ผู้จัดการรายวัน – อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ 26 แห่ง - นักวิชาการ-แพทย์ชนบท-เอ็นจีโอ-คณะกก.สิทธิฯ – องค์กรสื่อ - องค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศ ผนึกพลังต้าน "สมัคร" ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประณามรัฐบาลตัวการยุยง ปลุกระดม เสี้ยมนปก.ให้เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงเข่นฆ่าไล่ตีพันธมิตรที่สะพานมัฆวานฯ สร้างสถานการณ์รุนแรง เพื่องัดกม.เผด็จการมาจัดการสลายม็อบพันธมิตรโดยอาศัยทหารเป็นเครื่องมืออย่างไร้ความรับผิดชอบ ทุกภาคส่วนกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก – ยุบสภา ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉิน ยุติความขัดแย้ง รุนแรง ทันที
ตลอดวันที่ 2 ก.ย. 2551 หลังจากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรากฏว่า กระแสเสียงจากสังคมไม่ว่าจะเป็นบรรดานักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัย บุคลาการด้านการศึกษา เอ็นจีโอ องค์กรสิทธิมนุษยชน นักศึกษา ประชาชน กลุ่มแพทย์ชนบทและบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั่วประเทศ ฯบฯ ต่างออกมาเคลื่อนไหวประณามรัฐบาลที่สร้างสถานการณ์ความรุนแรงเพื่อประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นอกจากนั้น ยังได้คัดค้านการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียง พร้อมกับขอให้ยกเลิกการใช้กม.เผด็จการดังกล่าวทันที และเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ลาออก เพื่อยุติความขัดแย้งและความรุนแรง
***นิด้า เตือนทหารอย่าตกเป็นเครื่องมือ
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารสถาบันเพื่อหารือถึงสถานการณ์ของบ้านเมือง และออกแถลงการณ์ของสถาบันฉบับที่ 1 ต่อวิกฤตการเมือง ว่าจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช.กับกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมอบหมายให้ ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าผู้รับชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางสถานบันขอแสดงความเสียใจและความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ทางสถาบันขอเสนอแนะ 3 ประการ คือ 1.ขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีอย่างเคร่งครัด ไม่ยั่วยุ ก่อกวนที่จะนำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม หรือก่อให้เกิดความรุนแรงในประเทศมากยิ่งขึ้น
2. วิกฤตการณ์ครั้งนี้ เป็นวิกฤตการทางการเมือง การใช้มาตรการทางกฎหมายไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และอาจเป็นการสร้างเงื่อนไข ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น จนยากที่จะควบคุมได้ อันจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างใหญ่หลวง
และ 3.การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลปัดภาระความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและใช้ทหารเป็นเครื่องมือ ทางสถาบันขอให้ ผบ.ทบ.พิจารณาไตร่ตรองตัดสินใจ และกระทำการใดๆ อย่างรอบคอบ โดยหลีกเลี่ยง การตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง ซึ่งอาจนำความเสียหายมาสู่กองทัพแห่งชาติได้
นายสมบัติ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การใช้เลือกใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นไม่ได้ผลและไม่เคยได้ผลมาแล้วทั่วโลก เมื่อเกิดวิกฤตของบ้านเมือง ขณะนี้รัฐบาลกำลังใช้กองทัพเป็นเครื่องมือรักษาสถานภาพของตนเอง หากกองทัพใช้อำนาจตามกม.ฉบับนี้เข้าสลายการชุมนุมจะเกิดความรุนแรงถึงขั้นกลียุค ความเสียหายเกิดขึ้นเพียงเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองไม่กี่คน แต่หากกองทัพไม่ทำผู้นำกองทัพก็จะกลายเป็นผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ
**ผู้บริหาร มธ.กดดัน "หมัก"ยุบสภา
ทางด้านผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี คณบดีทุกคณะ และคณะผู้บริหาร มธ. 42 คน ได้ลงนามในแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2551 ความว่า ตามที่ได้มีความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้ลุกลามไปสู่การปะทะกันด้วยกำลังอาวุธของกลุ่มประชาชนฝ่ายต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร จนนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเช้าวันที่ 2 ก.ย. 2551 นั้น
อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนักและผู้อำนวยการสถาบัน ในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการคลี่คลายวิกฤต และหาทางออกให้แก่ชาติบ้านเมืองโดยไม่ให้มีการเสียเลือดเนื้อและก่อให้เกิดความเสียหายมากยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจงดเว้นการใช้กำลัง และการใช้ความรุนแรงใดๆ ต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่าย โดยขอให้ทำหน้าที่ในการรักษาความเรียบร้อย ควบคุมสถานการณ์ และป้องปรามมิให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นไปอีกเท่านั้น
