xs
xsm
sm
md
lg

ชกหมัดตรง : นอกจาก “3 ฝ่าย” ที่ต้องรับผิดทุจริตโครงการกรมชลฯ ที่ชายแดนใต้แล้ว “สื่อรัฐ” ที่เกี่ยวข้องก็ต้องไม่เว้น / อนาถแท้ “คนสื่อ 4,500” ที่รับเงิน “เยียวยา” ปิดปาก / โกงขั้นอนุบาลยังขนาดนี้ แล้วเมกะโปรเจกต์ต่างๆ มากมายจะขนาดไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
โดย…ไชยยงค์  มณีพิลึก
.
ถ้า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) ไม่ได้รับการแจ้งเบาะแสจากประชาชนให้ไปทำการตรวจสอบ โครงการป้องกันตลิ่งพัง ที่บ้าน กม.26 หมู่ที่ 2 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งก่อสร้างในวงเงิน 24 ล้านบาท และ โครงการป้องกันตลิ่งพัง ที่บ้านปาตารายอ หมู่ 2 ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา วงเงินก่อสร้าง 21 ล้านบาท ก็คงจะไม่มีใครรู้ว่าการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการของ สำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา เกิดความไม่ “โปร่งใส” กล่าวคือ เป็นการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามแบบแปลน
 
มีการตัดให้สั้น มีการลดจำนวนขั้น ลดจำนวนหิน และลดเสาจำนวนหลายร้อยเสาที่เป็นเสาปูนดำ หรือ คสล.ขาวดำจากจำนวนเกือบ 200 ต้น “หายจ้อย” ไม่ได้สร้างแม้แต่ต้นเดียว
 
แม้ว่าในภาษาราชการจะไม่บอกตรงๆ ว่า “ทุจริต” แต่โดยข้อเท็จจริงโครงการของสำนักงานชลประทานทั้ง 2 โครงการมี “การโกง” อย่างสำเร็จครบถ้วนไปแล้วตั้งแต่เดือน ก.ย.2560 ซึ่งมีการรับมอบงานจากผู้รับเหมา และจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนชลประทาน
 
เรื่องนี้เมื่อมาถึงขั้น “โกง” แล้วถูก “จับติด” ได้แบบ “คาหนังคาเขา” จึงต้องหาผู้รับผิดซึ่งอย่างน้อยมาจาก 3 ส่วนด้วยกันคือ
 
1. ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา ที่ปล่อยให้ผู้รับผิดชอบโครงการ “ฮั้ว” กับบริษัทรับเหมาที่ก่อสร้างไม่ได้สร้างตามแบบแปลน ซึ่งหมายถึงว่าเมื่อมีการลดและตัดออกนั่น โน้น นี่ “เม็ดเงิน” ที่เหลือก็ต้องมีการ “แบ่งปัน” ส่วนผู้บังคับบัญชาจะมี “เอี่ยว” กับ “เงินทอน” หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของ ปปท.ที่จะต้องดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริง
 
2. บริษัทรับเหมาก่อสร้าง โครงการทั้ง 2 แห่งคือ “จำเลย” ในการโกงครั้งนี้ โดยการ “สมรู้ร่วมคิด” กับนายช่างผู้ควบคุมงานก่อสร้าง และร่วมมือกับคณะกรรมการตรวจรับที่ทำการตรวจรับงานที่ไม่เป็นไปตามแบบแปลนที่ถูกกำหนดไว้
 
3. คณะกรรมการตรวจรับ ซึ่งประกอบด้วย “ประธาน” และ “กรรมการ” ที่ก่อนตรวจรับต้องมีการตรวจสอบตามขั้นตอน และต้องยึดถือตามแบบแปลน ถ้าผิดไปจากแบบ แต่ยังยอมรับมอบงานก็ถือว่า “สมรู้ร่วมคิด” ในการกระทำการโกงด้วยกัน
 
