xs
xsm
sm
md
lg

ยัดคุก 6 แกนนำถ่อย ศาลฯ ชี้คุกคามเนชั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลอาญากรุงเทพใต้ ระบุชัด 6 แกนนำม็อบลิ่วล้อแม้ว ชุมนุมปิดล้อมทางเข้า-ออกตึกเนชั่น ไม่ใช่การใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบตามกฎหมาย แต่มี "เจตนา" ข่มขู่คุกคามบังคับให้ผู้เสียหายทำตามข้อเรียกร้อง มีความผิดฐาน ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 2 ปี จำเลยยื่นประกันคนละ 1 แสน คิดสู้ต่อชั้นอุทธรณ์

วานนี้ (30 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ ถ.เจริญกรุง 63 ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ด.1877/2550 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 และนายจักรกฤษ เพิ่มพูน บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ผู้เสียหายร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายคำตา แคนบุญจันทร์ อดีตแกนนำสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกยอ.), นายอรรถฤทธิ์ สิงห์ลอ เลขาธิการคาราวานคนจน, นายชูพงษ์ ถี่ถ้วน, นายธนวิชญ์ ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา แกนนำร่วมคาราวานคนจน, นายชินวัฒน์ หาบุญพาด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายกสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับรถแท็กซี่ที่กรุงเทพฯ และ นายสำเริง อดิษะ แกนนำร่วมคาราวานคนจน ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สิน หรือใช้กำลังประทุษร้ายให้จำยอมกระทำสิ่งใด โดยร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปกระทำความผิด, กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เพื่อให้ผู้อื่นกระทำการใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310 ทวิ ประกอบมาตรา 83 และ 91 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องกระจายเสียง พ.ศ.2493

โดยคดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 มี.ค.2550 สรุปว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2549 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 6 กับพวก ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัด เรียกตัวเองว่า คาราวานคนจน เป็นผู้นำกลุ่มมวลชน ร่วมกันใช้ไมโครโฟนพร้อมลำโพงหลายตัว ประกาศให้ประชาชนประมาณ 1,000-3,000 คน มาร่วมกับจำเลยทั้ง 6 กับพวก ทำการปิดล้อมอาคารเนชั่นทาวเวอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป นำประชาชนมาทำการปิดล้อมทางเข้า-ออกของอาคาร ด้วยการร่วมกันใช้ไมโครโฟน โฆษณาประกาศบนหลังคารถบรรทุกขนาดเล็ก ให้ประชาชนดังกล่าวปิดล้อมอาคารดังกล่าวข้างต้น เพื่อเรียกร้องให้ นายประเสริฐ ศรีสืบ, นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล และ นายภาคภูมิ เตมะสิริ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ส่งตัวผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าว ซึ่งกลุ่มของจำเลยทั้งหกกับพวกอ้างว่า หมิ่นเบื้องสูงออกมาพบ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงที่ได้มีการตีพิมพ์ใน นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับลงวันที่ 24 มี.ค. 2549 หากไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องดังกล่าว จำเลยกับพวกจะทำการปิดล้อมอาคารดังกล่าวข้างต้น เพื่อไม่ให้บุคคลซึ่งทำงานในอาคาร เข้า-ออก อีกทั้งพวกจำเลย ยังร่วมกันข่มขืนใจและขู่เข็ญ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูน ผู้เสียหายที่ 1 และ นายสุรชัย มูฮาหมัด ผู้เสียหายที่ 2 กับพวกอีกประมาณ 211 คน ไม่สามารถเข้า-ออกอาคาร อันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสองกับพวก และสำนักพิมพ์คม ชัด ลึก ตลอดจนผู้บริหารหนังสือพิมพ์ดังกล่าว จำต้องยอมกระทำตามข้อเรียกร้องของจำเลยทั้ง 6 กับพวก

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้ง 6 คน นำสืบแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยทั้ง 6 คนร่วมกันชุมนุมปิดล้อมอาคารเนชั่นทาวเวอร์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารหนังสือพิมพ์คมชัดลึก นำผู้สื่อข่าวที่ตีพิมพ์บทความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพออกมายืนยันข้อเท็จจริง โดยเวลาต่อมาจำเลยทั้ง 6 คนและผู้บริหารหนังสือพิมพ์ได้พบและตกลงกันโดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึกยินยอมออกประกาศข้อผิดพลาดการตีพิมพ์บทความจำเลยทั้ง 6 กับพวกจึงได้แยกย้ายกลับออกไป

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง 6 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่โดยโจทก์มีนายจักร์กฤษ เพิ่มพูน โจทก์ร่วม นายประเสริฐ ศรีสืบ,นายภาคภูมิ เตมะสิริ และพนักงานบริษัทเนชั่นฯ ผู้เสียหายในคดีนี้อีกจำนวนหนึ่งและเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางนา 2 นาย ซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์การชุมนุมดังกล่าว เบิกความทำนองเดียวกันว่าในการชุมนุมมีการใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ประชาชนมารวมตัวชุมนุมที่บริเวณหน้าอาคารเนชั่นทาวเวอร์ จนพนักงานไม่สามารถเข้าออกได้ ซึ่งแม้ว่าพยานโจทก์จะมีจำนวนมาก แต่ก็เบิกความไปทำนองเดียวกัน สอดคล้องต้องกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและภาพนิ่งรวมทั้งภาพและเสียงเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ขณะที่พยานโจทก์ก็เป็นผู้ประสบเหตุด้วยตนเอง จึงน่าเชื่อว่าพยานโจทก์ไม่ได้ปรักปรำหรือปรุงแต่งข้อเท็จจริงขึ้นเพื่อให้จำเลยรับโทษ

