ASTVผู้จัดการออนไลน์ – การเปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และเดินหน้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้บรรดานักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากกรณียุบพรรค ถือเป็นการเปิดเกมใหม่ของ “อภิสิทธิ์” ที่หวังสร้างความสมานฉันท์ในหมู่นักการเมืองด้วยกันเอง ทั้งยังน่ากังขาว่าจะเป็นการหาทางรอดพ้นจากชะตากรรมเดียวกันของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งกำลังถูกยื่นเรื่องให้ยุบพรรคในขณะนี้ด้วยหรือไม่
แม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมจะเป็นหนทางสร้างความสมานฉันท์ในชาติเร็วที่สุด แต่ต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นประเด็นการเมืองที่นำมาซึ่งความขัดแย้งไม่จบสิ้น
ประเด็นนี้เองที่เป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตัดสินใจเคลื่อนทัพเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลพลังประชาชน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อฟอกความผิดให้ทักษิณ เพิกถอนการอายัดทรัพย์กว่า 7 หมื่นล้าน และรอดพ้นจากการถูกยุบพรรคเพราะทุจริตเลือกตั้ง รวมทั้งนิรโทษกรรมพวกพ้อง “คนบ้านเลขที่ 111” ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ถามว่า “อภิสิทธิ์” ก็รู้ดีว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง ย่อมถูกต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างแน่นอน แล้วเหตุไฉนจึงตัดสินใจเปิดเกมแห่งความขัดแย้งให้ปะทุขึ้นมา ในห้วงเวลาที่แกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ คือ สนธิ ลิ้มทองกุล เพิ่งถูกตามล่าสังหารและยังพักรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ในเวลานี้
หรือว่า นี่คือการโดดเดี่ยวพันธมิตรฯ หรือว่านี่คือห้วงเวลานาทีทองที่บรรดานักการเมืองด้วยกัน จะเร่งมือร่วมใจทลายกฎเหล็กที่ใช้ล้างพันธุ์พรรคการเมืองและนักการเมืองซึ่งใช้อามิสสินจ้างซื้อเสียงปูทางเข้าสู่อำนาจเพื่อเข้ามาแสวงหาประโยชน์ เตรียมใช้เป็นทุนเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปจนกลายเป็นวงจรอุบาทว์และเกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมือง เหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา
หลังสิ้นเสียงนายกรัฐมนตรี จึงมีข้อเสนอจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในทันที โดยประเด็นที่จะเสนอแก้ไขเหมือนกัน คือ การแก้ไขมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคให้เป็นโทษเฉพาะบุคคลไม่ใช่ยุบทิ้งทั้งพรรค มาตรา 190 เรื่องการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งบรรดาคณะรัฐบาลชุดเก่าติดบ่วงคดีจากมติครม.ที่เห็นชอบให้ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชากรณีขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร
ส่วนข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย นอกจากสองมาตราข้างต้นแล้ว ยังต้องการให้ตัดมาตรา 309 ที่รับรองการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว 2549 โดยอ้างว่าไม่มีผลต่อคดีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เสนอเพิ่มเติมให้ตัดทิ้งบทเฉพาะกาลทั้งหมด
รัฐธรรมนูญฯ 2550 เป็นเหมือนก้างตำคอนักการเมืองพันธุ์เก่าที่เข้ามามีอำนาจด้วยการซื้อเสียงมาตั้งแต่เริ่มแรก พวกเขาต่างมองว่ามันเป็นผลไม้พิษที่มาจากต้นที่เป็นพิษเพราะทำคลอดในยุครัฐบาลทหารที่มีอคติต่อนักการเมือง
ขณะที่ฤทธิ์เดชของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สามารถแช่แข็งนักการเมืองโดยมีผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจากคดีดังกล่าว 220 คน เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน และ 109 คน เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน-พรรคชาติไทย-พรรคมัชฌิมาธิปไตย ทำให้ตระกูลการเมืองผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “ศิลปอาชา” แห่งสุพรรณบุรีถึงขั้นเกือบสูญพันธุ์
การลดความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ในหมู่นักการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรม หลายฝ่ายมองว่าเป็นการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการเมือง เป็นความพยายามก้าวแรกที่จะออกจากวิกฤตบ้านเมือง
แต่ตัวแปรความขัดแย้งในสังคมเวลานี้ มิได้จำกัดวงแค่กลุ่มก้อนทางการเมืองในระบบเท่านั้น เพราะยังมีกลุ่มการเมืองนอกสภาอย่างเช่น กลุ่มพันธมิตรฯ และยังมีกองทัพที่ถูกดึงเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ทหารซึ่งเคยหมดบทบาททางการเมืองหลังพฤษภาทมิฬ 35 ได้กลับมามีอำนาจอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายทหารนั้น ดูเหมือนจะไม่เข้ามายุ่งในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญและสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จะมีก็แต่เพียงกลุ่มพันธมิตรฯ เท่านั้นที่เป็นกลุ่มพลังนอกสภาที่จะเอาตัวเข้ามาขวาง
แต่เงื่อนไขของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็เปลี่ยนไปเมื่อแกนนำคนสำคัญถูกล่าสังหาร การต่อสู้ที่เคยแข็งแกร่งของพันธมิตรฯ จะยังคงทรงพลังพอที่จะคัดง้างกับบรรดานักการเมืองพันธุ์อุบาทว์ที่ต้องการพลิกฟื้นอำนาจให้กลับเข้มแข็งอีกครั้งด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คอยทำหมัน ฆ่าตัดตอน ตัดมือตัดเท้าพวกเขา หรือไม่ ยังเป็นคำถาม
ไม่นับว่า มวลชนของกลุ่มพันธมิตรฯ บางส่วน คือ กลุ่มที่นิยมพรรคประชาธิปัตย์ หากหัวหน้าพรรคเปิดเกมนี้มวลชนที่เป็นฐานเสียงย่อมต้องลังเลจะยืนอยู่ข้างไหน เพราะคราวนี้ประชาธิปัตย์ – พันธมิตรฯ ไม่ได้เห็นพ้องไปในทางเดียวกัน
การทำประชามติ ที่เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้ผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเป็นฐานเสียงจัดตั้งของพรรคการเมืองอยู่แล้ว
พันธมิตรฯ จะเล่นบทองครักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้นานเพียงใด และจะสำเร็จเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ หรือถึงเวลาที่จะต้องปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรรม