xs
xsm
sm
md
lg

ศึกถวายฎีกากับความพ่ายแพ้รอบใหม่ของเสื้อแดง

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

หลังจากความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ในการก่อสถานการณ์จลาจลในเทศกาลสงกรานต์ 2552 แล้ว การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และสาวกได้เงียบเหงาไปพักหนึ่ง จากนั้นก็เริ่มต้นเคลื่อนไหวรอบใหม่คือการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และมาถึงวันนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายและบ่งชี้ว่าศึกถวายฎีกาของคนเสื้อแดงกำลังประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ในช่วงเหตุการณ์เดือนเมษายน มีการโฟนอินเข้ามาถี่ยิบ ปลุกเร้าสาวกให้โหมรุกต่อรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของชาติบ้านเมืองและประชาชนเลย เป็นการขับเคลื่อนสถานการณ์ด้วยความมั่นใจว่าทุกคนจะต้องไม่กลับบ้านมือเปล่า และเบื้องลึกก็คือมีคนคาดหวังว่าจะมีใครคิดอ่านทำอะไรให้ แต่ในที่สุดก็เหลวเป๋ว ซึ่งเป็นไปตามหลักสัจธรรมทั่วไปที่ว่าอำนาจนั้นหอมหวาน และใหญ่ยิ่งนัก ไม่ใช่ใครจะตีกินชิงเอาได้โดยง่าย และใครได้อำนาจมาแล้วก็ไม่มีวันที่จะไปถ่ายโอนให้กับใคร แต่กระนั้นก็ยังมีคนไม่เข้าใจสัจธรรมแห่งอำนาจ จึงยังคงหวังลมๆ แล้งๆ ซึ่งแลกมาด้วยการถูกหลอกถูกต้มตุ๋น จนเละเป็นโจ๊ก

มาถึงศึกถวายฎีกาก็มีการโฟนอินถี่ยิบอีกแล้ว มีการขับเคลื่อนมวลชนประสานกับสื่ออย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่สามารถพลิกสถานการณ์ได้ เหตุผลอยู่ตรงที่ไม่เข้าใจกฎเกณฑ์แห่งฟ้า ไม่เข้าใจโลกนิติ ไม่เข้าใจธรรมนิติ และไม่เข้าใจราชนิติ ใครคิดแผนการถวายฎีกาไม่ว่าคิดเองหรือกุนซือคนไหนคิดให้ มาถึงวันนี้ก็น่าจะรู้สำนึกได้แล้วว่าเป็นการแผนที่โหลยโท่ย และขาดทุนยับเยิน ทำให้ความหวังที่เป็นลมๆ แล้งๆ อยู่แล้วค่อยห่างไกลออกไปสุดกู่มากขึ้น

ทำไมจึงประเมินสถานการณ์ว่าเสื้อแดงพ่ายแพ้ในศึกถวายฎีกาเล่า? ลองพิจารณาจากเรื่องราวต่อไปนี้ก็อาจเห็นกระจ่าง

ประการแรก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยได้รับเสียงสนับสนุนสูงสุดในการเลือกตั้งถึง 19 ล้านเสียง ต่อมาลดเหลือ 12 ล้านเสียง ครั้นมาถึงการรณรงค์ใหญ่เพื่อให้ลงมติ No Vote รัฐธรรมนูญ 2550 ปรากฏว่าความนิยมหรือเสียงจริงๆ ที่ทำกันอย่างเต็มที่ก็ได้แค่ 10 ล้านเสียง นั่นคือความเจริญลงหรือความเรียวลงของความนิยมชมชอบ แม้ว่าจะพยายามใช้สื่อตีฆ้องร้องป่าวแต่ก็เป็นได้แค่อึ่งอ่างพองลมสู้กับแม่โคเท่านั้น

ครั้นมาถึงศึกถวายฎีกา แม้พยายามทำมาร่วม 5 เดือน และใช้เครือข่ายสารพัด ใช้กรรมวิธีสารพัด ใช้สื่อโหมโรมเร้าอย่างกว้างขวางเพียงไหน ตัวเลขสูงสุดที่มีการโวกันในขณะนี้คือ 5 ล้านเสียง ซึ่งไม่แน่ว่าจำนวนจริงๆ นั้นจะเป็นเท่าใด แต่ถ้าสมมติว่าได้ 5 ล้านเสียงจริงก็เป็นดังที่พรรคภูมิใจไทยได้ชี้ไว้ว่า ความนิยมได้ลดลงจากครั้งก่อนถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่หลวงมาก นี่คือความพ่ายแพ้ที่ประจักษ์ชัดด้วยลักษณะงานมวลชน และเป็นสิ่งบ่งชี้ความผิดความถูกของการเคลื่อนไหว

