่า “คบกันเขมรเป็นเวรบ่แล้ว” หมายถึงว่ามีเรื่องมีราวตลอดว่างั้นเถอะ แต่ป่านนั้นพวกเขาก็ยังคบหา แต่งงาน เป็นเครือญาติจนจะแยกลาว แยกเขมร แทบไม่ออก
ดังนั้น พวกชาวบ้านจึงไม่แปลกใจที่การเจรจาตกลงหยุดยิงที่นายทหารใหญ่ของทั้งสองฝ่ายบอกกับประชาชนนั้น ไม่ได้ผล และอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาก็ต้องพากันวิ่งหนีตายลงหลุมหลบภัยแทบไม่ทัน
“ยิงกันนานถึง 3 ชั่วโมง ลงหลุมบ้าง ขึ้นมาจากหลุมบ้าง มานั่งสูบยานับลูกปืนใหญ่” ชายฉกรรจ์หนึ่งในชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านหัวทด ที่อยู่ห่างจากบ้านซำเม็งประมาณ 1 กม. ผู้อาสาเฝ้ายามหมู่บ้านเล่า และขอตัวนอนพักเพราะต้องคอยระแวดระวังภัยทั้งคืน แถมตอนเช้าของวันที่ 7 ก.พ. ยังต้องทำหน้าที่ช่วยชาวบ้านอพยพสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ ออกจากหมู่บ้านไปยังจุดที่ปลอดภัยตามประกาศของทางการอีก
อบต.เสาธงชัย ยังเล่าว่า หลังการปะทะหนักเมื่อคืนวันที่ 6 ก.พ. ถึงตอนนี้ (เย็นวันที่ 7 ก.พ.) จากการตะเวณตรวจตราพื้นที่ตามหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-เขมร ตั้งแต่บ้านหนองตุ๊ก ห้วยน้ำใส ภูมิซอล ซำร่อง ซำเม็ง โนนเจริญ ต.เสาธงชัย มีบ้านเรือนราษฎรที่บ้านภูมิซอล เสียหายเพิ่มจากการยิงปะทะเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ก.พ. และบ้านซำร่องอีกหนึ่งหลัง (อ่านรายละเอียดในข่าวประกาศเขตภัยพิบัติ)
แต่บรรยากาศของหมู่บ้าน ต่างตกอยู่ในภาวะเงียบเชียบเหมือนหมู่บ้านร้างเพราะชาวบ้านที่เคยอยู่เฝ้าบ้านก่อนหน้านี้ทยอยออกไปจากหมู่บ้านเกือบหมด ไปอยู่บ้านญาติ อยู่ที่ศูนย์อพยพ เหลือเพียงผู้นำหมู่บ้าน คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. ชรบ. และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และพวกผู้ชายที่อาสาดูแลหมู่บ้านไม่กี่คน
“อยู่กันก็ต้องคอยระวังตลอดว่าจะยิงกันอีกตอนไหน สังเกตกันดูถ้ายิงเช้าเย็นๆ ก็เงียบ แต่ถ้ายิงเย็นเช่นคืนวันที่ 6 ก.พ.ตอนเช้าวันต่อมาก็จะเงียบ แต่ก็อย่างว่าเอาแน่ไม่ได้ เชื่อถือไม่ได้ ต้องระวังไว้ก่อน ยังดีที่ตอนนี้ชาวบ้านเก็บเกี่ยวพืชผลเสร็จแล้ว แย่หน่อยก็พวกกรีดยางที่ต้องปิดหน้ายางไปเพราะไม่ปลอดภัย”
ส่วนการกินอยู่ เธอบอกว่า อาหารการกินตอนนี้ก็ได้กับข้าวที่ตุนไว้ตอนวันงานกีฬาโรงเรียนภูมิซอลกับอบต.เสาธงชัย กับมาม่าและปลากระป๋องจากถุงยังชีพ กินกันไปก่อน เพราะร้านค้าปิดหมด น้ำมันก็ต้องเข้าไปเติมที่อำเภอกันทรลักษ์
“ที่บ้านหัวทด ไม่มีหลุมหลบภัยที่แข็งแรง มีเพียงหลุมที่ชาวบ้านทำกันเอง วันนี้เห็นพวกวัยรุ่นไปทำกันเพิ่ม สงสัยเมื่อคืนไม่มีที่หลบ”
