xs
xsm
sm
md
lg

แนะผู้ป่วยเบาหวาน แกว่งแขนลดน้ำตาลในเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนสูงมาก โดยคาดว่า ในปี 2553 จะมีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกอย่างน้อย 215 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยพบว่ามีอัตราความชุกประมาณ 2.5-7% ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ และประมาณ 13-15.3% ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเบาหวานชนิดที่เซลล์มีภาวะดื้อต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลินต่อการนำกลูโคสเข้าเซลล์ และสร้างน้ำตาลจากตับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจพบร่วมกับการคัดหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนลดลง หรือที่เรียกว่า “โรคเบาหวานประเภท 2” ที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวานคนไทยมากถึง 90%

ผศ.ดร.นฤมล ลีลายุวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า ปัญหาสำคัญที่เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง คือ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือด ทำให้เกิดการสูญเสียหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตา ไต ระบบประสาท หัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของตาบอด ไตวาย การถูกตัดเท้าจากแผลติดเชื้อลุกลาม ดังนั้นการลดระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับสู่ระดับปกติจึงเป็นการรักษาที่จำเป็น เพื่อลดอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนและการเสียชีวิต

ทั้งนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นวิธีการหนึ่งของการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 เนื่องจากมีผลต่อการควบคุมเมแทบอลิซึมของน้ำตาลและไขมันในร่างกาย และส่งผลให้ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนข้างต้นได้

รศ.ดร.นฤมล อธิบายต่อว่า จากการให้อาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 ฝึกออกกำลังด้วยการแกว่งแขน (arm swing) นานประมาณ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน รวม 8 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้

“การแกว่งแขนเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะที่แขนทั้งสองข้างจะเคลื่อนไปหน้า-หลังพร้อมๆ กัน ตัวและขาทั้งสองยืนตรงอยู่กับที่ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความหนักระดับเบา ไม่มีการกระแทกน้ำหนักลงที่ร่างกายส่วนขาเหมือนการวิ่งหรือขี่จักรยาน ซึ่งจะทำให้ชะลอการเสื่อมของข้อได้ ไม่มีการเคลื่อนไหวขาเพียงแต่ออกแรงรับน้ำหนักตัวไว้ ไม่ต้องอาศัยทักษะมากมาย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ประกอบ สามารถทำได้ตลอดเวลาทุกสถานที่ รวมทั้งที่บ้าน จึงเป็นวิถีทางที่ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างดียิ่ง การออกกำลังกายโดยการแกว่งแขนจึงน่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งมักจะมีน้ำหนักตัวมาก หรืออายุมาก หรือมีพยาธิสภาพที่ขา หรือไม่สะดวกที่จะออกกำลังกายนอกบ้านเนื่องจากมีเวลาว่างน้อยหรือมีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ” ผศ.ดร.นฤมล ระบุ

กำลังโหลดความคิดเห็น