ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วิเคราะห์เบื้องหลัง “อภิสิทธิ์” สั่งล้มหวยออนไลน์ โยงแผนทุบหม้อข้าวกลุ่มธุรกิจการเมืองสายพรรคเพื่อไทย สัมพันธ์ใกล้ชิด “ทักษิณ-เจ๊แดง-หญิงอ้อ” รวมทั้ง “วิชัย รักศรีอักษร” เจ้าพ่อคิงส์เพาเวอร์ เพื่อนรัก “เนวิน” และนายทุนพรรคภูมิไจไทย
กลายเป็นประเด็นข่าวใหญ่ต้อนรับศักราชใหม่ 2553 ในทันที ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งล้มโครงการหวยออนไลน์ ซึ่งเตรียมดีเดย์ในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้านี้ เหตุผลที่นายกรัฐมนตรี อธิบายต่อสังคมว่า ไม่ต้องการทำให้สิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อสังคมมอมเมาประชาชนหวังรวยจากหวย การมีหวยออนไลน์ไม่ได้ทำให้หวยใต้ดินหมดหรือลดน้อยไปแต่อย่างใด นับเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญอย่างยิ่ง แม้ว่าอีกด้านหนึ่งอาจจะเสียคะแนนนิยมจากบรรดาคอหวยที่ตั้งตารอคอย และอีกด้านหนึ่ง กลุ่มล็อกซเล่ย์ เป็นธุรกิจของตระกูลจาติกวณิช ซึ่งมี กรณ์ จาติกวณิช นั่งเป็นรมว.คลัง ในรัฐบาลชุดนี้อยู่ด้วย
กระสุนนัดนี้ ไม่เพียงแต่ อภิสิทธิ์ จะได้รับคำชื่นชมในฐานะผู้นำที่ห่วงใยสังคมเท่านั้น แต่ยังยิงตรงเป้าไปยังกลุ่มธุรกิจการเมืองที่ได้ประโยชน์จากโครงการหวยออนไลน์อีกด้วย อย่าลืมว่าโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ดังนั้นกลุ่มผลประโยชน์รายล้อมทักษิณและบริวาร คือพวกที่เตรียมอู้ฟู่จากการขายหวยออนไลน์
เมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลที่กลุ่มสมาคมการค้าสลากคนพิการ ที่เคยเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายคำนูน สิทธิสมาน ขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อเดือนพ.ย. 2549 ได้ชี้ให้เห็นถึงกลุ่มผลประโยชน์ที่จะได้รับจากหวยตู้ออนไลน์ที่แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ของบางบริษัทที่ได้รับสัมปทานตู้ออนไลน์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจและนักการเมือง
เช่น บริษัทล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) (51%) และบริษัทจีเทค เทคโนโลยี จำกัด แห่งสหรัฐอเมริกา (49%) โดยมี นายตรีจักร ตัณทศุภศิริ ซึ่งอดีตเคยเป็นข้าราชการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัทล็อกซเล่ย์ ในปัจจุบัน
บริษัทสตาร์ อไลอันซ์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่โดยนายชัยสิทธิ์ วิระยะเมตตากุล จากกลุ่มรพ.วิภาวดี ซึ่งใกล้ชิดกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และมีพล.อ.วรเชต วัชรบุญโชติ เป็นกรรมการ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีตผอ.กองสลากฯ โดยพล.อ.วรเชต และพล.ต.ต.สุรสิทธิ์ ร่วมเป็นกรรมการในบริษัทกรุงไทย ธุรกิจบริการ จำกัด ในเครือกรุงไทยพร็อพเพอร์ตี้ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่เข้ามารับงานด้านการเชื่อมคู่สาย
บริษัทอินโฟเทล คอมมูนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งผู้ได้รับสัมปทานตู้ออนไลน์ ยังถือหุ้นใหญ่โดยนายวิชัย รักศรีอักษร เจ้าของคิงส์เพาเวอร์ ผู้รับสัมปทานพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งใกล้ชิดกับนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และยังมีความสนิทสนมแนบแน่น กับ “เนวิน” ชนิดคุยกันถูกคอทุกเรื่อง และ เนวิน ได้ใช้ พลูแมน คิง เพาเวอร์ ที่ซอยรางน้ำ เป็นฐานบัญชาการ สัมพันธ์ เนวิน – วิชัย พัฒนาจนถึงขั้น วิชัย กลายมาเป็นหนึ่งในนายทุนพรรคภูมิใจไทย ในเวลานี้
นอกจากนั้น ยังมีบริษัทสแกนซัน จำกัด, บริษัทรีเทลลิ่ง แฟคตอริ่ง และบริษัทซีเอส ดีสทริบิวชั่น จำกัด ในเครือซีพี ที่มีที่ตั้งบริษัทอยู่ที่เดียวกัน, บริษัทนันทพร กรุ๊ป จำกัด และบริษัทกัลยาดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เครือญาติของนายประพัตร โพธิสุธน เพื่อนอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, บริษัทอุบล ก่อสร้าง จำกัด ของนายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีตส.ส.พรรคไทยรักไทย เป็นต้น
ส่วนกลุ่ม บริษัททีดีเวิลด์ แทรเวิลด์ จำกัด, บริษัท วิน – วิน เซลล์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, บริษัทวิน – วิน ลอตโต้ จำกัด, บริษัทดิจิตอลซิมโบลค จำกัด, บริษัทอีไพรซ์ จำกัด ซึ่งเพิ่งตั้งเมื่อปี 2546 ก็เป็นของผู้กว้างขวางย่านเตาปูนที่เกี่ยวพันกับธุรกิจใต้ดิน
สำหรับตัวแทนผู้ค้ารายย่อยหวยออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น ตระกูล มงคลศิริ (อุทัยธานี), ตระกูลกิตติธเนศวร (นครนายก), ตระกูลงามพิเชษฐ์ (ชลบุรี), ตระกูลพัฒนดำรงจิตร (ขอนแก่น), ตระกูลปทุมมารักษ์ (นครปฐม), ตระกูลภูมิเหล่าแจ้ง (กาฬสินธุ์), ตระกูลจันทรสมบูรณ์ (กาญจนบุรี) เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผลประโยชน์ข้างต้นแล้ว ดูท่าการสั่งล้มโครงการหวยออนไลน์ของ อภิสิทธิ์ คราวนี้ คงทำให้กลุ่มทุนการเมืองคู่แข่งพรรคประชาธิปัตย์ หน้าแห้ง ฝันค้าง อีกครั้ง
การสั่งการให้คณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเพื่อยกเลิกสัญญากับล็อกซเล่ย์ ขณะที่ฝ่ายเอกชนขู่ฟ่อจะฟ้องเป็นหมื่นๆ ล้านนั้น ดูเหมือนว่า นายกรัฐมนตรี อาจจะรู้ข้อมูลอยู่แล้วว่า ความจริงสัญญาที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทำกับล็อกซเล่ย์นั้น มีปัญหามาตั้งแต่ต้นและยังมีเรื่องคาราคาซังกันอยู่จนบัดนี้
ข้อมูลของกลุ่มผู้ค้าสลากคนพิการ ระบุว่า ช่วงการประมูลนั้น นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเปิดซองประมูลการจ้างเพื่อติดตั้งเครื่องจำหน่ายสลากอัตโนมัติ ที่มีหลายบริษัทเข้าร่วมประมูล มีปัญหาจนต้องเปลี่ยนแปลงตัวคณะกรรมการเปิดซองหลายครั้ง เนื่องจากบางคนวางตัวไม่เป็นกลางและเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างชัดเจน แม้ว่าขณะนี้คณะกรรมการฯ จะตัดสินให้ บริษัทล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ชนะประมูล แต่ก็มีปัญหาฟ้องร้องกันถึงศาลปกครอง
นอกจากนั้น จากข้อมูลของคู่สัญญาระหว่างบริษัทล็อกซเล่ย์ จีเทค เทคโนโลยี จำกัด ในฐานะเป็นผู้รับจ้าง ซึ่งทำไว้กับฝ่ายกฎหมายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้ว่าจ้าง ในข้อ 12.3 ยังได้ระบุว่า
“ผู้รับจ้าง รับทราบแล้วว่าในขณะลงนามสัญญานี้ ศาลปกครองกำลังพิจารณาคดีระหว่างผู้เสนอราคารายอื่นกับผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้างตกลงว่าหากศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ว่าจ้างระงับการจ้างหรือยกเลิกการประกวดราคาหรือมีคำพิพากษา หรือคำสั่งใด อันทำให้การจ้างตามสัญญานี้ไม่สามารถจะดำเนินการต่อไปได้ ผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญานี้ได้ โดยผู้รับจ้างตกลงว่าจะไม่เรียกร้องเอาค่าเสียหาย ค่าชดเชยหรือเงินอื่นใดในทำนองเดียวกันกับผู้ว่าจ้าง”
