ASTVผู้จัดการรายวัน – เครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าร้องเรียน “รสนา” ตรวจสอบเงื่อนงำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าพยากรณ์ความต้องการสูงเกินจริง ทั้งที่สำรองไฟฟ้าล้นเกินถึง 60% ผลพวงภาวะเศรษฐกิจทรุดถึงขั้นโคม่า แต่กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ยังเร่งลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบโดยอิงพยากรณ์ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตถึง 3% เฉพาะภาคใต้คาดเศรษฐกิจโตอย่างน่าอัศจรรย์ถึง 7.5% แฉแผนยัดใส้ให้ “เอ็กโก้” บริษัทลูก กฟผ. สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่อ.ขนอม โดยไม่ผ่านการประมูลแข่งขัน เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน “พรชัย รุจิประภา” ปลัดกระทรวงพลังงานถ่างขานั่งควบตำแหน่งประธานบอร์ดกฟผ. และประธานบอร์ด เอ็กโก้ ด้วย จวกจัดประชาพิจารณ์ปรับแผนใหม่ที่สโมสรทหารบกไร้ธรรมาภิบาล
วันนี้ (13 ก.พ. ) เครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางรสนา โตสิตระกูล ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ขอให้ตรวจสอบธรรมาภิบาลในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2550-2564 ซึ่งมีเงื่อนงำและไร้ธรรมาธิบาล
สำหรับประเด็นที่ยื่นข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบ ประกอบด้วย การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินจริง, การเปิดประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี และการเร่งรัดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า, เงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รัฐอาจเสียเปรียบเอกชน, การปรับปรุงแผนพีดีพี 2007 ครั้งที่ 2 ที่ไม่โปร่งใส รวมทั้งปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่นั่งควบประธานบอร์ด กฟผ. และ เอ็กโก้ บริษัทลูกของ กฟผ.
เนื้อหาในหนังสือร้องเรียน ระบุว่า สืบเนื่องจากการอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2550-2564 หรือแผนพีดีพี 2007 เมื่อปี 2550 และนำมาสู่การเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน(ไอพีพี) รวมทั้งเดินหน้าโครงการของ กฟผ. อีกหลายโครงการในขณะนี้ พวกเราในฐานะประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการข้างต้น ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าว พบว่า นับตั้งแต่การอนุมัติแผนฯ จนถึงปัจจุบัน การดำเนินการหลายอย่างเป็นไปโดยขาดหลักธรรมาภิบาล และจะนำไปสู่ความเสียหายของประเทศชาติ นอกเหนือไปจากความเสียหายต่อชุมชนท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นแก่พวกเราอีกด้วย จึงขอชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นต่อกรรมาธิการฯ ดังนี้
1. การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินจริง
การวางแผนพีดีพี 2007 ยังคงซ้ำรอยความผิดพลาดที่เป็นมาตลอดในแผนฉบับก่อนๆ โดยการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าอย่างสูงเกินความเป็นจริง ซึ่งนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มากเกินความจำเป็น และจะกลายเป็นภาระของประชาชนผู้จ่ายค่าไฟต่อไป
ความผิดพลาดของการพยากรณ์ฯ ดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ผ่านพ้นปีที่หนึ่งของแผน คือปี 2551 ที่ผ่านมานั้น ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงเท่ากับ 22,568 เมกะวัตต์(ต่ำกว่าปี 2550) ในขณะที่แผนพีดีพีพยากรณ์ไว้ถึง 23,957 เมกะวัตต์ (สูงเกินไป 1,389 เมกะวัตต์ เท่ากับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี 1 โรง) นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2551 การใช้ไฟฟ้าได้ลดต่ำลงอย่างมาก ทำให้กำลังผลิตสำรองของประเทศสูงถึง 60% จากระดับมาตรฐานที่ 15%
2. การเปิดประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี และการเร่งรัดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
หลังการอนุมัติแผนฯ ในเดือนมิถุนายน 2550 กระทรวงพลังงานและ กฟผ. ก็ได้ทำการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีในทันที โดยมีข้อสังเกตว่า ตามมติ ครม. ได้อนุมัติให้เปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าเอกชนจำนวน 3,200 เมกะวัตต์ แต่ผลการประมูลกลับมีการคัดเลือกโรงไฟฟ้าที่จะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าถึง 4,400 เมกะวัตต์ (เท่ากับเพิ่มโรงไฟฟ้าขึ้นอีก 2 โรง) ดังนั้น การเปิดประมูลไอพีพีครั้งนี้ ขัดกับมติ ครม.หรือไม่
***นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังเคยระบุว่า โครงการที่เข้าเสนอประมูลจะต้องมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มาประกอบการประมูลด้วย แต่ปรากฏว่าในการประมูล ผู้เข้าร่วมประมูลยังไม่ได้จัดทำรายงานอีไอเอเสร็จสิ้นแต่อย่างใด
***รวมทั้งต่อมา กระทรวงพลังงานยังได้กำหนดเงื่อนไขว่า โครงการที่ได้รับคัดเลือกจะต้องจัดทำอีไอเอให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2551 มิฉะนั้นจะต้องถูกตัดสิทธิ์ แต่จนถึงขณะนี้ก็คือ 3 ใน 4 โครงการก็ยังจัดทำอีไอเอไม่แล้วเสร็จ แต่กลับมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ไปเรียบร้อยแล้ว
นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ซึ่งเป็นเดือนที่เกิดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของปี ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างทราบแล้วว่าแผนพีดีพี 2007 มีความผิดพลาดและจะต้องมีการทบทวนแผนใหม่ รวมทั้งต่อมาในครึ่งหลังของปี 2551 วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าการใช้ไฟฟ้าโดยรวมจะลดต่ำลงมาก แต่แทนที่จะทำการทบทวนแผนอย่างเร่งด่วน กฟผ.กลับเร่งรัดทำการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับไอพีพี 3 โครงการในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2551 ซึ่งจะกลายเป็นภาระผูกพันทางการเงินต่อรัฐไปอีก 25 ปี
เหตุการณ์ครั้งนี้เปรียบเทียบได้กับการเร่งรัดทำสัญญาซื้อไฟฟ้าเอกชนในขณะเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 และกลายเป็นโครงการที่ไม่สามารถยกเลิกได้ ถึงแม้จะไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างก็ตาม
3. เงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รัฐอาจเสียเปรียบเอกชน
สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับไอพีพี (Power Purchase Agreement : PPA) เป็นสัญญาสัมปทานที่มีโครงสร้างเช่นเดียวกับสัญญาโรงไฟฟ้าหินกรูด-บ่อนอก ซึ่งเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสัญญาที่รัฐเสียเปรียบเอกชน แม้แต่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในขณะนั้น(นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ก็เคยกล่าวถึงปัญญาดังกล่าว แต่ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดที่เข้ามาตรวจสอบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไอพีพีแต่อย่างใด
4. การปรับปรุงแผนพีดีพี 2007 ครั้งที่ 2
ขณะนี้ กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพีดีพี 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งปรากฏว่า ยังคงมีข้อกังขาหลายประการ กล่าวคือ
4.1 ในการปรับลดตัวเลขพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า คณะทำงานของกระทรวงพลังงานได้จัดทำตัวเลขออกมาเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ปรากฏว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2564 มีค่าลดลงจากแผนพีดีพีเดิม 10,170 เมกะวัตต์ แต่ในการปรับปรุงแผนฯ กระทรวงพลังงานกลับใช้ตัวเลขพยากรณ์ฯ ที่จัดทำโดย กฟผ. ซึ่งเป็นค่าพยากรณ์ที่สูงกว่าของคณะทำงานกระทรวงพลังงาน โดยค่าพยากรณ์ของ กฟผ. ลดลงจากแผนพีดีพีเดิมเพียง 4,333 เมกะวัตต์(ปี 2564)
4.2 ภาพรวมของแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 นี้ ปรากฏว่า กฟผ.ได้สัดส่วนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากขึ้นกว่าแผนเดิม รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากไอพีพีก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
4.3 มีการยัดไส้โรงไฟฟ้าใหม่ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (เอ็กโก้) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. เข้ามาในแผนอย่างผิดหลักการ เนื่องจากเอ็กโก้ถือเป็นบริษัทโรงไฟฟ้าไอพีพี ซึ่งเป็นโครงการที่จะต้องเปิดประมูลแข่งขัน
4.4 มีการปลดโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ. ออกจากระบบเร็วขึ้น โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการรักษาระดับกำลังผลิตสำรองไม่ให้สูงเกินไป
5. ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
กฟผ. ได้มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงแผนพีดีพีครั้งนี้ ซึ่งแผนที่ออกมาก็ดูจะเอื้ออำนวยให้ กฟผ.ได้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากไอพีพี ซึ่งมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทเอ็กโก้ของ กฟผ. ได้มีส่วนในการถือหุ้นอยู่ในโรงไฟฟ้าไอพีพีหลายโครงการที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ด้วย
ในส่วนของกระทรวงพลังงาน นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (เอ็กโก้) ซึ่งเป็นบริษัทไอพีพี ที่ กฟผ.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนอม โดยที่แผนพีดีพีฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 มีการยัดไส้โรงไฟฟ้าใหม่ของเอ็กโก้ที่ขนอมเข้ามาในแผนด้วย
จึงกล่าวได้ว่า กลุ่มผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดแผนพีดีพี ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้ประโยชน์จากการกำหนดนโยบายของตนเองด้วย ซึ่งเป็นการผิดหลักธรรมาภิบาล และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ส่วนรวม
