xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ” ผวา ปชป.ถูกยุบ! เล็งยืมมือ “ส.พระปกเกล้า” ปฏิรูปการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“มาร์ค” ผวา ปชป.ถูกยุบ ยอมรับอยากแก้กฎหมาย “ม.190-237” แย้มเตรียมยืมมือ “ส.พระปกเกล้า” เป็นเจ้าภาพออกแบบปฏิรูปการเมือง ก่อนออกตัวต้องให้ “ฝ่ายค้าน” เห็นชอบด้วย ชี้ คำวินิจฉัยของตุลาการศาล รธน.ที่ลงโทษด้วยการตัดสิทธิ์ทางการเมือง นำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลาย

วันนี้ (26 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้ ว่า ถ้าสังเกตให้ดี รัฐธรรมนูญจะยาวขึ้นกว่าทุกฉบับ โดยแต่ละบทบัญญัติก็จะต้องขยายความให้ละเอียดทุกที เรียกว่า เขียนจุดหนึ่งก็มีช่องโหว่ คนเขียนก็ต้องเขียนให้ยาว แต่ก็สู้คนหาช่องว่างไม่ได้ ก็เลี่ยงอีก ก็ต้องเติมประโยคไปอีก ดังนั้น ทำเท่าไรก็ไม่จบ และพอเราพยายามใช้วิธีแบบนี้ ก็เลยต้องเขียนหลายอย่างที่สุดโต่ง ซึ่งมีปัญหาปฏิกิริยาสะท้อนกลับ อย่างเช่น กฎหมายเรื่องการยุบพรรค

“ผมพูดในฐานะที่เป็นผู้บริหารพรรคก็หวาดเสียวตลอดเวลา แต่เราเข้าใจมาตราแบบนี้ และเข้าใจว่าคนเขาต่อต้าน เพราะอะไร และเข้าใจที่มาของบทบัญญัติแบบนี้ เพราะว่าการทุจริตการเลือกตั้ง เนื่องจากการซื้อเสียงมันเติบโต และซับซ้อนมากขึ้น เป็นบ่อนทำลายธรรมาภิบาลของการเมือง แม้ไม่มียุคไหนบอกว่าซื้อเสียงแล้วถูกกฎหมาย จึงส่งเรื่องฟ้องศาลแพ่ง ศาลอาญา แต่ทว่าศาลชั้นแรกยังไม่ทันพิพากษาก็ยุบสภาแล้ว ดังนั้น ก็ไม่รู้จะต่อสู้ไปทำไม และคนไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไม่รู้จะฟ้องไปทำไม เพราะกว่าจะเสร็จสิ้นก็สายเกิน จึงมีการทำเรื่อง กกต.ขึ้นมา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า กกต.ยุคแรกไม่มีอำนาจในการให้ใบแดง ให้ได้เพียงใบเหลืองได้เท่านั้น และก็พบความจริงเมื่อครั้งเลือกตั้งวุฒิสภาครั้งแรกที่มีการเลือกใหม่ถึง 6 ครั้ง สอบอีกก็ผิดอีก จน กกต.ทนไม่ได้ จึงออกกฎฟีฟ่า คือ สองเหลืองเป็นหนึ่งแดง แต่ก็ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจไว้ แต่ก็หาช่องเรื่องของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งที่พัฒนามาถึงอย่างนี้ แล้วมีคนถามว่า หากเกิดการทุจริตเลือกตั้งแล้วไม่ได้เป็นที่ตัวบุคคล แต่เป็นที่ตัวระบบโดยตัวองค์กร แล้วจะทำอย่างไร ซึ่งก็มีการพูดถึงเรื่องยุบพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

