xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-31 ส.ค.2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดูกันชัดๆ!! ตำรวจรุมกระทืบผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ แล้วยังมีหน้าอ้างว่า แค่ทำตามคำสั่งศาล(29 ส.ค.)
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. ตร. “สุดเถื่อน” ใช้กำลังสลายการชุมนุม ด้าน “พรรคร่วม รบ.”ยังกระเตง “หมัก”ไม่เลิก!

หลังแกนนำพันธมิตรฯ ได้เป่านกหวีดนัดชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติของนายสมัคร สุนทรเวช ในวันที่ 26 ส.ค.เวลา 07.00น.ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์นั้น ปรากฏว่า ก่อนหน้าวันชุมนุมใหญ่ 1 วัน(25 ส.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม ได้เปิดแถลงข่าวด่วนที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนอกจากจะยืนยันว่าตนเป็นรัฐบาลที่มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย การจะล้มรัฐบาลได้ต้องผ่านช่องทางทางสภาแล้ว นายสมัครยังได้พูดเชิงชี้นำข่มขู่เพื่อให้ประชาชนหวาดกลัวไม่กล้ามาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ด้วย โดยบอกว่า “...ถ้าใครจะคิดทำอะไร ใครจะโยนระเบิด ใครจะทำอะไรต่างๆ ตำรวจจะเป็นคนเฝ้าดูแล และอย่ามาอ้างว่ารัฐบาลเป็นคนทำ...” จากนั้น เมื่อถึงกำหนดนัดชุมนุมใหญ่ ปรากฏว่า ประชาชนจากทั่วประเทศได้มาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ มากเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะ 43 รัฐวิสาหกิจได้มีมติให้พนักงานนัดหยุดงานเพื่อร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 วัน(26-27 ส.ค.) ขณะที่พันธมิตรฯ ในต่างจังหวัดได้ร่วมกดดันรัฐบาลด้วยการปิดถนนสายหลักทั้ง 4 ภาค โดยกลุ่มพันธมิตรฯ ส่วนกลางที่สะพานมัฆวานฯ ได้เคลื่อนไหวภายใต้ “แผนปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า”ด้วยการดาวกระจายไปบุกยึดสถานที่ราชการสำคัญๆ เพื่อให้เห็นภาพเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศอีกต่อไป เช่น บุกยึดทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของรัฐบาล ,บุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ที่ไม่ทำหน้าที่สื่อของประชาชนแต่กลับยอมเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ,บุกยึดกระทรวงการคลัง ,กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรฯ เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มพันธมิตรฯ สามารถยึดสถานที่ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่ารัฐบาลอาจวางยาพันธมิตรฯ ด้วยการให้ตำรวจเปิดทางให้พันธมิตรฯ บุกและทำลายสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อจะได้เล่นงานพันธมิตรฯ ในภายหลัง ซึ่งได้ผล เมื่อปรากฏว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 80 คนบุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีในช่วงประมาณตี 5 ของวันที่ 26 ส.ค.ก่อนหน้าที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะดาวกระจายไปยังสถานที่ดังกล่าว โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ได้ทุบกระจกประตูสำนักงานเอ็นบีทีเพื่อเข้าไปภายใน แต่สุดท้ายถูกตำรวจที่รออยู่ภายในจับกุมไปดำเนินคดีทั้งหมด โดยตำรวจชี้ว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นคนของพันธมิตรฯ ที่ได้ใช้อาวุธบุกสถานที่ราชการ และบังคับให้เจ้าหน้าที่เอ็นบีทีหยุดออกอากาศ อย่างไรก็ตามแม้เอ็นบีทีจะไม่สามารถออกอากาศจากสถานีหลักดังกล่าวได้ แต่ก็สามารถใช้เครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ในต่างจังหวัดออกอากาศตามปกติต่อไปได้ โดยเอ็นบีทีได้แพร่ภาพการบุกยึดของกลุ่มชายฉกรรจ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดวันที่ 26-27 ส.ค.โดยยืนยันว่าเป็นการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งแม้หลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วยกับการบุกยึดเอ็นบีที แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่เอ็นบีทีพยายามเสนอภาพดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อปลุกระดมให้คนเกลียดชังพันธมิตรฯ เนื่องจากอาจนำไปสู่ความรุนแรงตามมาได้ ทั้งนี้ แม้พันธมิตรฯ จะบุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่งได้สำเร็จ แต่สุดท้ายพันธมิตรฯ ก็เลือกที่จะปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาล โดยได้ถอนผู้ชุมนุมจากสถานที่ราชการอื่นๆ ให้มารวมกันที่ทำเนียบฯ เท่านั้น ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 5 ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งปราศรัยและดูแลผู้ชุมนุมที่ทำเนียบฯ อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่สะพานมัฆวานฯ ด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ได้ออกมาแถลงหลังพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบฯ และสถานที่ราชการหลายแห่งสำเร็จ โดยเตือนให้ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมรีบกลับบ้านถ้าไม่อยากกลายเป็นผู้ต้องหา พร้อมจี้ให้สื่อมวลชนเลิกยืนอยู่ตรงกลาง แล้วหันมาเลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรืออยู่ฝ่ายพันธมิตรฯ ที่ทำความเสียหายให้บ้านเมือง พร้อมกันนี้นายสมัครได้ตั้งให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ และรัฐมนตรีมหาดไทย ให้จัดการพันธมิตรฯ ฐานบุกรุกสถานที่ราชการ ขณะที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนหลายคน(เช่น นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ ,ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคฯ) ได้ออกมาพูดชี้นำเป็นเสียงเดียวกันว่า พันธมิตรฯ เข้าข่ายกบฏ เพราะพยายามล้มล้างรัฐบาล ด้าน ตำรวจรีบออกมารับลูก โดยขอศาลออกหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ฐานเป็นกบฏ มีโทษสูงสุดประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ,นายสนธิ ลิ้มทองกุล ,นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ,นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ,นายพิภพ ธงไชย ,นายสุริยใส กตะศิลา ,นายอมร อมรรัตนานนท์ ,นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และนายเทิดภูมิ ใจดี ขณะที่นักวิชาการทั้งด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์รวมทั้งหลายภาคส่วนในสังคม(เช่น ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ,พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาค 4 ,พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ) ได้ออกมาคัดค้านการที่ตำรวจตั้งข้อหากบฏแก่แกนนำพันธมิตรฯ โดยต่างเห็นสอดคล้องกันว่า ตำรวจตั้งข้อหารุนแรงเกินเหตุ เนื่องจากการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ที่สามารถตรวจสอบรัฐบาลและเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกได้ ไม่ใช่การใช้กำลังเข้าล้มล้างการปกครองที่จะเข้าข่ายกบฏแต่อย่างใด แต่ตำรวจก็ไม่สน เดินหน้าขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ อย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ซึ่งศาลก็อนุญาต แม้ภายหลังพันธมิตรฯ จะยื่นเรื่องให้ศาลถอนหมายจับดังกล่าว โดยยืนยันว่าพันธมิตรฯ ไม่ใช่กบฏ แต่ศาลยืนยันว่ายังไม่มีเหตุให้เพิกถอนหมายจับ พร้อมชี้แจงว่า การที่ศาลอนุมัติหมายจับ เพื่อให้พนักงานสอบสวนได้สอบสวนเรื่องนี้ ส่วนแกนนำพันธมิตรฯ จะมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ต้องผ่านขั้นตอนการสอบสวน การสั่งฟ้อง และการพิจารณาของศาลต่อไป ด้านแกนนำพันธมิตรฯ จะขอใช้สิทธิอุทธรณ์ให้มีการเพิกถอนหมายจับดังกล่าวอีกครั้ง ทั้งนี้นอกจากรัฐบาลและตำรวจจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเล่นงานพันธมิตรฯ ฐานกบฏแล้ว รัฐบาลยังได้ส่งเจ้าหน้าที่(นายลอยเลื่อน บุนนาค รองเลขาธิการนายกฯ)ไปฟ้องศาลแพ่ง(27 ส.ค.)เพื่อสั่งให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกจากทำเนียบฯ ด้วย โดยขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้แกนนำพันธมิตรฯ นำผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบฯ พร้อมรื้อถอนเวที และเปิดถนนพิษณุโลก ถนนราชดำเนิน ให้นายกฯ ,ครม. และข้าราชการเข้า-ออกทำเนียบฯ ได้โดยสะดวก ซึ่งก็ได้ผล เพราะศาลแพ่งได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลร้องขอ ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยัน ผู้ชุมนุมจะไม่ออกจากทำเนียบฯ โดยขอใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว ด้านรัฐบาลไม่สนที่แกนนำพันธมิตรฯ จะอุทธรณ์ รีบขอให้ศาลแพ่งสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี(เมื่อ 28 ส.ค.)เพื่อบีบให้พันธมิตรฯ ออกจากทำเนียบฯ ซึ่งศาลก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการให้เป็นไปตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หลังศาลสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ทาง พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เผยว่า ตนได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว รอง ผบช.