ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เปิดข้อเสนอ “สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้” ที่ต้องการจะส่งให้ถึงมือ “บิ๊กตู่” ในที่ประชุม ครม.สัญจรสงขลา 28 พ.ย.นี้ เผยครอบคุลม 5 ด้าน ทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง สวนยาง การผลิตและแปรรูป การตลาดและองค์กร กยท.
นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (27 พ.ย.) ข้อเสนอของสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ที่จะเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในการประชุม ครม.สัญจรภาคใต้ ณ จ.สงขลา ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) ได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเน้นในเรื่องของการปฏิรูปยางพาราไทยทั้งระบบ โดยมีเนื้อหาดังนี้
1.ปฏิรูปเกษตรกรชาวสวนยาง
1.1 เกษตรกรชาวสวนยางต้องพึ่งพาตนเอง อยู่แบบพอเพียง และต้องลดการขอความช่วยเหลือจากรัฐ
1.2 แก้ไขระเบียบ กยท.ว่าด้วยสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางที่มีลักษณะแบบสงเคราะห์ และไม่ตรงต่อความต้องการของเกษตรกร โดยใช้กลไกมาตรา ๔๙(๕) จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง ลักษณะสังคมสวัสดิการ ในรูปแบบสมัครใจจ่ายสมทบ
ข้อเสนอเร่งด่วน : ให้การยางแห่งประเทศไทยจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่คนกรีดยางครัวเรือนละ ๓,๐๐๐ บาท เพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่สุดจากวิกฤตราคายางพาราตกต่ำในช่วงนี้
1.3 ให้การยางแห่งประเทศไทย รับขึ้นทะเบียนชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ชาวสวนยางชายขอบเหล่านี้เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 4
1.4 ให้จัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา หรือแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง โดยให้การยางแห่งประเทศไทย สนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัย ในการหารูปแบบทางเลือก ทางรอดของชาวสวนยาง รวมทั้งการสร้างสุขภาวะชาวสวนยาง
2.ปฏิรูปสวนยาง
2.1 เปลี่ยนการทำสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นการทำสวนยางอย่างยั่งยืน โดยวิธีการสร้างความเข้าใจและสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางสมัครใจทำสวนยางอย่างยั่งยืน ด้วยการลดจำนวนต้นยางเหลือ 40 ต้นต่อไร่ กรณียางเปิดกรีดแล้ว เมื่อผ่านสมดุลนิเวศ 5 ปีขึ้นไป ปริมาณน้ำยาง 40 ต้น จะเท่ากัน หรือมากกว่าปริมาณน้ำยางที่ปลูกแบบเชิงเดี่ยว 80 ต้นต่อไร่
2.2 กรณีสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ ๒๐ ล้านไร่ ให้ลดจำนวนต้นยางเหลือ ๔๐ ต้นต่อไร่ และให้ กยท.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ปลูกพืชร่วมยาง ทำเกษตรผสมผสาน และทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยาง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อลดต้นทุน และสร้างเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยแก้ระเบียบการปลูกแทนตามมาตรา ๔๙ (๒) เพื่อสร้างแรงจูงใจ และเป็นทุนดำเนินการ โดยให้ กยท.จ่ายเงินการปลูกแทนบางส่วนในสวนยางที่เปิดกรีดแล้ว อัตราการจ่ายเงินปลูกแทนบางส่วนให้ขึ้นอยู่กับอายุต้นยาง
กรณีต้นยางที่มีอายุเกิน 25 ปี หรือหมดอายุการกรีด ซึ่งมีการจ่ายค่าปลูกแทน 16,000 บาทต่อไร่ ให้ กยท.จ่ายเงินค่าปลูกแทนเพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำสวนยางอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้ปลูกยางในระยะ 4×10 เมตร = 40 ต้นต่อไร่ รวมทั้งส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยางนั้น
