ภาคใต้ในแผนพัฒนา 100 ปี หรือ “ผังประเทศไทย พ.ศ.2600” ถูกกำหนดมาจากข้างบนให้พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมหนัก ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสะพานเศรษฐกิจเชื่อมชายฝัางทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ด้วยโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่าเรือน้ำลึก สงขลา - สตูล, ถนนมอเตอร์เวย์, และรถไฟรางคู่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างสงขลา-สตูล รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมค้าปิโตรเคมีที่ต่อเนื่องมาจากการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงจะเกิดขึ้นทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย
ซึ่งสุดท้ายแล้วการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตามแผนที่อำนาจรัฐเป็นผู้กำหนดให้ จะเปลี่ยนโฉมหน้าภาคใต้ไปเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนัก ลักษณะเดียวกันกับนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ที่ จ.ระยอง จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี ที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 1,000 แห่ง
ซึ่งระยะเวลาร่วม 30 ปีที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ต้องเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม กลับพบว่าประโยชน์จากการพัฒนาในลักษณะนี้กลับไม่ได้ตกอยู่กับประชาชน ตรงกันข้ามสิ่งที่ประชาชนได้รับคือความทุกข์ยากหนักหนาสาหัสจากปัญหามลพิษที่นับวันมีแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอยู่ในสภาพย่ำแย่ยากเกินจะเยียวยา
ตลอดระยะเวลาที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก พบว่าในพื้นที่ภาคใต้มีขบวนการภาคประชาชนได้เคลื่อนไหวแสดงออกให้เห็นมาโดยตลอดว่ามีทัศนคติอย่างไรต่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศมหาศาล แต่ค่าใช้จ่ายอีกด้านคือความเสียหายต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งไม่อาจประเมินค่าได้
ล่าสุดประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเครือข่ายผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นได้รวมตัวกันจัดตั้งเวทีกลางในนาม “สมัชชาประชาชนภาคใต้” ที่จะเปิดตัววันที่ 8 พ.ค.นี้ โดยเชิญเครือข่ายมาร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อบจ.นครศรีธรรมราช โดยสมัชชาฯ ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อคัดค้านแผนพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถี และเป็นเวทีวางยุทธศาสตร์อนาคตที่คนในพื้นที่ต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตตนเอง เหตุใดคนใต้ไม่อยากให้ภาคใต้กลายเป็น “มาบตาพุด 2” ติดตามได้ในคลิปวิดีโอ