2. ขอให้กลุ่มพันธมิตร และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยุติการเคลื่อนไหวออกนอกที่ชุมนุมของตน ไม่กระทำการยั่วยุอีกฝ่ายหนึ่งหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่ใช้อาวุธหรือดำเนินการด้วยความรุนแรงใดๆ ต่อกันอีก
และ 3. ขอให้นายกรัฐมนตรีคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยการเสียสละให้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ตามวิถีทางประชาธิปไตย
**อ.นิติฯ-รัฐศาสตร์จวกรัฐฯบิดเบือน
ทางด้านคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และคณะอื่นๆ จำนวน 29 คน จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น ธรรมศาสตร์- จุฬาฯ - ศิลปากร - สุโขทัยธรรมาธิราช - อุบลราชธานี ฯลฯ นำโดย ศ.ดร. ไพโรจน์ กัมพูสิริ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์เช่นกัน
แถลงการณ์ ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังจะบิดเบือนสถานการณ์จากความฉุกเฉินของรัฐบาลที่ปราศจากความชอบธรรมในการดำรงอยู่ให้กลายเป็นความฉุกเฉินของบ้านเมือง และอาศัยกองกำลังของทหารเข้ามาปราบปรามประชาชน เพื่อรัฐบาลจะได้มีความชอบธรรมในการบริหารราชการบ้านเมืองต่อไป
ทางคณาจารย์ขอเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพฯ ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายและรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ และขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ใช้วิธีการเจรจาคลี่คลายสถานการณ์ แทนการใช้กำลังทหารหรือตำรวจหรือกองกำลังอื่นในการแก้ปัญหาอันเป็นปัญหาทางการเมือง
นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งโดยทันที เพราะขาดความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินและขาดความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐต่อไป หรือยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน
หากข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่สัมฤทธิผล ขอเรียกร้องให้ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาลาออกเพื่อปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้วิกฤตของปัญหาก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง
นายไชยันต์ ไชยพร อ.ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปะทะที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้กลุ่ม นปก. เข้ามาเผชิญหน้ากับกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งที่ตำรวจควรสกัดและต้องจับ ดังนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้เห็นเป็นใจ
นายไชยยันต์ กล่าวต่อว่า ตนได้ฟังรายการวิทยุ 92.75 ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ปะทะ พิธีกรได้ประกาศว่า ให้เคลื่อนตัวไปทำลายพันธมิตรซึ่งเจ้าหน้าที่จะเปิดทางให้ เมื่อเป็นอย่างนี้กลุ่มพันธมิตรก็มีสิทธิ์ป้องกันตัว และทราบข่าวว่า ผู้ที่เสียชีวิตนั้นเป็นฝีมือของมือที่สามนอกเครื่องแบบที่สวมรอยเพื่อทำให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้น
นายไชยันต์ กล่าวว่า ทางออกขณะนี้คือ นาย สมัคร สุนทรเวช ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี ส่วนแกนนำพันธมิตรก็ควรมอบตัว เพราะถ้าไม่มอบตัว นปก.ก็จะอ้างชุมนุมเพื่อคัดค้านต่อไป
ศ.สมบรูณ์ สุขสำราญ ราชบัณฑิต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า นาย สมัคร ต้องลาออกสถานเดียวเท่านั้น สถานการณ์ถึงจะยุติ และพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ต้องทำในสิ่งที่ถูก อย่าลืมว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกิดจากการยั่วยุ วางแผน สร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนสั่งการปลุกระดมให้คนเหล่านี้ออกมา
** 50 อ.มหิดลค้านใช้กม.ติดหนวด
ด้านมหาวิทยาลัยมหิดล 50 อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ แถลงประณามความไร้สัจจะของรัฐบาลและการสร้างสถานการณ์การยั่วยุและเริ่มต้นก่อความรุนแรงจากกลุ่มประชาชนของฝ่ายรัฐบาล อันนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บในคืนวันที่ 1-2 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกทันที
นอกจากนี้ ยังขอให้ยกเลิกการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะขาดความชอบธรรมในการบังคับใช้ เนื่องจากมีที่มาจากการยั่วยุให้เกิดเหตุความรุนแรง และหวังผลทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่รุนแรงและบานปลายมากยิ่งขึ้น
