xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกขอนแก่น-อุดรฯจี้"มาร์ค"ชะลอเปิดสาขาใหม่โลตัส-เร่งใช้กม.ค้าปลีกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าของร้านค้า ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อย รวมถึงบรรดาพ่อค้า แม่ค้าที่ค้าขายในตลาดสด จาก 18 อำเภอในจ.ขอนแก่นและบางส่วนจาก จ.อุดรธานีได้ชุมนุมแสดงพลังต่อต้านการขยายสาขาของห้างเทสโก้ โลตัส
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าใน 18 อำเภอ ทั้งในขอนแก่นและอุดรธานีกว่า600 คนเดินรณรงค์ต่อต้านค้าปลีกรายใหญ่ โดยเฉพาะห้างเทสโก้ โลตัสที่เห็นแก่ได้รุกขยายสาขาแบบหว่านแหทุกจุดที่เป็นตลาดชุมชนหวังกินรวบตลาดค้าปลีก พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกฯมาร์ค ให้ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งเร็วที่สุดก่อนผู้ประกอบรายย่อยไทยสิ้นสลาย ขณะเดียวกันจี้จังหวัดขอนแก่นหาทางช่วยเหลือเฉพาะหน้าด่วน อย่างน้อยต้องสั่งชะลอเปิดสาขาใหม่ Lotus Express

วานนี้(4 ส.ค.)ที่บริเวณศาลหลักเมือง จ.ขอนแก่นได้มีเจ้าของร้านค้า ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยรวมถึงบรรดาพ่อค้า แม่ค้าที่ค้าขายในตลาดสด จาก 18 อำเภอทั้งในจังหวัดขอนแก่นและบางส่วนจากจังหวัดอุดรธานีได้ชุมนุมแสดงพลังต่อต้านการขยายสาขาของห้างเทสโก้ โลตัส ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อร้านค้าปลีกรายย่อยในชุมชนท้องถิ่นที่ไปตั้งสาขา

ที่สำคัญการตั้งสาขาของเทสโก้ โลตัสในรูปของ Lotus Express(โลตัส เอ็กซ์เพรส) เลือกที่จะไปซื้อหรือเช่าห้องแถวกลางตลาดสดย่านชุมชนใหญ่ๆทั้งในเขตเมืองระดับจังหวัดและระดับอำเภอ พื้นที่ขายไม่เกิน 300 ตารางเมตร ซึ่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารเปิดช่องให้เปิดเป็นร้านค้าปลีกได้

จากนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าจากอำเภอต่างๆกว่า 600 คน พร้อมถือป้ายที่เขียนข้อความหลากหลายบ่งบอกถึงการถูกเอาเปรียบจากทุนค้าปลีกขนาดใหญ่จากต่างประเทศ และข้อความขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เดินขบวนเคลื่อนไปตามถนนศรีจันทร์ ตัดเข้าถนนกลางเมืองเข้าสู่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่นเพื่อยื่นหนังสือต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น แต่ผู้ว่าฯติดภารกิจ นายพยัต ชาญประเสริฐ รองผู้ว่าฯได้ลงมารับหนังสือแทน

นายศิริวัฒน์ โพธิ์ศรีเจริญกุล รักษาการแทน ประธานชมรมผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบอาชีพอิสระจังหวัดขอนแก่นและในฐานะเจ้าของร้านค้าปลีกจากอำเภอน้ำพอง เปิดเผยว่าตอนนี้ร้านค้าปลีกรายเล็กรายน้อยในจังหวัดขอนแก่นและอีกหลายพื้นที่ต่างเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะเทสโก้ โลตัสมีแผนที่จะขยายสาขาออกไปตั้งทั่วทุกมุมเมือง ดังนั้นจึงต้องการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้เร่งรัดการออกบังคับใช้ พ.ร.บ. ค้าปลีก-ค้าส่งฯลฯให้เร็วที่สุด และในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศใช้ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งดังกล่าว ต้องออกประกาศยับยั้งการขยายสาขา ของบริษัทค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่

ในช่วง10 ปีที่ผ่านมานายทุนค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ ได้มีการเปิดสาขาทั้งใหญ่ กลางและเล็กภายในประเทศ รวมแล้วร่วม 7,000 สาขา และยังมีการขยายสาขาย่อยสู่ชุมชนท้องถิ่นในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง การรุกขยายสาขาดังกล่าวทำให้ผู้ค้าปลีกรายย่อยทั้งหลายได้รับผลกระทบต่อการค้าขายเป็นอย่างมาก มีจำนวนไม่น้อยต้องปิดกิจการไป ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจของท้องถิ่นชุมชนในทางลบอย่างรุนแรง

นายศิริวัฒน์ระบุอีกว่าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 43 ซึ่งบัญญัติไว้มีนัยะสำคัญว่า “รัฐบาลจะต้องจัดระเบียบการประกอบอาชีพให้มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า” แต่ปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยทั้งหลาย ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 43 เพราะผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ได้ทุ่มทุนอย่างมหาศาลเพื่อควบคุมตลาดให้ขึ้นอยู่ในอำนาจการจัดการของตนเอง จนผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยที่เป็นประชาชนส่วนมากของประเทศไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้

ผู้สื่อข่าวแจ้งว่าหลังจากรับหนังสือจากตัวแทนผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อยแล้ว นายพยัตได้ขอเวลา 2-3 วันเพื่อรอปรึกษากับนายปราโมทย์ สัจจรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ว่าจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างไรต่อไป พร้อมได้พยายามเชิญเจ้าหน้าที่พาณิชย์จังหวัดและผังเมืองจังหวัดอธิบายระเบียบ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับค้าปลีกให้ผู้ชุมนุม

ขณะที่ผู้ชุมนุมแจ้งว่า ไม่อยากฟังการอธิบายที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย เพราะแต่ละคนได้ศึกษากันมาหมดแล้วโดยสิ่งที่ต้องการจะให้ช่วยคือ ให้จังหวัดใช้อำนาจในฐานะหน่วยงานของรัฐบาลประกาศสั่งให้ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ทุกรายชะลอการขยายสาขาออกไปก่อน จนกว่าจะมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง และต้องการทราบคำตอบภายในวันนี้ เพราะไม่สามารถรอต่อไปได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็หนักสาหัสมากพอแล้ว

ในที่สุด นายพยัต ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุม เพื่อหาทางช่วยผู้ค้ารายย่อยในช่วงบ่าย โดยสรุปว่า จังหวัดจะทำหนังสือถึงนายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. โดยก่อนจะพิจารราอนุมัติให้ค้าปลีกรายใหญ่ตั้งสาขา ต้องเปิดรับฟังความเห็นก่อนในทุกกลุ่ม วิเคราะห์ผลดี ผลเสีย ผลกระทบต่อค้าปลีกรายย่อย โดยผลการศึกษาต้องถูกต้อง ตรงตามหลักการ

อย่างไรก็ตาม ผลสรุปเบื้องต้น ยังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มค้าปลีกรายย่อย เพราะต้องการให้การชะลอการขยายสาขา จนกว่าจะมีพ.ร.บ.ค้าปลีกฯ เพราะข้อสรุปดังกล่าวเท่ากับจังหวัดซื้อเวลา







กำลังโหลดความคิดเห็น