น.เป็นผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1(ผบก.น.1) ให้เดินทางไปพร้อมกับเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีในการนำหมายไปให้จำเลย เพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลในวันที่ 29 ส.ค. อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนด(ช่วงสาย 29 ส.ค.)ปรากฏว่า ตำรวจและเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ทำแค่แจ้งหมายให้แกนนำพันธมิตรฯ ทราบ แต่กลับนำกำลังตำรวจชุดปราบจลาจลหลายพันนายพร้อมอาวุธครบมือและแก๊สน้ำตาไปด้วย โดยพยายามสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งที่ทำเนียบฯ และบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ จนเกิดการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่พยายามขัดขวางด้วยมือเปล่า ส่งผลให้ผู้ชุมนุมทั้งที่บริเวณทำเนียบฯ และสะพานมัฆวานรังสรรค์ถูกตำรวจตีด้วยกระบองได้รับบาดเจ็บหลายสิบราย บางรายถูกตำรวจเอาปืนจี้หัว บางรายถูกตำรวจที่มีอาวุธครบมือล้อมกรอบพร้อมใช้เท้าเหยียบหัว บางรายแม้ใส่เสื้อและติดปลอกแขนว่าเป็นหน่วยพยาบาล แต่ตำรวจก็ยังทำร้ายได้ลงคอ นอกจากนี้ตำรวจยังรื้อเวทีปราศรัยของพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และทำลายเต็นท์ที่พักของกลุ่มผู้ชุมนุมเสียหายจำนวนมาก ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนถูกตำรวจจับกุมตัวไป แต่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ได้ออกมาปฏิเสธในภายหลังว่าไม่มีการจับผู้ชุมนุมไปแต่อย่างใด ขณะที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ และรัฐมนตรีมหาดไทย ยืนยันว่า ไม่มีตำรวจเอาปืนจี้หัวผู้ชุมนุมแน่นอน ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุตำรวจใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ทำเนียบฯ และสะพานมัฆวานฯ ส่งผลให้ประชาชนซึ่งติดตามสถานการณ์อยู่ที่บ้านต่างทนไม่ไหวได้ออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ มากขึ้น ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.ประมาณ 20 คนต่างเดินทางมาเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บที่ทำเนียบฯ และสะพานมัฆวานฯ จากนั้นในช่วงเย็น กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งไม่พอใจที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม จึงได้เคลื่อนไปปิดล้อมสนามม้านางเลิ้ง ซึ่งเป็นจุดพักของตำรวจจากหน่วยต่างๆ รวมทั้งได้เคลื่อนพลไปปิดล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) เรียกร้องให้ บช.น.ลงโทษตำรวจที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม โดยขีดเส้นว่า บช.น.ต้องให้คำตอบภายใน 19.00น.(29 ส.ค.) อย่างไรก็ตาม ทาง บช.น.ยืนยันว่า ตำรวจทำตามหน้าที่ แค่ทำตามคำสั่งศาลในการบังคับคดี ซึ่งการที่ตำรวจทำเกินกว่าคำสั่งศาลในการบังคับคดี ทำให้พันธมิตรฯ ยกเป็นเหตุผลในการร้องศาลแพ่งให้ทุเลาการบังคับคดีไว้ก่อน เนื่องจากศาลไม่ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ชุมนุม ซึ่งในที่สุดศาลได้มีคำสั่งระงับการบังคับคดีไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้ ศาลยังชี้แจงด้วยว่า การสั่งบังคับคดีก่อนหน้านี้ มีความหมายแค่ให้จำเลยออกจากทำเนียบฯ และเปิดถนนบริเวณที่ติดกับทำเนียบฯ เท่านั้น นั่นหมายถึงมิได้รวมถึงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ที่ตำรวจอ้างคำสั่งศาลไปเคลียร์พื้นที่ด้วยแต่อย่างใด สำหรับสถานการณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดล้อม บช.น.นั้น ปรากฏว่า เมื่อถึงเวลา 19.00น.นอกจากกลุ่มพันธมิตรฯ จะไม่ได้คำตอบหรือความรับผิดชอบใดใดจาก บช.น.กรณีที่ตำรวจใช้กำลังกับผู้ชุมนุมที่ทำเนียบฯ และสะพานมัฆวานฯ แล้ว ทางตำรวจที่ตรึงกำลังอยู่ใน บช.น.ยังได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่หน้า บช.น.ด้วยนับสิบลูก ส่งผลให้ผู้ชุมนุมแตกกระเจิงและได้รับบาดเจ็บหลายสิบราย ขณะที่ทาง บช.น.และ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า ตำรวจไม่ได้เป็นฝ่ายยิงแก๊สน้ำตาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ไม่เพียงตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่ตำรวจยังได้ยิงปืนกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมด้วย โดยมีอาจารย์สาวจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวลัยอลงกรณ์คนหนึ่งซึ่งเพิ่งเดินทางมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นครั้งแรกได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางและสะเก็ดระเบิดจนต้องเย็บกว่าสิบเข็ม(อจ.