พร้อมกับขอให้ผู้บัญชาการทหารบกปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน ถูกต้องชอบธรรม และประโยชน์สุขของประเทศชาติ
ขณะเดียวกัน กลุ่มพี่น้องมหิดล ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรและเครือข่ายทางการแพทย์ ยังออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ประณามรัฐบาลที่มัวเมาในอำนาจ ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนทำลายกันเอง แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ด้วยการลาออกไป
นพ. ประยงค์ เต็มชวาลา นักวิชาการและอดีตนายกสโมสรนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กล่าวว่า นายสมัครต้องลาออกถึงจะยุติสถานการณ์ความขัดแย้ง เพราะปล่อยให้ลูกพรรคพลังประชาชนนำประชาชนออกมาปะทะกับกลุ่มพันธมิตรที่ชุมนุมอย่างสงบ
**26 อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐให้สมัครยุบสภา-ออก
รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ 26 แห่ง กล่าวว่า ทปอ.ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 แสดงความกังวลและห่วงใยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดจนสวัสดิภาพของประชาชนชาวไทย จึงออกแถลงการณ์ของ ทปอ.ขอร้องมายังผู้เกี่ยวข้องและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโปรดดำเนินการ ดังนี้
1.ละเว้นการใช้วิธีการใดๆ ที่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง อันอาจเกิดการทำร้ายร่างกาย การสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตโดยเด็ดขาด 2.ละเว้นการปฎิบัติการหรือใช้วิธีการใดๆ ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน
3.ยุติการสื่อสารและการนำเสนอข้อมูลหรือข่าวสารที่นำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยก หรือแบ่งฝ่ายในชาติ และ4.สนับสนุนให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ตามความเป็นจริง
ในตอนเย็นของวันเดียวกัน ทปอ. ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ขอให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภา และยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
**300 บุคลากรทางการศึกษา11สถาบันจี้ลาออก
กลุ่มนักวิชาการและบุคลากร จำนวนกว่า 300 คน จาก 11 สถาบัน นำโดย รศ. ดร.บุญเจริญ ศิริเนาวกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยังได้ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงและเรียกร้องให้รัฐบาลเสียสละด้วยการยุบสภาเพื่อคืนความสงบสุขแก่บ้านเมือง
** จุฬาฯค้านปิดกั้นข่าวสาร
นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายละเว้นการกระทำใดๆ ที่จะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง และเกิดการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต รวมทั้งให้ละเว้นการปฏิบัติการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน ส่วนสื่อนั้นขอให้ยุติการเสนอข่าวสารที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ให้นำเสนอข่าวสารตามความเป็นจริง และต้องไม่ปิดกั้นข่าวสารประชาชน
**อาจารย์ ม.บูรพาจี้ลาออก-ยุบสภา
นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือเป็นความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าใครเป็นผู้ก่อให้เกิดสภาวะเช่นนี้ รัฐบาลกับนปช.นั้นเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กัน ทางออกที่ดีนายกรัฐมนตรีควรเสียสละด้วยการลาออก
**นักวิชาการใต้อัด 'หมัก' สร้างเงื่อนไข
นายจรูญ หยูทอง นักวิชาการในเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมภาคใต้ กล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ปลุกระดมกลุ่มนปช.ให้เคลื่อนขบวนเข้าปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อสร้างสถานการณ์และเงื่อนไขประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
"ความพยายามของรัฐบาลนอกจากจะไม่เป็นผลแล้ว ยังทำให้มวลชนของกลุ่มพันธมิตรฯ ยิ่งเกิดความไม่พอใจและน่าจะรวมกันต่อต้านรัฐบาลจำนวนมากเหมือนเมื่อครั้งที่มีการใช้กำลังตำรวจสลายกลุ่มผู้ชุมนุม" นายจรูญ กล่าว
**จับตารัฐฯฉวยโอกาสปฏิวัติตนเอง
นายธีรวัฒน์ ลอยวิรัตน์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่ามา นำมาสู่พระราชกำหนดฉุกเฉิน ในส่วนตัวคิดว่า นายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล อยากจะประกาศตั้งนานแล้ว เพียงแต่รอเงื่อนไขบางประการเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตนเองคิดว่าสถานการณ์ยังไม่สุกงอมเต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่กังวลและคิดว่าสถานการณ์อาจจะบานปลายมากขึ้น และเกรงว่าจะเกิดการปฏิวัติ รัฐประหารตัวเองของรัฐบาล