ในการยื่นข้อร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมาธิการฯ ครั้งนี้ เครือข่ายประชาชนฯ ยังได้เสนอข้อมูลสรุปปัญหาของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2551-2564 (PDP2007) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ในเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ณ สโมสรทหารบก โดย นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ตั้งข้อสังเกตไว้หลายประเด็น
นายศุภกิจ ชี้ว่า แผน PDP2007 หรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2551-2564 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เป็นแผนแม่บทที่กำหนดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่กว่า 30,390 เมกะวัตต์ เป็นการลงทุนจำนวนกว่า 1.6 ล้านล้านบาท และโครงการพลังงานเหล่านี้ ก็อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
แต่การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นโดยกระทรวงพลังงานในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมถึงปัญหาต่างๆ ของแผน PDP2007 ฉบับนี้เป็นจำนวนมาก แต่หลายประเด็นไม่มีการตอบแต่อย่างใด และอีกหลายประเด็นยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจน โดยสามารถสรุปปัญหาของแผน PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ได้ดังนี้
1. ปัญหาธรรมาภิบาลในการจัดรับฟังความคิดเห็น
1.1 จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นโดยเร่งรีบ ไม่โปร่งใส และไม่มีส่วนร่วม โดยทางกระทรวงพลังงาน เสนอแผน PDP2007 ปรับปรุงครั้งที่ 2 ให้คณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็น ทางคณะรัฐมนตรี จึงมีมติในวันที่ 28 มกราคม 2552 ให้จัดรับฟังความคิดเห็น ทางกระทรวงพลังงาน เผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และส่งหนังสือเชิญ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยกำหนดจัดในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 และให้ตอบรับภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์
1.2 ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่แผน PDP2007 มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และมีเนื้อหาทางเทคนิคจำนวนมาก
1.3 ไม่มีการติดตามตรวจสอบและระบบความพร้อมรับผิด (Accountability) โดยไม่มีการกำหนดการจัดทำและเผยแพร่รายงานสรุปที่ตอบประเด็นคำถามต่างๆ ในการรับฟังความคิดเห็นและมีแนวโน้มที่จะไม่กำหนดให้มีวาระเฉพาะสำหรับพิจารณาผลการรับฟังความคิดเห็นในการตัดสินใจ
2. ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ กฟผ. และขณะเดียวกัน ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัทผลิตไฟฟ้า (เอ็กโก้) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ด้วย และได้ตัดสินใจให้เพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าที่ อ.ขนอม ขนาด 800 เมกะวัตต์ ในปี 2559 ไว้ในแผน PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งน่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนอมในปัจจุบัน
3. ปัญหาข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
3.1 กำหนดให้ กฟผ. มีสัดส่วนกำลังผลิตรวมเฉลี่ยร้อยละ 50 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่มีการแข่งขันในส่วนนี้เลย
3.2 กำหนดโครงการโรงไฟฟ้าที่ อ.ขนอม เพื่อสนับสนุนนโยบายการผลิต LPG ในประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพราะบริษัทผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนอมในปัจจุบัน และเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. จะมีความได้เปรียบอย่างชัดเจน
4. ปัญหาของการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า
4.1 ความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากผิดปกติ โดยในปี 2552 ใช้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.0 แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเติบโตมากถึงร้อยละ 3.95 ในขณะที่ปี 2553 ใช้ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 3.0 แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเติบโตมากถึงร้อยละ 4.59
4.2 กระทรวงพลังงานเลือกใช้ตัวเลขการพยากรณ์ที่มีค่าสูงมาก โดยคณะทำงานจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า นำเสนอค่าพยากรณ์ที่ลดลงจากแผน PDP2007 ก่อนหน้านี้ถึง 10,170 เมกะวัตต์ในปี 2564 แต่คณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ กลับเลือกใช้ค่าพยากรณ์อีกชุดหนึ่งที่ กฟผ. จัดทำ ซึ่งลดลงจากเดิมเพียง 4,333 เมกะวัตต์ในปี 2564 หรือเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นได้ว่า มีค่าสูงกว่าถึง 5,837 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากถึง 230,000 ล้านบาท
4.3 ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ มีตัวเลขการเติบโตที่สูงมากผิดปกติ ในปี 2552 เติบโตถึงร้อยละ 4.8 หลังจากนั้นในปี 2553-2564 ใช้ตัวเลขการเติบโตในแต่ละปีสูงถึงร้อยละ 6.0 – 7.5
