ทันทีที่เครื่องบินแตะรันเวย์สนามบินนานาชาติกรุงพนมเปญ สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งเดินทางกลับจากการเข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็อาศัยสื่อเป็นกระบอกเสียงโจมตีรัฐบาลไทยและประเทศไทยอย่างรุนแรง
สมเด็จฯ ฮุน เซน ทำตัวราวกับว่าตนเองดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ท้าทายให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ทิ่มแทงถึงขนาดว่าอภิสิทธิ์ ไปขโมยเก้าอี้เขามานั่ง
วาจาสามหาวกร้าวร้าวข้ามประเทศของ ฮุน เซน ไม่เพียงเหยียดหยามนายกฯ อภิสิทธิ์ เท่านั้น เขายังแต่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีของประเทศไทย และกระบวนการศาลของไทยซึ่งพิพากษาคดีภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ อีกด้วย
“เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นไม่ได้มีคุณค่าอะไรนักหนาที่ควรแก่การให้ความเคารพเลย” คำพูดของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวพาดพิงสถาบันตุลาการของไทย
ซ้ำยังยกเรื่องอดีตมากล่าวหาว่าไทยละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ลงนามไม่สนับสนุนเขมรแดง ลงนามสันติภาพ แต่ให้ที่พำนักในไทยแก่ เขียว สัมพัน และ นวน เจีย ผู้นำเขมรแดง “ถ้า ทักษิณ ตั้งกองกำลังอยู่ในดินแดนกัมพูชา จะว่าอย่างไรบ้างล่ะ แต่เราไม่ทำเช่นนั้นหรอกแค่ให้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจเท่านั้น”
“ขอให้คนไทยดูไว้ กฎหมายระหว่างประเทศยังไม่เคารพเลย จะให้เราเคารพกฎหมายไทยได้อย่างไร”
การแสดงออกถึงความคั่งแค้นของฮุน เซน ที่ยกเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาโจมตีไทยอย่างรุนแรง โดยไม่ได้คำนึงถึงแนวปฏิบัติของนานาอารยประเทศที่ผู้นำไม่ควรปฏิบัติต่อมิตรประเทศนั้น เป็นการป่าวประกาศให้โลกได้รู้อย่างชัดแจ้งโดยไม่ปิดบังอำพรางต่อไปแล้วว่า ไม่มีวันที่กัมพูชาและไทย จะญาติดีกันได้ตราบใดที่ผู้นำรัฐบาลไทยยังชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
หรือถ้าจะพูดให้ตรงๆ ชัดๆ ก็คือ ฮุน เซน ไม่สามารถเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ กับรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์เหมือนกับสมัยรัฐบาลทักษิณ ดังนั้นการร่วมมือกับทักษิณโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปัตย์ จึงเป็นหนทางเดียวที่ผู้นำกัมพูชาเลือกเดินโดยไม่สนว่าจะเกิดอะไรขึ้นดังคำให้สัมภาษณ์ของเขาที่ว่า “….เราจะไม่หยุดเช่นกัน ไม่ยอมอย่างเด็ดขาด”
ฮุน เซน ยังกระหน่ำซ้ำ อภิสิทธิ์ ว่ามีปัญหาท่วมหัว อาจตายได้ มีปัญหากับเพื่อนบ้านทั้งหมด มีปัญหาภาคใต้ ปัญหาเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน เสื้อขาว “กัมพูชาจะต้องเคารพอะไรไทยหรือ การแต่งตั้งทักษิณ (เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของกัมพูชา) เพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวกับไทย…..”
