ASTVผู้จัดการออนไลน์ – สตง.เกาะติดตรวจสอบโครงการจัดซื้อรถหุ้มเกราะยูเครน ติงกองทัพบกเปลี่ยนเครื่องยนต์จาก “ดอยซ์” เป็น “เอ็มทียู” ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของสัญญา เข้าข่ายเอื้อประโยชน์เอกชนขัดระเบียบและกฎหมาย ขณะที่ทัพบกเดินหน้ารวบรัดเร่งสรุปเพื่อไม่ให้งบประมาณตกไป
รายงานข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการติดตามตรวจสอบโครงการจัดซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางของกองทัพบก จำนวน 96 คัน มูลค่าประมาณ 3,898 ล้านบาท ว่า ล่าสุด สตง. ได้ส่งหนังสือถึงพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ., พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2553 เพื่อเร่งรัดการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงกรณีการจัดหารถหุ้มเกราะล้อยางของกองทัพบก ที่ยังมีปัญหาอยู่จนบัดนี้
ประเด็นสำคัญที่ สตง. ขอให้มีการชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง ก็คือ การเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์รถหุ้มเกราะที่กองทัพบกจัดซื้อจากประเทศยูเครน ซึ่งเรื่องนี้ก่อนหน้าปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า ประเทศเยอรมนี ปฏิเสธการขายเครื่องยนต์ดอยซ์ให้กับยูเครน ทำให้ต้องเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์เอ็มทียูของเยอรมนี ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้กับเรือและรถถังเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นกรณีการตรวจรับหุ้มเกราะล้อยางจากยูเครนงวดแรก จำนวน 12 คัน ในเดือนมี.ค. 2553 ว่ามีข้อเท็จจริงประการใด และคณะกรรมการตรวจรับได้ไปตรวจสอบขั้นตอนการผลิต ณ โรงงานผลิตที่ประเทศยูเครน เพื่อประกอบการตรวจรับงานด้วยหรือไม่
สตง.ยังมีความเห็นว่า กรณีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญต่อการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และอาจเป็นกรณีการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ขาย เนื่องจากเป็นสาระสำคัญที่ทำให้เกิดสัญญา/ข้อตกลงในการคัดเลือกผู้ขาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นเครื่องยนต์ที่ไม่มีประจำการในประเทศผู้ผลิตหรือประเทศอื่น ซึ่งมีสมรภูมิรบมาก่อน ประกอบกับอาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ออกแบบ หรือเป็นการดัดแปลงขึ้น รวมทั้งอาจเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้เสนอราคารายอื่นที่เคยเสนอไว้และได้มาตรฐาน การชี้แจงในประเด็นดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นสาระสำคัญต่อสัญญา/ข้อตกลง
เมื่อย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลรายงานของคณะทำงานคัดเลือกแบบยานเกราะล้อยาง ที่มีประชุมเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2550 เพื่อพิจารณาสรุปผลคะแนนและรายงานสรุปผลการพิจารณาคัดเลือกแบบยานเกราะล้อยาง พบว่า บริษัทที่ยื่นประมูล 9 บริษัท มีบริษัทที่ไม่ผ่านคุณลักษณะทั่วไปตามข้อพิจารณาของคณะทำงาน จำนวน 4 บริษัท คือ
1)PUMA จากอิตาลี ไม่ผ่านคุณลักษณะทั่วไป เนื่องจากความสามารถในการบรรทุกพลรบไม่ถึง 11 นาย และไม่สามารถทำการข้ามลำน้ำได้ 2)BLACK FOX จากเกาหลี ไม่ผ่านคุณลักษณะทั่วไป เนื่องจากความสามารถในการบรรทุกพลรบไม่ถึง 11 นาย และไม่มีประจำการในประเทศผู้ผลิต 3)TIGER 1 จากไทย ไม่ผ่านคุณลักษณะทั่วไป เนื่องจากไม่มีสายการผลิตและไม่มีประจำการในประเทศผู้ผลิต และ 4)TERREX จากสิงคโปร์ ไม่ผ่านคุณลักษณะทั่วไป เนื่องจากไม่มีสายการผลิตและไม่มีประจำการในประเทศผู้ผลิต
กรณีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์รถหุ้มเกราะล้อยางจากเครื่องดอยส์ ที่เสนอไว้ในการประมูลและได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะ แต่ต่อมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์เป็นเอ็มทียู จึงเป็นปัญหาเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของสัญญา
นอกจากนั้นแล้ว ข้อสังเกตของ สตง. ที่ชี้ว่าเครื่องยนต์ไม่มีประจำการในประเทศผู้ผลิต หรือประเทศอื่นที่มีสมรภูมิรบมาก่อน อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ออกแบบไว้ กรณีนี้อาจไม่ผ่านคุณสมบัติทั่วไปดังรายอื่นๆ ที่ถูกตีตกตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุผลที่ไม่มีสายการผลิตและไม่มีประจำการในประเทศผู้ผลิตตามรายงานผลการพิจารณาคัดเลือกแบบข้างต้น
อย่างไรก็ตาม กรณีการเปลี่ยนเครื่องยนต์รถหุ้มเกราะล้อยางยูเครน เป็นประเด็นที่ทางกองทัพบกมีความวิตกกังวลเช่นกันว่าจะมีปัญหาหรือไม่ ดังรายงานความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการติดตั้งเครื่องยนต์ยานเกราะล้อยาง BTR – 3E1 BTR – 3E1 ที่ฝ่ายแผนกแผนและควบคุม รายงานต่อเจ้ากรมสรรพาวุธ กองทัพบก เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2553
รายงานดังกล่าวอ้างถึงคำสั่ง ผบ.ทบ. อนุมัติให้ สพ.ทบ.ดำเนินการตามมติที่ประชุมแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์ที่จะใช้ในการติดตั้งให้กับยานเกราะล้อยาง BTR – 3E1 แบบต่างๆ โดยมีประเด็น “ให้ สพ.ทบ.ตรวจสอบข้อมูลกับฝ่ายยูเครนตามที่ ครม. ได้มอบหมายให้ ผบ.ทบ.หรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย รวมทั้งการลงนามในเอกสารแก้ไขข้อตกลงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังได้ โดยเฉพาะกรณีแก้ไขรายละเอียดที่มิใช่สาระสำคัญ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า กรณีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ถือเป็นการแก้ไขรายละเอียดที่ใช้สาระสำคัญหรือไม่ ….”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กองทัพบก จะมีข้อวิตกในประเด็นการแก้ไขสัญญาดังกล่าวข้างต้น แต่ผบ.ทบ.ได้สั่งการให้สพ.ทบ.ดำเนินการในลักษณะคู่ขนานในการขออนุมัติคุณลักษณะเฉพาะกับการทดสอบ ทดลองติดตั้งเครื่องยนต์ โดยในเรื่องเครื่องยนต์ ให้นำอนุมัติหลักการมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้ทบ.สามารถพิจารณาผลการดำเนินการได้ทัน และสอดคล้องกับขั้นตอนการจัดหาโครงการยานเกราะล้อยาง ที่ดำเนินการในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2552 – 2554 อีกทั้งยังสั่งให้ สพ.ทบ. ติดตามและเร่งรัดการทดสอบเครื่องยนต์แบบอื่นที่สำรองไว้และเตรียมหาแนวทางในการดำเนินการไม่ให้งบประมาณตกไป
อนึ่ง สตง. ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และเกิดประโยชน์ต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยรวม
ขณะนี้ สตง. ได้ตรวจสอบโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกหลายโครงการ เช่น โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ฝึกบิน จำนวน 16 ลำ มูลค่า 1,000 กว่าล้านบาท, การจัดซื้อเครื่อง จีที 200 และเรือเหาะตรวจการณ์ รวมไปถึงโครงการจัดซื้อรถหุ้มเกราะจากยูเครน จำนวน 96คัน มูลค่าประมาณ 3,898 ล้านบาท ที่ต่างมีประเด็นข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพ ความไม่โปร่งใส และความไม่คุ้มค่า