xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “ท่านผู้นำ” เสริมพลังดูด! “มาราปาตานี” จึงต่อรอง 35 ล้านจาก “พรรคการเมือง” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ซ้าย) พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช (กลาง) พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ (ขวา)
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
แม้จะไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ก็รับรู้กันแล้วจากข่าวว่า ผู้ที่จะมาแทน “บิ๊กอาร์ต-พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช” ในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผ.อ.กอ.รมน.ภาค 4 คือ “บิ๊กเดฟ-พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์” แม่ทัพน้อยที่ 4 ถือเป็นนายทหารรับราชการอยู่ในพื้นที่มายาวนาน และไต่เต้าจนได้ตำแหน่งแม่ทัพน้อย
 
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่นายทหารที่กระโดดข้ามห้วยย้ายมาเอาตำแหน่งจากนอกพื้นที่ ก่อนจะ “ติดสปริงเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ.” หรือมาเพื่อ “ควบคุมงบประมาณ” ที่มีจำนวนมหาศาลในแต่ละปี โดยที่ไม่เข้าใจปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างที่หลายๆ ครั้งก็มีการโย้กย้ายแต่งตั้งไปในทำนองนั้น
 
แต่ก็นั่นแหละถึงอย่างไรคนปลายด้ามขวานก็อย่าเพิ่งดีใจหรือมั่นใจว่า การได้ “แม่ทัพใหม่” ที่เป็นนายทหารที่อยู่ในพื้นที่มานานจะทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการแก้ไขอย่างถูกทิศทาง เพราะเอาเข้าจริงๆ อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้
 
ทว่าจะอย่างไรเสียก็อย่างเพิ่ง “ติเรือทั้งโกลน” เผื่อใจเอาไว้รอดู “ฝีมือ” กันให้ชัดๆ ในตอนที่ได้นั่งอยู่ในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นที่เรียบร้อยแล้วอีกครั้ง
 
แต่ก็แอบหวังลึกๆ ว่าคงจะมีการมองปัญหาความไม่สงบให้ถูกต้องว่า ไฟใต้ระลอกใหม่เป็นเรื่องของขบวนการก่อการร้ายที่ชื่อ “บีอาร์เอ็นฯ” ที่เป็นผู้ก่อขึ้น ไม่ใช่เรื่องของคนในพื้นที่ “4-5 ตระกูล” ที่เป็นผู้สั่งการให้ก่อเหตุร้าย อีกทั้งคงจะไม่ออกมาบอกกับสังคมว่า ทั้งหมดของความตาย บาดเจ็บและพิการ นั่นเป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” เพียงประการเดียว
 
และหวังว่าคนส่วนน้อยที่เป็น “ไทยพุทธ” คงจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกับคนส่วนมากในพื้นที่ที่เป็น “มุสลิม” รวมทั้ง “นโยบายพาไทยพุทธกลับบ้าน” จะมีความแข็งขัน ทั้งด้านงบประมาณและการปฏิบัติให้เหมือนกับ “โครงการพาคน(โจร)กลับบ้าน” อย่างที่ผ่านมา
 
โดยข้อเท็จจริงถ้ารัฐบาล กองทัพและหน่วยงานในพื้นที่อย่าง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะยอมรับความจริงว่า ปัญหาที่เป็น “ใจกลางของวิกฤต” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “บีอาร์เอ็นฯ” และทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่ดับไฟใต้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งหน่วยงานภายในพื้นที่และภายนอกพื้นที่ วันนี้สถานการณ์ต่างๆ อาจจะได้รับการ คลี่คลายไปแล้วกว่าครึ่ง
 
เพราะบีอาร์เอ็นฯ เองก็ไม่ได้เก่งกล้าสามารถ หรือมีความยิ่งใหญ่และน่ากลัวแต่อย่างใด อาศัยการก่อการร้ายแบบ “กองโจร” แบบ “ลอบกัด” ใช้คนน้อย แต่มีมวลชนมาก สู้กับกองกำลังของรัฐที่มี “กำลังมหาศาล” แต่กลับมี “มวลชนน้อยนิด” เท่านั้น
 