**แพทย์ชนบทขับสมัคร-จี้เลิก พ.ร.ก.
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกแถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท ฉบับที่ 3 ขอให้รัฐบาลสมัคร ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และรับผิดชอบต่อการปราบปรามประชาชนด้วยการลาออกจากการเป็นรัฐบาล
ชมรมแพทย์ชนบท วิเคราะห์สถานการณ์แล้ว เห็นว่า ปรากฏการณ์การปะทะกันของกลุ่มประชาชนในครั้งนี้ เป็นความจงใจ และตั้งใจของคนในรัฐบาลที่มี ส.ส.พรรคพลังประชาชนไปปลุกระดมมวลชนกลุ่ม นปช.สั่งให้เคลื่อนการชุมนุมเพื่อหวังให้เกิดการปะทะนองเลือด ด้วยความร่วมมือของตำรวจที่เปิดทางให้เกิดการปะทะ เพื่อสร้างเงื่อนไขให้กับรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อเข้าสลายการชุมนุมตามกฎหมาย เพราะคำสั่งศาลที่รัฐบาลเคยจะใช้เป็นข้ออ้างในการสลายการชุมนุมนั้น ศาลได้ยกเลิกไปแล้ว
การออกพ.ร.ก.ครั้งนี้ เป็นการมุ่งใช้กฎหมายบ้านเมืองเพื่อปราบปรามประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ชุมนุมอย่างสันติ สร้างความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง และจากสถานการณ์บ้านเมืองที่มีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงว่าอาจจะก่อให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ ชมรมแพทย์ชนบท ขอแสดงจุดยืนและความเห็น สรุปได้ดังนี้
1.ขอให้รัฐบาลประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยทันที การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางครั้งนี้มีเพียง 2 ทาง คือ รัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภาในทันที 2.ขอเรียกร้องต่อ พลเอก อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และหน่วยทหารทุกหน่วย ขออย่าได้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองที่มุ่งเข่นฆ่าประชาชนฝ่ายตรงกันข้าม อย่าทำร้ายประชาชน
3.ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากความจงใจของรัฐบาลที่อยู่เบื้องหลังในการปล่อยให้กลุ่มมวลชนปะทะกันเพื่อหวังผลทางการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และต้องมีความรับผิดชอบ โดยรัฐบาลต้องลาออก และพรรคร่วมรัฐบาลต้องถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล
และ 4.ชมรมแพทย์ชนบทขอเรียกร้องต่อสมาชิกแพทย์และวิชาชีพสุขภาพทั้งประเทศ ได้แสดงจุดยืนอารยะขัดขืน สนับสนุนการชุมนุมอย่างสงบในทุกจังหวัด
**แพทย์จุฬาฯ แถลงสาปส่ง
ส่วนกลุ่มคณาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และบุคลากรทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ศ.นพ.ประสิทธิ์ ฟูตระกูล และ ศ.นพ.ประมวล วีรุตมเสน ร่วมกับคณะจารย์คณะแพทย์อีก 50 คน ออกแถลงการณ์กลุ่มคณาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และบุคลากรทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 1)
แถลงการณ์ดังกล่าวได้ประณามผู้อยู่เบื้องหลังการใช้กำลังทำร้ายประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบ แต่เมื่อประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ต้องดำเนินการทุกวิถีทางสกัดกั้นมิให้เกิดการปะทะกัน และหากเกิดความรุนแรง ขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอำนวยความสะดวกและคุ้มครองทีมแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาประชาชนไม่ว่าฝ่ายใดโดยไม่มีเงื่อนไข พร้อมกับขอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยการลาออก
**ชมรมเภสัชชนบทร่วมขับไล่
ส่วนชมรมเภสัชชนบท มูลนิธิเภสัชชนบท และกลุ่มศึกษาปํญหายา ออกแถลงการณ์เพื่อยุติปัญหาความรุนแรง โดยแถลงการณ์ขอคัดค้านการชักนำประชาชนเข้าสู่การทำลายล้างเพื่อเป้าประสงค์ในการรักษาอำนาจของรัฐ รัฐบาล และจึงขอประณามกลุ่มบุคคลที่ชักนำสถานการณ์เพื่อก่อความรุนแรง ทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากในช่วงคืนวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา รวมทั้งขอให้ประชาชนประท้วงไม่ยอมรับการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเสียสละด้วยการลาออกเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง และขอให้ผบ.ทบ.คำนึงถึงความถูกต้องและปลอดภัยในสวัสดิภาพของประชาชน
**นักธุรกิจ-แพทย์-นักวิชาการโคราชประณาม
วานนี้ (2 ก.ย.) ที่ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา องค์กรภาคประชาชน นักธุรกิจ กลุ่มแพทย์พยาบาล และทนายความในจังหวัดนครราชสีมา และสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด ฯลฯ ร่วมกันแถลงข่าว พร้อมออกแถลงการณ์เรื่อง "ประณามรัฐบาลทรราชสมัคร สุนทรเวช เข่นฆ่าประชาชน"
ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี เลขาธิการสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด ได้อ่านแถลงการณ์ สรุปได้ว่า รัฐบาลนายสมัคร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำอันป่าเถื่อนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ จึงขอประณามการจัดฉากสร้างเหตุการณ์เข่นฆ่าประชาชน และขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนทั้ง 76 จังหวัด ลุกขึ้นมาดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องที่ชุมนุมด้วยสันติในทำเนียบฯ และราชดำเนิน ต่อสู้กับรัฐบาลทรราช โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะต้องอยู่เคียงข้างประชาชน
