xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องศาลปกครองสูงสุดล้มองค์การอิสระ(เฉพาะกาล)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อานันท์ ปันยารชุน
ASTVผู้จัดการออนไลน์ – วิกฤตมาบตาพุดยังมืดมน กลุ่มนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติกดดันอย่างหนักจนรัฐบาลต้องคลอดระเบียบจัดตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 หวังเร่งแก้ไขปัญหา แต่กลับกลายเป็นการผูกปมเงื่อนเพิ่มขึ้น เพราะสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกโรงค้านเนื่องจากขัดกฎหมายและเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญฯ ขีดเส้นยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด 20 ม.ค.นี้ จวกเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามีผลประโยชน์ทับซ้อน ตั้งเรื่องชงเองกินเอง

การแก้ไขปัญหามาบตาพุดหลังศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับโครงการที่เข้าข่ายก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งกลุ่มนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ออกมากดดันเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหานี้ให้เร็วที่สุดเพราะกระทบต่อการลงทุนและความเชื่อมั่น จนรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสอง ร่วมกันหาทางออกให้โครงการลงทุนเดินหน้าต่อไปได้

ล่าสุดคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้เสนอให้ระเบียบฯ จัดตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ไปแล้ว พร้อมๆ กับการแถลงผลงานของคณะกรรมการฯ 4 ฝ่าย เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมาว่า บรรลุภารกิจเกือบครบถ้วนแล้ว คือ 1. แนวทางการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)และสุขภาพ(HIA) 2. แนวทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.การจัดตั้งองค์การอิสระ เหลือเพียงในเรื่องของการกำหนดประเภทกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง

แต่คล้อยหลังไม่กี่ชั่วโมง องค์การอิสระ (เฉพาะกาล) ที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ยังไม่มีตัวตนด้วยซ้ำ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โดย นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯ ผู้ฟ้องคดีมาบตาพุด ก็ออกแถลงการณ์คัดค้านระเบียบการจัดตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) และเตรียมยื่นฟ้องเพื่อล้มระเบียบการจัดตั้งองค์การดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ในวันพุธที่ 20 มกราคม 2553 ที่จะถึงนี้

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้เหตุผลในการคัดค้านระเบียบฯ องค์การอิสระ(เฉพาะกาล) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่กำหนดให้มีองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียได้ร่วมให้ความคิดเห็น และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบพร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ที่ผ่านมานั้น เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1) การกำหนดให้มีคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระขึ้นมาโดยพลการ ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดให้มี เป็นการต่อเติมเสริมแต่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อสืบทอดอำนาจของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายชุดปัจจุบันให้ยืดยาวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการใช้เล่ห์หรือเทคนิคทางกฎหมายที่ไม่อาจยอมรับได้ ทั้ง ๆ ที่บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายควรมีอายุสิ้นสุดเพียงไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น

2) การกำหนดให้มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาเป็นคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นองค์การอิสระฯ ทั้ง ๆ ที่กฤษฎีกาเคยคัดค้านการจัดตั้งองค์การอิสระในรูปแบบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศมาโดยตลอด แต่เมื่อคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมอบหมายให้สำนักงานกฤษฎีกาไปยกร่างรูปแบบองค์การอิสระในกฎหมายอื่นมาแทน กลับไปสร้างรูปแบบคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระนอกรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยใส่ตำแหน่งของตนเองเข้าไปเป็นกรรมการด้วย ถือว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ประหนึ่งตั้งเรื่องเอง ชงเรื่องเอง และกินเอง อย่างน่าเกลียด

3) การมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ ย่อมขัดต่อความเป็นอิสระขององค์การอิสระ เพราะนายกรัฐมนตรีย่อมสามารถให้คุณให้โทษต่อองค์การอิสระได้ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งในอนาคตก็ตาม เพราะหากองค์การอิสระได้ให้ความเห็นในลักษณะที่ขัดหรือแย้งต่อโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นแนวนโยบายหรือไม่สนองตอบต่อความต้องการของรัฐบาล ก็เป็นได้

4) การกำหนดการใช้งบประมาณขององค์การอิสระต้องผูกโยงอยู่กับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและหรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์การอิสระเป็นองค์กรเดียวระดับชาติมาโดยตลอด ย่อมส่งผลต่อการใช้เล่ห์เหลี่ยมในด้านการบริหารจัดการทางงบประมาณที่ไม่ให้เพียงพอได้ หรือล่าช้า โดยอ้างระบบราชการ ทำให้องค์การอิสระไม่สามารถทำงานระดมหรือจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียได้รอบด้านเพียงพอ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเห็นได้อย่างเต็มที่ได้ เพราะมีระยะเวลาการทำความเห็นที่จำกัดเพียง 60 วันเท่านั้น

5) การได้มาซึ่งข้อยุติของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายทั้งเรื่องหลักเกณฑ์การทำ EIA, HIA การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และการตั้งองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ไม่เคยนำข้อยุติดังกล่าวไปจัดเวทีหรือเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียเลย ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญ และนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ กำหนดไว้ชัดเจนว่า การดำเนินการดังกล่าวต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับและขัดต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างชัดเจน

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า เหตุทั้ง 5 ประการดังกล่าวมีเหตุผลเพียงพอแล้วและ ณ เวลานี้ ไม่สามารถหาข้อยุติใด ๆ ได้อีกต่อไปตามระบบการบริหารจัดการในทางรัฐศาสตร์ เพราะการเร่งรีบอย่างลุกรี้ลุกรนของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายและรัฐบาล เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการหรือแรงกดดันของกลุ่มนายทุนอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ โดยมองข้ามบริบทของการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงจำเป็นต้องพึ่งระบบตุลาการศาลยุติธรรมอีกครั้ง เพื่อหาข้อยุติให้เป็นที่สุดดังกล่าว โดยจะดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อเพิกถอนระเบียบฯดังกล่าวในวันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ.2553 เวลา 10.00 น. ณ ศาลปกครองสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

ไม่เพียงแค่เร่งรีบออกระเบียบจัดตั้งองค์การอิสระ(เฉพาะกาล) ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น กระบวนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ต่างมีเรื่องเล่าจากข่าววงในชิงไหวชิงพริบและเล่ห์เหลี่ยมของฝ่ายผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการตุกติกเรื่องการกำหนดประเภทกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง หรือการเล่นเกมนอกกติกา เช่น การเกลี้ยกล่อมให้ผู้ฟ้องคดีถอนฟ้อง เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในข่าวเกี่ยวข้อง)
กำลังโหลดความคิดเห็น