xs
xsm
sm
md
lg

“กทส.” และข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสันติภาพและการอยู่ร่วมที่ชายแดนใต้ / พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
พัทธ์ธีรา  นาคอุไรรัตน์
อาจารย์และนักวิจัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล n.padtheera@gmail.com
 
 
 
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 ที่ห้องประชุมจะบังติกอ โรงแรม ซีเอส ปัตตานี จ.ปัตตานี มีเวทีสานเสวนาที่จัดโดย กลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ภายใต้ผู้ประสานงานหลักคือ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการปรึกษาหารือเรื่องการนำเสนอข้อเสนอนโยบายของกลุ่มชาวไทยพุทธที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อร่วมกันหาทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของกันและกันในชายแดนใต้
  
หลังจากที่ความรุนแรงได้บั่นทอนสายสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างผู้คนหลากวัฒนธรรม ความเชื่อ และชาติพันธุ์มากว่า 14 ปี
 

 
ในเวทีดังกล่าวได้รับเกียรติจาก คุณณาตยา แวววีรคุปต์ จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีการนำเสนอข้อเสนอ 3 ชุด จากแหล่งที่มาของข้อเสนอที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
     
1. ชุดที่นำเสนอโดย กลุ่มถักทอสันติภาพ หรือ กทส. นั้นมาจาก “กระบวนการสานเสวนา” และการลงทำงานในพื้นที่ตลอด 4 ปีที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ 2 ปีก่อนที่จะก่อตั้งเป็นกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ในปี พ.ศ. 2558 ข้อเสนอของกลุ่มนี้นำเสนอโดย ผู้ใหญ่สมใจ ชูชาติ ตัวแทนชาวพุทธเชื้อสายมลายู จาก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี สมาชิกหลักของกลุ่ม กทส.
      
2. ข้อเสนอที่มาจากงานวิจัยของ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย ซึ่งทำงานวิจัยโดยการสัมภาษณ์จากผู้ให้ข้อมูลจากตัวแทน 8 องค์กร และผู้ให้ข้อมูลสำคัญอีก 15 คนประกอบกับการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งต้นจากคำถามสำคัญที่นำไปสู่การสัมภาษณ์คือ ถ้าท่านเห็นด้วยกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็จะขอสัมภาษณ์ แต่หากไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร ที่นำเสนอโดย คุณลม้าย มานะการ ประกอบกับการลงไปรับฟังความคิดเห็นของชาวพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้จำนวนหลายครั้ง และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่ม กทส. ที่คุณลม้ายเองก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วยนั้น เพื่อช่วยกันสร้างเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีความเห็นพ้องกันกับข้อเสนอของกลุ่ม กทส.ด้วยเช่นกัน
        
ข้อเสนอที่สำคัญจากงานวิจัย คือ 1.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2.ความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชน และ 3.การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัตนธรรมและมีความแตกต่างหลากหลาย
    

 
3. ข้อเสนอของ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ นำโดย คุณรักชาติ สุวรรณ์ ซึ่งลงพื้นที่ 3-4 เดือนใน 3 พื้นที่และอีก 1 ชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกในส่วนที่เป็นสภาพปัญหา ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า สภาพปัญหาคล้ายๆ กันว่ามีความรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาเหตุการณ์ต่างๆ ที่ชาวไทยพุทธประสบมักเกิดนอกพื้นที่ชุมชน
 
อีกประเด็นหนึ่งคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อมีสินค้าที่ติดตราฮาลาลมากขึ้นในพื้นที่ และชาวมลายูมุสลิมหันมาซื้อสินค้าที่ติดตราฮาลาลมากขึ้น
 
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการย้ายออกของคนไทยพุทธมากกว่าที่จะย้ายเข้ามา คนในพื้นที่มักเป็นผู้สูงอายุมากกว่า ทั้งนี้ด้วยชาวไทยพุทธนิยมส่งลูกหลานออกกไปเรียนข้างนอกพื้นที่
 
แต่สัญญาณที่เห็นค่อนข้างชัดคือ แนวโน้มของสังคมพหุวัฒนธรรมที่เคยมีนั้น มีสัญญาณเดินเข้าสู่สังคมวัฒนธรรมเดี่ยวมากขึ้น หลักฐานเชิงประจักษ์คือ โรงเรียนที่มีเด็กต่างศาสนาและวัฒนธรรมลดน้อยลง พื้นที่ทางสังคมที่เห็นคนกลุ่มใหญ่มากขึ้น จนแทบไม่มีพื้นที่สำหรับคนส่วนน้อย 
 

 
นอกจากนี้ ปัญหาที่สะท้อนมากที่สุดจากเสียงชาวพุทธในพื้นที่คือ ปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น เรื่องยาเสพติด การใช้อำนาจ ความไม่เป็นธรรม และความไม่ปลอดภัยในระหว่างการเดินทาง เช่น พื้นที่ศรีภิญโญ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขา การเดินทางไม่สะดวก ทั้งด้วยถนนหนทางที่คับแคบ แม้กระทั่งรถจะสวนกันยังทำไม่ได้
 
ในขณะที่สถานการณ์ต่างๆ ที่เครือข่ายฯ ได้พบนั้น สวนทางกับกระแสข่าวที่รัฐและสื่อพยายามจะประโคมข่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น 
 
ซึ่งในความเป็นจริงเป็นประเด็นที่คนในพื้นที่ตั้งคำถามกันมากว่า ใครเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว และใครคือนักท่องเที่ยวบ้าง
 
ข้อเสนอที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอให้คนไทยพุทธไปเรียนในโรงเรียนปอเนาะบ้าง เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อจะฟื้นฟูสายสัมพันธ์ที่ขาดหายไปให้กลับคืนมา เพื่อจะได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจมากขึ้น
 



กำลังโหลดความคิดเห็น