"รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติป้องกันการทุจริต ห้ามให้ทรัพย์สินหรือซื้อเสียงเพื่อให้นักการเมืองได้รับการเลือกตั้ง อันเป็นวิธีการหนึ่งที่นักการเมืองใช้กันมานานจนเกิดความเคยชิน เป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นการบ่อนทำลายไม่ให้ประชาธิปไตยพัฒนาเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ เนื่องจากนักการเมืองเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ โดยไม่มีความละอาย เพื่อเตรียมไว้ใช้กับการเลือกตั้งต่อไป อันเป็นวงจรเลวร้ายไม่มีที่สิ้นสุด"
เมื่อเวลา 12.00 น. วานนี้ (2 ธ.ค.) ที่ศาลปกครองกลาง นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ว่าการทำงานของศาลเป็นอิสระไม่มีการแทรกแซงหรือกดดันศาล ซึ่งศาลจะวินิจฉัยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเอาไว้ และในสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นเช่นนี้ คำวินิจฉัยของศาลย่อมจะส่งผลให้มีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นและยอมรับคำวินิจฉัยตามระบอบการปกครองโดยกฎหมาย
สำหรับประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยมี 3 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 คือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กรทำความผิดตามพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มา.ซึ่งส.ว.หรือไม่
ประเด็นที่ 2 มีเหตุสมควรให้ยุบพรรคที่ถูกร้องหรือไม่
ประเด็นที่ 3 หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่
ตามรัฐธรรมนูญ 50 มีเจตนารมณ์ให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีบทบัญญัติป้องกันการทุจริต ห้ามให้ทรัพย์สินหรือซื้อเสียงเพื่อให้นักการเมืองได้รับการเลือกตั้ง อันเป็นวิธีการหนึ่งที่นักการเมืองใช้กันมานานจนเกิดความเคยชิน เป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นการบ่อนทำลายไม่ให้ประชาธิปไตยพัฒนาเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ เนื่องจากนักการเมืองเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ โดยไม่มีความละอาย เพื่อเตรียมไว้ใช้กับการเลือกตั้งต่อไป อันเป็นวงจรเลวร้ายไม่มีที่สิ้นสุด
รัฐธรรมนูญ จึงบัญญัติเพื่อป้องกันไว้อย่างเข้มงวด และเป็นการส่งเสริมนักการเมืองที่ตั้งมั่นในสุจริตเข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
***ชี้ “ยงยุทธ” ฝืน กม.เลือกตั้ง ม.53
***ในประเด็นแรก นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กระทำความผิดตามพ.ร.บ.เลือกตั้งหรือไม่นั้น เห็นว่า ประเด็นปัญหาการทำความผิดของนายยงยุทธ ได้มีการต่อสู้ โดยทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้มีโอกาสนำพยานและหลักฐาน เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลฎีกาอย่างเต็มที่แล้ว
***ซึ่งศาลฎีกามีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า นายยงยุทธ กระทำการฝ่าฝืนพ.ร.บ.เลือกตั้งมาตรา 53 และทำให้การเลือกตั้งส.ส. ที่จ.เชียงราย มิได้เป็นไปโดยสุจริต ตามคำสั่งของศาลฎีกาที่ 5019/2551
ประเด็นที่ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วนั้น เป็นประเด็นข้อเท็จจริงเดียวกัน และอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาที่จะวินิจฉัยตามที่กฎหมายกำหนดเขตอำนาจวินิจฉัยของแต่ละศาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 239 วรรค 2 ประกอบกับ พ.ร.บ.เลือกตั้งมาตรา111 บัญญัติให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งโดยเฉพาะ
และเรื่องนี้ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายยงยุทธ กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งมาตรา53 และมีผลให้การเลือกตั้งส.ส.เชียงราย ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
***ประเด็นนี้ จึงยุติตามคำสั่งของศาลฎีกาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้มีอำนาจรับวินิจฉัยหรืออุทธรณ์คำสั่งของศาลฎีกา
*** ข้ออ้าง พปช.หนีผิดฟังไม่ขึ้น
***ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าคำสั่งของศาลฎีกาไม่มีผลผูกพัน พรรคผู้ถูกร้อง หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค เพราะมีบุคคลภายนอกทุจริตนั้น
ศาลเห็นว่า ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยมิใช่ผู้ถูกร้องหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง หรือไม่ แต่เป็นการพิจารณาวินิจฉัยว่า เมื่อนายยงยุทธ ฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้มีการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 และมาตรา68วรรค3หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นเป็นผู้กระทำ ผิดด้วยหรือไม่ คำคัดค้านของผู้ถูกร้อง จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยให้เป็นอย่างอื่นอีก
***ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าการกระทำของนายยงยุทธ เกิดขึ้นก่อนที่พรรคจะมีมติ ส่งนายยงยุทธ ลงรับสมัครเลือกตั้งจึงยังไม่ถือว่าเป็นผู้สมัคร
ศาลเห็นว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นนี้แล้วว่าแม้จะทำก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งก็ตามแต่ภายหลังก็ได้สมัครรับเลือกตั้ง ก็ถือว่าเป็นการกระทำในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นเช่นกัน และไม่มีบทบัญญัติใดที่จะกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลฎีกา เนื่องจากศาลแต่ละระบบนั้นนอกจากจะเป็นอิสระจากการเมืองแล้ว ยังเป็นอิสระต่อกันด้วย
***ยันคดีซื้อเสียงศาลสั่งยุบพรรคได้
***ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยว่าสมควรจะต้องยุบพรรคการเมืองหรือไม่นั้น
ศาลเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรคสองบัญญัติว่าหากมีการทำผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งและมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยการกระทำนั้น หรือมิได้ยับยั้งให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา68 และบัญญัติอีกว่าหากศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองก็ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดเวลา 5 ปีนับตั้งแต่ศาลมีคำสั่ง
บทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าหากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ากรรมการบริหารพรรคผู้ใดมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย การกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่แก้ไขให้สุจริตและเที่ยงธรรม กฎหมายให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางอันไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้ข้อเท็จจริง พรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคจะไม่มีส่วนร่วมก็ได้ กฎหมายถือว่าเป็นผู้กระทำ จึงเป็นข้อยุติที่ไม่อาจโต้แย้งได้
และศาลรัฐธรมนูญ ก็มิอาจวินิจฉัยเป็นอื่นได้ เนื่องจากความผิดในการซื้อเลือกตั้งเป็นความผิดที่ร้ายแรงและผู้กระทำจะใช้วิธีการอันแยบยลกฎหมายจึงบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรค ต้องคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าทำงานกับพรรคและควบคุมดูแลสอดส่องไม่ให้คนของพรรคทำความผิดโดยมีบทบัญญัติให้พรรคการเมืองและผู้บริหารต้องรับผิดตามหลักนิติบุคคลต้องรับผิดชอบของการกระทำของผู้แทนหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นด้วย จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
คดีนี้จึงถือว่ามีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าสมควรยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องหรือไม่