2.3 กรณีสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ ๕ ล้านไร่ ให้ กยท.ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำข้อตกลง และให้เกษตรกรชาวสวนยางขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย (ป่าสงวนเสื่อมโทรมในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ๓-๕) ซึ่งเกษตรกรต้องรวมกลุ่มเพื่อใช้สิทธิชุมชน (แปลงรวม) โดยต้องลดจำนวนต้นยางเหลือ ๔๐ ต้นต่อไร่ และให้ปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า ๔๐ ต้นต่อไร่ เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่าเศรษฐกิจ หรือป่ายางที่สมดุลนิเวศ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศไทย
3.ปฏิรูปการผลิตและแปรรูป
3.1 ส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางผลิตและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า และสนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมยางใต้ถุนสำหรับคนกรีดยาง และชาวสวนยางรายย่อย
3.2 ให้รัฐบาลประกาศนโยบายการใช้ยางในประเทศให้ถึง ๒๕% ภายใน ๒ ปี โดยกำหนดเป็นระเบียบตามกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม
4.ปฏิรูปการตลาด
4.1 จากการลดปริมาณผลผลิตยางตามข้อ ๒.๒ และข้อ ๒.๓ รวมทั้งเพิ่มการใช้ยางในประทศตามข้อ ๓.๒ จะทำให้ลดอุปทาน หรือลดปริมาณซัพพลายยางลงชั่วคราว เป็นยุทธวิธีการพึ่งตนเพื่อต่อสู้กับตลาดล่วงหน้า หรือตลาดกระดาษ อันจะทำให้ราคายางเสถียรภาพในระดับ ๖๐-๗๐ บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเลยจุดคุ้มทุนที่เกษตรกรชาวสวนยางพอรับได้
4.2 ให้การยางแห่งประเทศไทย ตั้งบริษัทค้ายางตามมาตรา ๑๐ เพื่อถ่วงดุล และรักษาเสถียรภาพราคายางพารา และ กยท.ต้องเป็นพี่เลี้ยงทางการตลาดให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางส่งออกยางไปต่างประเทศแบบ spot market (ให้ กยท.เป็นเสือตัวที่ ๖ มิใช่เป็นลูกแมวในอุ้งตีน ๕ เสือในบริษัทร่วมทุนฯ)
4.3 ให้ลดการพึ่งพาตลาดประเทศจีน เพราะในขณะนี้จีนเริ่มเทกโอเวอร์บริษัทค้ายางของไทย ซึ่งอาจมีผลต่อการผูกขาดตลาด และเป็นอุปสรรคต่อการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยให้หาตลาดใหม่ๆ เข่น รัสเซีย หรือประเทศแถบอาหรับ
5.ปฏิรูปการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
คณะกรรมการการยาง และผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย หมดความชอบธรรมในการบริหารงาน ดังนั้น จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. แต่งตั้งบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยเฉพาะกิจ เพื่อทำการปฏิรูปการยางแห่งประเทศไทย โดยต้องคัดเลือกจากคนดี มีความรู้ และความสามารถ มีคุณธรรม มีความเชี่ยวชาญเรื่องการยาง และเข้าใจเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๘ โดยให้ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีส่วนร่วม และให้แต่งตั้งผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ที่มีความรู้ ความสามารถ และเชี่ยวชาญด้านการค้ายาง การผลิต และการแปรรูปยาง รวมทั้งมีทักษะในการเจรจาต่อรอง และสร้างภาคีแนวร่วมได้ดี
เหตุผล : บอร์ดการยาง หรือกรรมการโดยตำแหน่งในปัจจุบันประกอบด้วยตัวแทนกระทรวงต่างๆ ที่ไม่มีเวลา เพราะเป็นกรรมการ หรือบอร์ดในหลายหน่วยงาน ทำให้ขาดความตั้งใจ และการทุ่มเทในการบริหารงาน อีกทั้งบอร์ด หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ขาดความกล้าหาญในการปฏิรูป กยท. ส่วนผู้ว่าการยางคนปัจจุบันขาดความรู้ และความเชี่ยวชาญเรื่องยาง ขาดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน และสร้างความแตกแยกในองค์กร รวมทั้งในหมู่เกษตรกรชาวสวนยาง ทำให้การแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทยไม่เป็นเอกภาพ ขาดประสิทธิภาพ และที่สำคัญบอร์ด และผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยชุดปัจจุบัน ไม่ทำตามวัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้าและกินได้ ถ้ามีคนที่ใช้กฎหมายนี้เป็น พ.ร.บ.การยางฯ จะเป็นกลไก และเครื่องมือช่วยซับน้ำตาชาวสวนยาง และนำพาเกษตรกรชาวสวนยางข้ามหุบเหวแห่งความทุกข์ได้อย่างยั่งยืน