ชี้ชัดหากเขียนมาตรา 237 เอง คงไม่เป็นแบบนี้

“ในมุมหนึ่งคนเขียนกฎหมายคงจะกำลังหมดความอดทน ว่า จะทำยังไงก็ไมสำเร็จ เหมือนโรคที่รักษาไม่หายก็ใช้ยาแรงขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง คือ คนที่เขามองว่าเขาไม่ได้ทำความผิด แต่ในโครงสร้างเขาต้องรับผิดไปด้วย จึงทำให้มองได้สองมุม ถ้าเราสามารถแยกแยะได้จะดีมาก แต่ยาก เพราะพรรคการเมืองก็บอกว่า ถ้ามีอะไรหมิ่นเหม่ก็จะบอกว่า ถือว่าเราไม่ได้พูดกันในพรรค เพราะคงไม่มีมติพรรคไหนให้มีมติทำผิดกฎหมาย แต่ตรงนี้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 ที่มีการตัดสิทธิ์ และลงโทษ จึงมีความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายถึงขั้นวิกฤต นี่ก็อยู่ที่มุมมองอีกเช่นกัน และผมก็เป็นคนหนึ่ง ซึ่งถ้าเขียนมาตรา 237 ได้ ก็ไม่คงเขียนอย่างนี้ แต่เมื่อเขียนแล้ว และผมรู้ว่ามีมาตรการนี้ ผมก็ต้องยอมรับกติกา” นายก กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ภาระหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องสร้างหลักนิติรัฐบนหลักนิติธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อฟันฝ่าวิกฤตเพื่อเดินหน้า ยังเป็นภาระที่สำคัญมาก หากถามว่า รัฐบาลคิดอย่างไร และกำลังจะทำอะไรนั้น ตนเรียนว่า รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าเคารพกฎหมาย ตนออกมาจากสภา มีสมาชิกจำนวนมาก บอกว่า มาตรา 190 ทำให้บริหารประเทศไม่ได้ ตนก็ยอมรับว่าทำงานยากขึ้น แต่ตราบใดที่ยังมีก็จะต้องทำตาม ส่วนจะมีความเหมาะสมในการแก้หรือไม่ ก็ว่ากัน แต่ไม่ควรริเริ่มด้วยคนที่มีส่วนได้เสีย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลหน้า แต่ตนคงต้องตั้งใจเต็มเปี่ยมว่า เราเป็นรัฐบาลที่ยึดหลักกฎหมาย

เล็งยืมมือ “ส.พระปกเกล้า” นั่งหัวโต๊ะปฏิรูปการเมือง

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงแนวทางยึดแนวนิติรัฐนิติธรรม อีกว่า ในเรื่องของการที่จะทำให้เกิดความสงบ หรือคลี่คลายวิกฤต ก็ต้องอิงกับเป้าหมายของรัฐ คือ ความยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย โดยหาจุดที่เหมาะสมของระบบการเมือง ซึ่งตนแถลงนโยบายรัฐบาล ว่า เราจะเดินหน้าปฏิรูปการเมือง ส่วนการปฏิรูปการเมืองจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ หรือต้องทำอะไรนั้น มันก็จะครอบคลุมในตัวของมันเอง ถ้าเขียนนโยบายเรื่องที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดความขัดแย้ง โดยจะโดนกล่าวว่า แก้เพื่อใครหรือไม่ ดังนั้น ตนจึงพยายามหาความเห็นร่วมให้มากที่สุดในการออกแบบองค์กรเพื่อการปฏิรูปการเมือง อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการของสภาเคยทำเรื่องนี้ และในรายงานก็พบว่าการศึกษารัฐธรรมนูญ 50 ค่อนข้างจำกัด อย่างมาตรา 190 บอกว่าต้องคอยดูกฎหมายลูก แต่เสียงเรียกร้องให้แก้มันเยอะ และฝ่ายต่อต้านการรัฐประการเขาก็ต้องการลบล้าง ส่วนอีกฝ่ายก็ยังบอกว่าต้องแก้ไขที่การเมือง ซึ่งถ้าหากจะแก้ไขการเมือง เขาก็ต้องเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน

“ความทุกข์ของผม และคนทำงานในวันนี้ คือ พยายามหาคนที่คนยอมรับมันไม่ง่าย ผมรองปรึกษากับประธานวิปฝ่ายค้านบ้างแล้ว และเป็นอย่างที่คิด คือ เอ่ยชื่อใครมากี่คนก็จะบอกว่าไม่ใช่ ไม่เป็นกลาง ยาก แต่ผมคิดว่าจะเดินหน้าต่อ ส่วนเรื่องตัวบุคคลนั้น ตนไม่ได้ยึดตัวสถาบัน ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าเหมาะสมที่สุด แต่ต้องถามฝ่ายค้านว่า เขาต้องตัดสินด้วยองค์กรใด ผมคิดว่าสถาบันนี้น่าจะเป็นที่ยอมรับต่อไป เพราะถ้ายึดตัวสถาบันเป็นหลักในการออกแบบ ก็น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะต้องดูว่าฝ่ายค้านจะยอมรับหรือไม่ แต่จำเป็นต้องทำ” นายกฯ ระบุ

ลั่นไม่รีบร้อนแก้ รธน.เหมือน “สมัคร-สมชาย”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า มีคนบอกว่า อย่าไปยุ่งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ให้มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่อีกฝ่ายก็บอกให้ยุบสภา ให้ลาออก ซึ่งตนคิดว่าทุกอย่างต้องมีเหตุมีผล แต่ถ้าเป็นองค์กรที่อยู่นอกส่วนได้ส่วนเสียของการเมือง ก็น่าจะทำให้คนยอมรับได้ แต่คงเสียเวลาหน่อย เพราะคนที่อยากทำก็อาจจะใจร้อนว่า เมื่อไหร่จะตั้งกรรมการ เพราะตนคิดว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะรีบทำ หากทำแล้วไม่ได้รับการยอมรับ อย่างเช่น ในรัฐบาลของ นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ก็รีบจะทำอย่างนี้ แต่ไม่ตกผลึก จึงกลายเป็นความขัดแย้งไป

นายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่จะบังคับใช้กฎหมาย ว่า 1.ถ้าแบบตรงไปตรงมา ตนก็ถูกเรียกร้องจากทั้งสองฝ่ายให้เร่งดำเนินคดีกับอีกฝ่ายทุกวัน ซึ่งขอยืนว่า รัฐบาลจะทำทุกอย่างโดยตรงไปตรงมา ไม่มีการละเว้น หรือกลั่นแกล้งกัน ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ก็รับทราบชัดเจน ว่า นี่คือ ภารกิจที่ท่านต้องทำ และฝ่ายค้านก็ตั้งกระทู้ถามเรามาเช่นกัน 2.ถ้าพิจารณาเป็นคดี ต้องยอมรับว่า หลายเหตุการณ์มีมองมุมในเรื่องของความผิดทางอาญาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองในมุมของการเมืองด้วย เหมือนต่างประเทศที่มีระดับความผิดหลากหลายกว่าเรามาก ตรงนี้ต้องเรียนรู้พอสมควร

แย้มทาบทามคนร่วมงานแต่ถูกปฏิเสธ

“ความตั้งใจของผม คือ อยากมีคณะบุคคลเข้ามาปรึกษา และสะสางตรงนี้ ซึ่งก็หายากเช่นกัน เวลานี้ได้คุยกับบุคคลท่านหนึ่ง พบกันแล้วครั้งหนึ่ง และโทรศัพท์คุยกันนับครั้งไม่ถ้วน แต่ท่านไปทาบทามใครก็กลัวว่าเป็นภาระ หรือกังวลว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่ เพราะยืนท่ามกลางความขัดแย้ง เนื่องจากการแตกแยกตอนนี้ถึงขั้นลึกพอสมควร จึงหวังว่าจะตั้งคณะบุคคลขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันในความยุติธรรม อันนี้คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ” นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า แน่นอนว่า การทำงานของรัฐบาลถูกกดันด้วยภาวะเศรษฐกิจของโลก จึงมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะหากทำไม่สำเร็จ ความขัดแย้งก็จะมากมายเช่นเดียวกัน แต่ความพยายามของรัฐบาลในการยึดนิติธรรมนิติรัฐ จะทำให้เกิดการยอมรับในสังคมวงกว้าง คือ นั่นคือ สิ่งที่เราจะผลักดันกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น