ผู้ถูกร้องเป็นพรรคการเมืองที่เป็นองค์กรที่มีความสำคัญยิ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องเป็นตัวอย่างที่ถูกต้องชอบธรรมและสุจริต การได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง ควรได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความนิยมในตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่เพราะผลประโยชน์หรืออามิสสินจ้างที่เป็นเหตุจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้ กรรมการบริหารพรรคทุกคนควรช่วยทำหน้าที่ควบคุมและดูแลผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่พรรคส่ง ตลอดจนกรรมการบริหารพรรคด้วยกันเอง ไม่ให้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายยงยุทธ กลับใช้วิธีที่ผิดกฎหมายให้ตัวเองได้รับการเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองได้รับส.ส.เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ถูกร้องถือว่าได้รับประโยชน์ และกรณีนี้เป็นเรื่องร้ายแรง
***กก.บห.พรรคต้องมีสามัญสำนึกสุจริตชน
***ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 237 วรรคสอง จะต้องเป็นคนละคนกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง และยืนยันว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นไม่มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือทราบแล้วไม่ระงับยับยั้ง หรือแก้ไขให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต
ศาลเห็นว่าหากผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคเสียเองย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ากรรมการบริหารพรรคคนนั้นย่อมมีเจตนากระทำความผิดยิ่งกว่าเพียงผู้รู้เห็นเป็นใจกับผู้อื่นเสียอีก จึงย่อมไม่มีความจำเป็นต้องให้หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือทราบแล้วไม่แก้ไข
เพราะกรรมการบริหารพรรคที่ทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ก็มีฐานะเป็นกรรมการบริหารพรรคขณะที่กระทำความผิดจึงเป็นกรณีที่ร้ายแรงกว่าบุคคลอื่นเป็นผู้กระทำ อันเป็นไปตามหลักกฎหมายที่ว่า เมื่อกฎหมายห้ามกระทำสิ่งที่ชั่วร้ายใดไว้ สิ่งที่ชั่วร้ายมากกว่านั้นย่อมถูกห้ามไปด้วย ซึ่งตรงกับสามัญสำนึกของสุจริตชนทั่วไป และตรงกับตรรกะที่ว่า ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น ข้ออ้างของผู้ร้องจึงฟังไม่ขึ้น
***ชี้พรรคเข้มแข็งยิ่งต้องมีคุณภาพ
***ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งควรมีความเข้มแข็งและไม่ควรถูกยุบโดยง่าย
ศาลเห็นว่า การเป็นองค์กรที่เข้มแข็งต้องเป็นความเข้มแข็งที่มีคุณภาพมาตรฐานดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยความสุจริต แต่หากเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็งด้วยทางทุจริต ย่อมเป็นการทำลายพรรคการเมืองที่สุจริต และเป็นการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้พรรคที่หย่อนคุณภาพมาตรฐานจะถูกยุบ แต่คนที่มีอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ทางการเมืองตรงกัน ย่อมมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เมื่อใดก็ได้ การยุบพรรคการเมืองที่กระทำผิดจึงเป็นการปลูกฝังการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้เป็นไปโดยสุจริต อันจะเป็นคุณประโยชน์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
***ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าพรรคได้กำหนดมาตรการป้องกันผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของกกต.ก่อนจะประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งโดยจัดประชุมชี้แจงผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคทราบแล้วนั้น
ศาลเห็นว่าแม้จะได้กระทำจริงก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นการรับผิดทางกฎหมาย ในกรณีที่หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคทำผิดเสียเองเพราะในกรณีเช่นนั้นก็แสดงให้เห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่จัดทำไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำความผิดโดยผู้ที่เป็กรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง ผู้ถูกร้องย่อมต้องรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมาย
***กกต.ดำเนินการโดยชอบตาม กม.
***ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆจากการกระทำของนายยงยุทธตามที่มีการกล่าวหา
ศาลเห็นว่า ประเด็นนี้ศาลฎีกาได้มีการวินิจฉัยไว้แล้วว่าการกระทำของนายยงยุทธ ทำให้การเลือกตั้งจังหวัดเชียงราย ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งยังผลให้พรรคของผู้ถูกร้องมี ส.ส.จำนวนมากขึ้น อันเป็นประโยชน์สำคัญประการหนึ่ง
***สำหรับประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าการสืบสวนสอบสวนของ กกต.และการยื่นคำร้องเป็นการละเมิดสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
ศาลเห็นว่า ประเด็นนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ยื่นคำร้องเป็นผู้มีหน้าที่ตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 95 และดำเนินการโดยถูกต้องตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ จึงเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมาย
การที่นายยงยุทธที่เป็นรองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เป็น ส.ส.หลายสมัย มีบทบาทสำคัญจนได้รับยกย่องให้เป็นรองหัวหน้าพรรคและประธานรัฐสภา จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมและสอดส่องดูแลให้สมาชิกพรรคที่ตนบริหารดำเนินการด้วยการสุจริต แต่กลับทำความผิดที่ร้ายแรงเสียเอง และเป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศ จึงมีเหตุสมควรต้องยุบพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานพฤติกรรมทางการเมืองที่ดีงาม เพื่อให้เกิดผลในทางยับยั้งและป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ
***ตัดสิทธิกรรมการบริหาร 5 ปี
***ประเด็นที่ 3 หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกร้อง จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่
ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรค 2 บัญญัติว่าในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด 5 ปีนับจากวันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค ตรงกับมาตรา 68 วรรคสี่ ที่บัญญัติไว้เช่นเดียวกัน
บทบัญญัติดังกล่าว เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย เมื่อศาลมีคำสั่งยุบพรรคแล้วจะต้องเพิกถอนสิทธิของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคที่อยู่ในขณะกระทำความผิดเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งศาลไม่มีดุลพินิจจะสั่งเป็นอื่นได้
***ส่วนข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่าการเพิกถอนสิทธิของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารต้องเป็นกรณีที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคแต่ละคนต้องมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย ตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 98
ศาลเห็นว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคในคดีนี้เป็นการเพิกถอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสาม ประกอบมาตรา 237 วรรคสอง ซึ่งไม่ใช่ตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองและไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นใดก็ตาม บทบัญญัติของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มิอาจลล้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ข้อโต้แย้งจึงฟังไม่ขึ้น
***มติเอกฉันท์ยุบพรรค “พลังประชาชน”
***ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าควรยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากนายยงยุทธ ทำความผิดตามพ.ร.บ.เลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 วรรคสองและให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ซึ่งอยู่ในตำแหน่งในขณะที่กระทำความผิดเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสี่และมาตรา 237 วรรคสอง
////////////////////////
มติ8ต่อ1สั่งยุบทิ้งพรรคชาติไทย
คดียุบพรรคชาติไทย มีประเด็นที่วินิจฉัยใน 3 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 นายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยและกรรมการบริหารพรรคชาติไทย กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 หรือไม่
ประเด็นที่ 2 มีเหตุสมควรจะยุบพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องหรือไม่
ประเด็นที่ 3 หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของผู้ถูกร้องต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่
***ศาลไม่มีอำนาจเปลี่ยนคำวินิจฉัย กกต.
***ในประเด็นข้อที่ 1 นายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทย กระทำความผิดตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 หรือไม่
ศาลเห็นว่าประเด็นปัญหาการกระทำความผิดของนายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยผู้ถูกร้องนั้นได้ผ่านกระบวนการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว อันเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 239 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 อันเป็นกระบวนการองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้
โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 239 วรรค 1 บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีดังกล่าวได้ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่านายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทย ก่อให้ผู้อื่นกระทำสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53
ประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้วินิจฉัยไปแล้วนั้น เป็นประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ และเป็นประเด็นที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะเป็นผู้วินิจฉัยตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 239 วรรค 1 ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 103 บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นการทุจริตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไว้โดยเฉพาะ
ประเด็นเรื่องข้อเท็จจริงเรื่องการกระทำของนายมณเฑียร สงฆ์ประชา เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 หรือไม่ จึงถือเป็นที่ยุติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงลงมติวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ในประเด็นข้อนี้
***ประเด็นที่ 2 มีเหตุสมควรยุบพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องหรือไม่
ศาลเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรค2 บัญญัติไว้เป็นการเด็ดขาดว่า ถ้ามีการกระทำความผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งและปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมือง และ กรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปะละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการหรือมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามมาตรา 68 ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นก็ให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่บัญญัติไว้เด็ดขาดแล้วว่าหากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปะละเลยหรือทราบถึงการกระทำผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
กฎหมายให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้ข้อเท็จจริงพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคการเมือง หรือ กรรมการบริหารพรรค จะไม่ได้เป็นผู้กระทำก็ตาม กฎหมายยังให้ถือว่าเป็นผู้กระทำจึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิอาจโต้แย้งได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่อาจวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้
ทั้งนี้ เนื่องจากความผิดในการทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้งเป็นความผิดที่มีลักษณะพิเศษที่ผู้กระทำจะใช้วิธีการอันแยบยลจนยากที่จะจับได้ กฎหมายจึงบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรค จะต้องคัดเลือกบุคคลที่เข้ามาร่วมทำงานกับพรรคคอยควบคุมดูแล สอดส่อง ไม่ให้คนของพรรคกระทำความผิดโดยที่บทบัญญัติให้พรรคการเมือง และ กรรมการบริหารพรรคการเมือง ต้องรับผิดในการกระทำความผิดของกรรมการบริหารพรรคคนที่ไปกระทำความผิดด้วย
ในทำนองเดียวกันกับหลักความรับผิดของนิติบุคคลทั่วไปที่ว่า ถ้าผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลไปกระทำการใดที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น นิติบุคคลจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้แทนหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นด้วย จะปฎิเสธความรับผิดชอบนี้มิได้
คดีนี้จึงถือได้ว่ามีเหตุตามกฎหมายที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า สมควรยุบพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องหรือไม่
***ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า ผู้กระทำผิดตามมาตรา 237 วรรค 2 จะต้องเป็นบุคคลคนละคนกับบุคคลที่กระทำความผิดตามวรรค 1 และยืนยันว่าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปะละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วที่จะยับยั้งหรือแก้ไขให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้น
ศาลเห็นว่า หากผู้กระผิดตามวรรค 1 เป็นกรรมการบริหารพรรคเสียเองย่อมเป็นประจักษ์ชัดอยู่ในตัวแล้วว่า กรรมการบริหารพรรคคนนั้นมีทั้งเจตนาและการกระทำผิดยิ่งกว่าเพียงรู้เห็นเป็นใจกับผู้อื่นเสียอีก จึงย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ เป็นผู้มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้ง หรือ แก้ไขให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมอีกต่อไป
เพราะกรรมการบริหารที่กระทำความผิดตามวรรค 1 มีฐานะเป็นกรรมการบริหารพรรคในขณะกระทำความผิดด้วย จึงเป็นกรณีร้ายแรงกว่ากรณีบุคคลอื่นที่มิใช่หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้กระทำ อันเป็นไปตามหลักกฎหมายที่ว่าเมื่อกฎหมายห้ามกระทำสิ่งชั่วร้ายใดไว้ สิ่งที่ชั่วร้ายมากกว่านั้นย่อมถูกอ้างไปด้วย ซึ่งตรงกับสามัญสำนึกของสุจริตชนโดยทั่วไปและตรงกับหลักตรรกะที่ว่ายิ่งต้องเป็นเช่นนั้น ข้ออ้างของผู้ถูกร้องจึงฟังไม่ขึ้น
***ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า พรรคได้กำหนดมาตรการป้องกันมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผู้ถูกร้องกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบและประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง โดยจัดประชุมชี้แจงให้ผู้สมัครของพรรคทราบแล้วนั้น
ศาลเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวแม้หากได้กระทำจริงก็มิได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคไปทำผิดเสียเอง เพราะในกรณีเช่นนั้นย่อมเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่า มาตรการต่างๆ ที่จัดทำไปนั้นมิได้ผลบังคับใช้แต่อย่างใด แม้ตามคำแถลงการณ์ของหัวหน้าพรรคการเมืองผู้ถูกร้องจะเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอยู่มากก็ตามแต่เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำผิดโดยผู้ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องแล้ว ผู้ถูกร้องย่อมต้องรับผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ด้วย
