xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกผีโครงการ“โปแตชอาเซียน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลงาน1รูยักษ์-โครงการทำเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ที่ดำเนินการมากว่า 20 ปี ถลุงเงินไปกว่า 1,500 ล้านบาท สิ่งที่ได้คืออุโมงค์แนว 1ปล่อง ขนาดความยาว 935 เมตร ลึกจากผิว 180 เมตร อย่างที่เห็น (ถ่ายเมื่อปี 2545)
โครงการทำเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เป็นโครงการตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน ตามปฏิญญาสมานฉันท์ของอาเซียน จากการประชุมสุดยอดของผู้นำรัฐบาลอาเซียน ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2519

ผู้นำประเทศอาเซียนขณะนั้นเห็นพ้องกันว่า ประเทศสมาชิกควรจะร่วมมือกันจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของอาเซียน เพื่อสนองความต้องการผลิตภัณฑ์ที่สำคัญทางอุตสาหกรรมระหว่างกันของภูมิภาคนี้ โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในประเทศสมาชิก

ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน กำหนดให้ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนอย่างน้อยประเทศละ 1 โครงการ โดยประเทศเจ้าของโครงการต้องถือหุ้น 60% ที่เหลือกระจายให้กับประเทศสมาชิกเข้าร่วมถือหุ้น ซึ่งไทยได้เสนอโครงการทำเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน

ทั้งนี้ จากการสำรวจเพื่อผลิตเกลือหินและโซดาแอช กรมทรัพยากรธรณี พบแร่โปแตช ชนิดคาร์นัลไรท์ ปริมาณในชั้นของเกลือหิน ประมาณปี 2524 กรมทรัพย์ฯ จึงได้กำเนิดโครงการทดลองทำเหมืองแร่โปแตช ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิขึ้นมา ตามมาตรา 6 ทวิ ตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510

แม้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมของอาเซียนจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2519 แต่รัฐบาลไทยสามารถผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ชัยภูมิ เข้าร่วมโครงการอย่างเป็นรูปธรรมในยุคสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2532

วันที่ 28 มี.ค. 2532 ครม.ให้ความเห็นชอบ ตามรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการด้านเทคนิคที่กรมทรัพย์ฯจ้างบริษัทKali und Salz จากเยอรมันดำเนินศึกษา มีมติให้กระทรวงอุตฯนำโครงการทำเหมืองแร่โปแตช ที่อ.บำเหน็จรณรงค์ จ.ชัยภูมิ เข้าสู่การพิจารณาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยอุตสาหกรรม แร่ธาตุและพลังงาน

วันที่ 30 พ.ย. –1 ธ.ค. 2532 ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 21 ณ กรุงบันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุสซสลาม ได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ เข้าเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนของประเทศไทย

วันที่ 18 ก.ย. 2533 ครม. มีมติให้กระทรวงอุตฯดำเนินการจัดตั้งองค์กรผู้ถือหุ้นของฝ่ายไทยเข้าร่วมทุนในบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (ASEAN Potash Mining company Limited) ดำเนินการโครงการทำเหมืองแร่โปแตช

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ จัดตั้งบริษัทเพื่อเป็นองค์กรผู้ถือหุ้นของฝ่ายไทยในการเข้าร่วมทุนถือหุ้นในบริษัท เหมืองแร่โปแตช จำกัด โดยชื่อว่า บริษัทร่วมทุนโปแตชอาเซียน จำกัด (ASEAN Potash Holding Company Limited) มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 913,770,000 บาท

วันที่ 29-30 ต.ค. 2533 ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 22 ประเทศอินโดนีเซียน ได้ให้ความเห็นชอบต่อสัญญาร่วมทุนและรับทราบหนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับของบริษัทในการจัดตั้งบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด ประเทศไทย

บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน มีทุนจดทั้งหมดทะเบียน 1,287,000,000 บาท โดยแบ่งเป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยผ่านบริษัทร่วมทุนโปแตชอาเซียน จำกัด 71 % จำนวน 913,770,000 บาท และผู้ถือหุ้นฝ่ายกลุ่มประเทศอาเซียน 29%จำนวน 373,230,000 บาท

วันที่ 20 ก.ค. 2534 ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ประเทศมาเลเซีย รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ร่วมลงนามและให้สัตยาบรรณในความตกลงต่อท้ายความตกลงพื้นฐานสำหรับโครงการทำเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน เป็นที่เรียบร้อย

วันที่ 28 ต.ค. 2534 กระทรวงการคลังทำหนังสือถึงรัฐบาลญี่ปุ่นขอกู้เงินจากกองทุนฟูกูดะ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯซึ่งช่วงนั้นจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 590.2 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 23,832 ล้านบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น โดยแบ่งเป็นเงินกู้ยืม 70% และเงินทุนเรือนหุ้น 30%

