xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไองัดกม.ฟอกเงินเอาผิด เครือข่ายค้าแรงงานข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14 พ.ค.) ที่ห้องประชุมจุมพฏพันธ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก - รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคมร่วมจัดวงเสวนาในหัวข้อ "สรุปบทเรียน 54 ศพ สู่นโยบายและมาตรการที่ยั่งยืน" โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และประชาชนผู้สนใจจำนวนมาก
นายนัสเซอร์ อาจวาริน อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงานร่วมไทย - พม่า ที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมามีข้อสรุปถึงกระบวนการยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ที่ระบุว่า ขณะนี้ได้มีการออกหมายจับกลุ่มนายหน้าไปแล้ว 8 ราย โดยคุมตัวไว้ 6 ราย ส่วนอีก 2 คน ซึ่งเป็นนายหน้าที่ส่งแรงงานระนองไปยังภูเก็ต ยังไม่สามารถคุมตัวได้
ในขณะที่ผู้เสียหายชาวพม่าซึ่งได้รับบาดเจ็บทั้ง 66 คนและได้รับการกักตัวไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.ระนอง ตามฐานความผิดหลบหนีเข้าเมือง ปัจจุบันได้คัดแยกผู้เป็นพยานได้ 10 ราย โดยมีผู้ใหญ่จำนวน 6 คน และเด็กจำนวน 4 คน จะเหลือผู้ที่ส่งกลับประเทศพม่าจำนวน 56 ราย โดยมีการตกลงกันว่า ทางฝ่ายพม่าต้องการให้ส่งกลับในวันที่ 19 พ.ค.นี้ โดยจะมีผู้ว่าราชการ จ.ระนองเป็นผู้ส่งมอบ ส่วนทางไทยจะต้องตรวจสุขภาพและสอบปากคำว่ามีความยินยอมให้ส่งกลับประเทศหรือไม่
นายนัสเซอร์ กล่าวด้วยว่า ตัวแทนของทั้งสองประเทศได้ทำบันทึกข้อตกลงในประเด็นสำคัญหลายข้อ ได้แก่ ผู้ที่จะต้องส่งตัวกลับทั้ง 56 ราย จะต้องมีความยินยอมให้ส่งตัวกลับ โดยจะต้อมีการตรวจสุขภาพก่อน ในขณะที่รัฐบาลพม่าจะต้องลงบันทึกอย่างชัดเจนว่า คนทั้ง 56 ราย จะได้รับดูแลตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วนและจะได้รับการดูแลด้านกฎหมายไทยโดยสมบูรณ์ในฐานะผู้เสียหายซึ่งทางการพม่าจะต้องสนับสนุนการเดินทางของคนเหล่านี้
"ในส่วนของพยานทั้ง 10 คน ข้อตกลงระบุว่า คนกลุ่มนี้จะอยู่เป็นพยานและดำเนินการโดยไม่ชักช้า ซึ่งได้สอบพยานไว้ล่วงหน้าต่อศาลแล้ว ซึ่งจะดำเนินการภายในเดือน มิ.ย. ซึ่งจะส่งกลับให้พม่าได้ภายในเดือน ก.ค. นี้" อนุกรรมการฯ สภาทนายความกล่าว
พ.ต.อ.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสืบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่าระนองเป็นจุดเชื่อมที่มีการแบ่งผลประโยชน์ของเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่จะนำพาชาวพม่ามาค้าแรงงานในประเทศ โดยการทำกันเป็นขบวนการ มีการจ่ายที่พม่าครั้งหนึ่งประมาณ 1 แสนจ๊าตต่อหัวและจ่ายในประเทศไทยอีกประมาณ 7 - 8 พันคนต่อหัว เครือข่ายเหล่านี้มีลักษณะการทำงานข้ามชาติ หากอนุมานได้ว่าแรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยประมาณ 1 ล้านคน ผลประโยชน์ขององค์กรเหล่านี้ค่อนข้างสูงและมีความขัดแย้งตามมา
พ.ต.อ.พงศ์อินทร์ กล่าวต่อว่า ลักษณะการนำพาคนเข้าเมืองเหล่านี้ค่อนข้างซับซ้อน มีการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง ข้อมูลด้านการข่าวได้ชี้ชัดว่ามีเครือข่ายเหล่านี้หลายเครือข่าย ตนเห็นว่าทางการควรต้องใส่ใจกับการแก้ปัญหาองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง หากนับจากปี 49 - 51 ผมเจอกรณีใกล้เคียงกันนี้แล้ว 13 ครั้ง รวมแล้วตาย 69 คน บาดเจ็บ 164 คน นี่เป็นตัวเลขที่ต้องทำให้เรากลับมาทบทวนให้มาก
หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงในกรณี 54 ศพ พ.ต.อ.พงศ์อินทร์ ระบุว่า มีการนำพาเด็กและผู้หญิง รวมถึงผู้ชาย 121 คน ซึ่งมีความผิดฐานนำพาบุคคลโดยแสวงหาประโยชน์โดยไม่ควรได้ มีการทารุณต่อเด็กซึ่งจะนำไปสู่มาตรการป้องกันปราบปรามหญิงและเด็ก นอกจากนี้ ความผิดเหล่านี้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้หารือกับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว อย่างไรก็ตามทางการจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนโยบายในการจัดการแก้ปัญหาด้งกล่าว
"อาชญากรรมปราบด้านเดียวไม่ได้ ต้องตัดตอนควมมมั่นคงด้านการเงินด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น