ประการที่สอง ศึกถวายฎีกาเริ่มต้นด้วยการอ้างสิทธิ์และกฎหมายที่จะขอพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เพราะความอ่อนด้อยไร้เดียงสาในเชิงชั้นทางกฎหมายและราชนิติ มิได้ดูกฎเกณฑ์กติกาให้กระจ่าง จึงกลายเป็นการทำผิดกฎหมาย และไร้ผล เพราะการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้นเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษภายใต้กฎหมาย แต่เมื่อการถวายฎีกาผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น คือไม่ทำเอง แต่ไปปลุกระดมชาวบ้านมาทำแทน ในขณะที่ผิดเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ คือไม่ยอมรับโทษ มิได้สำนึกผิด และมิได้มีความคิดกลับเนื้อกลับตัว จึงผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้ถูกกระแสสังคมตีโต้อย่างหนักหน่วงจนต้องยอมจำนน แล้วบ่ายเบี่ยงเลี่ยงไปว่าไม่ใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เป็นฎีการ้องทุกข์

นั่นเป็นการพ่ายแพ้ในเนื้อหาใหญ่ใจความและข้อที่อ้างบ่ายเบี่ยงว่าเป็นฎีกาบรรเทาทุกข์ ก็ผิดอีก ผิดถนัดเสียด้วย เป็นการผิดชนิดที่ไม่เข้าท่าเลย

การถวายฎีการ้องทุกข์นั้นอาณาประชาราษฎรสามารถกระทำได้ตามโบราณราชประเพณี โดยไม่มีกฎหมายบัญญัติขั้นตอนไว้ แต่ก็ยังคงต้องเป็นไปตามโบราณราชประเพณีอยู่นั่นเอง ที่สำคัญคือฎีการ้องทุกข์นั้นผู้ต้องทุกข์ต้องทำเอง ไม่ใช่ให้ใครต่อใครไปทำแทน และต้องเป็นความทุกข์ยากที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่ฎีกาที่ทำกันอยู่นั้นมีลักษณะการเมือง มีการกล่าวหาสถาบันตุลาการ มีการกล่าวหาผู้เป็นรัฎฐาธิปัตย์ในอดีต มีการกล่าวหาหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย และการว่ากล่าวร้ายกลุ่มมวลชนอื่นๆ จึงไม่เป็นฎีการ้องทุกข์ หากเป็นเรื่องของการกล่าวหาว่าร้ายในทางการเมือง แต่กลับมีคำขอพระราชทานอภัยโทษเป็นวัตถุประสงค์หลัก

ดังนั้นฎีกาดังกล่าวจึงนอกจากไม่เป็นฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษตามกฎหมายแล้ว ยังไม่ใช่ฎีกาขอบรรเทาทุกข์ตามโบราณราชประเพณีอีกด้วย และเป็นได้แค่เพียงกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสำแดงพลังมวลชนให้ประจักษ์ มุ่งต่อผลในการกดดันพระมหากษัตริย์และสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

ประการที่สาม เพราะสำคัญผิดคิดว่ามีสื่อในมือมาก จะสามารถบังฟ้าด้วยฝ่ามือได้ จะสามารถทำให้คนหลงเชื่อได้ว่าเป็นฎีกาที่ถูกต้อง ความสำคัญผิดแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่รู้จักสำรวจตรวจสอบ จึงเปิดช่องให้กับคู่ต่อสู้และบรรดาผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ทั้งหลาย แฉโพยเปิดโปงและกระตุกต่อมสำนึกของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจนเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าศึกถวายฎีกาครั้งนี้เป็นแค่กโลบายทางการเมืองที่จะแยกประชาชนออกจากพระมหากษัตริย์ และมุ่งหมายใช้จำนวนคนไปกดดันพระมหากษัตริย์เท่านั้น

เพราะเหตุนี้ประชาชนเกือบ 60 ล้านคนซึ่งรู้เช่นเห็นชาติและรู้กโลบายที่ร้ายกาจนี้ จึงมิได้เข้าร่วมลงชื่อด้วย ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการชี้แจงให้เข้าใจใดๆ และเป็นการชกข้างเดียว แต่ก็ทำได้เท่าที่เห็นแค่นั้นเอง แต่ผลที่เกิดขึ้นคือเมื่อประชาชนเกือบ 60 ล้านคนไม่เอาด้วย ก็นับว่าเป็นความพ่ายแพ้ทางมวลชน ทางกลยุทธ์ และกำลังตกเป็นฝ่ายรับทางการเมืองอย่างทั่วด้าน ยิ่งพรรคภูมิใจไทยได้ใช้โอกาสนี้เปิดการเคลื่อนไหวใหญ่ในเชิงการเมืองเช่นเดียวกัน โดยประสานกับกลไกรัฐที่รับผิดชอบ เปิดการรณรงค์ปกป้องสถาบัน เปิดหน้ากากกโลบายบ่อนทำลายสถาบัน จึงทำให้พรรคภูมิใจไทยโดดเด่นขึ้นมาทันตาเห็น ที่สำคัญเป็นการเข้าตีแนวมวลชนในภาคอีสานและภาคเหนือเพื่อปูฐานไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่อย่างมีพลังยิ่ง

นักเพ้อฝันจำนวนหนึ่งเพ้อฝันว่า เวลาทำงาน 5-6 ปี ของบางคนจะลบล้างพระบารมีธรรมแห่งองค์พระประมุขได้ จึงตู่เอาตามใจชอบว่าประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานเชื่อมั่นแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าจะกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศได้ นั่นคือความเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ เสียจริงๆ ไม่ว่าประชาชนในภาคเหนือหรือภาคอีสาน ไม่มีใครคลอนแคลนน้ำใจจงรักภักดีต่อองค์พระประมุขเลย ความพึงพอใจในนโยบายการเมืองบางเรื่องแม้มีอยู่จริงก็เปรียบเทียบเฉพาะได้กับนักการเมืองด้วยกันเท่านั้น แต่ครั้นเอาไปเปรียบเทียบกับความเมตตาปรานีแห่งฟ้า ชาวประชาก็รู้ทัน แล้วร่วมกันควักล้วงหาอามิสประโยชน์กันอย่างสนุกสนาน กลายเป็นละครตลกเรื่องล้วงกระเป๋าคนเพ้อฝันกันอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ จนหลายคนพูดว่าช่วงนี้ไม่มีการงานไหนดีเท่ากับทำมาหากินกับใครบางคนเท่านั้น

ประการที่สี่ แค่ตัวเลขที่ประกาศว่ามีผู้เข้าชื่อเท่าใด คนบางคนก็ออกอาการเหมือนครั้งเกิดจลาจลเดือนเมษา ประหนึ่งว่าอำนาจที่จะคว้าฉวยเอานั้นอยู่ใกล้เอื้อมเต็มที บรรดาคนใกล้ชิดก็เก็บอาการไว้ไม่อยู่ ต่างโวโอ้อวดกันเป็นการใหญ่ว่าอีก 2 เดือน 3 เดือน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลับมามีอำนาจในบ้านเมืองใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีโทษานุโทษใดๆ แผ้วพานอีกต่อไป

ก็คงได้ผลเป็นกำลังใจสำหรับสาวกที่ไม่รู้จักคิดบางคน แต่สำหรับคนอื่นที่เขารู้จักคิดก็คิดได้ว่า นี่คือการเปิดเผยร่องรอยสำคัญว่ากำลังคิดอะไร และเตรียมจะทำอะไร ซึ่งแม้จะไม่ได้นั่งอยู่กลางวงวางแผน แต่หลายคนก็สามารถประมาณคะเนสถานการณ์ได้ว่า การคุยโวเช่นนั้นบ่งบอกอะไรบ้าง มันบ่งบอกความเป็นไปได้ 3 ประการคือ

1) จะมีใครบางคนคิดอ่านก่อการรัฐประหารยึดอำนาจให้กลับมาเป็นผู้บริหารบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประการนี้ฟันธงไปได้เลยว่าถูกแหกตาต้มตุ๋นอีกรอบ

2) จะมีการปลุกระดมประชาชนก่อการปฏิวัติประชาชนตามที่เคยอวดอ้างว่าจะเกิดขึ้นแบบเนปาล ซึ่งถึงวันนี้ต่างฝ่ายต่างก็มีบทเรียนแล้ว มีหรือที่ใครจะยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น

3) มีการประสานกับกลุ่มการเมืองและใครบางคนเพื่อแก้รัฐธรรมนูญหรือกดดันให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งแม้ว่าจะพูดกันหนาหูแต่ข่าวลึกเบื้องลับกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

ศึกถวายฎีกาผ่านขั้นตอนการล่ารายชื่อแล้ว แม้เป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาลเพราะงอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเลย แต่ฎีกานั้นก็คงไม่ไปถึงไหน และคงไร้ผลอย่างแน่นอน ปัญหาที่น่าคิดจึงอยู่ที่ว่าในกระบวนการยื่นฎีกาและการเคลื่อนไหวหลังจากนั้นต่างหากว่าจะจุดชนวนให้เกิดสงครามประชาชนหรือการนองเลือดดังที่พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้หรือไม่เท่านั้น ถ้าไม่เกิดก็แพ้ชัด และถ้าเกิดก็คงแพ้ยับ แล้วคอยดูกันว่าจะเป็นอย่างไร?
กำลังโหลดความคิดเห็น