ดังกล่าวเปิดเผยเรื่องนี้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อกลางดึกคืน 29 ส.ค.) ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยต่อสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น พร้อมรับสั่งให้สภากาชาดไทยกำชับให้หน่วยแพทย์พยาบาลสภากาชาดไทยเตรียมพร้อมรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บหากมีเหตุปะทะกันเกิดขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้ความรุนแรงของตำรวจ ทั้งการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่ทำเนียบฯ และสะพานมัฆวานฯ รวมทั้งการยิงแก๊สน้ำตาที่หน้า บช.น. ส่งผลให้เกิดกระแสความไม่พอใจในวงกว้างและเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก โดยพันธมิตรฯ ในต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต-หาดใหญ่-กระบี่ ได้ประท้วงด้วยการปิดสนามบิน ขณะที่เครือข่ายพันธมิตร 14 จังหวัดภาคใต้ ออกแถลงการณ์ห้ามนายสมัคร สุนทรเวช เข้าพื้นที่ภาคใต้ พร้อมหยุดให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท การบินไทย ได้แจ้งให้สมาชิก 15,000 คนใช้สิทธิลาหยุดเพื่อร่วมประท้วงครั้งนี้ เช่นเดียวกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทีโอที ก็ได้ประกาศเชิญชวนให้พนักงานร่วมใจกันลาพักร้อนเพื่อเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ เช่นกัน ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ ได้ประท้วงด้วยการหยุดเดินรถหลายสิบขบวน ฯลฯ ด้านแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรคได้ประชุมเครียดเมื่อคืนวันที่ 29 ส.ค.หลังเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม โดยตอนแรกมีการคาดการณ์ว่า พรรคร่วมฯ ดังกล่าวอาจประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลเพื่อกดดันให้นายสมัครลาออก แต่ผิดคาด เพราะที่ประชุมมีมติให้แก้ปัญหาทางสภา ด้วยการประชุมร่วม 2 สภาเพื่อหาทางออกในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของทางพรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.จำนวนหนึ่งที่เห็นว่าควรเปิดอภิปรายในสภาเช่นกัน ส่วนทางด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ได้ออกมาแถลงถึงสถานการณ์การเมืองอีกครั้ง(ช่วงเย็นวันที่ 29 ส.ค.)โดยนอกจากจะปกป้องตำรวจที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมว่าเป็นการทำตามคำสั่งศาลแล้ว นายสมัครยังได้ตำหนิผู้ชุมนุมที่ไปปิดล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมกันนี้นายสมัครยังส่งสัญญาณว่าตนจะจัดการกลุ่มพันธมิตรฯ หลังเสร็จสิ้นงานสำคัญที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารพระราชทานธงในงาน “116 วันจากวันแม่ถึงวันพ่อ”ที่สวนอัมพรในวันที่ 30 ส.ค.แล้ว โดยนายสมัคร บอกว่า “...มีบ้านเมืองไหนทำกันบ้าง ออกทีวีด่ารัฐบาลจนเสียหาย แต่บังเอิญผมเป็นคนทน ดื้อด้าน ....แต่ผมไม่ปล่อยหรอกครับ ผมถึงจุด ผมจัดการแน่” อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กลางดึกคืนวันที่ 29 ส.ค.นายสมัครได้เดินทางไป จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อขอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯ จึงเดินทางกลับมาในช่วงในช่วงสายวันที่ 30 ส.ค. เพื่อเตรียมรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในงานพระราชทานธง 116 วันฯ ที่สวนอัมพร(เวลา 15.00น.) ทั้งนี้ หลังจากเสร็จงาน นายสมัครได้เดินทางไปหัวหินอีกครั้ง โดยอ้างว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เข้าเฝ้าในเวลา 17.00น. ทั้งนี้ คนใกล้ชิดนายสมัครแจ้งว่า หลังนายสมัครเดินทางกลับจากเข้าเฝ้าฯ จะเปิดแถลงข่าว แต่ปรากฏว่าเมื่อนายสมัครกลับมา กลับไม่มีการแถลงข่าวและไม่ทราบว่าเดินทางไปที่ใด โดยไม่ได้เข้าร่วมประชุมแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลที่โรงแรมเพนนินซูล่าตามที่มีการนัดหมาย และไม่ได้เดินทางเข้าบ้านพัก อย่างไรก็ตาม นายสมัคร ได้พูดผ่านรายการ “สนทนาประสาสมัคร”ในวันนี้(31 ส.ค.)โดยโทษว่าสื่อคิดไปเองมั่วเองที่คิดว่าตนกลับจากการเข้าเฝ้าฯ แล้วจะต้องแถลงข่าว ส่วนกรณีที่ตนไม่เดินทางเข้าบ้านพักหลังกลับจากการเข้าเฝ้าฯ นั้น นายสมัคร อ้างว่า เพราะมีข่าวว่าจะมีคนไปปิดล้อมหน้าบ้านตน ส่วนผลการประชุม 6 แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อคืนนี้(30 ส.