ด้าน นพ.พินิศจัย นาคพันธุ์ แกนนำกลุ่มแพทย์พยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า กลุ่มแพทย์พยาบาลรวมถึงบุคลากรในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ไม่เห็นด้วยในการกระทำของรัฐบาลที่ทำร้ายเข่นฆ่าประชาชนและใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิดซึ่งก่อให้เกิดปัญหากับชาติบ้านเมือง และยังคงยืนยันข้อเรียกร้องเดิมคือ ให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะลาออกไป
นายทวิสันต์ โลนานุรักษ์ เรียกร้องไปยังนักธุรกิจทั่วประเทศให้ช่วยกันแสดงพลังเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่กระทำต่อประชาชน เพราะคนที่ทำลายเศรษฐกิจวันนี้คือรัฐบาลไม่ใช่ประชาชน รัฐบาลต้องพิจารณาตัวเอง
ส่วน นายเพทาย คำภา เลขาธิการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาและทนายความ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี หมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ตนในฐานะตัวแทนหอการค้าและนักธุรกิจในจังหวัดนครราชสีมา ขอเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหรือยุบสภา
***ครส.ประณาม "หมัก"ยืมมือทหารสลาย พธม.
ทางด้านคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกแถลงการณ์เช่นเดียวกันว่า เหตุการณ์ปะทะกันของกลุ่มนปช.และพันธมิตรฯ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยให้อำนาจผบ.ทบ.เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อหวังให้มีการใช้กำลังทหารสลายม็อบพันธมิตร
ทั้งยังปรากฏว่า คนของรัฐบาลส่วนหนึ่งอยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าสนับสนุนให้นปช.เดินขบวนจากสนามหลวงมาปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิกเฉยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ควบคุมสถานการณ์ ครส.จึงขอประณามรัฐบาลและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึงรักษาการผู้บัญชาการกองบังคับการตำรวจนครบาล (บช.น.) และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก
ครส. ยังระบุว่า การออกประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเกิดจากสถานการณ์ความรุนแรงที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเองแล้ว รัฐบาลไทยจะต้องแจ้งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (ICCPR.) มาตรา 4 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกผ่านเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ (UN) ก่อนบังคับใช้ เพื่ออธิบายความชอบธรรมของรัฐภาคีในการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีข้อบังคับในการรอนสิทธิและละเมิดสิทธิมนุษยชน
**นักวิชาการ-NGOเหนือบี้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
วานนี้( 2 ก.ย.) ที่บ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายประชาสังคมเพื่อความสมานฉันท์ภาคเหนือ ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชนและศาสนา แถลงขอให้แกนนำ ทั้งฝ่ายพันธมิตรฯ และ นปช.ยุติการสร้างเงื่อนไขสู่การใช้ความรุนแรง อันจะนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อ ชีวิตประชาชนหรือการรัฐประหาร และขอให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลาออก และยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพฯ
ในการแถลงการณ์ครั้งนี้ ทางเครือข่ายประชาสังคมเพื่อความสมานฉันท์ภาคเหนือ ได้ร่วมกันทำการจุดเทียนและยืนสงบนิ่ง เพื่อเรียกร้องให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงและขอให้สังคมไทยกลับคืนสู่ความสงบสุขโดยเร็วด้วย
**หมอ-พยาบาลขอนแก่นขู่ใช้อารยะขัดขืน
ที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชบิดากรมหลวง สงขลานครินทร์ กลุ่มนักวิชาการบุคลากรและนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกลุ่มแพทย์และพยาบาล และนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมอ่านแถลงการณ์ คัดค้านการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
รศ. นพ. ชวลิต ไพโรจน์กุล นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) อ่านแถลงการณ์โดยขอให้ยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวโดยทันที ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่การบาดเจ็บ และสูญเสียชีวิตของคนไทยทุกฝ่าย ขอให้กลุ่มแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ พร้อมเข้าช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างเต็มที่
และขอเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลาออกจาก ทั้งนี้หากไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเสนอข้างต้น กลุ่มแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จะใช้มาตรการอารยะขัดขืนจนถึงที่สุด
**เครือข่ายประชาชน4ภาคร่วมประณาม
เครือข่ายประชาชน 4 ภาค ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาล โดยนายวชิระ ศุภรมย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายประชาชน 4 ภาค กล่าวว่า การปะทะกันของกลุ่มพันธมิตร และ นปช.รัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นในการสร้างความรุนแรงดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสลายม็อบพันธมิตรฯ ในที่สุด ซึ่งเครือข่ายฯ ขอประณามการกระทำดังกล่าวและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออก
**มูลนิธิ14 ตุลาฯ วอนยุติรุนแรง
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลาฯแถลงต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยประณามการก่อความรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บในคืนวันที่ 1-2 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งน่าเชื่อว่ารัฐบาลอาจมีส่วนก่อให้เกิดขึ้น หรือมิฉะนั้นก็มิได้มีความพยายามที่จะป้องกันและระงับเหตุการณ์อย่างเหมาะสม นายกรัฐมนตรีซึ่งพูดว่า พร้อมรับผิดชอบทั้งหมด จึงต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก
การประกาศบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อเช้าวันที่ 2 กันยายน 2551 ไม่มีเหตุผลสมควร แต่ส่อว่ามีเจตนาแอบแฝงที่จะสลายการชุมนุม ที่ดำเนินการด้วยความสงบตามสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงขอให้รัฐบาลถอนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อไม่ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่รุนแรงและบานปลายมากยิ่งขึ้น
มูลนิธิฯ ยังประณามการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และขอให้สื่อมวลชนยืนหยัดในการทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาอย่างรอบด้าน และเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลออกมาร่วมรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองในการคัดค้าน หรือยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง
นอกจากนั้น ขอให้ทหารทุกเหล่าทัพ โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบก ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักความถูกต้องชอบธรรม คำนึงถึงความปลอดภัย และสวัสดิภาพของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด
*** คณะกก.สิทธิฯค้านออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงขอให้ รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรงและต้องตรวจสอบ ทบทวน ความชอบธรรม ความรับผิดชอบของรัฐบาล
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แสดงจุดยืนที่เด่นชัดว่า ไม่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยุติความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา มีแต่ทำให้การชุมนุมและการต่อสู้ของประชาชนขยายตัวยิ่งขึ้น
การเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเวลาตั้งแต่ตีหนึ่งวันที่ 2 ก.ย. 2551 ทำให้เกิดความเศร้าเสียใจต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ได้ควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงได้แล้ว แต่รัฐบาลกลับใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ
กสม. ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา หากแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้าย และเกิดความรุนแรงบานปลายยิ่งขึ้น
กสม.ได้เคยมีข้อเสนอแนะท้วงติง การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2548 และคัดค้านการใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2550
และในครั้งนี้ กสม.ขอคัดค้านอีกเช่นเดียวกัน เพราะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อระบบการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น
ประการสำคัญ ยังละเลยและมองข้ามปัญหาหลักของประเทศ คือ บทบาทและความรับผิดชอบของรัฐสภาและนักการเมือง ซึ่งต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารให้ใช้อำนาจรัฐตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และถูกต้องทำนองคลองธรรม
*** 5องค์กรสื่อประณามรัฐฯตัวการยุยงนำนปช.ตีพันธมิตรฯ
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแถลงประณามรัฐบาล รัฐมนตรี ตัวการปลุกเร้ายุยงนำขบวนนปช.ใช้ความรุนแรงทำร้ายม็อบพันธมิตรฯ สร้างสถานการณ์ให้เลวร้ายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยเพราะเป็นกม.ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน คุกคามสื่อ ปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ขัดต่อหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น จี้สมัครยกเลิกประกาศฉุกเฉินทันที