ดังนั้น “ใคร” ก็ตามที่ออกมาให้ข่าวกับ “สื่อ” ว่าโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการ “ประกัน” จากบริษัทผู้รับเหมา เดี๋ยวจะจัดการแก้ไขให้เป็นไปตามแบบที่ถูก ปปท.ตรวจพบว่าผิดไปจากแบบแปลน จึงเป็นคำพูดของคนที่ “ปัญญาอ่อน” เพราะเป็น “การโกงที่สำเร็จแล้ว” ตั้งแต่วันรับมอบงาน ส่วนเรื่องการอยู่ระหว่างการประกันนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโกงแต่อย่างใด อย่าเอาทั้ง 2 เรื่องมาปนกันเพื่อที่จะแก้ตัวว่า “ไม่ได้โกง”
 
โดยข้อเท็จจริง กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานที่มักมีข่าว “ฉาวโฉ่” เกิดขึ้นมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องการ “เวนคืน” ทั้งในเรื่องการ “ก่อสร้าง” ที่มีคำว่า “เงินทอน” เกิดขึ้นให้ได้ยินอยู่ตลอดเวลา แต่ที่ไม่เป็นข่าวก็เป็นเพราะมีการ “แบ่งปันผลประโยชน์” ให้กับทุกฝ่ายจนไม่มีผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ หรือหลายครั้งที่ถูกตรวจสอบก็จะจบลงที่ความเงียบ
 
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เชื่อว่า โครงการป้องกันตลิ่งพัง ไม่ได้มีแค่ 2 แห่งที่ จ.ยะลา แต่จะเป็นเช่นเดียวกันกับทุกโครงการ ที่ก่อสร้างในลุ่มน้ำสายบุรี หรือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นงบประมาณเดียวกัน และเป็นกลุ่มงานเดียวกัน
 
และเท่าที่รู้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ในการดำเนินการรับเหมาก่อสร้างเป็นเจ้าหน้าที่ชุดเดียวกัน ซึ่งมีการว่างจ้างให้ ผู้นำท้องถิ่น เป็นผู้ก่อสร้างและหาบริษัทรับเหมามาเป็นคู่สัญญาแบบไม่ได้ก่อสร้างเอง เพียงแต่ให้มีการการใช้ชื่อของ บริษัทเป็นคู่สัญญา เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และ “เงินทอน” ทั้งหมดก็จะมีการ “แบ่งปัน” กันตามระเบียบโรงเรียนชลประทานที่แอบรับประทานกันจนพุงกาง
 
จึงอยู่ที่ ปปท.จะมีการตรวจสอบทุกโครงการที่มีการก่อสร้างหรือไม่ และเมื่อตรวจพบการทุจริตอย่างนี้แล้ว ปปท.จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ที่เป็นห่วงเพราะ ขบวนการงาบงบประมาณ ในสำนักงานชลประทานนั้น มี ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะต้องมีการ “วิ่งเต้น” ช่วยเหลือในฐานะที่เป็น สัตว์ครอกเดียวกัน อย่างแน่นอน ดังนั้นเรื่องที่เกิดขึ้นที่ จังหวัดยะลา และ ภาคประชาสังคม จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
 
ความจริงเรื่องการโกงในโครงการก่อสร้างของสำนักงานชลประทานยะลา อาจจะไม่เป็นเรื่อง “โด่งดัง” ติดต่อกันหลายวัน เพราะงบประมาณที่ใช้เป็นวงเงินก่อสร้างของทั้ง 2 โครงการเฉียดๆ แค่ 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็น “การโกงชั้นอนุบาล” มากสำหรับหน่วยงานของ ชลประทาน
 
แต่ที่เกิดเป็นข่าวต่อเนื่องหลายวัน เป็นเพราะหลังจากการตรวจพบการโกงของ ปปท. มีการพยายามที่จะ “ปิดข่าว” โดยไม่ต้องการให้ “นักข่าว” นำเสนอข่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งตามข่าวที่สื่อนำมาเผยแพร่ระบุว่า ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง กับการปิดข่าวก็มี อาชีพสื่อ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการนำเสนอข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่เป็นความเสียหายของ ส่วนรวม ของ ประเทศชาติ
 
