xs
xsm
sm
md
lg

คดีกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดานคร อีกบทเรียนจากพ่อ“ทักษิณ”สอนลูก(โอ๊ค)ให้เป็นโจร ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครอบครัวชินวัตร
ASTVผู้จัดการออนไลน์ – “ทักษิณ” ย้ำบทเรียน “สอนลูกให้เป็นโจร” อีกครั้งในคดีแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้บริษัทเน่าเครือกฤษดานครร่วมหมื่นล้าน งานนี้วางแผนแยบยลเป็นขั้นตอน อดีตนายกรัฐมนตรีผู้พ่อเป็นตัวการใช้อำนาจโดยทุจริตสั่งแบงก์อนุมัติเร่งด่วน ซ้ำฮึกเหิมโอนเงินเข้าบัญชี “ลูกโอ๊ค” หลังประกาศิตปล่อยกู้ จนกลายเป็นหลักฐานมัดแน่น ลากลูกชายเข้าติดบ่วงคดีอาญาข้อหารับของโจร ร่วมก๊วนพ่อ “ศิธา ทิวารี” และเลขาฯคุณหญิงพจมาน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งกลายเป็นนักโทษหนีคดีในเวลานี้ แสดงต่อสาธารณะมาโดยตลอดว่ารักลูกรักครอบครัวมากมายเพียงใด แต่เหตุไฉนเขาถึงลากบรรดาลูกๆ สุดที่รักเข้ามาพัวพันกับการกระทำที่ถูกตั้งข้อหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าทุจริต ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

ไม่ว่าจะเป็นคดีหลบเลี่ยงภาษีชินคอร์ป, แอมเพิลริช หรือล่าสุดกรณีคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดานคร ซึ่งคณะทำงานร่วมป.ป.ช.และอัยการได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดสั่งคดี เพื่อยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว

ถามไถ่กันว่า การปล่อยกู้ของแบงก์กรุงไทยให้เครือกฤษดานคร “ทักษิณ” เข้ามาเกี่ยวข้องอะไรด้วย และเขาสอนบทเรียนริเป็นโจรให้ “ลูกโอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร อย่างไร ?? คงต้องย้อนกลับไปดูคำแถลงของ “สัก กอแสงเรือง” อดีตโฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ในระหว่างการไต่สวนคดีนี้อีกครั้ง

อดีตโฆษก คตส. แถลงว่า "การดำเนินการ (ปล่อยกู้) ดังกล่าวมีการวางแผนเป็นขั้นตอน ตั้งแต่อนุมัติสินเชื่อโดยเร่งด่วน ซึ่งมีลักษณะของการปั่นหุ้น โดยเงินที่เหลือนำไปให้พวกพ้อง และพบว่ามีการโอนเงินให้ลูกชายของหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ ที่เป็นผู้สั่งการให้อนุมัติสินเชื่อ โอนเงินให้บิดาของอดีต ส.ส.ลูกพรรค และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบิดาเลขาฯ ส่วนตัว ของภรรยาหัวหน้าพรรค เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยเสียหาย 4.5 พันล้านบาท"

ในสำนวนคดี คตส. คณะอนุกรรมการไต่สวน ที่มีนางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการ คตส. เป็นประธาน ระบุถึงการสั่งการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้ โดยคณะกรรมการบริหารแบงก์กรุงไทยรายหนึ่ง ยืนยันต่อคณะอนุกรรมการในชั้นไต่สวนว่า ก่อนหน้าการประชุมเพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อรายนี้ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ ประธานบอร์ดบริหารแบงก์กรุงไทย ขณะนั้น แจ้งในที่ประชุมว่า ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จาก “บิ๊กบอส” คนหนึ่งให้ปล่อยกู้รายนี้

“บิ๊กบอส” ที่ ร.ท.สุชาย เอ่ยถึงนั้น ทุกคนในบอร์ดกรุงไทย ต่างเข้าใจตรงกันว่าหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเป็นคำที่ ร.ท.สุชาย ใช้เอ่ยถึง พ.ต.ท.ทักษิณตลอดเวลา และที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยได้อนุมัติสินเชื่อวงเงินขนาดใหญ่หลายครั้งที่เกี่ยวพันกับคนในครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้บริหารระดับสูงของพรรครักไทยคนหนึ่งด้วย


ส่วนนายพานทองแท้ ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยนั้น เพราะมีเงินบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ครั้งนี้โอนเข้าในบัญชีของ นายพานทองแท้ ด้วย

สำนวนคดี คตส. ระบุว่า ผู้ถูกตั้งข้อหาว่ามีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย เป็นองค์กรของรัฐอนุมัติสินเชื่อให้ 3 บริษัท เป็นการกระทำโดยทุจริตไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์ส่วนตนกับพวก จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจ จำนวน 31 ราย