วันที่ 30 ก.ค.- 4 ส.ค. 2535 รัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่จากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล(OECF) มาหารือกับกระทรวงการคลังและกรมทรัพย์ฯ เกี่ยวกับขั้นตอนการกู้เงินพร้อมแจ้งว่าจะให้ความช่วยเหลือประเทศไทย พร้อมส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดของโครงการ และได้มอบรายงานการประเมินโครงการฉบับสมบูรณ์ให้กับกรมทรัพย์เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2536 โดยผลการศึกษาระบุว่า โครงการมีความเหมาะสมทั้งทางเทคนิคและเศรษฐกิจ มีความเป็นไปได้ที่กองทุนฟูกูดะจะปล่อยกู้ ขณะเดียวกันบีโอไอของไทยก็ได้ให้การส่งเสริมการลงทุน

วันที่ 2 มี.ค. 2536 และ พ.ค. 2538 บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัท Jacobs Engineering Group Inc. จากสหรัฐอเมริกา จัดทำรายงานการศึกษาขั้นรายละเอียด ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนส.ค. 2536, ก.ย. 2538 ตามลำดับ ได้ข้อสรุปว่า โครงการมีความเหมาะสมทั้งด้านเทคนิคและเศรษฐกิจ

สำหรับหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินกองทุนฟูกูดะ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้กู้จากรัฐบาลญี่ปุ่น มาดำเนินการโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน เช่นเดียวกับโครงการอุตสาหกรรมปุ๋ยยูเรียของอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ดำเนินไปแล้ว กับสิทธิพิเศษอัตราดอกเบี้ยระยะยาว 4% ระยะปลอดนี้คืนเงินต้น 8 ปี คืนเงินภายใน 15 ปี

แต่แล้วอนาคตของโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ เริ่มเข้าสู่ภาวะนับถอยหลังทันที เมื่อรัฐบาลออกมาระบุว่า กฎหมายไทยไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้หรือค้ำประกันเงินกู้ให้แก่บริษัทเหมืองแร่โปแตชฯ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนได้โดยตรง จึงพยายามหาทางออกด้วยการให้รัฐบาลเป็นผู้กู้เงินกองทุนฟูกูดะแล้วผ่านเงินกู้ดังกล่าวให้สถาบันการเงินของรัฐให้กู้แก่บริษัทเหมืองแร่โปแตชอีกทอดหนึ่ง ในลักษณะ Two-step Loan

วันที่ 2 เม.ย. 2541 รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ของโครงการที่ว่าจ้างบ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ จำกัด ทำการศึกษาผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.)

ปี 2542 การโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ ต้องหยุดการดำเนินอีกครั้งไปโดยปริยาย เมื่อทุนดำเนินการที่ได้จากการระดมจากหุ้นส่วน บ.เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำนวน 1.287 พันล้านบาท หมดลง โครงการจึงฝากความหวังและไว้กับแหล่งเงินกู้จากกองทุนฟูกูดะ

วันที่ 9 ก.พ. 2543 ยุคสมัยของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลังและกลุ่มสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งจะเป็นผู้ให้กู้ต่อและค้ำประกันเงินกู้ให้แก่โครงการฯ ขอให้ศึกษาทบทวนความเป็นไปได้โครงการอีกครั้งโดยบริษัทที่ปรึกษาอิสระ จึงได้คัดเลือก บริษัท CRU International Ltd. ประเทศอังกฤษ และบริษัท Micon International Ltd. มาเป็นที่บรึกษา

ผลการศึกษาโครงการ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2543 ระบุว่า โครงการมีความเหมาะสมทั้งด้านเทคนิคและการเงิน เช่นเดิมเหมือนทุกครั้งที่ได้ทำการศึกษามาครั้งแล้วครั้งเล่า ที่กรมทรัพยากรธรณีได้ออกมายืนยันอยู่ตลอดเวลา

พร้อมระบุว่า การศึกษาครั้งนี้ สามารถลดวงเงินลงทุนของโครงการทั้งหมดมาเหลือ 497.4 ล้านสหรัฐ ประมาณ 21,397 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็นเงินกู้ 70% จำนวน 348.32 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินทุนเรือนหุ้น30% เป็นจำนวน 149.28 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน(IRR) 12% และอัตราผลตอบแทนเงินทุนเรือนหุ้น (IOE) 27.1%

แต่แล้วความหวังที่จะได้เงินกู้จากกองทุนฟูกูดะ จากประเทศญี่ซึ่งหมายถึงอนาคตของโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนว่าจะดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ก็ถูกปิดฉากลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อรัฐบาลชวน ตัดสินใจเด็ดขาดว่า รัฐบาลจะไม่เป็นผู้กู้หรือค้ำประกันเงินกู้แก่โครงการ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ต้องเป็นผู้หาเงินทุนเอง

การดิ้นรนแสวงหาแหล่งเงินทุนด้วยการจัดหาเงินลงทุนเอง ปรากฏว่ามีบริษัทจากต่างประเทศแสดงความสนใจ 6 บริษัท แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครยื่นเสนอเงื่อนไขในการร่วมทุนและให้กู้แม้แต่รายเดียว

โครงการดังกล่าวจึงถูกทิ้งร้างกลายเป็นเพียงอนุเสาวรีย์ และตอนนี้กำลังถูกปลุกผีขึ้นมาอีกครั้งในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น