xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหน้ากากเทสโก้ โลตัส ค้ากำไรบนซากโชว์ห่วย (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน “เปิดหน้ากากเทสโก้ฯค้ากำไรบนซากโชว์ห่วย (1)” โดย .. ทีมข่าวพิเศษ

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “ผลการประกอบการของโจทก์เองในด้านการซื้อขายสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักขาดทุน แต่ไปได้กำไรจากค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ และโจทก์ก็ยอมรับว่า ได้ส่งเงินค่าสิทธิ ซึ่งตามประมวลรัษฎากรของไทยไม่ต้องชำระภาษีกลับไปยังบริษัทแม่ประเทศอังกฤษจริง จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยไป”

การเคลื่อนไหวคัดค้านการขยายสาขาของห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ต่างชาติ เทสโก้ โลตัส ของกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทย เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีกระทั่งถึงปัจจุบัน

เมื่อไม่นานมานี้ ชาวบางมูลนาก จ.พิจิตร ก็เพิ่งเคลื่อนไหวยกขบวนนับพันคนมาคัดค้านการขออนุญาตขยายสาขาของเทสโก้ฯ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดพิจิตร ส่วนชาวเมืองขอนแก่นและอุดรธานี ก็เพิ่งยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้ว่าฯ เพื่อขอให้ระงับการเข้ามาขยายสาขาของเทสโก้ฯ ไว้ก่อนจนกว่ากฎหมายค้าปลีกจะออกมาบังคับใช้

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การขยายธุรกิจแบบพิสดาร เอารัดเอาเปรียบคู่ค้าของห้างยักษ์ใหญ่ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลซึ่งปล่อยให้เปิดสาขาอย่างเสรี ส่งผลกระทบต่อบรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว ร้านค้าย่อยในชุมชนจนล้มหายตายจากไป

หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญติดตามวิพากษ์วิจารณ์ชนิดกัดไม่ปล่อย ก็คือ ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, (อดีต)สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), โฆษกกรรมาธิการพาณิชย์ สนช. ในขณะนั้น เขายังทำหน้าที่ผลักดันกฎหมายค้าปลีกคุมการขยายสาขาของห้างยักษ์ต่างชาติ กระทั่งถูกเทสโก้ฯ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนับพันล้านบาทโดยหวังผลให้ ร.อ.จิตร์ หยุดการเคลื่อนไหว

****อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล กระทั่งถึงวันที่ศาลอาญาพิพากษาคดีให้ เทสโก้ฯ ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2552 ที่ผ่านมานั้น ฉายชัดให้เห็นถึงเล่ห์เหลี่ยมในการทำธุรกิจของเทสโก้ฯ รวมถึงการขนเงินกลับประเทศแม่ที่อังกฤษ การใช้ช่องว่างทางกฎหมายหลีกเลี่ยงภาษี และการส่อแสดงเจตนาถึงการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต

ว่าที่ร.อ.จิตร์ มองว่า คำพิพากษาของศาลอาญาครั้งนี้ ไม่ใช่ชัยชนะของเขาแต่ผู้เดียว แต่ถือเป็นชัยชนะในการต่อสู้ของประชาชนจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวคัดค้านการรุกขยายสาขาโดยอาศัยความเป็นยักษ์ใหญ่ค้าปลีกข้ามชาติที่ทรงอิทธิพล โดยไม่ฟังเสียงเรียกร้องหรือทัดทานจากชุมชน

สำหรับคดีดังกล่าว ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.4228/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1847/2552 เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2552 คดีความอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวกับคดีอาญา ระหว่างบริษัทบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด โจทก์ กับ ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ จำเลย เรื่องหมิ่นประมาท

ตามคำฟ้อง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใส่ความโจทก์ต่อนักข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเป็นตัวการใช้ว่าจ้างยุยงส่งเสริมหรือกระทำด้วยวิธีการใดๆ ให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์โฆษณาข้อความดังกล่าวออกจำหน่ายไปทั่วประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2550

และเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2550 จำเลยกล่าวบรรยายมีข้อความหลายตอนหมิ่นประมาทโจทก์ในการสัมมนาเพื่อเปิดศูนย์ประสานงานผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบการอาชีพอิสระของคนไทย สมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกต่างชาติโดยไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากลูกค้าและประชาชนทั่วไป กระทบต่อยอดขายสินค้าในสาขาต่างๆ ของโจทก์ไม่น้อยกว่า 400 สาขา ทำให้โจทก์เสียหายคิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท เหตุเกิดขึ้นทุกตำบล อำเภอและจังหวัดในราชอาณาจักรไทย ในเขตอำนาจศาลนี้ และที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ตามคำฟ้อง โจทก์ ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 326, 328 ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ในหน้าแรกสุด หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้กับโจทก์คิดถึงวันฟ้องเป็นจำนวน 1,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความอย่างสูงแทนโจทก์

หลังการไต่สวนคดีซึ่งโจทก์ได้นำสืบประเด็นตามคำฟ้อง ศาลได้พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ค้าขายค้าปลีกและค้าส่ง มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ 485 สาขา ในชื่อทางการค้าว่าห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส ประกอบด้วย ห้างใหญ่และเทสโก้โลตัสเอ็กซ์เพรส ร้านเล็ก ที่อยู่ในบริษัทสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง

****โจทก์ถูกควบคุมโดยบริษัทเทสโก้สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 99.99 ซึ่งมีบริษัทแม่คือ บริษัทเทสโก้ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ณ วันที่ 11 ก.พ. 2548 โจทก์มีกรรมการ 9 คน เป็นคนไทยเพียง 3 คนใน 6 คน

ส่วนจำเลย เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เป็นกรรมการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นสมาชิกสภาหอการค้าไทย

ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยกล่าวบรรยายในการสัมมนาเพื่อเปิดศูนย์ประสานงานผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบอาชีพอิสระของคนไทยของสมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกต่างชาติ และมีการตีพิมพ์คำถูดของจำเลยลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ตามฟ้องโจทก์ ข้อความที่ตีพิมพ์นั้น เป็นความจริงบางส่วน คือ เกี่ยวกับเรื่องเงินที่ส่งกลับไปประเทศอังกฤษ มีค่าสิทธิที่ส่งกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2547 จำนวน 625,917,968 บาท และพ.ศ. 2548 จำนวน 732,748,227 บาท ตามงบการเงิน

ข้อความที่ว่า โจทก์สามารถทำยอดขายจากอันดับที่ 8 ของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2548 เป็นอันดับ 4 ในปี 2549 โดยมียอดขายรวม 79,978 ล้านเหรียญสหรัฐฯ .... ปี 2544 โจทก์มีสาขาในไทยเพียง 33 สาขา ส่วนเทสโก้โลตัสเอ็กซ์เพรส มีเพียง 2 แห่ง .....

หลังจากเครือซี.พี. ได้ขายหุ้นโลตัส 75% ให้กับโจทก์ยักษ์ค้าปลีกจากอังกฤษ เมื่อปี 2541 ในปีถัดมา โจทก์ได้ขยายสาขาในไทย จำนวน 24 แห่ง หรือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โจทก์ได้ทุ่มทุนปีละ 5,000 – 7,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อขยายสาขาให้ได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้โจทก์สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นประมาณ 39% ขณะที่บิ๊กซี มีส่วนแบ่งตลาด 25% และแม็คโคร 24% …ส่วนแบ่งตลาดของการค้าปลีกสมัยใหม่ในปี 2549 คิดเป็น 34.2% (4.8 แสนล้านบาท) ของมูลค่าทางธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง

โจทก์ มีนายจักรกรินทร์ เกิดสมุทร ผู้รับมอบอำนาจและเป็นผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของโจทก์เบิกความประกอบเอกสาร ได้ความว่า ก่อนและหลังเกิดเหตุมีการเผยแพร่ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวถึงโจทก์ในฐานะต่างๆ ได้แก่ ประธานคณะอนุกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาคณะกรรมการธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี โฆษกคณะกรรมาธิการพาณิชย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ใช่ฐานะส่วนตัว ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ

โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องความคืบหน้าและความล่าช้าของร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. ....... การช่วยร้านค้าปลีกดั้งเดิมหรือโชว์ห่วยของไทยที่ได้เลิกกิจการไปแล้วจำนวนมาก นับแต่วันที่ 4 ม.ค. 2549 ถึงวันที่ 1 พ.ค. 2551 ซึ่งย่อมต้องโยงใยไปถึงการรุกคืบขยายสาขาของการค้าปลีกสมัยใหม่ของบริษัทต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย

และยังเปลี่ยนแปลงมาอยู่ในรูปแบบร้านค้าให้มีขนาดเล็กลง รวมทั้งผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์เลียนแบบสินค้าที่มีชื่อเสียง แต่ทำการตลาดด้วยการขยายในราคาถูกกว่าอันมีลักษณะเป็นปรปักษ์กับการค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่มากก็น้อย

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ....ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูดหนังสือ ฯลฯ ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง ที่พิพาทกันนี้ไม่ว่าจำเลยจะไปกล่าวบรรยายในงานสัมมนาดังกล่าวในฐานะส่วนตัวหรือไม่ก็ตาม คำบรรยายที่พูดถึงปัญหาค้าปลีกในประเทศไทยมีฐานข้อมูลมาฐานะหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของจำเลยต่อเนื่องกันมาก่อนดังกล่าว

เมื่อจำเลยไปกล่าวบรรยายในการสัมมนาโดยมีแผ่นภาพและแผนภูมิประกอบคำบรรยายด้วย จึงต้องหยิบยกเอามาพิจารณาทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ จะหยิบยกมาพิจารณาแค่เฉพาะตอนใดตอนหนึ่งไม่ได้ เพราะข้อความทั้งเรื่องย่อมเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันแสดงให้เห็นความหนักเบาและความหมายอันแท้จริงของข้อความที่กล่าว

****จะเห็นได้ว่า แผนภูมิเอกสารแสดงภาพรวมถึงรายได้ของการทำธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยหรือโมเดิร์นเทรดที่สอดคล้องกับข้อมูลการอภิปรายเรื่องอนาคตธุรกิจค้าปลีกไทย การปรับตัวของผู้ค้าปลีกรายใหญ่และรายย่อยต่ออนาคตของค้าปลีกไทย ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับนิตยสารฉบับหนึ่งจัดอภิปรายขึ้น ซึ่งมีจำเลย และนายดามพ์ สุคนธทรัพย์ กรรมการโจทก์ เข้าร่วมด้วย ว่าไม่เน้นกำไรจากการซื้อขายสินค้า มีสินค้าหลายตัวขายต่ำกว่าทุนเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าห้างเอายอดผู้ซื้อไปสร้างรายได้อื่นๆ

การเก็บค่าสินค้าแรกเข้าซึ่งมักมีเงื่อนไขต้องมีการเจริญเติบโตตามเปอร์เซนต์ที่กำหนด หากผู้ผลิตสินค้าทำไม่ได้ตามภายในระยะเวลา เช่น 6 เดือนติดต่อกันจะต้องถอดสินค้าออกไป เป็นการทำวิจัยการตลาดโดยได้เงินทำให้สินค้าบนชั้นในระยะ 1- 2 ปี ล้วนเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการ ค่าเก็บรหัสข้อมูลสินค้า ค่าบริการชั้นวางสินค้าโซนเอเก็บค่าใช้จ่ายพิเศษ

ค่าธรรมเนียมพิเศษต่างๆ เช่น ขายเข้าเป้าเป็นรายเดือนหรือรายปี ค่าศูนย์กระจายสินค้า ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน เป็นการสร้างรายได้ด้วยการเรียกเก็บค่าดีซีจากผู้ผลิตสินค้าด้วยค่าแผ่นปลิดโฆษณา ค่าส่วนลดของแถมตามโอกาสต่างๆ ค่าเช่าพื้นที่โชว์สินค้า แต่รายได้จากการเสียภาษีรวมสำนักงานใหญ่ ค่าใช้จ่ายสาขานำมารวมเป็นสำนักงานใหญ่

****การขยายตัวอย่างรวดเร็วของค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีทางดำเนินชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะชุมชนและส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เมื่อปรากฏว่าผลการประกอบการของโจทก์เองในด้านการซื้อขายสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักขาดทุนแต่ไปได้กำไรจากค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ และโจทก์ก็ยอมรับว่า ได้ส่งเงินค่าสิทธิซึ่งตามประมวลรัษฎากรของไทย ไม่ต้องชำระภาษีกลับไปยังบริษัทแม่ประเทศอังกฤษจริง จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยไป

อย่างไรก็ดี การคาดหมายถึงผลกระทบต่างๆ ตามที่จำเลยอ้างว่าจะเกิดขึ้นกระทำได้ภายใต้การติชมด้วยความเป็นธรรมที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นความจริง

/////////////////////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น