xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอเตรียมงัดกม.ฟอกเงินเอาผิด ตัดตอนเครือข่ายค้าแรงงานพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวระหว่างการพบตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.ระนอง เมื่อเดือนที่แล้ว
ผู้จัดการออนไลน์ – กรรมการสิทธิฯ จัดวงถอดบทเรียนโศกนาฏกรรมรถคอนเทนเนอร์54 ศพ ชี้คณะกรรมการร่วมไทยพม่าเตรียมส่งกลับ 56 รายวันที่ 19 นี้พม่าเตรียมศูนย์พักพิงพร้อม ขณะที่กัน 10 รายเป็นพยานเตรียมรื้อเครือข่ายค้าแรงงานข้ามชาติ ดีเอสไอขู่เตรียมใช้กฎหมายฟอกเงินตัดตอนเครือข่ายอาชญากรรม แกนนำแรงงานไทยแนะตั้งศูนย์วันสต็อบเซอร์วิสจัดการปัญหาทั้งระบบ

วันนี้ (14 พ.ค.) ที่ห้องประชุมจุมพฏพันธ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก –รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยสังคมร่วมจัดวงเสวนาในหัวข้อ "สรุปบทเรียน 54 ศพ สู่นโยบายและมาตรการที่ยั่งยืน" โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหน่วยงานรัฐองค์กรเอกชน และประชาชนผู้สนใจจำนวนมาก

นายนัสเซอร์ อาจวาริน อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติแรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงานร่วมไทย – พม่า ที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมามีข้อสรุปถึงกระบวนการยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ที่ระบุว่าขณะนี้ได้มีการออกหมายจับกลุ่มนายหน้าไปแล้ว 8 ราย โดยคุมตัวไว้ 6 รายส่วนอีก 2 คน ซึ่งเป็นนายหน้าที่ส่งแรงงานระนองไปยังภูเก็ต ยังไม่สามารถคุมตัวได้

ในขณะที่ผู้เสียหายชาวพม่าซึ่งได้รับบาดเจ็บทั้ง 66 คนและได้รับการกักตัวไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.ระนอง ตามฐานความผิดหลบหนีเข้าเมือง ปัจจุบันได้คัดแยกผู้เป็นพยานได้ 10 รายโดยมีผู้ใหญ่จำนวน 6 คน และเด็กจำนวน 4 คนจะเหลือผู้ที่ส่งกลับประเทศพม่าจำนวน 56 ราย โดยมีการตกลงกันว่าทางฝ่ายพม่าต้องการให้ส่งกลับในวันที่ 19 พ.ค.นี้ โดยจะมีผู้ว่าราชการจ.ระนองเป็นผู้ส่งมอบ ส่วนทางไทยจะต้องตรวจสุขภาพและสอบปากคำว่ามีความยินยอมให้ส่งกลับประเทศหรือไม่

นายนัสเซอร์ กล่าวด้วยว่า ตัวแทนของทั้งสองประเทศได้ทำบันทึกข้อตกลงในประเด็นสำคัญหลายข้อ ได้แก่ ผู้ที่จะต้องส่งตัวกลับทั้ง 56 ราย จะต้องมีความยินยอมให้ส่งตัวกลับ โดยจะต้อมีการตรวจสุขภาพก่อน ในขณะที่รัฐบาลพม่าจะต้องลงบันทึกอย่างชัดเจนว่า คนทั้ง 56 รายจะได้รับดูแลตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วนและจะได้รับการดูแลด้านกฎหมายไทยโดยสมบูรณ์ในฐานะผู้เสียหายซึ่งทางการพม่าจะต้องสนับสนุนการเดินทางของคนเหล่านี้

นอกจากนี้ ทางการพม่าจะต้องยินดีรายงานความเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ว่าได้กลับไปภูมิลำเนาอย่างไร อีกทั้งจะต้องยืนยันว่าคนเหล่านี้จะต้องไม่ถูกลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น เพราะได้รับโทษจากฝั่งไทยในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองสมบูรณ์แล้ว

"ในส่วนของพยานทั้ง 10 คน ข้อตกลงระบุว่าคนกลุ่มนี้จะอยู่เป็นพยานและดำเนินการโดยไม่ชักช้าซึ่งได้สอบพยานไว้ล่วงหน้าต่อศาลแล้ว ซึ่งจะดำเนินการภายในเดือน มิ.ย.ซึ่งจะส่งกลับให้พม่าได้ภายในเดือน ก.ค. นี้" อนุกรรมการฯสภาทนายความกล่าวและยืนยันว่าผู้ที่ถูกส่งกลับจะเดินทางไปพักยังสถานที่พักพิงผู้เสียหาย ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดเกาะสองไปประมาณ 1ไมล์ครึ่ง ซึ่งทางฝ่ายไทยจะขอเดินทางไปดูสถานที่ดังกล่าวได้ด้วยโดยในระหว่างนี้จะมีมูลนิธิศุภนิมิตซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ติดตามประเด็นนี้มาโดยตลอดเป็นผู้ประสานงาน

ส่วนด้านกฎหมาย ตัวแทนของฝ่ายพม่าได้รับรองในที่ประชุมระบุว่าการเรียกร้องค่าเสียหายทางสภาทนายความจะเป็นผู้ดำเนินการซึ่งสามารถประสานกับผู้ว่าฯเกาะสองได้ตลอด โดยมีมูลนิธิศุภนิมิตช่วยประสานงานดังกล่าว สำหรับประเด็นค่าชดเชย ทางลิเบอตี้ประกันภัยซึ่งเป็นบริษัทประกันจะชดใช้ให้รายละหนึ่งแสนบาท โดยจะจ่ายให้ 3.5 หมื่นบาทต่อญาติของผู้เสียชีวิตในตอนแรกทันทีที่ทางการพม่านำเอกสารของทายาทมายืนยัน ส่วนอีก 6.5 หมื่นบาทจะจ่ายเมื่อสิ้นสุดกระบวนการในศาลชั้นต้น ส่วนการประกันภัยฝ่ายอื่นๆ ทางสภาทนายความจะตรวจสอบว่ามีการประกันอื่นๆ อีกหรือไม่เพื่อฟ้องเรียกค่าประกันสินไหมให้กับผู้เสียหายอีก

นางเปรมใจ วังศิริไพศาล สถาบันวิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ถึงที่สุดแล้วกรณีแรงงานพม่ากลุ่มดังกล่าวยังไม่เข้าข่ายเหยื่อการค้ามนุษย์ เพราะถือเป็นการสมัครใจไม่ได้ถูกบังคับให้เดินทางเข้ามาในประเทศ แม้วาจะมีนายหน้าและการเอารัดเอาเปรียบกันก็ตาม ที่สำคัญพวกเขายังไม่ได้เริ่มทำงาน ซึ่งหากยึดนิยามการค้ามนุษย์ใน พ.ร.บ.การค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ก็ถือว่าไม่เข้าข่าย แต่ถ้าหากเข้าข่ายก็จะมีมาตรการคุ้มครองและสามารถกันผู้เสียหายเป็นพยานได้

"ควรมีคณะทำงานที่ดูแลแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะเชื่อว่าไม่ใช่กรณีนี้กรณีเดียว จึงน่าจะมีหน่วยงานที่ดูแลได้อย่างทันท่วงที ซึ่งอาจเป็นดีเอสไอ ในขณะที่ กบร. (คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว) ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอกับการจัดการประเด็นนี้ อาจต้องมีระบบอื่นเข้ามาจัดการ นอกจากนี้ยังต้องปรับกฎหมายที่มีอยู่มาปรับใช้มากที่สุด นอกจากนี้ ควรดำเนินนโยบายคู่ขนานไปกับการพิสูจน์สัญชาติด้วยเช่นกัน"

พ.ต.อ.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสืบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่าระนองเป็นจุดเชื่อมที่มีการแบ่งผลประโยชน์ของเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่จะนำพาชาวพม่ามาค้าแรงงานในประเทศ โดยการทำกันเป็นขบวนการ มีการจ่ายที่พม่าครั้งหนึ่งประมาณ 1 แสนจ๊าตต่อหัวและจ่ายในประเทศไทยอีกประมาณ 7 - 8 พันคนต่อหัว เครือข่ายเหล่านี้มีลักษณะการทำงานข้ามชาติ หากอนุมานได้ว่าแรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยประมาณ 1 ล้านคน ผลประโยชน์ขององค์กรเหล่านี้ค่อนข้างสูง

เขากล่าวด้วยว่า เมื่อผลประโยชน์มีสูงก็ย่อมมีความขัดแย้ง เมื่อปลายปี 2549 ก็มีการฆาตกรรมระหว่างคนในเครื่องแบบที่แม่สอดเพราะขัดผลประโยชน์ในธุรกิจดังกล่าว ไม่ต่างกับเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ผู้ตายเป็นภรรยาของเจ้าหน้าที่ที่ถูกไล่ออกจากราชการที่ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง อย่างไรก็ตาม การขัดผลประโยชน์ก็ทำให้แรงงานต่างด้าวต้องเสียชีวิตเหมือนกรณี 54 ศพ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2539 ทำให้มีคนเสียชีวิต 39 ศพ

"กรณีนั้นเกิดขึ้นที่ที่แพเดียวกันกับกรณีนี้ ผู้ต้องหามีสามคน แต่ในครั้งนั้นคดีสั่งไม่ฟ้อง ส่วนดาบตำรวจซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาก็ฆ่าตัวตาย ขณะที่คนขับรถอีกคนยังไม่สามารถจับกุมได้จนถึงวันนี้"

พ.ต.อ.พงศ์อินทร์ กล่าวต่อว่า ลักษณะการนำพาคนเข้าเมืองเหล่านี้ค่อนข้างซับซ้อน มีการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง ข้อมูลด้านการข่าวได้ชี้ชัดว่ามีเครือข่ายเหล่านี้หลายเครือข่าย ตนเห็นว่าทางการควรต้องใส่ใจกับการแก้ปัญหาองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง

"หากนับจากปี 49 – 51 ผมเจอกรณีใกล้เคียงกันนี้แล้ว 13 ครั้ง รวมแล้วตาย 69 คน บาดเจ็บ 164 คน นี่เป็นตัวเลขที่ต้องทำให้เรากลับมาทบทวนให้มาก"

หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงในกรณี 54 ศพ พ.ต.อ.พงศ์อินทร์ ระบุว่า มีการนำพาเด็กและผู้หญิง รวมถึงผู้ชาย 121 คน ซึ่งมีความผิดฐานนำพาบุคคลโดยแสวงหาประโยชน์โดยไม่ควรได้ มีการทารุณต่อเด็กซึ่งจะนำไปสู่มาตรการป้องกันปราบปรามหญิงและเด็ก ในกรณีนี้มีเด็กจะเป็นผู้เสียหาย เด็กเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแลในสถานที่เหมาะสมเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ความผิดเหล่านี้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้หารือกับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แล้ว อย่างไรก็ตามทางการจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนโยบายในการจัดการแก้ปัญหาด้งกล่าว

"อาชญากรรมปราบด้านเดียวไม่ได้ ต้องตัดตอนควมมมั่นคงด้านการเงินด้วย"

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ แต่การจัดการกับแรงงานข้ามชาติยังคงมีปัญหาอีกมาก ต้องยอมรับว่าการลงทะเบียนแรงงานยังมีปัญหา ขณะที่สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวของแรงงาน กฎหมายไทยเองยังมีข้อจำกัดที่ไม่เปิดช่องให้คนงานต่างด้าวไม่สามารถรวมตัวได้ ตนเชื่อว่าหากพวกเขารวมตัวได้ก็สามารถต่อรองจากสิ่งที่มาจากพวกเขาจริงๆ น่าจะแกปัญหาได้

"เราจึงเสนอให้พี่น้องแรงงานต้องตั้งสหภาพแรงงานนานาชาติขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างโดยตรง โดยที่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสหภาพก็ได้ เพราะเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาของพวกเขาได้โดยตรง" เขากล่าวและย้ำว่า ปัญหาแรงงานอพยพกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก โดยเฉพาะการอพยพระหว่างประเทศซึ่งแต่ละรัฐจะไม่สามารถสกัดกั้นการอพยพเหล่านี้ได้

เลขาธิการ สรส. กล่าวด้วยว่า สรส.เคยเสนอให้มีองค์กรในการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบในลักษณะวันสต็อบเซอร์วิส โดยมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตัวแทนแรงงานพม่าเองด้วย แต่เสียดายที่ได้รับการปฏิเสธมาโดยตลอด

นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า กรณี 54 ศพ เป็นตัวอย่างหนึ่งในความไม่สำเร็จในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ คาดหวังว่ากฎหมายค้ามนุษย์ที่กำลังจะประกาศใช้น่าจะส่งผลให้สามารถจัดการได้ ตนเห็นว่าการจัดการทีผ่านมาไม่ส่งผลสำเร็จเนื่องจากกระบวนการนายหน้าที่หาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ แม้ว่าจะมีบัตรอนุญาตทำงานก็ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่ได้เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เพราะท้ายที่สุดก็ต้องอาศัยกลไกของนายหน้าอยู่ดี พวกเขาจะถูกกระทำซ้ำตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง

เขาเสนอว่า รัฐจะต้องใคร่ครวญกับกระบวนการของนายหน้าอย่างเป็นระบบ ต้องนิยามการค้ามนุษย์ให้กว้างขึ้นกว่าเก่า และที่สำคัญต้องมีองค์กรพิเศษเฉพาะเพื่อดูแลงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่ให้แต่ละหน่วยงานยึดกฎหมายบังคับใช้ไปตามแต่ละหน่วยงานเหมือนทุกวันนี้

ขณะที่นายฉัตรชัย บางชวด นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า เราไม่ได้ปฏิเสธแรงงานข้ามชาติเพราะตระหนักถึงความจำเป็น สมช.กับกระทรวงแรงงานได้ว่าจ้างให้มีการศึกษาได้ผลชัดเจนว่าประเทศไทยต้องการแรงงานข้ามชาติห่าลนี้ มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ วิธีการจัดการคือจัดระบบการจ้างงานให้ถูกต้อง

ทางภาครัฐต้องการคิดหาแนวทางใหม่ๆ ที่ผ่านมาหลักการดี แต่มีข้อจำกัดมาก เพราะพม่าไม่ยอมรับคนบางกลุ่มเป็นพลเมืองของเขา อย่างไรก็ตาม ตนก็หนักใจในหลายข้อเสนอเช่นการแนะให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานนานาชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น