xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ ตู่” ลุยฝนลงปัตตานีติดตามโครงการเมืองต้นแบบ ประชาชนนับพันคนรอต้อนรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - คณะของนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลุยฝนลงพื้นที่ จ.ปัตตานี รุดติดตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ขณะที่ประชาชนราว 2 พันคน มารอให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

วันนี้ (27 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ และคณะ ได้เดินทางถึงตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ ม.5 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มมวลชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ประมาณ 2,000 คน ร่วมให้การต้อนรับ ท่ามกลางท้องฟ้าที่มืดครึ้ม มีฝนตกโปรยปราย ซึ่งการเดินทางถึงจุดนี้ได้เลยเวลาตามที่กำหนดการ จากที่กำหนดไว้ในเวลา 09.00 น. เนื่องจากเกิดฝนตกลงมาตลอดเส้นทาง

โดยภายในงานได้มีการจัดการแสดงวัฒนธรรมชุดระบำลังกาสุกะ และการฉายวิดีทัศน์ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวต้อนรับ หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้พบปะกับประชาชน ซึ่งการเดินทางมาในครั้งนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะด้วยการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จ.ปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียง

นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รายงานว่า ตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ปัตตานี ถนนเพชรเกษม ม.1 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีเนื้อที่ 7 ไร่ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณตามแผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดให้แก่ จ.ปัตตานี ดำเนินการก่อสร้างตลาดปศุสัตว์ที่เป็นการถาวร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ด้วยงบประมาณ 34 ล้าน 4 แสนบาทเศษ เพื่อยกระดับการค้าขายปศุสัตว์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และเป็นศูนย์กลางตลาดปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ในการการซื้อขายผลผลิตทางปศุสัตว์ นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ และขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียง
 

 
สำหรับ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบ “การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” (Agricultural Industry City) ตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาล โดยได้พัฒนาการเพื่อขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ ประกอบด้วย การพัฒนาด้านเกษตรกรรม ส่งเสริมการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่ พัฒนาศักยภาพแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม ขยายพื้นที่ปลูกข้าว ปาล์ม และมะพร้าว ด้านปศุสัตว์ ดำเนินการก่อสร้างตลาดกลางปศุสัตว์ สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน (ฟาร์มแพะ/แกะ) บารอกะฮ์ และมาตรฐานโรงฆ่าสัตว์บารอกะฮ์ ด้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ ส่งเสริมกลุ่มโอรังปันตัย บ้านตันหยงเปาว์ แปรรูปปลากุเลาเค็ม ปลาอินทรี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่ายาลอ แปรรูปปลาเกล็ดขาว ปลาหลังเขียว และสหกรณ์ปาล์มลิปะสะโง ลานเทปาล์ม เป็นต้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวด้วยว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ปรับปรุงท่าเทียบเรือประมงปัตตานี โครงการปรับปรุงแผงกันคลื่น ที่จอดพักเรือท่าเทียบเรือ กำหนดแผนงานการพัฒนาเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง สู่เขตอุตสาหกรรมและท่าเรือ เช่น ก่อสร้างถนนทางหลวงหมายเลข 42 ตอนนาจวก-ดอนรัก (เป็นช่วงๆ) ระยะทาง 15.847 กิโลเมตร และโครงการปรับปรุงถนนลาดยางเข้าท่าเทียบเรือ สายแยก ทล.42-สี่แยกสะพานปลา ต.บานา อ.เมืองปัตตานี

นายวีรนันทน์ กล่าวต่อไปอีกว่า การเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของ จ.ปัตตานี ได้มีการเชื่อมโยงไปใน 4 อำเภอ โดย อ.หนองจิก เป็นพื้นที่การพัฒนาหลัก เป็นจุดสำคัญที่รองรับ productivity ที่เกิดขึ้นจากพื้นที่สามเหลี่ยมเป้าหมายเชื่อมต่อสู่พื้นที่อื่นๆ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ก่อสร้างตลาดกลางปศุสัตว์ ลานเทปาล์ม การส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร (แปลงใหญ่) สู่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป เช่น บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด บริษัท ยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด และบริษัท ไทยเทครับเบอร์ จำกัด อ.เมืองปัตตานี เป็นพื้นที่การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ทั้งทางบก และชายฝั่ง สนับสนุนพื้นที่การพัฒนาหลัก (Connecting Point) เช่น การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมบานา การปรับปรุงท่าเทียบเรือประมง ท่าเทียบเรือพาณิชย์ อ.แม่ลาน เป็นพื้นที่การพัฒนาส่งเสริมด้านการเกษตร สู่ฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ และฐานการผลิตด้านการปศุสัตว์ และ อ.โคกโพธิ์ มุ่งเน้นด้านการพัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมต่อกับการขนส่งทางรถไฟ ด่านประกอบ และด่านสะเดา จ.สงขลา
 
กำลังโหลดความคิดเห็น