วานนี้ (2 ก.ย.) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์หลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ความว่า ตามที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพ.ร.ก.ดังกล่าว เมื่อช่วงเช้าวันอังคารที่ 2 ก.ย. 2551 โดยมีเนื้อหามุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หลายประการ
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ประชุมหารือกันแล้ว มีความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
1) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เห็นด้วยกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพ.ร.ก.ดังกล่าว เนื่องจากพ.ร.ก.ฉบับนี้ มิได้ตราขึ้นโดยหลักนิติธรรม และมีเนื้อหาขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550โดยชัดแจ้ง นอกจากนี้ กระบวนการตรากฎหมายที่ใช้รูปแบบของการออกพ.ร.ก. ไม่ใช่กระบวนการตรากฎหมายตามปกติ ทั้งยังรวบรัดและมุ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
2) แม้ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เหตุผลและที่มาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ถือว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะขณะนี้ สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น คลี่คลายลงจนอยู่ในขั้นที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงได้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องอำนาจประกาศสถานฉุกเฉินฯ และควรยกเลิกประกาศนี้ในทันที
3) เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยสื่อมวลชนต่างๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่อกลางดึกคืนวันจันทร์ที่ 1 ก.ย. 2551 ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า แกนนำ รวมทั้งรัฐมนตรีบางคนของพรรครัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าและนำขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถือเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เลวร้ายและสร้างความชอบธรรมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว
4) การที่เนื้อหาบางส่วนในการประกาศใช้ข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ดังกล่าว ให้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินออกข้อกำหนดห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือการทำให้เผยแพร่ ซึ่งหนังสือพิม์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นั้น ถือเป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ตามบทบัญญัติมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 อย่างชัดแจ้ง
อีกยังจะกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน อันจะนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้นของสถานการณ์ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ทางการเมืองเมื่อสื่อมวลชนถูกปิดกั้นการเสนอข่าวสาร
5) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ใช้ความอดทนอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบไม่ว่ากรณีใดๆ รวมทั้งการพยายามยั่วยุประชาชนให้ใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง การประกาศของแกนนำผู้ชุมนุม และการใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือโดยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว
6) ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤตที่นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว อำนาจในการจัดการสถานการณ์ความไม่สงบถูกส่งผ่านไปยังกองทัพบกคง ดังนั้น ผู้บัญชาการทหารบกจึงควรใช้อำนาจที่มีอยู่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองและไม่ฉกฉวยสถานการณ์เช่นนี้ ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เพราะบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ยืนยันแล้วว่า การรัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ แต่ยิ่งกลับทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 5 องค์กรมีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์วิกฤตของประเทศไทยในขณะนี้ ยังมีทางออกโดยใช้กระบวนการสันติวิธี และขณะนี้ ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอทางออกต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันอย่างเข้มข้น
องค์กรสื่อมวลชนต่างๆ ที่มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร จึงควรยึดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด ด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ประชาชนก็จะสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างถูกต้องในที่สุด
*** เอ็นจีโอ 300 องค์กรตะเพิด"หมัก"
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กว่า 300 องค์กร อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA WATCH) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น ร่วมกับสมัชชาคนจน และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ประกอบด้วย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ตัวแทนสมัชชาคนจน นางสุนทรี เซ่งกิ่ง เลขาธิการ กป.อพช. นายไพโรจน์ พลเพชร ประธาน กป.อพช. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ตัวแทน FTA WATCH และนายวีรพงษ์ เกรียงศิลป์ยศ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมออกแถลงการณ์ "กป.อพช.และเครือข่ายองค์กรประชาชน เรื่องนายกรัฐมนตรีต้องลาออก เพื่อให้มีการแก้วิกฤตการเมืองโดยสันติวิธี" โดยทั้งหมดพร้อมใจกันสวมเสื้อสีดำ