ตามที่นายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทย และ กรรมการบริหารพรรคชาติไทย มิบทบาทสำคัญในพรรคของผู้ถูกร้อง จึงเป็นผู้มีหน้าที่ควบคุม และสอดส่องดูแล ให้สมาชิกของพรรคที่ตนบริหารอยู่กระทำการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่กลับเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง อันเป็นความผิดร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ
กรณีจึงมีเหตุสมควรยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานทางการเมืองที่ดีงามเพื่อให้เกิดผลในทางยับยั้งป้องปรามมิให้เกิดกระทำความผิดซ้ำอีก
***ประเด็นที่สาม หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ ศาลได้วินิจฉัยในทำนองเดียวกันกับกรณีการสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ข้างต้น
***ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติ 8 ต่อ 1 จึงวินิจฉัยว่าให้ยุบพรรคชาติไทย เนื่องจากนายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทย และ กรรมการบริหารพรรคชาติไทย กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรค 2
และลงมติ 8 ต่อ 1 ให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่กระทำความผิดเป็นระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรค 2
//////////////////////////////
มติเอกฉันท์ปิดฉากมัชฌิมาธิปไตย
ศาลได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย ว่าการที่นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย มีบทบาทสำคัญภายในพรรคจึงมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องสอดส่องดูแลกันในพรรคให้สมาชิกพรรคที่ตนบริหารอยู่ กระทำการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่กลับเป็นผู้กระทำความผิดเสียเองอันเป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ
กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จะต้องยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน พฤติกรรมทางการเมืองที่ดีงามและเพื่อให้เกิดผลในการยับยั้ง ป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก
***กรณีที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 103 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 237 นั้น
ศาลเห็นว่ามาตรา 103 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว มิได้ขัดหรือแย้งต่อ รธน. 237 แต่เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกัน พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การสิ้นสุดสภาพนิติบุคคลของพรรคการเมืองจึงเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การยุบพรรคเป็นการสิ้นสุดสภาพของพรรคการเมือง ประเภทหนึ่ง ที่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ได้ มิใช่ จำกัดเฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ให้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น
***ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจสั่งยุบพรรค แต่มีอำนาจสั่งให้เลิกกระทำการ ตามมาตรา 68 วรรค 3 เท่านั้น
ศาลเห็นว่าการร้องขอให้ยุบพรรคตามคำร้องในคดีนี้ เป็นการร้องขอให้ยุบพรรคตามมาตรา 237 วรรค 2 ประกอบกับมาตรา 68 มิใช่เป็นการร้องขอให้ยุบพรรคตามมาตรา 68 เพียงลำพัง ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยยุบพรรคได้ โดยไม่จำเป็นต้องสั่งให้เลิกกระทำการตามมาตรา 68 วรรค 3
สำหรับการยื่นคำร้องของผู้ร้องนั้น เป็นการยื่นคำร้องต่อศาลตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 95 และได้ดำเนินการมาโดยถูกต้องตามครรลองแห่งข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ทุกประการแล้ว จึงเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมาย
***ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า นายประชัย เลี่ยวไพรัช หน.พรรคได้ลาออก ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2550 แล้ว จึงถือว่ากรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งแล้วนั้น
ศาลเห็นว่า แม้ว่าหัวหน้าพรรคจะลาออกทำให้กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง แต่ตามข้อบังคับของพรรคผู้ถูกร้อง พ.ศ. 2550 ข้อ 30 วรรค 5 กำหนดให้กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ ต่อไปจนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เช่นนี้จึงต้องถือว่า นายสุนทร ยังเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง อยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้เป็นเพียงผู้รักษาการก็ไม่ทำให้ฐานะเปลี่ยนแปลงไป
ประเด็น หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งบหรือไม่ ศาลได้วินิจฉัยในทำนองเดียวกับกรณีพรรคพลังประชาชนและพรรคชาติไทย ข้างต้น
ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้อง และผู้เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ทั้งหมดจึงฟังไม่ขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
***ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่า ให้ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากนายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตยกระทำความผิด ตามพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้ง มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรค 2
และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยและกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธปไตยซึ่งรักษาการในตำแหน่งดังกล่าวอยู่ ในขณะที่กระทำความผิด เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรค ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 4 ประกอบมาตรา 237 วรรค 2