ค.)นั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน แถลงว่า ที่ประชุมเห็นว่า รัฐบาลสามารถบริหารงานต่อไปได้และเชื่อว่านายสมัครยังเป็นผู้นำที่สามารถบริหารงานต่อไปได้อย่างมั่นคง ขณะที่แกนนำพรรคพลังประชาชนและแกนนำ นปก.ได้ประกาศฟื้น นปก.ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อแสดงพลังสนับสนุนรัฐบาลนายสมัคร โดยนัดรวมพลเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่สนามหลวง และบุกไปให้กำลังใจรัฐบาลที่รัฐสภาในวันนี้(31 ส.ค.)พร้อมประกาศว่า หากนายสมัครประกาศลาออก จะบุกเข้ายึดรัฐสภาทันที

“หมัก”ยังด้าน อ้างสั่ง ตร.ถอยพ้นทำเนียบเอง
*อำมหิตผิดมนุษย์! ตร.ตีคนแก่ สกัดห้ามเข้าสมทบพันธมิตรฯที่ทำเนียบฯ
“หมัก” เสี้ยม ปชช.เลือกข้างขู่ พธม.ไม่อยากติดคุกไล่กลับบ้าน
“พันธมิตรฯ” เคลื่อนทัพบุกล้อมหน่วยราชการ-ยึดเอ็นบีทีได้แล้ว
ศาลยกคำร้องขอถอนหมายจับ 9 กบฏพันธมิตรฯ
ทัพพันธมิตรเข้ายึดทำเนียบเบ็ดเสร็จ!

อัยการ มอบสำนวนพยานหลักฐานคดี พ.ต.ท.ทักษิณร่ำรวยผิดปกติ ที่มีมากถึง 180 ลังให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ (25 ส.ค.)
2. “อสส.”ฟ้องศาลยึดทรัพย์ “แม้ว” 7.6 หมื่นล.แล้ว ด้าน “ไทยพาณิชย์”ไม่หลงกล“สรรพากร”บี้คืนเงิน 1.2 หมื่นล.!

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ได้นำสำนวนเอกสารหลักฐานที่นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ร่ำรวยผิดปกติและได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมจำนวนกว่า 7.6 หมื่นล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ให้ตกเป็นของแผ่นดิน สำหรับการดำเนินการของอัยการสูงสุดครั้งนี้เป็นไปตามที่ คตส.เคยเสนอ โดยคำร้องที่ฟ้องต่อศาล สรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ระหว่างเดือน ก.พ.2544 ถึง มี.ค.2548 ได้ปกปิดการถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือชินคอร์ป จำนวนกว่า 1,149 ล้านหุ้น หรือร้อยละ 48 ของหุ้นทั้งหมด โดย พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แต่ใช้ชื่อบุตรและเครือญาติให้ถือแทน คือ นายพานทองแท้ ,น.ส.พิณทองทา บุตรชายและบุตรสาว ,น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่กลับถือหุ้นดังกล่าว ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ จึงนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืน รธน.2540 แล้ว ยังผิดต่อ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 และกฎหมาย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 ด้วย ไม่เท่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณยังได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่สั่งการ มอบนโยบาย หรือกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้บังคับบัญชาให้กระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก เช่น กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์แก่กิจการของตนเองและพวกพ้อง ,การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัท เอไอเอส ในเครือชินคอร์ปต้องจ่ายให้รัฐ จากเดิมที่กำหนดไว้อัตราก้าวหน้า 25% และต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน เปลี่ยนเป็นอัตราคงที่ 20% ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ,การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่อนุญาตให้บริษัท เอไอเอส เข้าไปใช้เครือข่ายร่วม(โรมมิ่ง)กับผู้ให้บริการรายอื่นได้ ซึ่งส่งผลให้เอไอเอสไม่ต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ที่ควรจ่ายให้บริษัท ทศท และบริษัท กสท เป็นจำนวนเกือบ 1.9 หมื่นล้านบาท ,กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่อนุญาตให้บุคคลต่างด้าวสามารถถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมได้เพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 25% เป็นไม่เกิน 49% โดยหลังจากกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ได้ 2 วัน ครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณก็ได้ขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็กทั้งหมด 48% ดังนั้นเงินจำนวน 7.6 หมื่นล้านที่ได้จากหุ้นชินคอร์ปจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ จึงขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 มาตรา 80 ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ผู้บริหารกรมสรรพากรได้ทำหนังสือจี้ให้ธนาคารไทยพาณิชย์สั่งจ่ายเช็คให้กรมสรรพากร 12,000 ล้านเมื่อวันที่ 22 ส.