xs
xsm
sm
md
lg

ได้ใช้แล้ว! เน็ตประชารัฐ 61 หมู่บ้านทั่วพังงา วัยรุ่นใช้มากที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พังงา - ชาวพังงา 61 หมู่บ้าน 7 อำเภอ ได้ใช้เน็ตประชารัฐแล้ว พบกลุ่มเยาวชนใช้บริการสูงสุดในการสืบค้นหาข้อมูลทางการศึกษา และติดต่อสื่อสารผ่านสื่อโซเชียล

วันนี้ (8 ม.ค.) น.ส.ประไพ พุกงาม สถิติจังหวัดพังงา ลงพื้นที่บ้านเขาตำหนอน ม.1 ต.ถ้ำทองหลาง อ.ทับปุด จ.พังงา เพื่อติดตามการใช้งานบริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) ฟรี ตามโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือเน็ตประชารัฐ เป็นโครงการขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายเคเบิลใยแก้ว (Fiber Optic) ไปสู่หมู่บ้านที่มีการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานยังไม่ทั่วถึง และไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยเบื้องต้นพบว่า กลุ่มเด็กวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่บริการมากที่สุด

นางสุกัญญา ประสงค์กิจ รองประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเขาตำหนอน กล่าวว่า หลังจากโครงการเน็ตประชารัฐเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) ฟรี พบว่า ทางสมาชิกกลุ่มได้ใช้ประโยชน์ในการขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงกลุ่มเด็กนักเรียน และกลุ่มวัยรุ่นที่ได้ใช้ไม่ว่าจากการสืบค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการศึกษา และการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการติดต่อกัน ทำให้แบ่งเบาภาระบางส่วนให้ผู้ปกครองในการเสียค่าใช้จ่ายเติมเงินค่าบริการจากเครือข่ายของภาคเอกชน

น.ส.ประไพ พุกงาม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ดำเนินการโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ (เน็ตประชารัฐ) โดยใน พ.ศ.2560 ได้ติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ที่ยังไม่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือเป็นพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และยังขาดความรู้ในการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และส่วนรวมได้

ดังนั้น การสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง พร้อมกับสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ และโทษของการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างความเข้าใจดิจิทัล (Digital Literary) ในภาคประชาชน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อขยายกลุ่มผู้ใช้งานให้เกิดความทั่วถึงผ่านกลไกการขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้เน็ตประชารัฐแก่ประชาชนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการใช้ ประโยชน์ที่เหมาะสมต่อบริบทของคนในพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล และสร้างโอกาสจากการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 และจะมีการติดตามประเมินผล ทั้งผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ของโครงการเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น