xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละสัญญาอัปยศ “โทลล์เวย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ช่องทางจราจรปกติถูกเบียดพื้นที่จากการสร้างช่องทางด่วนโทลล์เวย์
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ชำแหละสัญญาสัมปทานอัปยศ “โทลล์เวย์” คมนาคมหลับหูหลับตาเอื้อประโยชน์เอกชนให้อำนาจสิทธิ์ขาดขึ้นราคาตามอำเภอใจและขึ้นไปได้เรื่อยๆ โดยรัฐได้ค่าตอบแทนจิ๊บๆ เพียงวันละ 22 บาท จากรายได้ที่บริษัทฟาดวันละ 4.4 ล้านบาท แฉพฤติกรรมเอาแต่ได้สร้างทางดักรถกลางถนน-เชื่อมทางหลักต้อนเหยื่อพลัดหลงเข้าช่องรีดเงิน

การบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่โฆษณาว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่สาละวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเป็นหลัก ประชาชนทั่วไปที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการกระทำของหน่วยงานรัฐที่ร่วมมือเอกชนจึงต้องต่อสู้ดิ้นรนหาทางออกโดยหันหน้าพึ่งกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นคดีมาบตาพุดที่มีรากเหง้าจากปัญหามลพิษท่วมเมืองมาเกือบ30ปี หรือล่าสุดการขึ้นค่าทางด่วนโทลล์เวย์

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งมีบทบาทในการฟ้องร้องคดีสำคัญเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ เช่น คดีแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคดีแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้ยื่นฟ้องอธิบดีกรมทางหลวง ปลัดกระทรวงคมนาคม รมว.กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี กรณีการขึ้นค่าผ่านทางด่วน “โทลล์เวย์” เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 53 ที่ผ่านมา เพื่อปกป้องคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภค

ในการฟ้องร้องครั้งนี้ของ มูลนิธิฯ เครือข่ายผู้บริโภค และกลุ่มนักกฎหมาย มีประเด็นสำคัญอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ

1)สัญญาสัมปทานที่หน่วยงานรัฐ คือ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ทำกับเอกชน คือ บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด นั้น เป็นสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน รัฐได้รับผลตอบแทนต่ำมากๆ และสูญเสียงบหลายพันล้านสนับสนุนโครงการให้เอกชน

และ2)คดีนี้เป็นการใช้สิทธิของผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 56, 57, 57 วรรคสอง, 58, 61 และ 84 (10) ซึ่งกรณีนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค เหมือนดังเช่นกรณีคดีมาบตาพุด ที่ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 เพื่อให้มีกระบวนการคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับชั่วคราว 64 โครงการลงทุน

โดยเฉพาะมาตรา 61 ที่ระบุว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

“ให้มีองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์กรอิสระดังกล่าวด้วย”

***ชำแหละสัญญาอัปยศ

ในประเด็นของสัญญานั้น คำฟ้องของมูลนิธิฯ ซึ่งได้ศึกษารายละเอียดของสัญญาสัปทานและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน จำนวน 3 ฉบับ พบว่า มีความฉ้อฉล เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่รักษาประโยชน์สาธารณะ ขัดต่อหลักกฎหมายมหาชน สิทธิของประชาชน และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนโดยรวม ดังนี้

(1)สัญญาทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ โดยคืนผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐต่ำมากเมื่อเทียบกับการใช้ทรัพย์สินของรัฐตลอดระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี เพียงวันละ 22 บาท หรือ 8,000 บาทต่อปี ขณะที่บริษัทฯ มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน 4.4 ล้านบาท

การสร้างทางยกระดับโทลล์เวย์ ยังส่งผลให้เกิดความเสียหายบนถนนวิภาวดีรังสิตเป็นลูกคลื่นตลอดเส้นทาง รัฐต้องใช้งบซ่อมบำรุงตลอดเส้นทางอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทมีพฤติกรรมเพิ่มรายได้ให้ตนเองโดยสร้างทางดักรถกลางถนนและเชื่อมกับทางหลัก ขยายช่องเก็บเงินหลายช่อง ทำให้ช่องจราจรปกติลดลง ทำให้ประชาชนไม่ประสงค์ใช้ทางพลัดหลงเป็นเหยื่อใช้บริการแบบมัดมืดชก

2)สัญญาอนุญาตให้เอกชนทำลายโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นบริการสาธารณะแต่เดิมของรัฐ ได้แก่ สะพานข้ามทางแยกงามวงศ์วานและหลักสี่ ซึ่งใช้งบก่อสร้างจำนวนมากโดยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐแต่ประการ

3)รัฐต้องสูญงบหลายพันล้านในการก่อสร้างทางยกระดับช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต โดยไม่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์และกรมทางหลวงยังสละสิทธิไม่เก็บค่าผ่านทางช่วงดังกล่าวทั้งขาเข้าขาออกตลอดอายุสัมปทาน และยังเสียงบอีก 60 ล้าน สมทบการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมกับท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพฯ ที่ดอนเมืองและทางด่วนระยะที่สอง ทั้งที่สัญญาเดิมกำหนดว่าบริษัทต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

4)บันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญาสัปทานทั้ง 3 ฉบับ คือ ฉบับแรกเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 49 ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 50 และฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2550 เป็นไปโดยไม่สุจริตไม่รักษาผลประโยชน์มหาชนและประชาชน เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ ทั้งการอนุญาตให้ใช้ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต โดยกรมทางหลวงจะไม่เก็บเงินค่าผ่านทางตลอดอายุสัมปทาน, การขยายเวลาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี จาก 25 ปี เป็น 45 ปี,

5)การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการขึ้นราคาโดยไต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวง ปรากฏตามสัญญาสัมปทานแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3/2550 “.... ข้อ 5 … อัตราค่าผ่านทางที่เรียกเก็บจากยานพาหนะทุกประเภทให้เป็นไปตามตารางท้ายข้อนี้ และมีผลใช้บังคับได้ทันที โดยการปรับใช้อัตราค่าผ่านทางตามตารางนี้ ผู้รับสัมปทานไม่ต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวงอีก แต่ผู้รับสัมปทานจะต้องแจ้งให้กรมทางหลวงทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 (สามสิบ) วัน และให้ผู้รับสัมปทาน ประกาศและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร...”

การแก้ไขสัญญาข้างต้น ทำให้บริษัทประกาศขึ้นค่าผ่านทางมหาโหดจากช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถาน-รังสิต และรังสิต-อนุสรณ์สถาน-ดินแดง สำหรับรถประเภทที่ 1 (รถ 4 ล้อ) จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถประเภทที่ 2 (รถมากกว่า 4 ล้อ) จาก 95 บาท เป็น 125บาท และจะขึ้นราคาอีก 15บาททุกๆ 5 ปีตลอดอายุสัมปทาน

การกระทำดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญและเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้รัฐและสาธารณชนเสียหายเพิ่มขึ้นเพราะเป็นการแก้ไขให้เอกชนใช้อำนาจแทนรัฐ (อำนาจมหาชน) จากเดิมที่อำนาจการขึ้นราคาเป็นของกรมทางหลวงหรือฝ่ายรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น