ขณะที่สังคมรู้จักเครือข่ายนักการเมือง “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ว่าเป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลในรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างชัดแจ้ง ชนิดนายกรัฐมนตรียังเกรงใจ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า “เครือข่ายเพื่อนเนวิน” ก่อตัวเหนียวแน่นทั้งในระบบราชการ งานมวลชน กลุ่มทุนการเมือง และวงการสื่อสารมวลชน นาทีนี้สมการแห่งการได้มาซึ่งอำนาจมีพร้อมสรรพแล้วสำหรับ “เนวิน ชิดชอบ” ล่าสุดเขาได้ส่ง "ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์" มือขวาของเขาเข้าไปเป็นบอร์ด ทอท. เพื่อขยายพรมแดนแห่งอำนาจและผลประโยชน์ให้กว้างไกล
การยึดกุมกระทรวงสำคัญที่เป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจและขุมทรัพย์อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม เป็นแค่จุดเริ่มต้น ต่อจากนี้ จะได้เห็นจังหวะก้าวการสะสมอำนาจและบารมี ของ เนวิน ชัดเจนแหลมคมขึ้นเป็นลำดับ การรุกคืบเข้าไปยึดกุมรัฐวิสาหกิจ คือหมากเกมหนึ่ง
เมื่อการเมืองเปลี่ยนผ่าน อำนาจเปลี่ยนมือ “ขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจแสนล้าน” เป็นเป้าหมายสำคัญที่ถูกตีตราจองไว้ล่วงหน้า บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทั้งการบินไทย การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การประปานครหลวง (กปน.) รอวันกินรวบเบ็ดเสร็จ
ชื่อของข้าราชการวัยใกล้เกษียณ อย่าง “ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์” มือขวาของ เนวิน จึงได้รับการผลักดันเข้าไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ทั้ง ประธานบอร์ด กปน. การทางพิเศษฯ โรงงานยาสูบ และล่าสุด ฉกรรจ์ ก้าวเข้าไปเป็นบอร์ด ทอท. ถือเป็นจิ๊กซอร์ตัวอย่างต่อภาพให้เห็นจังหวะก้าวของ “เนวิน แอนด์เดอะแก๊งค์” ที่น่าสนใจขยายความ
ถามว่า “ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์” ตำแหน่งทางราชการปัจจุบัน คือ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นใครมาจากไหน? คำตอบสั้นๆ คือ กูรูผู้คลุกคลีอยู่ในวงการเกษตรและยางพารามาเกือบทั้งชีวิตราชการ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเขาจะเข้าไปเป็นบอร์ดกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรการทำสวนยาง ตามแนวทางที่เขาถนัด
แต่ ณ นาทีนี้ มีคำถามว่า เหตุไฉนชื่อของฉกรรจ์กลับไปโผล่เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ในสังกัด กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยและไม่ใช่เรื่องที่เขาจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญเอาเสียเลย ไม่ว่าจะในฐานะประธานบอร์ด กปน. หรือตัวเต็งบอร์ด ทอท.ขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรู้จัก “ฉกรรจ์” ในฐานะมือขวาคนสนิทของ “เนวิน” ตลอดระยะเวลาที่นักการเมืองจากบุรีรัมย์ผู้นี้มีอำนาจในตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ก็คงจะพอเข้าใจเส้นทางการเติบโตและสถานะพิเศษของ ฉกรรจ์ มากยิ่งขึ้น
ตลอดอายุรัฐบาลทักษิณ 1 และ ทักษิณ 2 เนวิน สามารถรักษาเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงกี่คนต่อกี่คนจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปมา แต่ เนวิน ในฐานะรมช.เกษตรฯ ก็ยังได้คุมกรมสำคัญ ๆ ที่มีงบประมาณมากกว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงด้วยซ้ำ กระทรวงเกษตรฯ จึงเป็นฐานที่มั่นสำคัญของ “เนวิน แอนด์เดอะแก๊งค์” สายข้าราชการ
