ASTVผู้จัดการออนไลน์ – กลุ่ม 40 สว. ค้านโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน ชี้พิรุธค่าเช่า-ค่าซ่อมสูงเกินจริงมโหฬาร เปรียบเทียบตัวเลขขสมก.และผลศึกษาของผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะค่าตัวรถห่างกันลิ่วถึง 8,497 ล้านบาท ส่วนค่าซ่อมแพงเหลือเชื่อต่างกันถึง 15,330 ล้าน ประเมิน 10 ปีขาดทุนบานตะไทกว่า 5.2 หมื่นล้าน ชี้ดันทุรังรัฐบาลพังแน่
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 มิ.ย. กลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ร่วมกันแถลงคัดค้านโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ที่นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย พยายามผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ศึกษาโครงการนี้และพบพิรุธ 4 ประการ คือ
1.เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขค่าเช่ารถเมล์ระหว่าง ขสมก.กับผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ตัวเลขของผู้เชี่ยวชาญต่ำกว่าตัวเลขของ ขสมก. 26,995 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40
2.ข้อมูลที่ ขสมก. นำมาคำนวณค่าซ่อมรถจำนวน 2,250 บาทต่อวันต่อคัน หรือคิดเป็น 821,250 บาท ต่อปีต่อคัน คิดจากค่าซ่อมกิโลเมตรละ 7.50 บาท X 300 กิโลเมตรต่อวัน พบว่า ข้อมูลของ ขสมก. 7.50 บาทนั้น เป็นข้อมูลของรถที่มีอายุการใช้งาน 10 ปีขึ้นไป ซึ่งค่าเช่าจะต้องสูงกว่ารถใหม่
และระยะทางที่กำหนดไว้ตามทีโออาร์ TOR ไม่เกิน 300 กิโลเมตร เป็นการกำหนดระยะทางไว้ที่สูงสุดตาม TOR แต่ข้อเท็จจริงแล้ว รถเมล์จะวิ่งเฉลี่ยวันละ 200 กิโลเมตร การนำค่าซ่อมรถอายุ 10 ปี X ระยะทางที่วิ่งเกินจริง จึงเป็นที่มาของค่าซ่อมรถที่สูง
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญศึกษาพบว่า ค่าซ่อมในปีแรกสำหรับรถใหม่อยู่ในอัตราไม่กี่ร้อยบาทต่อวัน เฉลี่ย 10 ปี ไม่เกิน 1,200 บาทต่อคันต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขของขสมก.จึงมีผลต่างอยู่ที่ 15,330 ล้านบาท หรือร้อยละ 47
3.รายได้ที่ขสมก.นำเสนอในโครงการรถเมล์ 4,000 คัน วันละ 11,244 บาทต่อคันต่อวันนั้น หากเปรียบเทียบกับรายได้ของรถปรับอากาศของขสมก..ปัจจุบันที่ 6,146 บาทต่อคันต่อวัน ดังนั้นหากยังดำเนินโครงการจะขาดทุนถึง 3,660 บาทต่อคันต่อวัน รวม 4,000 คัน จะขาดทุน 52,704 ล้านบาท
4.เนื่องจากข้อมูลที่ขสมก. นำเสนอเป็นข้อมูลด้านเดียว ตัวเลขแตกต่างกันหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เกินกว่าจะปรับลดโดยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเอง คณะ 40 ส.ว. จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีนำโครงการดังกล่าวส่งให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาทั้งต้นทุนค่าเช่า รายจ่าย และรายรับ รวมถึงปัญหาที่กระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการอีกครั้งเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
คณะ 40 ส.ว. จะนัดประชุมติดตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน เพื่อดำเนินการต่อไปในวันพุธที่ 3 มิ.ย. นี้ เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ 301 อาคารรัฐสภา 2
นางรสนา กล่าวว่า โครงการนี้ส่อมีการทุจริตอย่างแน่นอน โดยตนเชื่อว่า ส.ว.ทั้ง 150 คนไม่มีใครเห็นด้วย จึงอยากฝากถึงรัฐบาลว่าโครงการนี้ไม่โปรงใส อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ทำตัวเป็นผู้ให้สัมปทานเอง เห็นได้จากการที่สามารถลดราคาโครงการลงเองทุกวัน ดังนั้นค.ร.ม.ต้องตรวจสอบเรื่องนี้ให้ดี อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 57 บัญญัติว่า เรื่องใดที่มีผลกระทบในวงกว้างรัฐบาลต้องทำประชาพิจารณ์ เรื่องนี้ในเบื้องต้นพนักงานขายตั๋วต้องตกงานทันที 8,000 คน ส่งผลกระทบต่อครอบครัวรวมแล้วหลายหมื่นคน คนขึ้นรถเมล์หลายหมื่นคงก็ได้รับผลกระทบต่อมาแน่นอน
”อยากถาม รมว.คมนาคม ที่บอกว่าโครงการนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ถ้าการจัดเก็บงบประมาณไม่เข้าเป้าใครจะรับผิดชอบ” นางรสนา กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมครม. เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. โดยมีมติให้กระทรวงคมนาคมนำโครงการนี้กลับไปทบทวนใหม่โดยให้สภาพัฒน์เข้ามาศึกษา ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน
นางรสนา กล่าวว่า มติครม.ดังกล่าว ทางคณะ 40 ส.ว.มีความเห็น 3 ประเด็นใหญ่ คือ
1) ขอให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าวโดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบด้าน และควรเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนด้วย
2) การโยนให้สภาพัฒน์ เป็นผู้ศึกษานั้น มีข้อสังเกตว่า สภาพัฒน์ คือหน่วยงานของรัฐ ความเห็นของสภาพัฒน์ ก็คือความเห็นจากฝ่ายรัฐ จึงมีข้อเสนอให้องค์กรนอกภาครัฐ เช่น สถาบันการศึกษาอย่าง นิด้า หรือ ทีดีอาร์ไอ เข้ามาศึกษาคู่ขนานกันไป
และ 3) คณะ 40 ส.ว.มีมติให้คณะกรรมาธิการฯ 5 คณะ ร่วมจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมศึกษาโครงการดังกล่าวด้วย โดย 5 คณะกรรมาธิการฯ คือ คณะฯ การมีส่วนร่วมฯ, สิทธิมนุษยฯ, การเงินการคลัง, ตรวจสอบธรรมาภิบาลฯ และคุ้มครองผู้บริโภค
//////////
ตารางเปรียบเทียบกำไรขาดทุน
..........................................................................................................................................................................................
รายรับ-รายจ่าย(ขสมก.) รายรับ-รายจ่าย(ผู้เชี่ยวชาญ) ส่วนต่าง(บาท)
………………………………………………………………………………………………
รายได้/คัน/วัน 11,244 บาท 6,146 บาท 11,244
รายจ่าย/คัน/วัน 9,806 บาท 9,806 บาท 9,806
กำไร (ขาดทุน) 1,438 บาท (-3,660)บาท
.................................................
ที่มา : คณะ 40 ส.ว. / 2 มิ.ย. 52
หมายเหตุ :
1. รายได้ 6,146 บาท จากข้อมูลรถเมล์ปรับอากาศขสมก.ปัจจุบัน
2. ผลขาดทุนคาดว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน
ขาดทุน 3,660 บาท/คัน/วัน จำนวน 4,000 คัน รวมขาดทุนวันละ 14,640,000 บาท
ขาดทุนเดือนละ 439,200,000 บาท
ขาดทุนปีละ 5,270,400,000 บาท
ขาดทุน 10 ปี 52,704,000,000 บาท
//////////////////////////////