ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ดูท่าคณะกรรมการที่ดูแลกิจการด้านพลังงานของประเทศ คงจะเห็นประชาชนผู้ใช้รถยนต์กินแกลบจึงอนุมัติการขูดรีดผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันนำไปชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าก๊าซแอลพีจีให้ปตท.แบบไม่อั้น เปิดตัวเลขให้เห็นกันจะจะ ปตท. ฟันสองเด้ง ทั้งอู้ฟู่จากเม็ดเงินชดเชยกว่าหมื่นล้านต่อปี ทั้งยังได้ก๊าซราคาต่ำสำหรับป้อนธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งเป็นผู้ใช้ก๊าซเพิ่มสูงขึ้นตัวจริงโดยใม่ต้องควักชดเชยส่วนต่างแม้แต่สตางค์แดงเดียว
จากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว. กระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 52 ที่เห็นชอบให้มีการชดเชยส่วนต่างของราคานำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศให้กับ ปตท.แบบไม่อั้น เป็นเรื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจของ กบง. ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่กับ ปตท. ที่ผูกขาดธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียว และเป็นการเข้ามาเอาประโยชน์จากกองทุนน้ำมันซึ่งถูกล้วงไปใช้อย่างบิดเบือน เพราะกองทุนน้ำมันที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซินมีไว้เพื่อพยุงราคาน้ำมันในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นจนกระทบต่อราคาขายปลีก
การเอาเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยก๊าซแอลพีจี ซึ่งในบรรดาผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้นเป็นลำดับ กระทั่ง ปตท.ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คือ กลุ่มปิโตรเคมี ที่เครือปตท.เองเป็นผู้ยึดกุมอุตสาหกรรมนี้เป็นอันดับหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนที่จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมี ไม่ได้ถูกเรียกเก็บแต่อย่างใด เครือปตท.จึงมีแต่ได้กับได้
ล่าสุด จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการฯ ในคณะกรรมธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีนางรสนา โตสิตระกูล เป็นประธานคณะฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาลในกิจการพลังงานโดยรวมในขณะนี้ ให้ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการเอาแต่ได้ของ ปตท. และการตัดสินใจของ กบง. ที่เอาแต่ขูดรีดประชาชนเพื่อปตท.ว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 พบว่า กลุ่มปิโตรเคมี เป็นผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 246,000 ตัน
ส่วนภาคครัวเรือน ใช้เพิ่มขึ้น 62,000 ตัน ขณะที่ภาคยานยนต์ ที่เคยถูกชี้หน้าว่าเป็นผู้ใช้ก๊าซจนทำให้เกิดการขาดแคลนเมื่อปีที่ผ่านมาในช่วงน้ำมันราคาพุ่งสูง มาช่วง 9 เดือนของปีนี้เทียบกับปีก่อน ปริมาณการใช้ลดลง 76,000 ตัน ด้านภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ใช้ลดลง 98,000 ตัน
คณะอนุกรรมาธิการฯ ให้ข้อมูลว่า หากรวมปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีของภาคครัวเรือน ซึ่งอยู่ที่ 1,637,000 ตัน บวกกับผู้ใช้กลุ่มยานยนต์ 498,000 ตัน จะเท่ากับว่าภาคประชาชนใช้ก๊าซแอลพีจี จำนวน 2,125,000 ตัน จากปริมาณก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศ จำนวน 3,348,000 ตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับประชาชนผู้เป็นเจ้าของก๊าซฯ ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสาธารณสมบัติของประชาชนคนไทย
ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชน กบง.จึงไม่ควรล้วงเอาเงินกองทุนน้ำมันที่ประชาชนเป็นผู้จ่ายไปชดเชยส่วนต่างราคาก๊าซนำเข้าจากต่างประเทศกับราคาก๊าซในประเทศที่ตรึงราคาอยู่ที่ 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน (ราคาหน้าโรงกลั่น ยังไม่รวมค่าการตลาด, ค่าขนส่ง ฯลฯ) ให้กับ ปตท. เพราะการนำเข้าก๊าซแอลพีจีของ ปตท. จะว่าไปแล้วก็เป็นการนำเข้าเพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของ ปตท. เอง และกลุ่มบริษัทพลังงานไม่กี่บริษัท
ทำไมถึงต้องมาขูดรีดประชาชนเพื่อกำไรของปตท. คำตอบก็คือ เพราะผลประโยชน์ทับซ้อน ที่เกี่ยวข้องโยงใยกันอยู่ระหว่าง ปตท. บริษัทในเครือ และกลุ่มข้าราชการ นอมินีนักการเมืองที่วนเวียนกันเข้าไปเป็นบอร์ด ดุจดังประตูกลที่คนกลุ่มเดียวกันเดินเข้าเดินออกหยิบฉวยประโยชน์ใส่ตัว ซึ่ง ข่าวเชิงวิเคราะห์ ASTVผู้จัดการออนไลน์/ผู้จัดการรายวัน เคยนำเสนอในซีรี่ย์ ชุด “ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย” ไปแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2552
อนึ่ง มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว. กระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 52 ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้มีการชดเชยส่วนต่างของราคานำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศให้กับ ปตท. โดยไม่จำกัดวงเงิน จากเดิมที่ กบง.กำหนดว่าจะนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเก็บจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินไปชดเชยส่วนต่างไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อเดือน
ในวันดังกล่าว นพ.วรรณรัตน์ แถลงว่า การนำเข้าแอลพีจี ได้เพิ่มสูงขึ้นโดยเดือนตุลาคม 2552 นำเข้ากว่า 110,000 ตัน ทำให้ ปตท. ต้องแบกภาระนำเข้าในส่วนของส่วนต่างราคานำเข้าและราคาในประเทศถึง 1,100 ล้านบาทต่อเดือน และคาดว่า นับจากนี้การนำเข้าอาจจะอยู่ในระดับกว่า 100,000 ตันต่อเดือน จนกว่าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ของปตท. หน่วยที่ 6 จะสามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะขณะนี้ติดปัญหาคดีมาบตาพุด ยังไม่รู้ว่าจะเปิดได้เมื่อใด ทำให้ ปตท. ต้องนำเข้าแอลพีจีต่อไป
(ทั้งๆ ที่ เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2552 ประธาน กบง.คนเดียวกันนี้ เพิ่งบอกว่า ปีนี้การนำเข้าแอลพีจี จะลดลงเหลือราว 200,000 ตัน ลดลงจากปีก่อนเพราะราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างมาก เวลานี้น้ำมันถูกลงกว่าปีที่แล้วแต่การนำเข้าแอลพีจีกลับเพิ่มขึ้น??)
ก่อนหน้าที่ กบง. จะอนุมัติการชดเชยข้างต้นเพียงวันเดียว นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามแนวโน้มการใช้แอลพีจีที่เพิ่มขึ้นทำให้ปตท.มีภาระการนำเข้าสูงขึ้น และหากการใช้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอาจทำให้การนำเข้าแอลพีจีทะลุ 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยคาดการณ์ว่า ปีหน้าจะทะลุ 1 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 6,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 700,000 ตันต่อปี
นายประเสริฐ บอกว่า แนวโน้มราคาแอลพีจีในตลาดโลกจะปรับขึ้นลงตามความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ โดยอาจจะเคลื่อนไหวถึง 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน จากราคาขณะนี้อยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ขณะที่ราคาจำหน่ายแอลพีจี ในประเทศถูกกำหนดให้อยู่ที่ประมาณ 330 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน รัฐบาลจึงต้องนำกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชย ประกอบกับรัฐบาลยังอุดหนุนราคาแอลพีจีอยู่ที่ 18.13 บาท/กก. ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2553 ส่งผลให้ ปตท.ต้องแบกรับภาระการนำเข้าเพิ่มขึ้นด้วย