ค. โดยอ้างว่า กรมฯ ได้มีคำสั่งเรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร 12,000 ล้านจากกรณีซื้อหุ้นจากบริษัท แอมเพิลริช อิสเวสต์เมนท์ แต่จริงๆ แล้ว วางแผนว่า เมื่อได้เงินดังกล่าวมา จะให้คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีมีมติในภายหลังว่า บุคคลทั้งสองไม่ต้องเสียภาษี เพื่อจะได้คืนเงิน 12,000 ล้านดังกล่าวให้เจ้าตัว แต่ทางธนาคารไทยพาณิชย์ยังไม่โอนเงินดังกล่าวให้นั้น ปรากฏว่า นางรวิฐา พงษ์นุชิต รองอธิบดีกรมสรรพากร ได้ออกมาขู่ฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ หากไม่ยอมส่งเงินตามที่กรมสรรพากรเรียกไป พร้อมยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวทำตามมาตรา 12 ของประมวลรัษฎากร ไม่ใช่เพื่อต้องการช่วยใคร เช่นเดียวกับนายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร ที่ยืนยันหลังประชุมผู้บริหารของกรม(25 ส.ค.)ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการปกติ เนื่องจากขณะนี้อำนาจ คตส.หมดไปแล้ว กรมฯ เห็นว่าทรัพย์มันลอยอยู่ ถ้าไม่ดำเนินการจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้ไม่มีผู้ใหญ่สั่งการให้ทำแต่อย่างใด ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ก็ออกโรงป้องกรมสรรพากรว่า ทำไปตามหน้าที่ ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ครอบครัวชินวัตรนั้น นพ.สุรพงษ์ บอกว่า นั่นเป็นการตั้งประเด็นที่ทำให้เรื่องดูซับซ้อนเท่านั้น ด้านนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ในฐานะนายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ เผยหลังประชุมคณะกรรมการของธนาคารฯ(28 ส.ค.)ว่า ที่ประชุมมีมติยังไม่ส่งเงิน 1.2 หมื่นล้านให้กรมสรรพากรตามที่มีคำสั่งมา โดยจะรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองก่อนว่า ธนาคารฯ ควรดำเนินการอย่างไรต่อคำสั่งของกรมสรรพากร เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งต่อคำสั่งอายัดทรัพย์ของ คตส.

คำฟ้องยึดทรัพย์ “แม้ว” รวมมิตรอภิมหาโคตรโกง!!!
หลักฐาน 2 แสนแผ่น! ฟ้องยึดทรัพย์ “เศรษฐีแม้ว”

พล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว รอง ผบช.น.(นรต.26)เพื่อนร่วมรุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ ผงาดคุม บช.น.แทน พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง
3. โปรดเกล้าฯ นายทหารแล้ว “ตท.10”ผงาด 2 เหล่าทัพ ด้าน ตร.เด้ง “อัศวิน”พ้น ผบช.น.ให้ “เด็กแม้ว”คุมแทน!

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารระดับนายพลประจำปี 2551 โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมเป็นประธาน โดยการประชุมดังกล่าวได้ถูกเลื่อนจากวันที่ 25 ส.ค.มาเป็นวันที่ 26 ส.ค.แทน ซึ่งตอนแรกมีข่าวว่านายสมัครได้กำหนดให้ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประเมินและรับมือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่คาดว่าจะมาปิดล้อมทำเนียบฯ ในวันดังกล่าวด้วย แต่สุดท้ายเมื่อพันธมิตรฯ มาบุกยึดทำเนียบฯ สำเร็จ ส่งผลให้นายสมัครต้องย้ายไปประชุมเรื่องปรับย้ายนายทหารที่กองบัญชาการกองทัพไทยแทน ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าทัพเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยหลังประชุม นายสมัครกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “บัญชีรายชื่อปรับย้ายนายทหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร” ขณะที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.) ยืนยันว่า ในการพิจารณาไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อใดใด และยังบอกไม่ได้ว่า ผบ.สส.คนใหม่เป็นใคร ต้องรอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งลงมาก่อน โดยล่าสุด วันนี้(31 ส.ค.)พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทหารประจำปี 2551 จำนวนกว่า 500 ตำแหน่งแล้ว โดยผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ได้แก่ พล.อ.อภิชาติ เพ็ญกิตติ (ตท.8)รองปลัดกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ส่วน พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ เสนาธิการทหาร แกนนำ ตท.10(เพื่อนร่วมรุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ) ได้ขึ้นเป็น ผบ.สส. ซึ่งมีข่าวก่อนหน้านี้ว่าเป็นไปตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.