xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก 5 ปี “พ.ต.ท.สมิง” ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จับเหยื่อยัดยาบ้า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พิพากษาจำคุก 5 ปี “พ.ต.ท.สมิง รอดรัตษะ” จับผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายศาล บังคับให้รับสารภาพค้ายาบ้า 100 เม็ด พร้อมลูกน้องอีก 5 คน ศาลชี้พยานโจทก์มีน้ำหนักให้การสอดคล้องกัน ส่วนจำเลยที่ 3, 4 และ 5 ให้ยกฟ้อง

วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 814 ศาลอาญา เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีที่นางกรองกาญจน์ ถิ่นอ่อน เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ท.สมิง รอดรัตษะ รอง ผกก.ป.สน.ดินแดง อดีต สว.สส.สน.พญาไท, พ.ต.ท.พรรณศักดิ์ วรบูลย์สวัสดิ์ สว.งาน ศสส.สตม.ภ.กลาง อดีตรอง สว.สส.สน.พญาไท, ร.ต.อ.กิตติพงษ์ สิมมาลี, ด.ต.ภิญโญ แสงทิพย์, ด.ต.อภิทักษ์ แก้วเกลื่อน, ด.ต.อวยชัย ทับสุรีย์, จ.ส.ต.บุญเรือง บุตรวงศ์, จ.ส.ต.รุ่ง ทิพย์ขำ, จ.ส.ต.หญิงศศิธร ทับสุรีย์, จ.ส.ต.วันเผด็จ แท่นรัตน์ และ ส.ต.ท.สุธรรม แย้มช่วย เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.พญาไท (ยศและตำแหน่งขณะเกิดเหตุปี 2548) เป็นจำเลยที่ 1-11 ในความผิดฐาน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.48 จำเลยทั้งสิบเอ็ด ร่วมกันแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนางกรองกาญจน์ ถิ่นอ่อน อายุ 53 ปี โดยไม่มีหมายจับของศาล โดยใช้กำลังและอาวุธบังคับข่มขืนใจโจทก์ ให้ขึ้นรถยนต์ไปกับพวกจำเลย โดยระหว่างนั้นใช้ถุงดำคลุมศีรษะและรัดคอโจทก์ไว้เพื่อข่มขู่ให้โจทก์รับสารภาพคดีมียาบ้าจำนวน 100 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.48 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 11 คน มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา ตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิด อันเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้ร่วมกันแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์โดยไม่มีหมายจับของศาล จับกุมโจทก์ไปจากท่าอากาศยานกรุงเทพดอนเมือง โดยใช้กำลังและอาวุธบังคับโจทก์ให้ขึ้นรถไปกับจำเลย ในระหว่างอยู่บนรถจำเลยกับพวกใช้ถุงดำคลุมศีรษะและรัดคอโจทก์ไว้ในระหว่างที่นั่งรถยนต์ จำเลยกับพวกได้ข่มขู่ให้โจทก์รับสารภาพ โดยตั้งข้อหาว่ามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 100 เม็ด โจทก์ได้ปฏิเสธ จำเลยไม่ยอมปล่อยตัวโจทก์ และไม่นำส่งพนักงานสอบสวนหรือพาไปยังสถานีตำรวจ ต่อมาจำเลยกับพวกได้ให้โจทก์พาไปที่สถานที่โกดังของโจทก์เพื่อตรวจค้น ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำเอกสารการจับกุมและเอกสารอื่นๆ อันเป็นเท็จโดยบังคับให้โจทก์ลงลายมือชื่อ โดยเอกสารดังกล่าวได้จัดพิมพ์ไว้แล้ว และมีข้อความว่ารับสารภาพ เหตุเกิดที่แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 172, 309, 310 ทวิ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีที่โจทก์เคยถูกจำเลยทั้ง 11 จับกุมก่อนหน้านี้นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง 11 คน กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยวันที่ 16 มิ.ย.48 นางชลลดา ณ เชียงใหม่ พยานโจทก์ เบิกความว่า ได้ยืมรถยนต์ ยี่ห้อฟอร์ด หมายเลขทะเบียน ศน-4851 กทม. ของโจทก์ไปขับแล้วเกิดอุบัติเหตุ จึงให้โจทก์ลงมาจากเชียงใหม่เพื่อมาติดต่อบริษัทประกันภัย โจทก์จึงเดินทางจากเชียงใหม่ ถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ในช่วงบ่ายของวันที่ 16 มิ.ย.48 ระหว่างจะเรียกรถแท็กซี่ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กับพวก เข้ามาจับกุมตัวโจทก์ ขึ้นรถยนต์สีแดงไม่ทราบทะเบียน ระหว่างทางจำเลยที่ 7 ใช้ถุงดำคลุมศีรษะ พร้อมใช้ปืนจ่อศีรษะ ก่อนคุมตัวไปยังที่รีเจ้นท์ ศรีนครินทร์ ทาวเวอร์ และบังคับให้โทรศัพท์หานายปฏิพันท์ กำไร ให้มาพบเมื่อนายปฏิพันท์ มาถึง จำเลยที่ 7 ได้เข้าทำการจับกุม ก่อนนำตัวไปค้นห้องพักของพยาน แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด จากนั้นได้พาตัวโจทก์ไปที่โรงแรม 99 ย่านซอยรางน้ำ โดยมีจำเลยที่ 1 ตามมาซักถามว่ามีอะไรจะพูดไหม โจทก์บอกว่าไม่มี จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ออกไปจากโรงแรมดังกล่าว โดยให้จำเลยที่ 8, 10 และ 11 เป็นคนนอนเฝ้า ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย.48 จำเลยที่ 2, 10 และ 11 ได้พาโจทก์ ไปยัง สน.พญาไท ไปคุมตัวไว้ที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 9 และสอบถามถึงความเกี่ยวข้องกับ นางชลลดา โจทก์ได้ให้การปฏิเสธ พร้อมทำบันทึกการจับกุม กล่าวหาว่ามียาบ้าไว้ในครอบครองจำนวน 100 เม็ด

ศาลเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องเป็นลำดับขั้นตอน หากไม่เป็นความจริงก็ยากที่จะปั้นแต่งเรื่องขึ้นเอง โจทก์เบิกความได้สอดคล้องกับนางชลลดา พยานโจทก์ เนื่องจากนางชลลดา ได้ถูกกลุ่มจำเลยจับกุมไปตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.48 โดยกลุ่มจำเลยบังคับให้นางชลลดา โทรศัพท์หาโจทก์ เพื่อให้โจทก์เดินทางมาพบ เมื่อโจทก์เมื่อถึงสนามบินดอนเมืองจึงถูกจับกุม นอกจากนี้คำเบิกความโจทก์ยังสอดคล้องกับ หนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงฉบับวันที่ 22 ก.ย.48 และสอดคล้องกับคำเบิกความที่โจทก์เป็นจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 7010/2549 เห็นว่าแม้โจทก์จะเบิกความถึง 2 ครั้ง แต่มีความแตกต่างกันด้านเวลา ก็ยังสามารถเบิกความได้อย่างละเอียด เชื่อว่าโจทก์เบิกความไปตามจริง

ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลย ที่เบิกความว่าในวันเกิดเหตุติดภารกิจรับเสด็จฯ นั้น ศาลเห็นว่าแม้จำเลยจะมีชื่อในบันทึกคำสั่งดังกล่าว แต่หากมีความจำเป็นในภารกิจอื่น เช่น การจับกุมคนร้ายในคดีต่างๆ ย่อมให้เจ้าพนักงานอื่นปฏิบัติภารกิจแทนได้ ซึ่งในวันที่ 16 มิ.ย.48 ที่จำเลยอ้างว่าติดรับเสด็จฯ นั้น กลับไม่ปรากฏบันทึกการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยกับพวกตามบันทึกของเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุรามาแต่อย่างใด เชื่อว่าจำเลยร่วมกันจับกุมโจทก์ในวันที่ 16 มิ.ย.48 จริง ประกอบกับโจทก์มีภาพวิดีโอบันทึกรถยนต์ของจำเลยกับพวกที่เข้าออกโรงแรมในวันที่ 16 มิ.ย.48 ซึ่งโจทก์เป็นเพียงประชาชนธรรมดา ไม่กล้าที่จะไปปั้นแต่งพยานหลักฐานเท็จ เพื่อเอาผิดเจ้าพนักงานที่เป็นตำรวจ ขณะที่จำเลยที่ 3, 4 และ 5 นำสืบต่อสู้ว่าปฏิบัติหน้าที่ที่ สน.พญาไท โดยเข้าเวรหลัก ได้ร่วมลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมไว้ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ได้ร่วมจับกุมในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ประกอบกับโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยที่ 3, 4 และ 5 ร่วมกระทำผิดอย่างไร

จึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1, 2, 7, 8, 10 และ 11 มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 6 และ 9 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ จำคุกคนละ 4 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3,4 และ 5

ภายหลัง พ.ต.ท.สมิง กล่าวด้วยสีหน้าผิดหวังว่า ตนจะใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัวต่อศาล และจะอุทธรณ์สู้คดีต่อไป ต่อมาจำเลยที่ 1,2 7,8 10,11 ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการและเงินสด ราคาประกันรวมมูลค่า คนละ 5 แสนบาท ขณะที่จำเลยที่ 6 และ 9 ใช้ตำแหน่งหน้าราชการและเงินสด ราคาประกันรวมมูลค่า คนละ 4 แสนบาทยื่นขอประกัน ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัว
พ.ต.ท.สมิง รอดรัตษะ รอง ผกก.ป.สน.ดินแดง อดีตสว.สส.สน.พญาไท
พ.ต.ท.สมิง รอดรัตษะ ถูกพิพากษาจำคุก 5 ปี คดีข่มขู่เหยื่อรับสารภาพมียาบ้า 100 เม็ด พร้อมบอกจะใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัวต่อศาล และจะอุทธรณ์สู้คดีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น