นายไพโรจน์ ได้อ่านแถลงการณ์ดังกล่าว ว่า กป.อพช.และเครือข่ายภาคประชาชน มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมีความเห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอาจนำไปสู่ความรุนแรงและการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น เพื่อยุติความรุนแรงและยับยั้งการฉวยโอกาสรัฐประหาร กป.อพช.มีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะที่รัฐบาลสามารถให้กฎหมายและมาตรการตามปกติได้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเป็นการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุ
2.ขอยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะยิ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเผชิญหน้าและมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
3.ขอให้แกนนำของกลุ่มการเมืองทั้งสองฝ่ายยุติการสร้างเงื่อนไขความรุนแรง อันจะนำมาซึ่งการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชน
4. เครือข่ายประชาชนเห็นว่าการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองปัจจุบันจะต้องแก้โดยการปฏิรูปการเมืองด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห้นจากประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งให้มีการสื่อสารกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
และ 5.ขอให้บุคคล กลุ่ม และองค์กรภาคประชาสังคมแสดงออกในรูปแบบและวิธีการต่างๆ เช่น สวมเสื้อสีดำ ติดริบบิ้นสีดำที่รถยนต์ แขวนป้ายผ้าที่บ้าน ที่ทำงาน เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรง และใช้วิถีทางประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา
หลังจากแถลงข่าวตัวแทน กป.อพช. และเครือข่ายองค์กรประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันถือผ้าสีดำขนาดกว้าง 1 เมตร และยาว 140 เมตร พร้อมใจกันชูขึ้นเหนือศีรษะ เดินขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อนำผ้าดังกล่าวไปห้อมล้อมรอบๆ บริเวณฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมทั้งยังนำดอกกุหลาบสีขาวจำนวนหนึ่งไปวางรอบๆ บริเวณดังกล่าว
นอกจากนี้ บรรดาตัวแทน กป.อพช. ยังนั่งสงบนิ่งเป็นเวลา 3 นาที พร้อมทั้งตีระฆัง 3 ครั้ง เพื่อร่วมไว้อาลัยให้แก่ผู้บาดเจ็บและล้มตายจากการปะทะที่เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อคัดค้านอำนาจการประกาศภาวะฉุกเฉิน และต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกทันที
*** มอ.-มช.ต้านนายกฯลุอำนาจใช้ กม.ฉุกเฉิน
ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ขึ้นเวทีพันธมิตรสงขลา หน้าสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 4 คัดค้านการประกาศ พ.ร.ก. ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก
แถลงการณ์ดังกล่าว ได้ประณามการกระทำที่ยั่วยุเผชิญหน้าและใช้กำลังเข้าทำร้ายประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบของพันธมิตรฯ ซึ่งการกระทำของ กลุ่ม นปช. ไม่อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งขอคัดค้านการประกาศ พ.ร.ก. ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ของรัฐบาลซึ่งเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายในการสั่งทำร้ายประชาชน
นอกจากนั้น ยังขอให้รัฐบาลนายสมัคร หยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างสงบ และขอให้รัฐบาลฯลาออก เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของชาติบ้านเมือง ซึ่งถ้ารัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนที่เคลื่อนไหวอย่างสงบอหิงสา กลุ่มอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะร่วมมือกับนักศึกษาแสดงการอารยะขัดขืนต่ออำนาจรัฐในทุกรูปแบบ
ส่วนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลและนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยติดป้ายผ้าเขียนข้อความกล่าวหาว่ารัฐบาลทำร้ายประชาชนโดยไม่มีเหตุผล
นายปณิธาน ประมูล นักศึกษาปริญญาโท คณะวิจิตรศิลป์ กล่าวว่า การออกพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ เหตุผลที่รัฐบาลต้องการสร้างความชอบธรรมในการจัดการปัญหาโดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่รัฐบาลเป็นฝ่ายก่อ
"ผมอยากเรียกร้องนักศึกษาให้ออกมาร่วมกันปลุกกระแสและแสดงความไม่พอใจรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาแม้นักศึกษาบางส่วนจะเข้าใจปัญหาแต่พื้นที่การแสดงออกไม่พร้อม มหาวิทยาลัยไม่สนับสนุนก็ยากจะเคลื่อนไหว นาทีอยากขอให้ทุกคนพร้อมใจกันออกมา อย่ากลัวผลกระทบใดๆ" นายปณิธาน กล่าว