เสนอความเห็น จากเดิมที่ พล.อ.บุญสร้างอยากเสนอชื่อ พล.อ.มนตรี สังขทรัพย์ รอง ผบ.สส. ให้เป็น ผบ.สส. แต่มีข่าวว่านายสมัครไม่ไว้วางใจ เพราะถูกมองว่าอยู่สาย คมช. ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.)นั้น พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ประธานที่ปรึกษากองทัพเรือ แกนนำ ตท.10 ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทร. ซึ่งมีรายงานก่อนหน้านี้ว่าฝ่ายการเมืองต้องการให้ พล.ร.อ.กำธรได้เป็น ผบ.ทร. ทั้งที่จริงๆ แล้ว พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร.อยากเสนอชื่อ พล.ร.อ.สมเดช ทองเปี่ยม (ตท.8)ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ ให้ขึ้นเป็น ผบ.ทร.มากกว่า สำหรับผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) ก็คือ พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ (ตท.11) เสนาธิการทหารอากาศ ซึ่งมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า เป็นไปตามที่ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เสนอ แม้ว่าฝ่ายการเมืองจะอยากให้ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แกนนำ ตท.10 ได้มาดำรงตำแหน่งดังกล่าวก็ตาม ส่วนผู้ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกนั้น ปรากฏว่า พล.อ.จิรเดช คชรัตน์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ขึ้นเป็นรอง ผบ.ทบ. ขณะที่ พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เข้ามาอยู่ใน 5 เสือ ทบ.เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.ตามที่มีรายงานก่อนหน้านี้ ส่วน พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ได้เข้ามาเป็นเสนาธิการทหารบก ซึ่งเป็นไปตามโผก่อนหน้านี้ที่ พล.อ.อนุพงษ์ต้องการวางตัวให้ พล.ท.ประยุทธ์เตรียมเข้าสู่ 5 เสือ ทบ.เพื่อเตรียมตัวนั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.ต่อจากตนในอนาคต ทั้งนี้ นอกจากเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารแล้ว นายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ยังได้ประชุม ก.ตร.เพื่อพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายนายพลตำรวจระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงระดับผู้บังคับการรวม 178 นายเมื่อวันที่ 28 ส.ค. โดยมีรายงานว่า ตำแหน่งสำคัญที่มีการปรับเปลี่ยน ได้แก่ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย (นรต.26)เพื่อนร่วมรุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นที่ปรึกษา(สบ 10)และทำหน้าที่รอง ผบ.ตร.ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ได้ขยับเป็นรอง ผบ.ตร.ตำแหน่งหลัก ส่วน พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด ผู้ช่วย ผบ.ตร.ซึ่งมีอาวุโสอันดับ 1 ขึ้นติดยศ พล.ต.อ.เป็นที่ปรึกษา(สบ 10) ด้านความมั่นคงแทน พล.ต.อ.จุมพล ส่วนทางด้าน พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.)ที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดทำเนียบฯ ซึ่งตอนแรกมีข่าวว่า พล.ต.ท.อัศวินจะได้อยู่ที่เดิม แต่ปรากฏว่า ได้ถูกผลักให้ขึ้นไปเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. แล้วให้ พล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว รอง ผบช.น.(นรต.26)เพื่อนร่วมรุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นมารั้งตำแหน่ง ผบช.น.แทน ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. บอกว่า ก.ตร.เห็นชอบให้แต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับ พล.ต.ท.36 นาย พล.ต.ต.142 นาย ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร คงต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ ก่อน ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปลี่ยนตัว ผบช.น.ในขณะที่สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่คลี่คลายจะกระทบต่อขวัญกำลังใจของผู้ทำงานหรือไม่ พล.ต.อ.พัชรวาท บอกว่า “เป็นตำรวจ เมื่อมีการพิจารณาโยกย้าย ต้องทำใจยอมรับ”


“หมัก” หักดิบเด้ง “อัศวิน” พ้นนครบาล ส่ง “สุชาติ” เพื่อนแม้วนั่งคุมทัพปราบพันธมิตรฯ!
“หมัก” หอกหัก! เดินหน้าตั้งนรต.26 “เพื่อนแม้ว” เสริมทัพรัฐตำรวจ
ก.ตร.คลอดโผ “นายพล”นรต.26 ยังผงาด!
โผไม่พลิก“อิทธพร” คุมทัพฟ้าอนุพงษ์ย้ายแม่ทัพทั้ง4ภาค
พันธมิตรฯช่วยกดดันหมักดันโผย้ายทหารผ่านฉลุย


4. “พปช.”ช่วย “ทักษิณ”ตามคาด-ตีตก “กม.อาญานักการเมือง”อ้าง การพิจารณาคดีต้อง 3 ศาล!
