จากที่หลายฝ่ายคาดหมายว่า เศรษฐกิจปีนี้ จะถดถอยและจะมีคนว่างงานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม อาจจะได้รับผลกระทบมากที่สุด...ท่านอาจจะสงสัยว่า เงินที่ท่านสมทบและเก็บออมไว้กับกองทุนประกันสังคม ซึ่งในขณะนี้มียอดเงินออมในกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพมากกว่า 4.3 แสนล้านบาทนั้น จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้บ้างหรือไม่
วิน พรหมแพทย์ โฆษกประจำสำนักงานประกันสังคม (สปส.) บอกว่า การลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมา ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2551 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนจำนวน 552,376 ล้านบาท โดยแบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เงินฝากธนาคาร และหุ้นกู้เอกชน 457,221 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83 ของเงินลงทุน และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ตราสารหนี้อื่นๆ หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ 95,155 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17 ของเงินลงทุน
เรามาดูกันว่า การลงทุนในแต่ละประเภท มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร
1. พันธบัตรรัฐบาล (54.26%) เป็นตราสารออกโดยรัฐบาลไทย จึงจัดว่ามีความมั่นคงสูงสุด ส่วนใหญ่กองทุนประกันสังคมเน้นลงทุนในพันธบัตรระยะกลางถึงยาว อายุตั้งแต่ 5 – 20 ปี โดยในระหว่างที่ถือพันธบัตร กองทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” เป็นประจำทุก 6 เดือน
พันธบัตรรัฐบาลนั้น แท้ที่จริงแล้วคือตราสารที่รัฐบาลออกจำหน่ายเพื่อกู้เงินจากประชาชน การที่กองทุนประกันสังคมนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจึงมีส่วนช่วยเป็น “แหล่งเงินทุน” ให้รัฐบาลมีเงินไปใช้ในการลงทุนโครงการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการลงทุนในสวัสดิการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น การสร้างถนน โรงเรียน โรงพยาบาล และระบบชลประทานต่างๆ เป็นต้น
ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ รัฐบาลอาจจะมีความจำเป็นต้องเพิ่มรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้จำเป็นต้องออกพันธบัตรมาจำหน่ายมากขึ้น การนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนั้น นอกจากจะเป็นการลงทุนที่มั่นคงสูงสุดและกองทุนได้รับดอกเบี้ยเป็นประจำสม่ำเสมอแล้ว ยังมีส่วนช่วยในทางอ้อมให้เศรษฐกิจของไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อีกด้วย
ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 300,000 ล้านบาท นับว่าเป็นผู้ลงทุนในพันธบัตรรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในประเทศไทย
2. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน (19.97%) เป็นตราสารที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจซึ่งจัดเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่รัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรที่อาจมีผลการดำเนินงานกำไรหรือขาดทุนได้ สำนักงานประกันสังคมจึงเน้นลงทุนส่วนใหญ่ในพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นตัวแทนของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้กู้ที่มีเครดิตดีที่สุด เราจึงจัดหลักทรัพย์ในกลุ่มนี้ให้อยู่ในกลุ่มที่มีความมั่นคงสูง ตัวอย่างรัฐวิสาหกิจที่ออกพันธบัตรจำหน่ายได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารอาคารสงเคราะห์ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น ปัจจุบันการลงทุนในพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกันให้ผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อายุเท่ากันประมาณ 0.10 – 0.50% ต่อปี
เนื่องจากพันธบัตรรัฐวิสาหกิจคือตราสารที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจออกจำหน่ายเพื่อกู้เงินจากประชาชน การที่กองทุนประกันสังคมนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐวิสาหกิจจึงมีส่วนช่วยเป็น “แหล่งเงินทุน” คล้ายๆ กับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล คือช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีเงินไปใช้ในการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้แก่
-ไฟฟ้า (พันธบัตรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พันธบัตรการไฟฟ้านครหลวง และพันธบัตรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)
-ประปา (พันธบัตรการประปานครหลวง และพันธบัตรการประปาส่วนภูมิภาค)
-ที่อยู่อาศัยของประชาชน (พันธบัตรการเคหะแห่งชาติ และพันธบัตรธนาคารอาคารสงเคราะห์)
-การเกษตร (พันธบัตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)
-ระบบการคมนาคมขนส่ง อาทิ ทางด่วน รถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถโดยสาร ขสมก. (พันธบัตรการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พันธบัตรการรถไฟแห่งประเทศไทย พันธบัตรการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และพันธบัตรองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ)
ฯลฯ
"วิน" ยังบอกอีกว่า การลงทุนในพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกันนั้น นอกจากจะเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงแล้ว ยังมีส่วนช่วยเป็นแหล่งเงินทุนให้หน่วยงานของรัฐนำไปสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานซึ่งถือเป็นสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยอีกด้วย
ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน มากกว่า 110,000 ล้านบาท นับว่าเป็นผู้ลงทุนในพันธบัตรรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในประเทศไทย
3. เงินฝากธนาคาร (0.76%) ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนในเงินฝากธนาคารค่อนข้างน้อย เนื่องจากรัฐบาลมีแผนที่จะจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก แล้วปรับเปลี่ยนให้มีการประกันเงินฝากในวงเงินที่จำกัด ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อผู้ฝากหนึ่งราย ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สำนักงานจึงได้ทยอยลดสัดส่วนเงินฝากโดยตลอดเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะช่วงที่ผ่านมาดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 1.0 – 2.0% เท่านั้น สำนักงานจึงได้นำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในพันธบัตรที่มีความมั่นคงสูงกว่าและได้ดอกเบี้ยมากกว่า
ถึงแม้ว่าสำนักงานประกันสังคมจะมีการลงทุนในเงินฝากธนาคารค่อนข้างน้อยในปีที่ผ่านมา แต่การนำเงินไปฝากธนาคารก็มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะธนาคารที่ได้รับเงินฝากไปสามารถนำเงินไปปล่อยกู้ให้กับบริษัทต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งนำไปปล่อยกู้ให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น การนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในเงินฝากธนาคารจึงเป็นการลงทุนที่มีความมั่นคงสูง และมีส่วนช่วยเป็น “แหล่งเงินทุน” ในทางอ้อมให้กับระบบเศรษฐกิจอีกด้วย
4. หุ้นกู้เอกชน (7.78%) เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทเอกชนที่มีกิจการมั่นคงและมีผลกำไรดีเพื่อกู้เงินจากประชาชน ทั้งนี้ บริษัทเอกชนในฐานะผู้กู้โดยทั่วไปมีเครดิตด้อยกว่าเครดิตของรัฐบาลไทย ในทางการลงทุนเราจึงต้องมีการ “จัดอันดับเครดิต” ไล่ตั้งแต่บริษัทที่มีเครดิตดีที่สุดจนถึงบริษัทที่เครดิตแย่ที่สุด โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษไล่ลำดับจาก AAA, AA, A, BBB, BB, B, CCC ... ไปจนถึง D ซึ่งเป็นอันดับที่แย่ที่สุด (คือบริษัทล้มละลาย ไม่มีทางจ่ายหนี้คืนได้) เราจึงจัดให้การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิต BBB ขึ้นไป เป็นการลงทุนที่มีความมั่นคงสูง เนื่องจากหุ้นกู้เอกชนมีความเสี่ยงสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนโดยทั่วไปจึงได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลเล็กน้อยเพื่อชดเชยความเสี่ยง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นกู้ที่มีความมั่นคงสูง เงินลงทุนส่วนใหญ่จึงนำไปลงทุนในหุ้นกู้ที่ได้รับอันดับเครดิตตั้งแต่ A ขึ้นไป อาทิ หุ้นกู้บริษัท ดีเอดีเอสพีวี จำกัด ซึ่งระดมทุนในการสร้างศูนย์ราชการแห่งใหม่บน ถ. แจ้งวัฒนะ (อันดับเครดิต AAA), หุ้นกู้บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต AAA), และ หุ้นกู้บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต AA) เป็นต้น
เนื่องจากหุ้นกู้เอกชนเป็นตราสารที่บริษัทเอกชนออกเพื่อกู้เงินจากประชาชนโดยตรง การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนจึงถือเป็นการเพิ่ม “แหล่งเงินทุน” ให้กับบริษัทเอกชนเพื่อขยายกิจการและดำเนินธุรกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงานนับหมื่นนับแสนตำแหน่ง ดังที่เล่าไว้ในตอนแรกว่า ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เราอาจจะมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่หากธุรกิจเอกชนสามารถเข้าถึง “แหล่งเงินทุน” ก็จะยังสามารถดำเนินธุรกิจและจ้างงานต่อไปได้
ดังนั้น การนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในหุ้นกู้เอกชน นอกจากจะเป็นการลงทุนที่มั่นคงสูงและมีรายรับเป็นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังสร้างประโยชน์ในทางอ้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและรักษาการจ้างงานของประเทศ
5. หุ้นสามัญ (7.12%) เป็นการลงทุนในหุ้นของกิจการที่มีความมั่นคงและมีผลกำไรดี โดยสำนักงานเน้นลงทุนในระยะยาว เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนทั้งในรูปของมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น และในรูปของ “เงินปันผล” ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นเฉลี่ยประมาณ 10 – 15% ต่อปี สูงกว่าการลงทุนอื่นๆ
ในฐานะนักลงทุนสถาบัน สำนักงานประกันสังคมตระหนักดีว่า การลงทุนในหุ้นนั้นแม้จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาในระยะสั้น แต่หากมีวินัยการลงทุนที่เคร่งครัด คัดเลือกลงทุนเฉพาะในหุ้นของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เน้นรับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล และเน้นลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 5-10 ปีขึ้นไป การลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในเงินฝากธนาคารและพันธบัตรมาก ซึ่งกองทุนประกันสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีชราภาพจำเป็นต้องแสวงหาดอกผลจากการลงทุนในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้กองทุนมีเงินเพียงพอสำหรับการจ่ายบำนาญชราภาพในอนาคต
เนื่องจากหุ้นสามัญเป็นตราสารที่บริษัทเอกชนออกเพื่อระดมทุนจากประชาชนโดยตรง การลงทุนในหุ้นสามัญจึงถือเป็นการเพิ่ม “แหล่งเงินทุน” ให้กับบริษัทเอกชนเพื่อขยายกิจการและดำเนินธุรกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงานเช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน แต่ต่างกันตรงที่ การลงทุนในหุ้นกู้นั้น ผู้ลงทุนมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกำหนดและมีสิทธิได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบอายุ ส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญนั้น ผู้ลงทุนมีฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ” มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกำไรในรูปของเงินปันผล
ดังนั้น การลงทุนในหุ้นสามัญ นอกจากสร้างรายได้ให้กับเงินออมของท่านที่ออมไว้กับกองทุนประกันสังคมแล้ว ยังมีส่วนช่วยเป็นแหล่งเงินทุนให้กับภาคธุรกิจ ช่วยเสริมสภาพคล่องและก่อให้เกิดการจ้างงานอีกด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การที่สำนักงานประกันสังคมได้นำเงินออมของท่านไปลงทุนนั้น นอกจากจะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงแล้ว ยังได้รับประโยชน์อีกอย่างน้อย 2 ประการ คือ 1. กองทุนมีรายรับจากการลงทุน และ 2. เงินลงทุนมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
โดยในส่วนของรายรับจากการลงทุนนั้น สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2551 กองทุนประกันสังคมมีรายรับจากการลงทุนจำนวน 19,028 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งได้ผลตอบแทนจำนวน 15,140 ล้านบาท
ทั้งนี้ท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น.