ถัดจากโนนเจริญมาอีกหมู่บ้าน นายบุญเรือง อดีต อบต.บ้านหนองอุดม ต.รุง ผู้ปักหลักอยู่ในหมู่บ้านไม่ยอมทิ้งพื้นที่หนีตายมายังศูนย์อพยพที่อำเภอกันทรลักษ์ บอกว่า พวกผู้ชายในบ้านหนองอุดมยังอยู่กันหลายคน ถึงอยู่ในหมู่บ้านจะอันตรายแต่ไม่กลัวกันหรอก พวกนี้เคยเป็นทหารผ่านศึกทั้งนั้น ตั้งแต่วันแรกที่ปะทะกันก็มีปืนมาแจกให้ป้องกันตัวด้วย หมู่บ้านหนองอุดมตอนนี้ยังอยู่รอดปลอดภัยดี ไม่ได้รับความเสียหายอะไร แต่ก็ประมาทไม่ได้
“ได้ยินเสียงไหม ลูกปืนใหญ่มันข้ามหัวน้าไปมา ทั้งมาจากฝั่งเขมรและฝั่งไทยยิงไป นั่นลูกนั้นตกอยู่ประมาณภูปูน จุดน้ำตกที่เคยไปยิงนก มีไฟใหม้ป่าด้วย ยิงมาอีกแล้ว ได้ยินไหมเสียงตุ้มตั้ม ตุ้มตั้มไม่ขาดสาย อันตราย อันตราย” นายบุญเรือง หรือ “น้าเรือง” เล่าเหตุการณ์ในคืนวันที่ 6 ก.พ. ผ่านโทรศัพท์อย่างตื่นเต้น ทั้งกลัว ทั้งกล้า
ความโกลาหลในคืนวันที่ 6 ก.พ.เกิดขึ้นแบบว่า ยังไม่ทันวางสายจาก “น้าเรือง” สายแทรกจาก “นายประพันธ์” รายงานเข้ามาว่า พวกที่มีญาติอยู่ที่บ้านโดนเอาว์ หมู่บ้านที่ถัดมาจากบ้านหนองอุดมโทรมาบอกว่า โรงพักตำรวจบ้านโดนเอาว์ถูกถล่มเละ บ้านโดนเอาว์เจอหนัก
จากนั้น อีกไม่กี่อึดใจ “นางอ้อย” ที่อยู่ระหว่างการอพยพจากศูนย์กันทรลักษ์ไปที่ศรีสะเกษ ก็ละล่ำละลักมาตามสายว่า ลูกชายยังหลบอยู่ที่หลุมหลบภัยบ้านคลองทราย ติดกับบ้านโดนเอาว์ไม่รู้เป็นตายร้ายดีอย่างไร ขณะที่ “น้าเรือง” ยืนยันว่า ไม่มีลูกปืนใหญ่ตกลงในหมู่บ้านแถบหมู่บ้านหนองอุดม คลองทราย และโดนเอาว์ แต่ไปตกที่ไหนไม่รู้ข้ามหัวเลยไป
หลังสิ้นเสียงปืนใหญ่ ลูกชายของนางอ้อยพร้อมด้วยญาติรีบออกจากหลุมหลบภัยแล้วขึ้นรถจากบ้านคลองทรายบึ่งเข้าตัวอำเภอกันทรลักษ์ เลยไปปักหลักที่สี่แยกบ้านจาน ทางไปจังหวัดอุบลฯ เพราะกระแสข่าวที่ร่ำลือกันทั่วทั้งศูนย์อพยพที่อำเภอกันทรลักษ์ว่า ให้พากันอพยพออกนอกพื้นที่กันทรลักษ์ให้พ้นรัศมีปืนใหญ่ ทั้งที่ทหารและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลศูนย์จะยืนยันว่ารัศมีปืนใหญ่มาไม่ถึงแน่นอนก็ตาม
ลูกชายของนางอ้อย ออกมาจากพื้นที่บ้านคลองทราย พร้อมยืนยันว่า โรงพักตำรวจบ้านโดนเอาว์ยังปลอดภัยดี
นายสายันต์ หนึ่งในชุดอปพร.บ้านหนองอุดม บอกว่า ต้องมีคนคอยเฝ้าระวังที่หมู่บ้าน จะถอยร่นไปหมดไม่ได้ มันยิงมาเราก็ยิงไป ปืนเราก็มี ไม่ได้ถือไม้ลำปอ ชาวบ้านเขาอยากให้รบกันให้จบเร็วๆ ไม่อยากให้ยืดเยื้อ เอาให้จบแล้วค่อยเจรจา ส่วนที่บอกว่าหยุดยิง จริงๆ แล้วไม่มีการหยุด แต่เป็นโอกาสให้เขาแทรกซึมเข้ามาเรื่อย เมื่อพร้อมแล้วมันก็ถล่มยังที่เห็นกัน คนเป็นนายใหญ่ก็ช่วยดูด้วยว่าทหารที่ส่งขึ้นไปรู้สภาพพื้นที่ไหม
ถึงวันนี้ ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า เหตุการณ์ปะทะที่อาจพัฒนากลายเป็นสงครามระหว่างไทย-เขมรจะจบสิ้น และความสงบสุขจะกลับคืนมาเมื่อใด