5. ปัญหาของโครงการโรงไฟฟ้าที่กำหนดในแผน
5.1 การเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ หรือ IPP ให้เร็วขึ้น แทนที่จะเลื่อนให้ช้าลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับแผน PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ก่อนหน้านี้ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาบตาพุด จ.ระยอง จาก ม.ค.2555 เป็น พ.ย.2554 และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซที่หนองแซง จ.สระบุรี จาก ม.ค.2558 เป็น มิ.ย. และ ธ.ค. 2557
5.2 การทิ้งโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันของ กฟผ. เอง โดยปลดโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี หนองจอก พระนครใต้ และลานกระบือ พร้อมกันตั้งแต่ ม.ค.2552 รวมกำลังการผลิตถึง 1,364 เมกะวัตต์
5.3 การเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าที่ อ.ขนอม ขนาด 800 เมกะวัตต์ ในปี 2559
5.4 จำกัดโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ทั้งที่ข้อมูลแค่เพียงในปัจจุบัน ก็มากกว่าที่กำหนดไว้ในแผน PDP2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 แล้ว โดยในช่วงปี 2552-2557 กำหนดไว้เพียง 1,986 เมกะวัตต์ ทั้งที่ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ณ เดือน พ.ย.2551 เฉพาะ SPP ประเภท Firm ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จะเพิ่มขึ้นอีก 2,430 เมกะวัตต์ โดยเป็นส่วนที่ขายเข้าระบบเพิ่มขึ้นอีก 1,761 เมกะวัตต์ และยังมี SPP ประเภท Non-firm เพิ่มขึ้นอีก 416 เมกะวัตต์ และขายเพิ่มขึ้นอีก 157 เมกะวัตต์
5.5 ไม่พิจารณาโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าเลย แต่กลับนำไปลดด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ทั้งๆ ที่ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ณ เดือน ธ.ค.2551 มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จะเพิ่มขึ้นอีก 1,386 เมกะวัตต์ โดยเป็นส่วนที่ขายเข้าระบบเพิ่มขึ้นอีก 1,121 เมกะวัตต์
6. ปัญหาของทางเลือกการจัดการด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand-side Management; DSM)
6.1 ไม่นำ DSM เข้ามาพิจารณาเป็นทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้าเลย ทั้งๆ ที่ DSM เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำที่สุดกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงใดๆ แต่ทาง กฟผ. กลับให้เหตุผลว่า เกรงว่า DSM จะไม่ได้รับคัดเลือก จึงนำมาลดค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า
6.2 การอ้างว่าไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอในการนำ DSM มาพิจารณาเป็นทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้า ทั้งที่ กฟผ. กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานอื่นๆ มีการดำเนินงานเรื่อง DSM มากกว่าสิบปีแล้ว และโครงการ DSM ต่างๆ ที่ได้รับเงินสนับสนุนเป็นจำนวนมากจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็มีข้อมูลเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และโครงการ DSM ใหม่ๆ ที่ขอเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ก็แสดงข้อมูลต่างๆ เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน
7. ปัญหาของการเร่งเซ็นสัญญาผูกมัดภาครัฐโดยไม่จำเป็น
7.1 การเซ็นสัญญาทั้งที่การใช้ไฟฟ้าจริงต่ำกว่าแผนอย่างมาก ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มาบตาพุด จ.ระยอง วันที่ 9 ก.ย.2551 ทั้งๆ ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ต่ำกว่าแผน PDP2007 ถึง 1,389 เมกะวัตต์ (คิดเป็นเงินลงทุนส่วนเกินกว่า 40,000 ล้านบาท) และการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน
7.2 การเซ็นสัญญาเพิ่มเติมทั้งที่การใช้ไฟฟ้าจริงยิ่งลดลงและความพร้อมของโครงการยังไม่เรียบร้อย ทาง กฟผ. ยังเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซที่บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และที่หนองแซง จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ทั้งๆ ที่การใช้ไฟฟ้ายิ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้งสองโครงการ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่กลับเร่งเซ็นสัญญาโดยไปกำหนดรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้เป็นเงื่อนไขในสัญญา
อนึ่ง สำหรับเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าครั้งนี้ ประกอบด้วย เครือข่ายรักษ์แปดริ้วคัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา, เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.ประทิว จ.ชุมพร, เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก, เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน, กลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมคัดค้านโรงไฟฟ้าก๊าซ อ.หนองแซง จ.สระบุรี