โดยเฉพาะในวันนี้ที่ “ดูลเลาะ แวมะนอ” ได้ขึ้นเป็นผู้นำหมายเลข 1 ของบีอาร์เอ็นฯ ได้เกิด “จุดอ่อน” ขึ้นในขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้อย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ ความเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ของเขาไม่ได้เข้มแข็งหรือเข้มข้นแบบที่ “สะแปอิง บาซอ” อดีตผู้นำหมายเลข 1 ของบีอาร์เอ็นฯ คนก่อนเคยมีมา
 
ช่องว่างในเรื่องของ “ศาสนา” นั้นเห็นชัดเจน ซึ่งช่องว่างนี้คือ “จุดอ่อน” ของบีอาร์เอ็นฯ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งในอดีตนั้นการเลือกเป้าหมายการก่อเหตุร้ายจะไม่มี “ผู้นำศาสนา” ที่เป็นมวลชนสำคัญในการสนับสนุนแนวทางการใช้ความรุนแรงของขบวนการ
 
ผิดกับวันนี้ที่การมอบหมายให้ “แนวร่วม” ก่อการร้ายต่อ “เป้าหมาย” ที่วางไว้นั้น กลับได้รับการคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยจากฝ่ายสนับสนุนที่เป็นผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นปัญหาภายในของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เอง ที่ขณะนี้ยังพยายามปิดจุดอ่อนโดยการเฟ้นหา “ผู้นำจิตวิญญาณ” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของมวลชนในฟากผู้นำศาสนาในพื้นที่
 
จุดอ่อนของบีอาร์เอ็นฯ ที่ถือเป็น “ช่วงว่าง” ที่เห็นชัดเจนในรอบ 2 ปีคือ แน่วร่วมก่อการตั้งแต่ปี 2536 และ 2547 กลายเป็น “กลุ่มผู้สูงวัย” และเป็นกลุ่มที่ “ลดบทบาทตนเอง” โดยส่วนหนึ่งรู้ว่า “ถูกหลอกใช้” ในขณะที่กลุ่มหนึ่งรู้ว่าเรื่องการต่อสู้เพื่อ “เอกราช” นั้นเป็นไปไม่ได้  แกนนำและแนวร่วมกลุ่มเหล่านี้จึงกำลังจะหมดบทบาทลง แต่ก็เป็นการลงจากขบวนการอย่างเงียบๆ โดยไม่ได้พึ่งพา “กระบวนการพาโจรกลับบ้าน” และแม้ว่าบางคน จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการพาโจรกลับบ้าน แต่ก็ไม่ “ขายความลับ” ของขบวนการให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ดังนั้นจะเห็นว่าบีอาร์เอ็นฯ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้าง “เซลล์ใหม่ๆ” เพื่อให้เป็นกองกำลังของขบวนการ เพื่อใช้ในงานทั้งด้าน “การเมือง” และ “การทหาร” แทนกองกำลังรุ่นเก่าที่ออกจากขบวนการ และส่วนหนึ่งถูกขบวนการปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
แต่น่าเสียดายที่ “ผู้นำหน่วย” ไม่ได้นำจุดอ่อนที่เกิดขึ้นของศัตรูไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะมีการ “ปฏิเสธ” ก่อนแล้วว่าบีอาร์เอ็นฯ ไม่ใช้ศัตรูของแผ่นดินปลายด้ามขวาน แถมยังสร้างความไขว้เขวให้เกิดขึ้นว่า ความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงมาจาก “ผู้มีอิทธิพล” เพียง 4-5 ตระกูลใหญ่ในพื้นที่ และเป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” เช่น ธุรกิจน้ำมันเถื่อน ค้ามนุษย์และยาเสพติด เป็นต้น
 