สุนัย จุลพงศธร ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปช.อ้าง การพิจารณาคดีนักการเมืองแค่ศาลเดียวจบ ถือว่าไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาและลงมติร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ฉบับแรก คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสนอโดยศาลรัฐธรรมนูญ อีกฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้เสนอ โดยมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชนจ้องที่จะคว่ำกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขาดเครื่องมือในการพิจารณาคดียุบพรรคและเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณที่มีคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายคดี โดย ส.ส.พรรคพลังประชาชนเคยส่งสัญญาณไม่พอใจที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินคดีแล้วถือว่าจบ ไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ใดใดได้อีก ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานต้องหนีคดีซื้อที่รัชดาฯ ไปอยู่อังกฤษ เนื่องจากเกรงว่าถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินว่าผิด จะต้องติดคุกทันที ดังนั้น ส.ส.พรรคพลังประชาชนบางส่วนจึงได้ออกมาเรียกร้องว่า การพิจารณาคดีนักการเมืองควรได้สิทธิเหมือนประชาชนทั่วไปที่ต้องพิจารณา 3 ศาล ไม่ใช่ศาลเดียวจบ ซึ่งปรากฏว่า หลังที่ประชุมสภาฯ พิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับแล้ว ได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 318 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ36 คนเพื่อแปรญัตติใน 7 วัน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ที่ประชุมลงมติคว่ำร่างดังกล่าว โดยมีผู้ลงมติไม่เห็นด้วย 146 ต่อ 85 เสียง งดออกเสียง 40 เสียง ส่งผลให้ร่างดังกล่าวตกไป ทั้งนี้ มีรายงานว่า ส.ส.ที่คว่ำร่างกฎหมายดังกล่าวส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคพลังประชาชน โดยมีการอ้างว่า มาตรา 3/1 ของร่างกฎหมายดังกล่าวเขียนไม่ชัดเจน ในการให้คำนิยามคำว่า คณะกรรมการไต่สวน ผู้ไต่สวนอิสระ และผู้เสียหาย ขณะที่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชาชน ชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เขียนคำนิยามไม่ชัดเจน และยังมีอีกหลายมาตราที่เขียนผิดหลักการ พร้อมยกตัวอย่างว่า “การพิจารณาคดีทั้งโลกมีกัน 3 ศาล แต่กฎหมายนี้กลับวางหลักการพิจารณาคดีนักการเมืองแค่ศาลเดียว โดยอาจจะมองว่านักการเมืองร้ายกาจ แต่ถือว่าไม่เป็นธรรม หากใครคิดว่าการพิจารณาศาลเดียวมีความเป็นธรรม ก็ให้ทุกคดีพิจารณาโดยศาลเดียวทั้งประเทศไปเลย” ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน ชี้ว่า การโหวตไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือว่าขัด รธน.ถึงขั้นถอดถอน หากมีเจตนาไม่ให้มีกฎหมายตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน รธน.คือหลังจากแถลงนโยบาย 180 วัน และว่า การไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขาดกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ และส่วนตัวแล้วคิดว่า การที่เสียงส่วนใหญ่ในสภาไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ เท่ากับเป็นการเปิดแนวรบกับองค์กรอิสระอย่างชัดเจนที่สุด ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ยืนยันว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะตกไป ก็ไม่มีผลต่อวิธีพิจารณาคดีและการปฏิบัติหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เพราะศาลยังสามารถใช้วิธีพิจารณาคดีแพ่งและข้อบังคับอื่นๆ ได้อยู่ และว่า จริงๆ แล้วเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวตกไป เพราะจะทำให้ศาลพิจารณาคดีได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องถูกจำกัดอำนาจดังที่เสนอในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ทางสำนักงานศาลยุติธรรมจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมาพิจารณาอีกครั้ง โดยจะดูว่าข้อสังเกตที่สภาตั้งมานั้น ไม่เห็นด้วยกับสำนักงานศาลยุติธรรมในประเด็นใดบ้าง หากเป็นประเด็นที่ศาลฯ ยอมรับได้ ก็จะปรับปรุง แล้วเสนอกลับเข้าไปใหม่ แต่หากจะให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจากระบบศาลเดียวเป็น 3 ศาล สำนักงานศาลยุติธรรมไม่เห็นด้วยแน่นอน เพราะจะผิดเจตนารมณ์ของการก่อตั้งแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ที่ต้องการลงโทษนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น.

ศาลไม่สนสภาไม่ผ่านร่างแก้ไขพ.ร.บ.นักการเมืองฉบับใหม่-เน้นเช็กบิลนักการเมืองโกงต่อ
“วิปฝ่ายค้าน” ติงรัฐคว่ำร่างกม.ศาล ชี้ครอบงำองค์กรอิสระ

กำลังโหลดความคิดเห็น