จะว่าไปแล้ว อาการเกรี้ยวกราดทั้งหลายทั้งปวงของ ฮุน เซน อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากการถูก “ทุบหม้อข้าว” ใบใหญ่ ที่ทั้งคู่หวังร่วมตักตวงโดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีปราสาทพระวิหาร หรือ การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา
สังเกตจากอาการเบรกแตกของ ฮุน เซน เกิดขึ้นทันทีที่ อภิสิทธิ์ สั่งให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 (MOU) ขณะที่มีปัญหาปราสาทพระวิหารคุกรุ่นอยู่ก่อนแล้ว
เพราะถึงเวลานี้เป็นที่ชัดแจ้งว่า อย่างไรเสีย ฮุน เซน คงไม่สามารถจัดทำรายละเอียดขอบเขตพื้นที่พัฒนารอบปราสาทพระวิหารส่งให้ยูเนสโกพิจารณาได้ทันตามกำหนดภายในเดือนก.พ.ปี 2553 เป็นแน่แท้ ทหารยังคงตรึงกำลังกันอยู่ และต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม. โอกาสที่ปราสาทพระวิหารจะเป็นมรดกโลกอย่างสมบูรณ์แน่แท้ ยิ่งห่างไกล ความขุ่นเคือง อภิสิทธิ์ ของ ฮุน เซน ยิ่งสุมแน่นหัวอก
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา เลวร้ายลงเป็นลำดับ นับตั้งแต่ประชาชนไทยส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ซึ่ง ฮุน เซน ไม่รอช้าที่จะหยิบยกสถานการณ์ดังกล่าวมาโจมตีไทยเพื่อสร้างคะแนนเสียงเรียกคะแนนนิยมจากหมู่ประชาชนของเขาจนชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง
ขณะที่ฟากรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลานั้น กลับต้องเจอมรสุมรุมเร้าจนต้องปิดฉากลง และแม้รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะเข้ามาสืบสานต่อแต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด สร้างความขุ่นเคืองให้กับ ทักษิณ ชินวัตร นักโทษชายผู้หลบหนีคดีอาญาผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังเป็นอย่างยิ่ง เพราะคู่หูทักษิณ – ฮุน เซน วาดแผนไว้อย่างสวยหรูว่าเมื่อปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้สำเร็จ จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารร่วมกัน
กระแสข่าว ฮุน เซน – ทักษิณ แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเป็นที่รับรู้กันทั่วไป โดย ทักษิณ วางแผนเข้าพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณด้านใต้ห่างจากหน้าผาที่ตั้งปราสาทพระวิหาร ประมาณ 300 เมตร ขนาดพื้นที่ 20,000 เฮกตาร์ ในรูปแบบเอ็นเทอร์เทรนเม้นท์คอมเพล็กซ์
การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร การพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ยังถูกผูกเรื่องเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องไปถึงการเจรจาผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลฯ ซึ่งการลงนาม MOU สมัยรัฐบาลทักษิณ ช่วงปี 2544 และเพิ่มเติมในปี 2546 เป็นการปูทางไปสู่การรุกเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานของ ทักษิณ
ดังที่ พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กัมพูชา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยว่า ทักษิณ จะลงทุนในธุรกิจพลังงานและก๊าซฯในกัมพูชา ขณะที่ ฮุน เซน ก็ฝันถึงความโชติช่วงชัชวาลย์ที่ยังไม่มีวันมาถึงในอนาคตอันใกล้
การสั่งยกเลิก MOU จึงเปรียบเหมือนการแทงทะลุกล่องดวงใจของทักษิณ – ฮุนเซน จนทั้งสองต้องออกมาแสดงละครรักกันปานจะกลืนกิน พร้อมร่วมมือโค่นล้ม อภิสิทธิ์ ให้พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเร็วที่สุด แต่ดูเหมือนผลลัพธ์อาจจะออกมาในทางตรงกันข้าม
เหตุผลในการยกเลิก MOU เขตทับซ้อนทางทะเลฯ นั้น มติคณะรัฐมนตรี ระบุชัดว่า กระทรวงการต่างประเทศ ของไทย เห็นว่า การตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาภายใต้บันทึกฉบับนี้ เพราะ ทักษิณ เป็นผู้ผลักดัน MOU ฉบับดังกล่าวเมื่อ ทักษิณ ไปเป็นที่ปรึกษาให้กัมพูชา ซึ่งเป็นคู่เจรจากับไทย จะทำให้ ทักษิณ รู้ข้อมูลความลับ และแนวทางการเจรจาของประเทศไทยทั้งหมด ไทยจึงไม่สามารถเจรจากับกัมพูชาบนพื้นฐานMOUฉบับนี้ และจึงเป็นเหตุให้สามารถแจ้งยกเลิก MOUได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
พื้นที่ทับซ้อนในไหล่ทวีป (ในอ่าวไทย) เป็นพื้นที่ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร และมีก๊าซธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศไทย และการเจรจาภายใต้กรอบ MOUฉบับนี้ ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จึงควรยกเลิก
ศึกโค่นล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ ของคู่หู ฮุนเซน - ทักษิณ จะมีจุดจบลงเอยเช่นใด เมื่อต่างฝ่ายต่างมีเดิมพันสูงทั้งคู่ ยังอยู่ระหว่างการเฝ้าคอยผลลัพธ์สุดท้ายยิ่งเมื่อมีกรณีจับวิศวกรชาวไทยของฝ่ายทางการกัมพูชา จะทำให้รัฐบาลมาร์คเพลี่ยงพล้ำในเกมการเมืองระหว่างประเทศ จำต้องถอยร่นตั้งหลักแทนที่จะรุกหนักดังตั้งใจไว้แต่เดิมหรือไม่ ล้วนแต่เป็นเรื่องน่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง !!