ASTVผู้จัดการรายวัน – โครงการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกยุค “บิ๊กป๊อก” ฉาวไม่สิ้น ซื้อเฮลิคอปเตอร์ฝึกรบมูลค่าพันกว่าล้านโดยวิธีพิเศษส่อทุจริต อุ้มบริษัทผิดระเบียบ ผิดเงื่อนไขประมูลชนะขาด หึ่งค่าคอมสูงจูงใจบิ๊กทหารดันเอาจนได้
รายงานข่าวจากกองทัพบก แจ้งว่า โครงการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในยุคพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนี้ มีเรื่องอื้อฉาวจากการประมูลจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษไม่เพียงแค่การจัดซื้อเครื่องจีที 200 หรือเรือเหาะตรวจการณ์ที่กำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงเรื่องความไม่โปร่งใสในการประมูลและประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อมาใช้งานในกองทัพบกเท่านั้น แต่ยังคงมีการประมูลโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขนาดเบาสำหรับฝึกรบ แบบที่ 2 จำนวน 16 ลำ แบบเหมารวม (Total Package) มูลค่าประมาณ 1,100ล้านบาท ที่กำลังเป็นปัญหา มีข้อร้องเรียนให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเช่นเดียวกันกับเครื่องจีที 200
โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าว เปิดประมูลด้วยวิธีพิเศษ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2552 ที่กรมการขนส่งทหารบก กองทัพบก โดยคณะกรรมการจัดซื้อฯ ได้พิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคของบริษัทที่เข้าร่วมประมูล จำนวน 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทSchweizwer, บริษัท McDonald Dougles, บริษัท Enstrom และบริษัท Eurocopter ผลปรากฏว่าบริษัท Eurocopter ตกข้อเสนอด้านเทคนิค เหลือเพียง 3 บริษัท จากนั้น คณะกรรมการจัดหา ได้เปิดซองข้อเสนอราคาของผู้เสนอราคาที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติทางเทคนิคในวันเดียวกัน
ก่อนการเปิดซองราคา คณะกรรมการจัดซื้อฯ ได้แจ้งหลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณาราคาว่า ทางราชการจะพิจารณาตัดสินด้วยราคารวมทั้งสิ้น หรือTotal Package โดยพิจารณาจากผู้เสนอราคาที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการสูงสุด
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทหารบก ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับพิจารณาราคาต่ำสุดหรืออาจยกเลิกการจัดซื้อก็ได้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ
จากนั้น คณะกรรมการจัดซื้อฯ ได้เปิดซองข้อเสนอราคา และผลการเปิดซอง ปรากฏว่า บริษัท McDonald Douglesเสนอราคาสูงเกินราคากลาง โดยเสนอราคาอยู่ที่ 49,710,048 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท
ส่วนบริษัท Schweizwer เสนอราคา 37,133,570 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,188 ล้านบาท
ขณะที่บริษัท Enstrom ได้ยื่นเสนอราคามา3 ราคา คือ 27,468,510.44 ดอลลาร์สหรัฐฯ, 35,059,873.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 45,693,442.32 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเอกสารเสนอราคาดังกล่าวมีลายมือชื่อของคณะกรรมการจัดซื้อฯ กำกับไว้ด้วย
ในการเปิดซองเสนอราคา คณะกรรมการจัดซื้อฯ ยังได้เปิดซองราคาของบริษัท Enstrom เป็นลำดับสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่า บริษัท Enstrom เสนอราคาให้คณะกรรมการจัดซื้อฯ พิจารณา 3 ราคา ทางคณะกรรมการจัดซื้อฯ จึงถามบริษัท Enstrom ว่า ตกลงจะเสนอราคาใดกันแน่ ทางบริษัท Enstrom ซึ่งรู้ราคาของบริษัทอื่นแล้ว จึงเสนอราคาที่ 35,059,873.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคากลาง
หากเปรียบเทียบกับราคาของบริษัทEnstrom กับบริษัทSchweizwerโดยไม่พิจารณาลงไปในรายละเอียดของเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดเครื่องมือซ่อมบำรุง รายการอะไหล่และจำนวนอะไหล่เอาไว้ ผลการเสนอราคาของทั้งสองบริษัทจะออกมาว่า บริษัท Enstrom เสนอราคาต่ำสุด ทางคณะกรรมการจัดซื้อฯ จึงได้คัดเลือกให้บริษัท Enstrom เป็นผู้ชนะประมูล
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อการแข่งขันประมูลด้วยวิธีพิเศษดังกล่าวปรากฏผลออกมาเช่นนั้น จึงเกิดการร้องเรียนจากบริษัทผู้เข้าร่วมประมูลไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งก่อนหน้านี้ สตง. เคยมีผลงานการเข้ามาตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดหายานเกราะของกองทัพบก และพบปัญหามากมายจนกระทั่งการจัดซื้อจัดหาโครงการดังกล่าว หยุดชะงักมาจนบัดนี้
สำหรับประเด็นข้อร้องเรียนการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ ขนาดเบาสำหรับฝึกรบ แบบที่ 2 จำนวน 16 ลำ แบบเหมารวม ต่อ สตง. มีประเด็นหลักๆ ดังนี้
1)การเสนอราคาของบริษัท Enstrom ที่ยื่นเสนอราคาถึง 3 ราคา และคณะกรรมการจัดซื้อฯ โดยวิธีพิเศษ ไม่ได้พิจารณาตัดสิทธิ์บริษัท Enstrom แต่กลับเรียกบริษัท Enstrom มาสอบถามว่าจะใช้ราคาใด เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัท Enstrom ได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่น ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ แต่กลับเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในการจัดซื้อครั้งนี้
2)ข้อเสนอทางด้านเทคนิค ไม่เป็นไปตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้
3)บริษัท Enstrom ไม่ได้เสนอรายการอะไหล่และจำนวนอะไหล่แต่ละรายการในวันที่ยื่นข้อเสนอในทางเทคนิค แต่กลับยื่นเสนอในวันถัดมา ซึ่งผิดระเบียบการประมูล
4)หากเปรียบราคาเฮลิคอปเตอร์ระหว่าง 2 บริษัท คือ Enstrom และ Schweizwer จะพบว่า เฮลิคอปเตอร์ของบริษัท Enstrom มีราคาแพงกว่า
“เรื่องนี้ทางสตง.ได้เข้ามาตรวจสอบ และได้ส่งผลการตรวจสอบไปยังผบ.ทบ.แล้ว แต่ทางกองทัพบก ยังไม่ดำเนินการใดๆ ยังคาเรื่องนี้ไว้อยู่ เหมือนกับยานเกราะยูเครน”
แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพบกช่วงนี้มีปัญหาหลายรายการ เพราะเรื่องค่าคอมมิชชั่น อย่างจีที 200 ชัดเจนมาก ราคาเครื่องแค่ไม่กี่พันบาทแต่ขายกันเกือบล้าน ส่วนการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ ก็มีเรื่องนี้เหมือนกัน ยังสงสัยกันว่างานนี้บิ๊กทหารต้องการคอมมิชชั่นมากหรือเปล่าถึงดึงดันเอารายที่ทำผิดระเบียบราชการและเงื่อนไขการประมูลเข้ามาให้ได้ แทนที่จะตัดทิ้งไป เพราะถ้ารื้อเรื่องนี้ขึ้นมาจะมีผู้ร่วมกระทำผิดกันระนาว