ยะลา - ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์รวมน้ำยางสด สกย.ยะลา เผยปีนี้กำไรจากการดำเนินธุรกิจถึง 1.8 ล้านบาท เตรียมเพิ่มสมาชิกเพื่อเป็นรายได้แก่เกษตรกร
วันนี้ (24 พ.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อรับฟังคำชี้แจงการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนศูนย์รวมน้ำยางสดสำนักการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา และเพื่อรับปันผลประจำปี และชี้แจงรายละเอียดการดำเนินธุรกิจแก่สมาชิกในรอบปี โดยมี นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย และนายบุญนิตย์ สองแก้ง ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์รวมน้ำยางสด สกย.ยะลา ร่วมชี้แจง
นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า โครงการตลาดน้ำยางสดระดับท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาตั้งแต่ปี 2550 ให้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรวมกลุ่มเพื่อรับซื้อน้ำยางสด จึงมีการรวมกลุ่มทุกกลุ่มมาเป็นศูนย์รวมเพื่อรับซื้อน้ำยางสด แต่ละกลุ่มรวบรวมน้ำยางมาส่งที่เดี่ยวกัน ไม่ให้แต่ละกลุ่มไปส่งที่บริษัทเอง มารวมเป็นน้ำยางสดที่กลุ่ม หรือที่เรียกว่าบ่อน้ำยาง เป็นศูนย์รวม เป็นการรวมหุ้นของสมาชิกของกลุ่มแต่ละกลุ่ม เพราะว่าแต่ละกลุ่มได้รับอุปกรณ์ไปแล้ว
แต่เมื่อสร้างบ่อน้ำยางแต่ละกลุ่มนำหุ้นมาลง ข้อดีของน้ำยางสดโอกาสขาดทุนไม่มี เพราะจะรู้ราคาวันต่อวัน ช่วงเช้าทางบริษัทจะประกาศราคาเท่าไร ทางกลุ่มจะซื้อเท่าไร แต่ในส่วนของบ่อน้ำยางนั้น ทางกลุ่มสามารถจะรวบรวมน้ำยางสดได้มากที่สุด สามารถที่จะต่อรองราคากับบริษัทได้ ขณะนี้ที่ศูนย์รับซื้อน้ำยางสดจะมีสมาชิกจากที่ต่างๆ เกือบทุกอำเภอใน 2 จังหวัด คือ จ.ยะลากับ จ.นราธิวาส ยกเว้น อ.เบตง และ อ.ธารโต จ.ยะลา เพราะ 2 อำเภอนี้ระยะทางไกล และกำลังจะดำเนินการสร้างบ่อใหม่ขึ้นมาที่ อ.เบตง จ.ยะลา
ทางด้าน นายบุญนิตย์ สองแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์รวมน้ำยางสด สกย.ยะลา เปิดเผยว่า เป็นแนวคิดว่า ที่ผ่านมาต่างคนต่างขายนั้นไม่สามารถที่จะต่อรองกับบริษัท แต่หลังจากมาสร้างบ่อน้ำยางสด สมาชิกทุกหมู่บ้านในชุมชนมารวมตัวกันโดยการลงหุ้น ในเมื่อมีปริมาณน้ำยางเป็นจำนวนมากจะสามารถต่อรองราคากับบริษัทได้ จากที่บริษัทรับซื้อที่ 40 บาท สามารถต่อรองราคาที่ 43 บาทได้ ผลกำไรก็สามารถกลับไปยังสมาชิกกลุ่มย่อยต่อไป
ซึ่งจะรวบรวมรายได้จากสมาชิกในแต่ละวัน แต่ละเดือนมาประชุมใหญ่ก็จ่ายปั่นผลในรอบ 1 ปี มีค่าหุ้นจากน้ำยางที่ส่งขายให้บริษัท กลุ่มไหนที่มีปริมาณน้ำยางมาก ลงหุ้นมาก ก็จะได้มากตามอัตราของแต่ละกลุ่มที่ไปทำธุรกิจ แต่ละคนจะลงหุ้นที่กลุ่ม จากนั้นไปลงหุ้นกับศูนย์รวบรวมน้ำยางอีกครั้งหนึ่ง สมาชิกจะได้กำไรเพิ่ม 2 เท่า จะได้กำไรจากบ่อรับซื้อน้ำยางสด ครบ 1 ปี จะแบ่งปันผล
นายบุญนิตย์ ยังเผยอีกว่า สำหรับในเรื่องตลาดทางศูนย์จะนำไปขายให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมใน จ.ยะลา จากนั้นทางบริษัทนำไปแปรรูปแล้วส่งไปยังประเทศมาเลเซีย ที่ผ่านมาจากการที่ได้หลักบริหารพยายามหาสมาชิกให้เพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้มีกำไรถึง 1.8 ล้านบาท จากปีที่แล้วกำไรประมาณ 1.2 ล้านบาท เป้าหมายต่อไปคือ จะทำน้ำยางนำไปแปรรูปด้านอื่นๆ พยายามวางแผนกับทางการยางแห่งประเทศไทย ว่า ทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ทางศูนย์พร้อมรับน้ำยางไม่จำกัดปริมาณ