และยิ่งจับตาไปยัง “กลุ่มมาราปาตานี” ซึ่งเป็น “ปีกการเมือง” ของบีอาร์เอ็นฯ ที่ใช้สันติวิธีด้วยการพูดคุยกับ “กองทัพ” บนโต๊ะ “พูดคุยสันติสุข” ซึ่งยังพบว่าวันนี้ท่าที่ของกลุ่มมาราปาตานีเริ่มเปลี่ยนไป ด้วยการพยายามที่จะสร้างบทบาทเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ฟังเสียงของบีอาร์เอ็นฯ “ปีกทหาร” แถมยังมีการ “รุกคืบทางการเมือง” เพื่อแย่งชิงการนำให้มวลชนสนับสนุนเป็นตัวแทนของ “คนมาลายู” ในพื้นที่ ทั้งที่กลุ่มมาราปาตานีไม่มีนักรบ “อาร์เคเค” หรือกองกำลังติดอาวุธให้กับสนับสนุนเลย
 
มีสิ่งที่น่าติดตามสำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มมาราปาตานี หลังจากที่ “ร้างลา” จากเวทีพูดคุยสันติสุขกับตัวแทนของรัฐไทย เพราะการเปลี่ยนรัฐบาลของประเทศมาเลเซีย นั่นคือ การ “แอบอ้าง” เป็นตัวแทนของคนมาลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขอเข้ามามีส่วนร่วมใน “การเลือกตั้ง” ครั้งที่กำลังจะมาถึงของไทย
 
มีข่าวจากวงในเปิดเผยว่า มีการ “ต่อรอง” จำนวนเงิน 35 ล้านระหว่างตัวแทนของกลุ่มมาราปาตานีกับ “พรรคการเมือง” พรรคหนึ่งโดยผ่าน “โก ล.” ซึ่งมีบทบาทในการเป็น “ผู้จัดการ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้มวลชนในพื้นที่สนับสนุนผู้สมัครของพรรคการเมืองดังกล่าว ซึ่งเป็นพรรคที่มีจุดยืนชัดเจนว่า “หนุน คสช.”
 
นี่คือปรากฎการเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาหลังจากประเทศมาเลเซียมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ และก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มมาราปาตานี และเป็น “ความอ่อนแอ” ของบีอาร์เอ็นฯ ที่ต้องจับตามอง
 
ประการสำคัญอีกประการหนึ่งของการดับไฟใต้ให้ได้ผลคือ วันนี้สถานการณ์หลายอย่างในพื้นที่ได้เปลี่ยนไปแล้ว ทั้งในเรื่องของความไม่เป็นธรรม ความเป็นพลเมืองชั้นสอง การไม่ได้รับการงการพัฒนาทั้งในด้านพื้นที่และคุณภาพชีวิต ซึ่งข้อเท็จจริง ณ แผ่นดินปลายด้ามขวานวันนี้ไม่เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ “ฐานข้อมูลของรัฐ” กลับยังใช้ฐานข้อมูลเดิมๆ นั่นย่อมเป็น “ความผิดพลาด” อย่างแน่นอน
 
ควรอย่างยิ่งที่ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)” จะต้องเขียน “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่” ที่ยึดโยงกับข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพื่อให้รัฐบาลได้ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์การดับไฟใต้ที่ถูกต้อง
 
น่าเสียดายที่ “ท่านผู้นำ” ไม่รู้จักฉวยโอกาสความได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้ามให้เป็นประโยชน์
 
เพราะ “ผู้นำในพื้นที่” เอาแต่ใช้นโยบาย “ปิดบัง” ข้อเท็จจริง ในขณะที่ “ผู้นำประเทศ” มัวแต่สนใจ “พลังดูด” เพื่อสร้างฐานทางการเมืองให้ตนเอง มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการ “ดับไฟใต้” บนแผ่นดินปลายด้ามขวาน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น