xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธรณ์” โพสต์เฟซฯ ระบุนำฉลามวาฬขึ้นเรือผิดกฎหมาย โทษปรับ 3 แสนถึง 1 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “ดร.ธรณ์” โพสต์เฟซฯ ส่วนตัว ระบุไม่เคยมีเหตุนำฉลามวาฬติดอวนขึ้นเรือ ชี้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย โทษปรับ 3 แสน ถึง 1 ล้านบาท เผยเพิ่งโพสต์คลิปชาวประมงช่วยปล่อยฉลามติดอวนไม่คิดจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น

หลังมีการโพสต์คลิปเรือประมงนำฉลามขึ้นบนเรือประมง ซึ่งเหตุเกิดที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ ดร.ธรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีการช่วยฉลามวาฬติดอวน และ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉลามวาฬ ว่า

“ฉลามวาฬเป็นสัตว์น่ารัก เป็นสุดยอดสัตว์ที่นักท่องเที่ยวทางทะเลอยากเจอสักครั้ง กรณีฉลามวาฬถูกจับที่ภูเก็ต ตอนนี้เจ้าหน้าที่กรมประมงได้เข้ารวบรวมหลักฐานและควบคุมตัวลูกเรือประมงแล้วครับ (รายละเอียดดังภาพ ท่านอธิบดีไปเองครับ) ผมมีข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้สนใจดังนี้ครับ

ฉลามวาฬเป็นปลาใหญ่ที่สุดในโลก โตเต็มที่อาจยาวเกิน 12 เมตร น้ำหนักมากกว่า 10 ตัน ฉลามวาฬพบในทะเลเขตร้อนทั่วโลก เป็นฉลามที่ไม่มีอันตราย กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารด้วยการกรองน้ำโดยซี่เหงือก ฉลามวาฬเป็นสุดยอดสัตว์ที่นักท่องเที่ยวทางทะเลอยากเจอสักครั้งในชีวิต ไม่ใช่เฉพาะนักดำน้ำที่กรี๊ดแน่หากเห็น มีข่าวนักดำน้ำหรือนักท่องเที่ยวไปเจอฉลามวาฬและลงไปว่ายน้ำดูเป็นประจำ ลวดลายฉลามวาฬเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เราทราบได้ว่าเธอคือตัวไหน

นักดำน้ำบางคนเรียกฉลามวาฬว่า “น้องจุด” ด้วยความเอ็นดู เด็กๆ หลายคนชอบฉลามวาฬ ถือเป็นสัตว์ประจำใจ ฉลามวาฬในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 100 ตัว (ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) ฉลามวาฬบางตัวจะวนเวียนหากินอยู่ในแถวนั้น ในรัศมี 50-100 กิโลเมตร นักดำน้ำจึงจดจำฉลามวาฬหลายตัวได้เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญสูงมากต่อการอนุรักษ์ทะเลและต่อการท่องเที่ยว

อีกทั้งมีจำนวนน้อย เราจึงช่วยกันผลักดันให้ฉลามวาฬให้เป็นสัตว์ห้ามทำการประมง ตั้งแต่ปี 2540 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้ฉลามวาฬเป็น “สัตว์ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือ” มีโทษปรับสามแสนถึงสามล้านบาท ฉลามวาฬยังเป็นสัตว์คุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีทั้งโทษปรับและโทษจำ โทษดังกล่าวรุนแรง อาจถึงขั้นห้ามทำการประมงต่อไป หรือถึงขั้นริบเรือ (ตามศาลพิจารณา) คนรักทะเลช่วยกันผลักดันจน ครม.มีมติอนุมัติให้ฉลามวาฬเป็นสัตว์สงวน (อยู่ระหว่างรอกฤษฎีกาประกาศ) เราต้องผลักดันเพราะฉลามวาฬมีจำนวนน้อย (น้อยกว่าพะยูน 2 เท่า) และมีการคุกคาม เช่น มีครีบฉลามวาฬในร้านหูฉลาม (เป็นข่าวเช่นกัน)

ชาวประมงรักฉลามวาฬ เมื่อติดอวนมา ชาวประมงจะช่วยกันปล่อย โดยไม่ต้องนำขึ้นเรือ ดังที่มีคลิปและมีข่าวอยู่บ่อยๆ (ผมเพิ่งลงคลิปชาวประมงช่วยฉลามวาฬไปเมื่อ 4-5 วันก่อน) หากพบซากฉลามวาฬ และ ต้องการนำไปให้เจ้าหน้าที่ สามารถลากจูงไปได้โดยไม่ต้องเอาขึ้นเรือ ดังที่เคยมีการทำแล้วที่จังหวัดภูเก็ต (ปีก่อน) อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้เป็นการนำฉลามวาฬขึ้นเรือ ไม่ว่าด้วยจุดประสงค์ใด ถือว่าขัดต่อกฎหมาย

ผมทราบดีว่าชาวประมงส่วนใหญ่รักฉลามวาฬ อยากช่วยฉลามวาฬ และทำเช่นนั้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่ผมได้ข่าวหรือได้คลิปมา ผมจะบอกให้คนอื่นทราบ และชื่นชมจิตใจที่รักทะเลของพี่ๆ เหล่านั้น แต่กรณีที่เกิดขึ้น จากภาพและจากคลิป ไม่เป็นเช่นนั้นครับ ขอบคุณภาพจากคุณ Dusadee นักดำน้ำผู้รักทะเลไทยครับ

นอกจากนั้น ดร.ธรณ์ ได้ได้ใส่รายละเอียด รายงานจากกรมประมง ถึงการดำเนินการกับกรณีที่เกิดขึ้นกับฉลามวาฬที่ภูเก็ต ว่า ตามที่มีการรายงานทางสื่อออนไลน์ว่ามีการจับปลาฉลามวาฬขึ้นเรือประมงจังหวัดภูเก็ต และ อธิบดีกรมประมง ได้มาตรวจการเรือที่ท่าเทียบเรือประมงแพแสงอรุณภูเก็ต ขอรายงานความก้าวหน้าดังนี้

1.เรือประมงประเภทอวนลากชื่อเรือแสงอรุณ 3 ทะเบียนเรือ228304242 ใบอนุญาตประมงฯ 618301010283 (เรือปลา) มีนายสมชัย มีชอบ และ เรือหู แสงอรุณ 2 มีนายรัตนา พรหมงาม เป็นผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือ คือนาย วรรณ

2.เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพได้ตรวจเรือที่แจ้งเข้าท่าเวลา 22.00 น พบหลักฐานจากการชี้แจงของผู้ควบคุมเรือยอมรับว่า ภาพทางสื่อออนไลน์เป็นเรือดังกล่าวจริง จึงได้รวบ หลักฐานแจ้งลง ปจว.และ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพง.สส. สภ.เมืองภก. เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 พ.ร.ก.การประมง.พ.ศ.2558 ประกอบประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธ์ุที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง พ.ศ.2559 ข้อ 2 (4) ปลาฉลามวาฬ

3. สั่งกักเรือ ยึดสัตว์น้ำและเครื่องมือ รายงานเจ้าท่าล๊อคเรือ แล้วรายกองกฎหมาย และ ก.บ.ร. ต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ขอบคุณกรมประมงที่ดำเนินการว่องไวมากครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น