ข้าราชการคนโปรดและทำงานชนิดร่วมหัวจมท้ายถึงไหนถึงกันกับ เนวิน มาโดยตลอด จนได้รับฉายาในกระทรวงเกษตรฯ ว่า “กลุ่ม F-4” (ชื่อเรียกตามภาพยนตร์ไต้หวันที่โด่งดังในขณะนั้น) ประกอบด้วย ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์, อำพน กิตติอำพน, ยุคล ลิ้มแหลมทอง และ สิทธิ บุณยรัตผลิน
กล่าวสำหรับ “อำพน กิตติอำพน” ด้วยบารมีของเนวิน เขาได้ข้ามห้วยจากรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไปเป็น เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ชนิดหักปากกาเซียน และยังคงดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
สำหรับ ยุคล ลิ้มแหลมทอง บารมีถดถอยตามชะตากรรมของเนวิน โดยช่วงที่ บารมีของเนวิน หมดอำนาจในสมัย คมช. ยุคล ถูกดองไว้ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ก่อนที่ล่าสุด ยุคล จะได้กลับไปเป็นใหญ่ในตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์อีกครั้ง
ส่วน สิทธิ บุณยรัตผลิน เกษียณอายุราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประมง ก่อนหน้าที่จะหมดยุคเนวิน
ขณะที่ ฉกรรจ์ ก็มีชะตาชีวิตขึ้นๆ ลงๆ ตามนายเช่นกัน
แน่นอนในยุคเนวิน เรืองอำนาจในกระทรวงเกษตรฯ นั้น “ฉกรรจ์” คือกระบี่มือหนึ่งข้างกายเนวิน ผู้ร่วมผลักดันโครงการใหญ่ ๆ หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการเซ็นทรัลแล็ป โครงการพืชสวนโลก หรือ โครงการกล้ายางพารา 1 ล้านต้น ซึ่งทุกโครงการล้วนแต่มีข้อกล่าวหาถึงความไม่โปร่งใสด้วยกันทั้งสิ้น และสำนวนอยู่ในชั้นสอบสวนของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ยกเว้น โครงการพืชสวนโลก ที่ป.ป.ช. เพิ่งชี้มูลความผิดเมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา โดย ฉกรรจ์ พ้นข้อกล่าวหา ชนิดหักปากกาเซียนที่มั่นอกมั่นใจว่า ฉกรรจ์ ไม่รอดแน่ !!
ส่วน เซ็นทรัลแล็ป ตามผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในเบื้องต้นชี้ว่า กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร่วมกันมีทั้งนายและลูกน้อง คือ เนวิน – ฉกรรจ์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสำนวนการสอบสวนของ คตส. ถูกโอนไปให้ ป.ป.ช. หลัง คตส.หมดอายุลงเมื่อเดือนมิ.ย. 51 จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จาก ป.ป.ช.
ขณะที่คดีกล้ายาง คตส. ได้ส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ
ถึงแม้ ฉกรรจ์ จะตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาพัวพันทุจริตในหลายคดี แต่เป็นเพราะอำนาจวาสนาบารมีแต่ชาติปางก่อนหรืออย่างไร ไม่ทราบ ทำให้ ฉกรรจ์ ไม่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ไม่ได้ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน ไม่ได้ถูกโยกย้ายไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ย้ายก้นจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร มานั่งในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงฯ ทั้งยังได้รับผิดชอบงานทางด้านยางพารา ภารกิจที่ทำให้ตนเองตกเป็นจำเลยในคดีอาญา
เรื่องแปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในกระทรวงเกษตรฯ ทำให้มีคำถามต่อมา คือ แล้วใครจะกล้าเป็นพยานในคดีกล้ายาง แล้วข้าราชการที่ทอดตัวรับใช้นักการเมือง มีหรือจะกล้าซัดทอดถึงผู้เป็นนายเหนือหัว ผู้ซึ่งเวลานี้หวนกลับมามีอิทธิพลในเวทีการเมือง ทั้งยังผลักดันให้ตัวเองเข้าไปเป็นใหญ่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ อีกต่างหาก
จะว่าไปแล้ว เนวิน และแก๊งออฟโฟร์ ณ กระทรวงเกษตรฯ แสวงหาโอกาสจากวิกฤตได้เสมอดังเช่นกรณีหวัดนกเมื่อ 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นนักปั้นโปรเจกต์เพื่อเก็บเกี่ยวเป็นทุนรอนทางการเมือง โดยปฏิบัติการลับเฉพาะที่มาพร้อมกับโปรเจกต์ แม้จะทิ้งร่องรอยปรากฏให้สืบสาว แต่ถึงกระนั้น เนวินและแก๊ง กลับเอาตัวรอดมาได้ราวปาฎิหาร์แทบทุกครั้ง นับแต่กรณีแม่ปุ๋ยฉาวจนถึงคดีกล้ายาง
กล่าวเฉพาะคดีหลังสุดต้องลุ้นว่าจะพลิกล็อกอีกหรือไม่ เนื่องจากคีย์แมนคนสำคัญที่เชื่อมต่อ ทุน – ข้าราชการ – นักการเมือง ในคดีกล้ายางหาใช่คนอื่นไกล หากแต่เป็น ฉกรรจ์ มือขวาของ เนวิน นั่นเอง
สำหรับเส้นทางในชีวิตราชการของ “ฉกรรจ์” หลังจบการศึกษาจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาเป็นข้าราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขาเป็นข้าราชการในระดับกระบี่มือหนึ่งที่เข้าใจเรื่องยางพาราอย่างทะลุปรุโปร่ง ชนิดหาตัวจับยาก และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันการก่อตั้งตลาดกลางยางพารา หาดใหญ่
เส้นทางการรับราชการ เป็น ผอ.ตลาดกลางยางพารา เลื่อนขั้นเป็น รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตร และเมื่อ เนวิน เข้าไปนั่ง รมช.เกษตรฯ ก็ผลักดันให้ “ฉกรรจ์” ขึ้นเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร
ในด้านการเมือง การที่ “เนวิน” ได้รับความไว้วางใจ จาก “ทักษิณ ชินวัตร” ให้ดูแลเขตเลือกตั้งในภาคใต้ เหตุผลหนึ่งก็คือสมัยนั้น “เนวิน” ค่อนข้างมั่นใจเครือข่ายราชการในภาคใต้ของตนเองพอสมควร ทั้งข้าราชการทางปกครองและข้าราชการในกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ฉกรรจ์” ซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราช รู้เรื่องยางพาราดี เขาจึงได้ติดสอยห้อยตามเนวิน ลงพื้นที่โดยตลอด เพราะเขตงานภาคใต้ต้องใช้เรื่องยางเป็นจุดขาย
ดังกรณีการไปประชุมที่ ศูนย์วิจัยยาง จ.สงขลา ในช่วงฤดูกาลเลือกตั้ง เมื่อปี 2548 ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เข้าข่ายข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลาง เมื่อมีคนนำเทปออกมาแฉ โดยอ้างว่าเป็นการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมการเมือง หาใช่การประชุมข้าราชการตามวาระงานปกติไม่ และคนที่อยู่ร่วมห้องประชุมในขณะนั้นด้วยคือ ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ (ในสมัยเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร)
ความสัมพันธ์ที่แนบแน่น ระหว่าง “เนวิน” กับ “ฉกรรจ์” และต้องแบกรับคดีความร่วมกันหลายคดี เมื่อเครือข่ายเนวินกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง “ฉกรรจ์” แม้จะมีมลทินหลายคดี แต่ก็ไม่พลาดโอกาสทอง ได้รับการตอบแทนสมกับความเหน็ดเหนื่อย เสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง
ใครจะรู้ว่าหากในอนาคตบุญบารมีหนุนส่งให้ “เนวิน” ก้าวไปถึงจุดสูงสุดในเส้นทางทางการเมือง ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ คงต้องตีตราจองเก้าอี้ ไว้ให้ “ฉกรรจ์” ได้เลย