ประกอบด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายพานทองแท้ ชินวัตร นางกาญจนาภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน และนายมานพ ทิวารี บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย

กลุ่มคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย มีความผิด 3 คน ได้แก่ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานคณะกรรมการบริหาร นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ และนาย มัชิมา กุญชร ณ อยุธยา อดีตกรรมการบริหาร เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ และพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502

กลุ่มคณะกรรม การสินเชื่อ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทย 7 คน อาทิ นายพงศธร ศิริโยธิน นายวันชัย ธนิตติราภรณ์ นายบุญเลิศ ศรีเจริญ และนายนรินทร์ ดรุนัยธร

ทั้งนี้ ส่วนของนายพานทองแท้ ชินวัตร, นางกาญจนาภา หงส์เหิน, นายวันชัย หงส์เหิน และ นายมานพ ทิวารี นั้น ที่ประชุม คตส. มีมติให้ดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 357 ฐานรับของโจร แม้ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด แต่ได้รับเงินร่วม 180 ล้านบาท ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และมีมติให้แยกบุคคลทั้ง 4 คนนี้ไปดำเนินคดีใน ศาลอาญา

สำหรับนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และกรรมการแบงก์กรุงไทย ที่ตกเป็นผู้ต้องหา ต่างยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการด้วยแล้ว

ตามรายงานสรุปผลการไต่สวน เรื่อง การอนุมัติเงินกู้ของผู้บริหารธนาคารกรุงไทยให้แก่บริษัทในเครือกฤษดามหานคร ระบุข้อเท็จจริงถึงกรณีที่ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้สินเชื่อแก่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานครฯ ซึ่งมีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารกรุงไทย เนื่องจากผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง ได้เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานคร ในอันดับที่ 5 คือ ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้

ในเวลาต่อมาได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเงื่อนไขระบุว่า บริษัทกฤษดามหานครฯไม่สามารถที่จะขอสินเชื่อได้อีก เนื่องจากมียอดขาดทุนสะสมสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ในที่สุด กลับมีคำสั่งจาก “บิ๊กบอส” ให้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเตรียล พาร์ค จำกัด และอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)

นายสัก ได้ให้ภาพถึงการวางแผนและรวบรัดการปล่อยสินเชื่อใน 3 กรณีข้างต้นว่า 1.การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด 500 ล้านบาท ใช้เวลาพิจารณาเพียง 3 วัน และไม่มีการควบคุมกำกับดูแลการจ่ายเงินสินเชื่อ ทำให้ผู้กู้นำเงินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ และเมื่อลูกหนี้ผิดชำระเงิน ยังอนุมัติให้ขยายเวลาชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้จนถึงปัจจุบัน โดยมีต้นเงิน 379 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 127 ล้านบาท

2.การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9.9 พันล้านบาท โดยนำเงินส่วนหนึ่งไปปลดภาระหนี้ 8 พันล้านบาท ซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท พร้อมทั้งนำวงเงินพัฒนาที่ดิน 1.4 พันล้านบาท โดยใช้หลักทรัพย์ที่ดินที่ไถ่ถอนมาจากธนาคารกรุงเทพ มาค้ำประกันหลักทรัพย์ ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบวิธีการของธนาคากรุงไทย เป็นเงินถึง 1.4 หมื่นล้านบาท

โดยพบว่าพนักงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสินเชื่อ และบอร์ดธนาคารกรุงไทยได้อนุมัติสินเชื่อ โดยฝ่าฝืนระเบียบของธนาคารกรุงไทย ระเบียบ ธปท. และมติ ครม. ไม่รักษาผลประโยชน์ของธนาคาร และให้สินเชื่อแก่ลูกค้าในลักษณะที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ มีการปลอมเอกสารสัญญาจะซื้อจะขาย เอาเงินไปเป็นประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง

และ 3.การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) 118.5 ล้านหุ้น เป็นเงิน 1,185,000,000 บาท ซึ่งบริษัทนี้ประสบปัญหาขาดทุนตลอดมา และได้แปลงหนี้เป็นทุน โดยออกหุ้นบุริมสิทธิในราคาหุ้นละ 10 บาท เพื่อชำระหนี้บางส่วน

ต่อมาบริษัทนี้ให้บริษัท โบนัส บอร์น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกฤษดามหานคร เป็นตัวแทนซื้อหุ้นคืนในราคาหุ้นละ 8 บาท โดยสถาบันการเงินทุกแห่งยอมขายคืนในราคาหุ้นละ 1 บาทเศษ แต่ธนาคารกรุงไทยขายคืนหุ้นละ 10 บาท โดยให้เครดิตในการชำระเงิน 4 เดือน ซึ่งเป็นผลให้มูลค่าหุ้นบุริมสิทธิที่ธนาคารกรุงไทยถืออยู่เป็นศูนย์ และปัจจุบันยังไม่ได้มีการชำระหนี้ค่าหุ้นดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น