xs
xsm
sm
md
lg

ระดมตัวแทนรัฐ-ทุนชายแดนทั่ว ปท.ถกแผนพัฒนาการค้าไทย-เพื่อนบ้านครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก – รัฐ-เอกชนเมืองชายแดนเปิดเวทีสัมมนา AEC - GMS-ECF ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หวังเตรียมรองรับการเข้าร่วมประชาคมยุโรป พร้อมพัฒนาระบบการค้าชายแดน-ผลักดันเส้นทางคมนาคมเชื่อไทย-พม่า-อินเดีย-บังกลาเทศ ให้เห็นผลโดยเร็ว

วันนี้ (21 ส.ค.) นายชรินทร์ หาญสืบสาย สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตาก ในฐานะรองประธานคณะกรรมการการเศรษฐกิจ-พาณิชย์ และอุตสาหกรรมวุฒิสภา เป็นประธานเปิดการประชุม รัฐ-เอกชน จังหวัดชายแดนที่ติดต่อและทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน AEC หรือกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

โดยมีคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมวุฒิสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดประธานหอการค้าจังหวัดประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนตาก-แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่-เชียงราย-มุกดาหาร-หนองคาย ฯลฯ รวมทั้งนักธุรกิจ-พ่อค้า ประชาชน ในพื้นที่ชายแดนกว่า 150 คน เข้าร่วมประชุม AEC-GMS-ECF ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่โรงแรมเซ็นทาราแม่สอดฮิลล์ อ.แม่สอด จ.ตาก

นายชรินทร์ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อปรับบทบาทแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าชายแดนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รองรับการเข้าสู่การพัฒนาร่วมกับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป รองรับการเปิดเสรีทางการค้า ในปี 2552

นอกจากนี้ เป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน-ยุโรป รองรับการเปิดเสรีทางการค้าเต็มรูปแบบในปี 2558 ทั้งด้านการค้า-การขนส่งระบบลอจิสติกส์ข้ามแดน ตามแนว GMS ECF อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำอิรวดี-เมย-เจ้าพระยาและแม่น้ำโขง ตามแนวถนนสายเศรษฐกิจ เส้นทางอีสต์เวสต์ อีโคโนมิก คอริดอร์ ตะวันตก-ตะวันออก

ด้าน นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยว่า สำหรับโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมเส้นทาง ไทย-พม่า-อินเดีย จากเมืองแม่สอด-เมียวดี-กอกาเรก-ย่างกุ้ง-พุกาม-ตามู เข้าสู่ชายแดนประเทศอินเดียที่เมืองกาเลย์ ระยะทาง 1,400 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นถนนเส้นทางสายเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก อีสต์เวสต์ อีโคโนมิก คอริดอร์ เพื่อใช้เป็นทางการคมนาคม การค้า การท่องเที่ยว รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขณะนี้ได้ก่อสร้างเสร็จเป็นบางส่วนแล้ว

เส้นทางสายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 แม่สอด-เมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-กอกาเรก ระยะทางประมาณ 80 กม. ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยและส่งให้ประเทศพม่าเข้ามาดูแลแล้ว ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง

ส่วนที่ 2 จากเมืองกาเลย์ ชายแดนประเทศอินเดีย ถึงเมืองตามูของประเทศพม่า ระยะทาง 160 กม. ซึ่งอินเดียสนับสนุน ยังคงเหลือในบางส่วนที่เป็นเส้นทางผ่านประเทศพม่า ส่วนที่ 3 อยู่ระหว่างกำลังทำการศึกษา สำรวจและวิจัย เส้นทาง ไทย-พม่า-อินเดีย เบื้องต้นทางรัฐบาลไทย โดยกรมทางหลวง จะใช้งบศึกษาเส้นทาง 15 ล้านบาท

มีรายงานว่า โครงการก่อสร้างเส้นทางสายเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก-อีสต์เวสต์ อีโคโนมิก คอริดอร์ นั้นจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างจนเสร็จสิ้นโครงการประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท จากเมืองกาเลย์ อินเดีย-ผ่านพม่า-เข้าไทย-ผ่านลาว-จนถึงเมืองดานัง เวียดนาม ตลอดแนวถนน
กำลังโหลดความคิดเห็น