ASTVผู้จัดการออนไลน์ – คณะกรรมการคู่ขนานติดตามตรวจสอบฯ โวยคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุดที่มี “อานันท์ ปันยารชุน” เป็นประธาน ตระบัดสัตย์ เจตนาล้มโครงการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรุนแรงของภาคประชาสังคมที่ตกลงกันกันจนได้ข้อยุติแล้ว 19 ประเภทโครงการ แฉเบื้องหลังตามก้นนักการเมืองที่ต้องการผลักดันโครงการขนาดใหญ่โดยไม่ต้องการทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและไม่อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ปลดล็อก 65 โครงการเดินหน้า รวมถึงโครงการผันน้ำโขงมาสู่ภาคอีสานที่นักการเมืองเจ้ากระทรวงผลักดันสุดลิ่ม
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะคณะกรรมการคู่ขนานในการติดตามตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายในการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯได้มีการประชุมนัดพิเศษขึ้นที่บ้านพิษณุโลก เพื่อเร่งรัดการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ให้ได้ข้อยุติโดยเร็วโดยเฉพาะเครื่องมือการทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพหรือเอชไอเอ (HIA) ตามแนวทางของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันใหม่คือ โครงการหรือกิจกรรมใดควรเป็นโครงการประเภทรุนแรง ที่จะต้องทำรายงานเอชไอเอและต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ทั้งๆ ที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เคยมีข้อยุติแล้วเมื่อคราวการประชุมสัญจรที่มาบตาพุดว่าจะนำ 19 โครงการที่เคยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนทั่วประเทศมาแล้วมาเป็นหลักในการประกาศบังคับใช้ต่อไป เพื่อที่ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและคำสั่งศาลปกครองสูงสุดได้
“เรื่องดังกล่าวกลับถูกรื้อฟื้นนำกลับมาทบทวนใหม่โดยฝ่ายข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองที่นั่งเป็นกรรมการอยู่ ซึ่งอาจถูกใบสั่งจากรัฐบาลหรือนักการเมืองเจ้ากระทรวงสั่งมาให้ล้มมติการยอมรับ 19โครงการดังกล่าวที่เคยได้ข้อยุติแล้วเสีย เพราะหนึ่งในนั้นมีโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำอยู่ด้วย โดยเฉพาะลุ่มน้ำนานาชาติคือแม่น้ำโขง ที่มีนักการเมืองใหญ่ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ได้เป็นรัฐมนตรีพยายามผลักดันโครงการดังกล่าวอยู่อย่างจนในที่สุดลุกลี้ลุกลน ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติได้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
“ขอเตือนให้ข้าราชการจำพวกดังกล่าวและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องพึงสังวรณ์ต่อคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดให้ดี อย่าพยายามเล่นเล่ห์เพทุบาย โดยหวังที่จะใช้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเป็นข้ออ้างในการสนองตอบต่อความต้องการของตนเองแล้วไปร้องขอต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อปลดล็อคโครงการต่าง ๆ ทั้ง 65 โครงการได้โดยง่าย ๆ เพราะในคำสั่งศาลปกครองยืนยันถึงสิทธิของประชาชนที่ดำเนินการมาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้วเกี่ยวกับการยื่นเสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้นำ 19 โครงการหรือกิจกรรมประเภทรุนแรงไปประกาศบังคับใช้ หากมีการหลบเลี่ยงหรือยกเว้นบางโครงการที่นักการเมืองไม่ต้องการ ก็ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลต่อไป เรื่องนี้ภาคประชาสังคมยอมไม่ได้” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าว
นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวต่อว่า ยังมีความพยายามเจรจาต่อรองกันของนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการกับรัฐบาลว่า หากภาครัฐสามารถช่วยทำให้ศาลปกครองปลดล็อคโครงการทั้ง ๖๕ โครงการให้ได้โดยเร็วโดยการกำหนดหลักเกณท์หรือเครื่องมือการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญให้สามารถนำไปใช้หรือปฏิบัติได้โดยง่าย ๆ มีองค์การอิสระฯที่ราชการสามารถควบคุม สั่งการได้ รวมทั้งการขอให้นำรายงานอีไอเอที่เคยทำแล้วของผู้ประกอบการมาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องนำกลับไปทบทวนใหม่ ผู้ประกอบการก็จะไม่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานรัฐและรัฐบาล
“พฤติการณ์ดังกล่าว สมาคมฯ ขอประณามและประกาศโดยทั่วกันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความอัปยศอดสูที่สุด และจะต้องได้รับการตอบโต้อย่างสาสมในเร็ววันหากนายกรัฐมนตรีอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย” นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
อนึ่ง นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามประกาศเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552 กำหนดโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าข่ายมาตรา 67 รัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องได้รับความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และได้รับความเห็นจากองค์กรอิสระ ประกอบด้วย 8 ประเภทโครงการ ประกอบด้วย
1) เหมืองใต้ดินที่ชั้นหินแตกหักง่าย
2) เหมืองตะกั่ว/แมงกานีส
3) โรงถลุงเหล็กด้วยการละลายเคมีในชั้นดิน และกิจกรรมผลิตเหล็กขั้นต้น
4) โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง ที่มีผลผลิตจากการใช้สารที่ก่อให้เกิดสารพิษในอากาศ 14 ชนิด หรือมีสารพิษรุนแรงก่อให้เกิดการเสียชีวิต
5) นิคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานเหล็กและปิโตรเคมีตั้งอยู่
6) โรงฝังกลบของเสียอันตราย โรงงานเตาเผาของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม
7) โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน และ
8) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ถึงแม้ภาครัฐจะกำหนดเพียง 8 ประเภทโครงการส่งผลกระทบรุนแรงเท่านั้น แต่ในความเห็นของ นายพิชัย พืชมงคล จากสำนักกฎหมายธรรมนิติ ได้เขียนบทความทางกฎหมายเรื่อง โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 คืออะไร? ชี้ประเด็นข้อควรพิจารณาว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม มติของ กรอ.และมติของคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดว่า โครงการประเภทใดเป็น โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงนั้น สามารถใช้บังคับได้แค่ไหน เพียงใด
นายพิชัย ให้ความเห็นทางกฎหมายในบทความดังกล่าว ว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 67 มิได้บัญญัติความหมายของโครงการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ไว้ จึงต้องถือว่า โครงการใดก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ก็จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการในการอนุญาตหรืออนุมัติโครงการ ตามมาตรา 67 ดังกล่าวข้างต้น
ประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม มติ กรอ. และมติครม.จึงมีผลเพียงเป็นการกำหนดแนวทางและนโยบาย ในการพิจารณาอนุญาตหรืออนุมัติโครงการ ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โครงการตามที่ฝ่ายบริหารกำหนด จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดของโครงการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 แต่อย่างใด
กล่าวคือ โครงการใด แม้ไม่ใช่เป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมติคณะรัฐมนตรี เช่น โครงการทำสนามกอล์ฟ หรือโครงการถมทะเลที่น้อยกว่า 500 ไร่ แต่ถ้าเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ก็จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของ รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และหากหน่วยงานราชการใดไม่ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 ก็อาจถูกประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบฟ้องร้องได้