ประเด็นนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง ในกรณีที่มีคนในสังกัด สื่อรัฐ เข้าไปทำการเสนอผลประโยชน์ให้กับคนสื่อด้วยกันเพื่อการปิดข่าว ซึ่งก็ได้กลายเป็นข่าวที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนว่า เป็นการกระทำที่ “เหมาะสม” และมี “ความผิด” หรือไม่
 
แต่มีเรื่องที่น่าเสียใจคือ ในแวดวงของสื่อวันนี้มี “ความตกต่ำ” จนน่าใจหาย จากการที่มี คนสื่อ ส่วนหนึ่งยินยอมที่จะ “นิ่งเงียบ” กับ การโกงชาติโกงแผ่นดิน อาจจะเพราะเห็นแก่ “สินจ้าง” หรือเพราะเห็น “แก่หน้า” จนลืมเลือนถึง การทำหน้าที่วิชาชีพสื่อมวลชน ที่ถูกต้อง
 
โดยเฉพาะสื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วันนี้มีประเด็นให้กล่าวขวัญถึงมากที่สุดว่า คนสื่อจำนวนมาก ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ภาครัฐ เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่ถูก “หยิบยื่น” ผ่านโครงการต่างๆ จึงนำเสนอแต่ “ข่าวในเชิงบวก” ทำหน้าที่เสนอข่าวเหมือนเป็น “ประชาสัมพันธ์” ให้กับหน่วยงานในพื้นที่ จนถึงขนาดนามว่า “คนสื่อ 4,500” ซึ่งเป็นตัวเลขของเงินที่ใช้ “เยียวยา” ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ
 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาแล้ว 14 ปี ถือเป็น 14 ปีที่ “สร้างผลประโยชน์” ให้กับทุกหน่วยงานในพื้นที่ และที่สำคัญมีการนำสถานการณ์ “ความรุนแรง” และ “ความโหดร้าย” ไปใช้สร้างความหวาดกลัวให้กับ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ โครงการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ จนทำให้เจ้าหน้าที่ในสังกัด “ปปท.” “สตง.” “ปปป.” “ปปช.” และ “กรรมการตรวจรับต่างๆ” ไม่กล้าลงพื้นที่ไปตรวจสอบ เพราะกลัวโจร กลัวระเบิด และถูกข่มขู่จากผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง นั่นจึงทำให้งบประมาณที่ถูกเทลงไปในพื้นที่ “ถูกโกงกันกันตามอำเภอใจ” จนกลายเป็นเรื่องของการ “ค้ากำไร” ที่เกิดขึ้นในแทบทุกหน่วยงาน
 
วันที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “อึมครึม” ไปด้วย “ผลประโยชน์” เอ็นจีโอ ส่วนมากถูกต้อนเข้าคอกเพื่อรับเงินจากหน่วยงานของรัฐ และต้องทำโครงการตามที่รัฐต้องการ จึงเหลือเพียง คนสื่อนอกสังกัดรัฐ บางส่วนที่ยังมี เสรีภาพในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
 
ถ้า คนสื่อส่วนใหญ่ กลายเป็น “เครื่องมือ” ของหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วย “ปกปิดข่าว” แล้ว ประชาชนผู้เดือดร้อน ผู้ด้อยโอกาส และ ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม จะหันหน้าไปพึ่งหน่วยงานไหนได้อีกเล่า?!?!
 
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
 
- เป็นเรื่อง! ป.ป.ท.ตรวจพบทุจริตครั้งใหญ่ใน “ชลประทานยะลา” เจ้าแม่วงการสื่อวิ่งเต้นปิดปากนักข่าว
- ป.ป.ท.ลุยสอบโครงการชลประทานใน 3 จังหวัด หลังพบการทุจริต 2 โครงการที่ยะลา
 


กำลังโหลดความคิดเห็น