ศูนย์ข่าวภูเก็ต - หัวหน้าชุดไกรทอง เผยเทคนิคจับจระเข้ในทะเลตัวแรกในชีวิต ระบุ “ยะนุ้ย” จับยาก อยู่ในทะเลเปิดเจออุปสรรคคลื่นลมแรง ต้องรอจังหวะ ปรับแผนตลอดเวลา ใช้เวลายาวนานถึง 12 วัน
นายนิคม สุขสวัสดิ์ หัวหน้าชุดจับจระเข้ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ชุดไกรทองแห่งลุ่มน้ำตาปี) กล่าวว่า การจับจระเข้ตัวดังกล่าวเป็นการใช้เวลาในการติดตามจับยาวนานถึง 12 วัน สาเหตุที่จับได้ช้า เนื่องจากสภาพอากาศซึ่งมีคลื่นลมแรง ความสูงของคลื่น 2-3 เมตรทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ต้องมีการปรับแผนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมีการติดตามกันมาตั้งแต่หาดยะนุ้ย หาดในหาน หาดกะตะน้อย หาดกะรน หาดไตรตรัง ก่อนจะมาจับได้ที่หาดลายัน โดยก่อนลงมือปฏิบัติงานมีการตรวจเช็ก และคำนวณระดับน้ำทุกครั้ง ก่อนเข้าปฏิบัติการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงานด้วย และการจะเข้าจับตัวนั้นก็ต้องมีความมั่นใจว่าจะสามารถจับได้แน่นอนจึงจะลงมือปฏิบัติการ เพราะไม่เช่นนั้นเขาก็จะหนีไปทำให้ยากในการติดตามตัว
“การจับในครั้งนี้ยากกว่าการจับจระเข้เลพัง แม้ว่าเลพังจะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าก็ตาม แต่ครั้งนั้นเลพัง เข้าไปอยู่ในพื้นที่ปิด การจับทำได้ง่าย แต่ครั้งนี้เขาอยู่ในทะเลเปิด สภาพคลื่นลมในทะเลที่ค่อนข้างแรง ไม่สามารถที่จะเข้าประชิดตัวจระเข้ได้ ต้องรอช่วงจังหวะที่คลื่นลมสงบ และต้องปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งในการทำงานครั้งนี้เป็นการวางแผนร่วมกันภายใต้การนำของประมงจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับทีมไกรทองลุ่มน้ำตาปีสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเล เกาะสิมิลัน พังงา ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 กระบี่ และยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายๆ หน่วยในพื้นที่”
นายนิคม กล่าวถึงวิธีการที่ทำให้สามารถจับตัวจระเข้ได้สำเร็จ ว่า ได้มีการสำรวจหาตำแหน่งที่จระเข้ลอยตัวขึ้นมาเหนือน้ำ จากนั้นก็เปิดตำแหน่งที่ต้องการจะจับเขาให้ว่าง และไปกดดันอีกพื้นที่โดยใช้ไฟส่องเพื่อให้หลบแสงไฟไปอยู่ในตำแหน่งที่ได้กำหนดไว้ เมื่อเขาเข้ามาในตำแหน่งที่กำหนด เมื่อเห็นดวงตาของเขาแล้วจากนั้นก็ใช้อวนเข้าล้อมไว้หนึ่งชั้น จากนั้นใช้อวนขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรงเข้าล้อมอีก 2 ชั้น เพื่อให้มั่นใจ และเข้าจับ จนกระทั่งจับสำเร็จ ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการที่ยาก และเป็นการจับจระเข้น้ำเค็มครั้งแรกในชีวิต