**เจตนาคุกคามขู่บังคับ

ขณะเดียวกันการชุมนุมยังปรากฏว่ามีการใช้เครื่องขยายเสียงประกาศปราศรัยให้การชุมนุมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อให้ผู้บริหารหนังสือพิมพ์คมชัดลึกส่งตัวผู้สื่อข่าวยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทความ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของพวกจำเลยว่าต้องการขู่บังคับให้ผู้เสียหายทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มจำเลย โดยการปิดล้อมทำให้พนักงานไม่สามารถเข้า-ออก ได้ตามปกติจนกระทั่งผู้บริหารหนังสือพิมพ์ได้นำตัวผู้สื่อข่าวมายืนยันข้อเท็จจริง พร้อมลงประกาศที่ผู้บริหารหนังสือพิมพ์และจำเลยทั้ง 6 ตกลงร่วมกัน

ส่วนที่จำเลยทั้ง 6 เบิกความเป็นพยานด้วยตนเองว่า การชุมนุมไม่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้า และไม่ได้ปิดล้อมทางเข้า-ออก แต่การชุมนุมเพียงส่งผลให้พนักงานเข้า-ออกไม่ได้โดยสะดวก ส่วนการที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึกยอมรับข้อผิดพลาดยอมตีพิมพ์บทความและงดการนำเสนอข่าวเป็นเวลา 5 วัน ตามที่ผู้บริหารหนังสือพิมพ์และจำเลยทั้ง 6 ตกลงร่วมกันก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการข่มขู่แต่อย่างใดนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยทั้ง 6 กับพวกจัดชุมนุมในสถานที่ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนโดยคาดหมายอยู่แล้วว่าจะมีการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิบุคคลอื่น ซึ่งกฎหมายก็ให้การคุ้มครองสิทธิของบุคคลไว้

ดังนั้น การชุมนุมดังกล่าวจึงไม่ใช้การใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบตามกฎหมาย ส่วนเหตุที่ว่ามีการหมิ่นสถาบันนั้นหากปรากฏว่ามีการกระทำใดเกิดขึ้น สามารถที่จะใช้วิถีทางกระบวนการยุติธรรมดำเนินการได้ แต่การกระทำของพวกจำเลยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางดังกล่าว พยานจำเลยจึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นฯ และกักขังหน่วงเหนี่ยวฯ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตราย

**มีความผิดลงโทษจำคุก 2 ปี

ส่วนความผิดการใช้เครื่องขยายเสียงตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องกระจายเสียง พ.ศ. 2493 นั้น โจทก์มีผู้เสียหายหลายปาก ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความการชุมนุมดังกล่าวมีการใช้เครื่องขยายเสียงและชั้นพิจารณาคดีผู้เสียหายยังสามารถชี้ตัวจำเลยได้ถูกต้อง ขณะที่โจทก์ยังมีเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางนา ซึ่งรับผิดชอบการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ในวันเกิดเหตุพวกจำเลยไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ดังนั้น การกระทำของพวกจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เชื่อว่าพยานโจทก์ได้เบิกความอย่างที่ได้รู้เห็นตามหน้าที่จึงไม่มีเหตุปรักปรำจำเลยให้ต้องได้รับโทษ

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่งและสองและมาตรา 310 ทวิประกอบมาตรา 83 และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ซึ่งการกระทำของพวกจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียกกระทงลงโทษ จำคุกคนละ 3 ปี และ ปรับคนละ 180 บาท แต่ชั้นพิจารณาคำเบิกความของจำเลย มีประโยชน์อยู่บ้างเห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 ให้จำคุกจำเลยทั้ง 6 คนละ 2 ปี ซึ่งคำเบิกความของ จำเลยที่ 2 และ 5 มีประโยชน์ต่อการพิจารณาความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ จึงลดโทษค่าปรับ ให้ 1 ใน 3 เหลือคนละ 120 บาท

**ประกัน 1 แสนสู้ชั้นอุทธรณ์

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว ทนายความของนายคำตากับพวก ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด คนละ 1 แสนบาทขอประกันตัว

ด้าน น.ส.กันตา กำลังเอก ทนายความของนายจักร์กฤษ ผู้เสียหาย กล่าวว่า อัตราโทษที่ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ฐานข่มขืนใจฯ ถือว่าเป็นโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ซึ่งฝ่ายของผู้เสียหายจะมีการยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลไม่ลดโทษหรือไม่ ต้องรอหารือกันต่อไป

ส่วนทนายความของนายคำตากับพวก ทั้ง 6 คน กล่าวว่า จะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายต่อไป โดยขอให้ศาลลดโทษเหลือเพียงแค่การรอลงอาญา ขณะที่การยื่นอุทธรณ์จะมีเวลา 30 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้มีกลุ่มญาติและกลุ่มเสื้อแดงประมาณ 20 คน ซึ่งนำโดยนายจรัล ดิษฐาอภิชัย 1 ในแกนนำ นปช.ได้เดินทางมาให้กำลังใจนายคำตากับพวกด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น