สำหรับคดีที่ศาลปกครองนั้น เป็นคดีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งรับฟ้อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2549 โดยคดีดังกล่าวบริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ยื่นฟ้อง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2547 ระบุว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ประกาศประกวดราคาจ้างบริหารระบบเกมสลาก หรือหวยออนไลน์ โดยผู้ฟ้องได้จัดทำข้อเสนอในการประกวดราคาและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขถูกต้องครบถ้วนทุกประการ
ต่อมา สำนักงานสลากฯ ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาทางเทคนิค 2 ราย ได้แก่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ฯ และบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ทางเอสวีโอเอ เห็นว่า คณะกรรมการจัดจ้างมีการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่ข้อเสนอด้านเทคนิคของเอสวีโอเอเป็นไปตามเอกสารการจ้างทุกประการ ซึ่งการตัดสิทธิเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ขอให้ศาลพิพากษายกเลิกเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และเพิกถอนกระบวนการประมูลที่ได้ทำไปแล้ว และให้ศาลสั่งผู้ถูกฟ้อง เพิกถอนคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างชุดปัจจุบันและตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่เป็นกลางเข้ามาดำเนินการ ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าการประมูลจ้างบริหารหวยออนไลน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะนำไปสู่การประมูลใหม่
อนึ่ง เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2548 บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็คฯ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลาก หรือสลากออนไลน์กับสำนักงานกองสลาก สัญญามีสาระสำคัญ ระบุว่า บริษัทล็อกซเล่ย์ จีเท็คฯ ในฐานะผู้รับจ้าง จะต้องดำเนินการออกแบบจัดหาและติดตั้งระบบเกมสลาก ระบบสื่อสาร เครื่องจำหน่ายสลาก ระบบสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งการปฏิบัติงาน และบริการบำรุงรักษาระบบต่างๆ และเครื่องจำหน่ายสลากทั่วประเทศ จำนวน 12,000 เครื่อง ปัจจุบันบริษัทตั้งตู้จำหน่ายหวยออนไลน์แล้วประมาณ 6,000 เครื่อง เม็ดเงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท จากวงเงินลงทุนทั้งหมด 8,000 ล้านบาท และเปิดรับสมัครคนเดินโพยกว่า 75,000 คน
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2551 นายตรีจักร ตัณฑ์ศุภศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็คฯ เปิดแถลงข่าวว่าได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ทำตามสัญญากรณีหวยออนไลน์เลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว และประมาณเดือนธ.ค. 2551 หากยังไม่ได้รับการตอบสนองจะฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้อง เรียกค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท จากกรณีการเลื่อนจำหน่ายหวยออนไลน์มาหลายครั้งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายโดยขาดทุนสะสมกว่า 500 ล้านบาท
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2553 นายตรีจักร จะฟ้องสำนักงานสลากฯ เป็นเงิน 14,000 ล้านบาท โดยคิดจากะรายได้พึงมีในอนาคต ปีละประมาณ 1,800 ล้านบาท ระยะเวลาตามสัญญา 8 ปี