ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เจ้าท่าล็อกแล้วเรือประมงอวนลากคู่ แสงสมุทร 3 แสงสมุทร 2 หลังถูกแจ้งความดำเนินคดีนำฉลามวาฬขึ้นบนเรือ ก่อนปล่อยกลับลงทะเล ป้องกันนำเรือออกจากจุดจอด ขณะที่ประมงระบุหลังปล่อยฉลามว่ายน้ำได้เอง จนถึงขณะนี้ยังไร้วี่แววซาก และตัวเป็นๆ
จากกรณีเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพ และคลิปทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์เรือประมงแสงสมุทร 3 ซึ่งเป็นเรืออวนลาก นำฉลามวาฬขนาดใหญ่ขึ้นมาบนเรือประมง และได้ปล่อยลงทะเลไปแล้ว แต่หลังจากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของสำนักงานประมง จึงได้รวบหลักฐานแจ้งลงบันทึกประจำวัน และร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสืบสวน
ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 พ.ร.ก.การประมง.พ.ศ.2558 ประกอบประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธ์ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง พ.ศ.2559 ข้อ 2 (4) ปลาฉลามวาฬ เพื่อดำเนินคดีต่อ นายสมสมัย มีจอม และนายรัตนา พรหมงาม และผู้กระทำผิดจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และได้สั่งดำเนินการกักเรือ ยึดสัตว์น้ำและเครื่องมือ
โดยกรมประมงได้ประสานไปยังกรมเจ้าท่าเพื่อดำเนินการล็อกเรือ ตามคำสั่ง คสช.22/2560 ข้อ 22 ที่ระบุว่า กรณีมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าเรือประมงลำใดเกี่ยวข้องต่อการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ให้พนักเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งพบการกระทำความผิดสั่งกักเรือไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ล่าสุด วันนี้ (21 พ.ค.) ที่แพแสงอรุณ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดจอดเรือประมงแสงสมุทร 3 แสงสมุทร 2 ทางไปท่าเทียบเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสาคร ปูดำ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาภูเก็ต ร่วมกันทำการล็อก และทาสีเรือเป็นสัญลักษณ์ว่า เรือทั้ง 2 ลำ ถูกล็อก และห้ามออกจากจุดเรือ ตามที่ได้รับแจ้งจากกรมประมงที่ออกคำสั่งกักเรือ และให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 วัน
ขณะที่ นายโกวิท เก้าเอี๊ยน ประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเรือประมงนำฉลามวาฬขึ้นบนเรือ ในโครงการผู้ว่าฯ พบสื่อมวลชน ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ว่า ขณะนี้ในส่วนของสำนักงานประมงได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดี และสั่งกักเรือรวมทั้งสัตว์น้ำทั้งหมดไว้แล้ว จนกว่าคดีนี้จะสิ้นสุด รวมทั้งแจ้งให้ทางเจ้าท่าดำเนินการล็อกเรือ ส่วนการดำเนินคดีนั้นขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ส่วนกรณีมี่มีการระบุว่า มีไข่ หรือลำไส้หลุดออกมาจากตัวฉลามวาฬ ในขณะที่เรือประมงปล่อยกลับลงทะเลนั้น นายโกวิท กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าสิ่งที่ตกลงมาเป็นอะไร เพราะจากการสอบถามไปยังนักวิชาการเองก็ไม่ยืนยันว่าเป็นอะไรกันแน่ เพราะภาพที่เห็นไม่ชัด ส่วนฉลามวาฬที่ปล่อยลงทะเลยังอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ายังมีชีวิตหรือไม่ แต่ทราบว่าหลังจากมีการปล่อยฉลามก็ว่ายน้ำลงไปในทะเลได้ และ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพบซากแต่อย่างใด
สำหรับบทลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ประมง 2558 ตามมาตรา 66 คือ ปรับสามแสนถึงสามล้านบาท หรือปรับมูลค่า 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนำขึ้นเรือประมง แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่ากัน ขณะเดียวกัน เรือดังกล่าวต้องถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตการทำประมงตามมาตรา 39 และไม่สามารถขอใบอนุญาตการทำประมงได้อีกถ้าพบว่ามีการกระทำความผิดจริง
อย่างไรก็ตาม นอกจากทางสำนักงานประมงจะแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ในส่วนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม ต่อ นายสมสมัย มีจอม อายุ 55 ปี ชาว จ.ยโสธร ไต้ก๋งเรือแสงสมุทร 3 และนายรัตนา พรหมงาน ผู้ควบคุมเรือ แสงสมุทร 2 และลูกเรือประมงทั้ง 2 ลำด้วยเช่นกัน ในข้อกล่าวหา ร่วมกันล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการ